ลุ้นปาฏิหาริย์มีจริง!? จับตา ‘ประชาธิปัตย์’ บนทางสองแพร่ง ฟื้นพรรค หรือฟุบยาว

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์เดินมายืนอยู่บนทางสองแพร่ง ในฐานะตัวแปรสำคัญ

ที่จะชี้ขาดระหว่างการเมืองขั้วสืบทอดอำนาจนำโดยพรรคพลังประชารัฐ กับขั้วประชาธิปไตยนำโดยพรรคเพื่อไทย

ขั้วใดจะได้จัดตั้งรัฐบาล

ทางสองแพร่งที่ว่า ทางแรก เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ทางที่สอง เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย

ปัจจัยทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องมายืนอยู่บนทางสองแพร่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลเลือกตั้งที่ออกมา ไม่มีพรรคการเมืองใดเป็นฝ่ายชนะได้เสียง ส.ส.ข้างมากแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถึงแม้ฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้ออกแบบกฎกติกาและเลือกตัวกรรมการเองก็ตาม แต่ก็ยังได้ ส.ส.เข้ามาเป็นอันดับ 2

ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นอันดับ 4 จำนวน 52 เสียง และพรรคภูมิใจไทย 51 เสียง

กับอีกส่วนหนึ่งคือ ในช่วงโค้งท้ายก่อนเลือกตั้งไม่กี่วัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นได้ประกาศจุดยืนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี และจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคสืบทอดอำนาจ

กระทั่งหลังเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เข้ามาน้อยกว่าที่ใครหลายคนคาดคิด สนาม กทม.ที่เคยเป็นฐานที่มั่นสำคัญของพรรคถึงกับสูญพันธุ์ ไม่ได้รับเลือกแม้แต่คนเดียว ขณะที่ ส.ส.แบบแบ่งเขตได้ 33 แบบบัญชีรายชื่อ 19 รวมเป็น 52 ที่นั่ง

จากพรรคขนาดใหญ่ ปรับลดลงมาเป็นพรรคขนาดกลาง ในระดับเดียวกับพรรคภูมิใจไทยของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งได้ ส.ส.เข้ามา 51 ที่นั่ง

ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงความรับผิดชอบ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคทันทีที่รู้ผลการเลือกตั้งไม่เป็นทางการในช่วงค่ำวันที่ 24 มีนาคม

แม้นายอภิสิทธิ์จะลาออก แต่จุดยืนที่เคยประกาศไว้ก่อนเลือกตั้งยังอยู่ ถูกตอกย้ำว่านั่นคืออุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และจะไม่มีพรรคการเมืองใดลงมติสวนทางอุดมการณ์ของพรรค

สําหรับพรรคภูมิใจไทย ก่อนเลือกตั้ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคก็เคยพูดไว้ชัดเจนว่า

พรรคภูมิใจไทยจะสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่เป็น ส.ส. และมาจากเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่เห็นด้วยและจะไม่ยอมให้ 250 ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นผู้กำหนดตัวนายกรัฐมนตรี

ตรงนี้เองทำให้ทั้ง 2 พรรคขนาดกลางมีสถานะไม่ต่างกัน

นอกจากเป็นพรรคตัวแปรสำคัญในการจับขั้วตั้งรัฐบาล ยังถูกคำพูดของหัวหน้าพรรคและอดีตหัวหน้าพรรครัดคอจนดิ้นไม่หลุดอีกด้วย

เนื่องจากภายในพรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นประชาธิปไตยสูงกว่าพรรคภูมิใจไทยที่อำนาจสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจดำเนินการทางการเมืองใดๆ ล้วนขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรคและแกนนำไม่กี่คน

จึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับแรงกดดันจากคนในอีกทางหนึ่ง

แล้วก็เป็นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ที่เข้ามาแบกภาระแรงกดดันทั้งภายนอกและภายในพรรคต่อจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ในเรื่องของการเยียวยาสมานรอยร้าวต่างๆ ภายในพรรค อันมีสาเหตุโยงใยมาจากเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล ว่า

พรรคสมควรจะสนับสนุนฝ่ายสืบทอดอำนาจ ฝ่ายประชาธิปไตย หรือจะแยกตัวออกไปเป็นฝ่ายค้านอิสระ

รวมถึงล่าสุด คือแนวทางการจับมือกับพรรคภูมิใจไทย ประกาศตัวเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลขั้วที่ 3 ด้วยจำนวนเสียง ส.ส.สองพรรครวมกัน 52+51 เท่ากับ 103 เสียง

เป็นแนวทางใหม่ ที่ผุดขึ้นมา 1 วันหลังนายอนุทิน ชาญวีรกูล โพสต์ภาพนั่งโต๊ะอาหารหารือร่วมกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และนายมนตรี ปาน้อยนนท์ ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อค่ำวันที่ 21 พฤษภาคม ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมข้อความ

“ทำงานกันอยู่นะครับ”

สอดรับความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ว่า แกนนำ 2 พรรคได้หารือนอกรอบ ตกลงว่าจะจับมือเดินไปในทิศทางเดียวกัน

เพราะเชื่อว่าด้วยจำนวน ส.ส.ที่รวมกันได้ 103 เสียง จะสามารถสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาลที่กำลังจัดตั้งขึ้นได้

รวมถึงกระแสข่าว แกนนำพรรคภูมิใจไทยได้เลื่อนการตัดสินใจร่วมจับขั้วกับทางฝั่งพรรคพลังประชารัฐออกไปจากวันที่ 20 พฤษภาคม พร้อมยื่นเงื่อนไขแบบจัดหนัก นอกจากขอแบ่งปันกระทรวงเกรดเอ

พรรคพลังประชารัฐต้องดึงพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมให้ได้ครบทั้ง 52 เสียง

เพื่อเป็นหลักประกันว่า หากพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมจับขั้วกับพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นนายกฯ ได้สำเร็จแล้ว จะไม่กลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ที่ไร้เสถียรภาพ จนไม่อาจมีอายุยืนยาว

ต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในระptเวลาอันรวดเร็ว

แต่ทุกอย่างดูเหมือนจะยากลำบากมากขึ้น

ด้วยเหตุที่ว่า ภายในพรรคประชาธิปัตย์เอง ระดับแกนนำพรรคก็มีความเห็นแตกต่างกันแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่พยายามปลุกผี “ระบอบทักษิณ” ขึ้นมาเป็นข้ออ้างนำพรรคเข้าร่วมจับขั้วกับพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ

กับอีกฝ่ายที่ไม่สนับสนุน เพราะมองว่าคะแนนเลือกตั้งของพรรคที่ได้มากว่า 3.9 ล้านเสียง ได้มาจากประชาชนที่เห็นด้วยกับจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคในขณะนั้น ที่ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

สื่อมวลชนรายงานบรรยากาศการประชุม ส.ส.พรรค 52 คนเป็นครั้งแรกว่า มีการแบ่งกลุ่มนั่งกันอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค กับกลุ่มนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา และอดีตแกนนำ กปปส.

จากภาพการแบ่งก๊กแบ่งเหล่าในพรรค ทำให้ทางเลือกการเป็นพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลขั้วที่ 3 ร่วมกับพรรคภูมิใจไทย เป็นสิ่งที่ลงตัวมากที่สุดในตอนนี้สำหรับพรรคประชาธิปัตย์

ประเด็นคือ หากพลังประชารัฐปฏิเสธ ไม่ยอมคายโควต้ากระทรวงเกรดเอ

2 พรรคขั้วที่ 3 ก็พร้อมพลิกเกมต่อสายเจรจากับขั้วพรรคเพื่อไทยให้มาร่วมกันจัดรัฐบาลซึ่งมีภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ

โดยเชื่อว่าภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว พรรคเพื่อไทยจะมีท่าทีที่ดีกว่าทางฝั่งพรรคพลังประชารัฐ

เนื่องจากพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ตอนนี้ จุดมุ่งหมายเดียวที่เหลืออยู่คือทำอย่างไรก็ได้เพื่อปิดสวิตช์ คสช. ไม่ให้สืบทอดอำนาจ

ถึงจะเป็นพรรคใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 3 แต่ก็พร้อมสละเก้าอี้นายกรัฐมนตรีและประธานสภา ให้กับพรรคการเมืองอื่นที่แสดงจุดยืนเดียวกัน ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์

ไม่ว่าจะเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล หรือนายชวน หลีกภัย

ในแง่มุมพรรคประชาธิปัตย์ ยังมองว่าถึงตอนนี้ต่อให้ยอมไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยก็คงปิดสวิตช์ 250 ส.ว.ไม่ทัน

เพราะฝ่ายพรรคพลังประชารัฐสามารถรวบรวม ส.ส.ได้เกิน 125 เสียง ความหมายก็คือ ก่อนถึงวันประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หากไม่มีทางเลือกขั้วที่ 3 โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบมีสูงมาก

ในทางกลับกัน หากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ถึงจะได้ชื่อว่ามีเสียงเกินครึ่งสภา แต่ก็ยังปริ่มน้ำอยู่ดี ยากต่อการบริหารประเทศให้เดินหน้าไปได้ เพราะฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทยก็ยังจะมีถึง 245 เสียง

ในสถานการณ์ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก ไปซ้ายไม่ได้ ไปขวาไม่ดี

การประกาศตัวเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลขั้วที่ 3 โดยพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ จึงได้รับความสนใจและเป็นประเด็นถูกพูดถึงมากที่สุดในเวลานี้ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้สถานการณ์การเมืองอันแหลมคม จะเอาตัวรอดและฟื้นฟูพรรคกลับมาได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในทุกย่างก้าวต่อจากนี้ ว่าจะสามารถทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในจุดยืนและอุดมการณ์ของพรรคได้หรือไม่

ถ้าทำได้ก็ฟื้น ถ้าทำไม่ได้ก็ฟุบยาว