พระธรรมราชา | เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ในหนังสือ “ลักษณะไทย” จัดทำโดยธนาคารกรุงเทพ ตอนที่ว่าด้วย “สถาบันพระมหากษัตริย์” โดยเฉพาะเรื่องการขานพระนาม ดังนี้ (ขออนุญาตจัดย่อหน้าใหม่)

คนโบราณนั้นไม่เอ่ยนามพระเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงมีข้อห้ามมิให้เอ่ยพระนามจริงของพระมหากษัตริย์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงต้องทำพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏถวายพระนามใหม่ ซึ่งเป็นพระนามแผ่นดิน เรียกว่า “พระนามตามพระสุพรรณบัฏ” ซึ่งถือเป็นพระนามสมมุติและเขียนด้วยถ้อยคำอันไพเราะลึกซึ้ง จนไม่มีใครจะสามารถเรียกขานได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องขนานพระนามพระมหากษัตริย์ขึ้นเพื่อที่จะเรียกได้สะดวก

เช่นในสมัยอยุธยาก็เรียกว่า พระพุทธเจ้าเสือบ้าง พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระบ้าง หรือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศบ้าง ขุนหลวงหาวัดบ้าง พระที่นั่งสุริยามรินทร์บ้าง ตามแต่พระราชกรณียกิจหรือที่ประทับ

ถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้มีการเรียกพระนามตามนามพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นฉลองรัชกาล

เช่น พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระนามรัชกาลต่อๆ มาก็ได้ขนานว่า พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพิ่งจะมาใช้พระนามเดิมในรัชกาลที่ 8 และ 9 เท่านั้น

การไม่เอ่ยพระนามนี้กินไปถึงสถานที่ซึ่งตามพระนามอีกด้วย ในรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งชื่อวัดที่ได้ทรงสร้างขึ้นว่าวัดมกุฎกษัตริย์ จากพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ก็ไม่มีผู้ใดเรียกตามนั้นมาจนสิ้นรัชกาล เรียกกันว่า “วัดพระนามบัญญัติ” แม้ชื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นก็ได้ขนานขึ้นเมื่อสิ้นรัชกาลที่ 5 แล้ว มีการเรียกชื่อสถานที่หรือสิ่งก่อสร้างที่มีชื่อตามพระนามเป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบันเท่านั้น คือ เขื่อนภูมิพล และโรงพยาบาลภูมิพล

คติและข้อห้ามต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงมานี้เป็นคติและข้อห้ามที่ติดอยู่กับสถาบันพระมหากษัติรย์ของไทยตลอดมา เมื่อนานเข้าก็ได้กลายเป็นวัฒนธรรมและมารยาท ถึงแม้ในปัจจุบันนี้จะได้ปลี่ยนแปลงหรือเลิกไปแล้วหลายข้อ แต่ก็ยังพอมีที่จะให้สังเกตได้ในมารยาทของคนไทยที่เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์และในงานพระราชพิธีต่างๆ เช่น เสด็จออกมหาสมาคมในวันเฉลิมพระชนมพรรษา หรือเสด็จพระราชดำเนินเปิดรัฐสภา เป็นต้น

ซึ่งยังได้รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งการเสด็จออกนั้นไว้อย่างครบถ้วนทุกประการ

ปรารภเรื่องนี้ด้วยเห็นว่าสำคัญก่อนที่การขานพระนามจะคลี่คลายไปตามพัฒนาการสังคมต่อไป การทำความเข้าใจถึงรากฐานความเป็นมาก่อนจะเข้าไปเกี่ยวข้องตามความจำเป็นโดยเฉพาะข้อเขียนหรือบทกวี บทเพลง ที่มักขานพระนามกันตรงๆ ซึ่งพึงระมัดระวังตามสมควร

แม้จะมีข้อเท็จจริงตามข้อเขียนดังยกมาข้างต้นที่ว่า

“…มีการเรียกชื่อสถานที่หรือสิ่งก่อสร้างที่มีชื่อตามพระนามเป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบันเท่านั้น คือ เขื่อนภูมิพล และโรงพยาบาลภูมิพล ฯ”

อันแสดงให้เห็นถึงค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการสังคมแล้วก็ตาม ก็ยังเป็นเรื่องพึงระมัดระวังถึงกาลเทศะอันเหมาะสมด้วย

ประโยคต้นของข้อเขียนที่ยกมานี้ว่า

“คนโบราณนั้นไม่เอ่ยนามพระเจ้า…ฯ”

พระเจ้าในที่นี้หมายถึง “พระเจ้า” จริงๆ โดยเฉพาะพระเจ้าตามลัทธิความเชื่อ ดังคำอธิบายของอาจารย์คึกฤทธิ์ในหนังสือ “ลักษณะไทย” อีกตอน

ดังนี้

ลัทธิเทวราชหรือไศเลนทร์นั้น มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน เทวราชก็หมายความว่า ราชา หรือองค์พระมหากษัตริย์เป็น เทวะ ส่วนคำว่า ไศเลนทร์ นั้นมาจากคำว่า ไศล คำหนึ่ง และอินทร์ คำหนึ่ง แปลว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งภูเขาหรือบนภูเขา ซึ่งหมายความถึงพระศิวะผู้ซึ่งสถิตอยู่บนยอดเขาไกรลาส เมื่อถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นเทพเจ้าก็เทียบได้กับองค์พระศิวะ พระมหากษัตริย์จึงเป็นองค์ไศเลนทร์

ความสำคัญอีกตอนคือ

ลัทธินี้ได้เกิดขึ้นในดินแดนแถบที่เรียกกันว่าอาณาจักรศรีวิชัย และเข้าไปในเกาะชวาก่อน แล้วจึงขึ้นมาสู่กัมพูชา ต่อมาก็มายังกรุงศรีอยุธยา และถ้าจะพูดกันตามทฤษฎี ลัทธินี้ก็ยังคงเหลืออยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ในปัจจุบันนี้ เพราะพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน (หมายถึง ร.9-ผู้เขียน) ยังเป็นพิธีพราหมณ์ซึ่งเคยปฏิบัติกันมาแต่ก่อนทุกประการ ไม่มีสิ่งใดบกพร่อง และด้วยเหตุนี้พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา จนถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน (ร.9-ผู้เขียน) จึงเป็นองค์ไศเลนทร์ตามคตินี้ทุกพระองค์ ฯ

ที่ว่า “…และถ้าจะพูดกันตามทฤษฎี ลัทธินี้ก็ยังคงเหลืออยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ฯ”

จําเพาะในประเทศไทยนี่แหละที่นำมาปรับประสานระหว่างพราหมณ์กับพุทธะอย่างแยบยลยิ่ง ด้วยองค์พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกและหรือเป็นพุทธมามกะ ดังนั้น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงมีพิธีสรงน้ำพระพุทธมนต์ ซึ่งเป็นพิธีสรงน้ำวาระแรก ดังข้อเขียนจากเรื่องเดียวกันนี้

…เจ้าพนักงานภูษามาลาตั้งถาดสรงพระพักตร์ไว้บนตั่งหน้าที่ประทับ พร้อมด้วย ครอบเครื่องมูรธาภิเษก คือครอบใส่น้ำพระพุทธมนต์ เมื่อประทับแท่นสรงแล้วเจ้าพนักงานถวายเครื่องพระมูรธาภิเษก ทรงวักน้ำในพระครอบลูบพระเจ้า (พระเศียรพระเจ้าแผ่นดิน) การสรงมูรธาภิเษกจึงเป็นการสรงพระเจ้าและสรงด้วยน้ำพระพุทธมนต์ แสดงว่าพระมหากษัตริย์ไทยนั้นทรงเป็นพุทธมามกะก่อนอื่นใด และได้ทรงทำความบริสุทธิ์ในศาสนาพุทธให้แก่พระองค์เอง ด้วยการสรงพระเจ้าด้วยน้ำพระพุทธมนต์

อิทธิพลของศาสนาพุทธที่มีเหนือพิธีของพราหมณ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นมีผลสำคัญมากต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ฯ

ด้วยเหตุดังนี้ พระมหากษัตริย์ไทยจึงได้รับพระสมัญญานามอีกพระนามหนึ่งคือ “พระธรรมราชา” คือพระราชาผู้ทรงธรรม โดยเฉพาะพระทศพิธราชธรรมอันเป็นธรรมของพระมหากษัตริย์ตามคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้ให้เป็นธรรมแห่งผู้ครองแผ่นดิน

อาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวไว้ในท้ายสุดของหัวข้อ “พระธรรมราชา” ว่าดังนี้

ในฐานะที่ทรงเป็นธรรมราชานี้ พระมหากษัตริย์ต้องทรงอนุรักษ์และอุปถัมภ์ไว้ซึ่งศิลปะวิชาการทั้งปวงที่มีอยู่ในพระราชอาณาเขต ทุกอย่างเรียกได้ว่าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพระมหากษัตริย์ต้องทรงอนุรักษ์เกื้อกูลให้เกิดขึ้นและดำรงอยู่คู่บ้านคู่เมืองตลอดไป