เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : จากเชียงใหม่ไปเชียงคาน

ระหว่างวันที่ 23-27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีโอกาสไปเชียงใหม่ กลับมาผลัดเที่ยวบินวันที่ 25 จากเชียงใหม่ลงดอนเมืองแล้วไปเมืองเลยเลย

ชื่อเมืองเลยนี่ดีนะมีหลายความหมายดีจังเลย

แล้วไปเชียงคาน พักที่แก่งคุดคู้

ที่เชียงใหม่เป็นค่าย “กวีปากกาทอง” โครงการของศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาหลากหลายจากทุกภาค เช่น ภาคกลางที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภาคตะวันออกที่ ม.บูรพา บางแสน ชลบุรี ภาคใต้ที่ ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช ภาคอีสานที่ ม.ราชภัฏมหาสารคาม และภาคเหนือที่ ม.ราชภัฏเชียงใหม่

ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากภาควิชาภาษาไทยแต่ละแห่งรวมถึงสถาบันการศึกษาใกล้เคียงทั้งในจังหวัดนั้นๆ และต่างจังหวัดละแวกนั้นด้วย

ที่พิเศษคือ กวีเอกของแต่ละภาคได้รับเชิญร่วมเป็นวิทยากรแก่นักศึกษาและนักเรียนที่ขอเข้าร่วมโครงการในแต่ละแห่งอย่างดียิ่ง

 

โครงการนี้เกิดขึ้นจากคณาจารย์ภาษาไทยระดับอุดมศึกษากับศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ร่วมหารือถึงความสำคัญของงานวรรณศิลป์ในสภาวะปัจจุบันที่น่าเป็นห่วงจนแทบจะพูดได้ว่า

อย่าว่าแต่ “แต่งเป็น” เลย กระทั่งอ่านก็ยัง “อ่านไม่เป็น” อีกด้วย

รวมถึงการ “ไม่อ่านหนังสือ” เอาเสียเลยอีกนั่น

โครงการ “กวีปากกาทอง” ไม่เน้นการประกวดแข่งขันชิงรางวัลเอาชนะเป็นสำคัญ หากมุ่งให้ทุกคนทั้งครูอาจารย์ นักศึกษา นักเรียน ที่เข้าร่วมโครงการได้มีประสบการณ์ร่วมในสุนทรียรสของบทกวีจนถึงทุกคนสามารถแต่งบทร้อยกรองได้ในเวลาช่วงสองวัน

มีภาพยนตร์เรื่อง Dead Poets Society ให้ดูและร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย คำพูดจากครูคีตติ้ง (โรบิน วิลเลียม) สะท้อนความสำคัญของบทกวีดีนัก นั้นคือความที่ว่า

วิชาอื่น เช่น เกษตร วิทยาศาสตร์ วิศวะนั้นเป็นวิชาชีพ แต่กวีและศิลปะเป็นวิชาชีวิต

อาจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ ท่านว่า “บทกวีเป็นพลังของสังคม”

ขอเพิ่มอีกคำนะอาจารย์ ว่า “ศิลปะทั้งปวงเป็นอลังการทางปัญญาของสังคม”

 

มาเชียงใหม่เที่ยวนี้นอกจากป้ายถวายคารวาลัยแด่ในหลวงในพระบรมโกศ ทั่วไป แสดงถึงความโศกสลดแล้ว ยิ่งหดหู่ใจเป็นส่วนตัวว่า กระไรเลย ทางการช่างไม่เห็นความสำคัญของเพชรน้ำเอกแห่งเชียงใหม่ ได้แต่จารึกข้อความที่ทางการกำหนดให้ภายใต้ภาพพระบรมฉายาลักษณ์เพียงเท่านั้น

ช่างไม่รู้กันเลยหรือว่า เมืองเชียงใหม่มีกวีเอกที่เป็นเพชรน้ำหนึ่งทางวรรณกรรมอย่างน้อยถึงสี่ท่าน มี มาลา คำจันทร์ แรคำ ประโดยดำ ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร และ วิลักษณ์ ศรีป่าซาง

จำเพาะ วิลักษณ์ ศรีป่าซาง คนนี้ โดยส่วนตัวขอยกย่องเป็น “มือโคลง” อันดับหนึ่งของประเทศทีเดียว ด้วยฉมังทั้งภาษาถิ่นที่เป็นบรรยากาศต้นฉบับของโคลง อันมีที่มาจาก “กะรง” หรือ “กั่นโลง” ซึ่งคือ “ครรโลง” หรือ “โคลง” นั่นเอง ซึ่งวิลักษณ์ฉมังนักกับลีลาโวหารที่เป็นตัวของตัวอย่างหาใครทาบได้ยาก

โคลงบทเดียวของวิลักษณ์นี่แหละ ถ้าทำให้ปรากฏจะเป็นอลังการของเชียงใหม่ ณ โอกาสอันควรนี้ได้จริง

 

จากเชียงใหม่ไปเชียงคาน เป็นค่ายแต่งเพลงของ วสุ ห้าวหาญ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่หก ณ สถานพักแรมชื่อ “อุ่นรักริมโขง” แก่งคุดคู้สถานที่งดงามมาก เห็นทั้งน้ำโขงช่วงโค้งค้อมอ้อมภูฝั่งเมืองลาว และความตระการตาของฝั่งไทย กับฟ้ากว้างว้างเวิ้งแห่งจักรวาล

วสุ ห้าวหาญ เป็นคีตกวี แต่งเพลงอีสานร่วมสมัยที่เยี่ยมยอดคนหนึ่ง มีเพลงโปรด เช่น

แม้ขณะสาธิตวิธีแต่งเรื่องการใช้คำและความ วสุยังได้วลีเด็ดๆ เช่น

“เจอคนสวยเหมือนเจอไม้หน้าสาม

ต้องหามหัวใจเข้าโรงพยาบาล…”

นี่แหละร่วมสมัยดีนัก

มีโอกาสได้ไปเดิน “ถนนคนเดิน” ในเชียงคาน ซึ่งจะคึกคักทุกเสาร์อาทิตย์ นอกจากวันธรรมดาที่มีเป็นปกติ

เห็นแล้วก็ต้องอุทานว่า นี่แหละใช่เลย พื้นที่ของงานศิลปวัฒนธรรมของแท้

ถนนสายนี้ยาวเป็นกิโลเมตร แต่คนเดินเต็มตลอดสองข้างทาง เป็นอาคารไม้ เชียงคานเขาอวดความเป็นห้องแถวไม้ แบบว่า “เอาอยู่” แม้ร้านสะดวกซื้อยังต้องใช้ไม้มาแต่งบังสีสันหน้าร้านที่เราเคยเห็นเจนตาทั่วไป กระทั่งอาคารร้านรวงต่างๆ ที่ตกแต่งใหม่ก็จะใช้ไม้เป็นองค์ประกอบสำคัญ

นอกจากของกินของใช้อันเน้นของดีของเด่นของเชียงคานขนานแท้แล้ว ที่วิเศษคือ จะมีเด็กๆ เยาวชนตัวเล็กตัวน้อยลูกหลานชาวเชียงคานมาร่วมแสดงเอกลักษณ์พื้นบ้านพื้นเมืองเป็นระยะอีกด้วย

พิเศษคือได้พบนักดนตรีร่วมค่ายผู้เปิด “บ้านดนตรี” สอนเด็กให้เล่นดนตรีร่วมสมัยอยู่เชียงคานว่าฝึกเด็กไปจากบ้านดนตรีนี้นับร้อยคนแล้ว และหลายคนเด็กตัวน้อยอายุราวสิบขวบนี้มีรายได้จากการเล่นดนตรี ว่าบางคนมีเงินเก็บเป็นแสนบาทด้วยรายได้ดนตรีข้างถนน เฉพาะคืนวันเสาร์อาทิตย์นี้เอง

ครูดนตรีคนนี้ชื่อเล่นว่า ออดี้ ชื่อจริงคือ สำเร็จ วงศ์แก้ว เล่าว่า เด็กบางคนกำพร้าจับกลุ่มกันอย่างว้าเหว่ ครูออดี้ก็พามาฝึกสอนดนตรีช่วยคลายเหงาคลายทุกข์ไปได้

เสน่ห์เชียงคานวันนี้ ช่วยเชิดชูชีวิตของชุมชนชาวเชียงคานได้ดังเห็นแล้ว ก็ยังจะเป็นตัวอย่างให้ทุกจังหวัดสร้างเสน่ห์ชุมชนของตนได้ด้วยในลักษณะ

เอาชีวิตชุมชนเป็นหลัก ธุรกิจเป็นรอง