หนุ่มเมืองจันท์ | ความอดทน

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน ผมอ่านเพจของคุณพรชัย รัตนนนท์ชัยสุข นักลงทุนแบบ VI หรือลงทุนแบบเน้นคุณค่า และเป็นผู้เขียนหนังสือด้านการลงทุนหลายเล่ม

เขาเล่าเรื่อง “วอร์เรน บัฟเฟตต์” สุดยอดนักลงทุนแบบ VI ตอบคำถามเด็กอายุ 13 ปี ในงาน Berkshire Hathaway Annual Meeting

เด็กน้อยถามว่า มีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยให้เด็กพัฒนาความสามารถในการอดทนรอคอยได้

น่าสนใจมากเลยครับ

เพราะสภาพแวดล้อมที่ “เด็ก” วันนี้เผชิญแตกต่างจาก “เด็ก” ในวันก่อนเยอะมาก

สมัยก่อน นัดเพื่อนที่มหาวิทยาลัย เพื่อนมาช้าเราก็ต้องรอ

รอแบบไม่รู้ว่าเพื่อนอยู่ตรงไหนแล้ว

และจะต้องรออีกนานไหมกว่าจะถึงมหาวิทยาลัยก็ไม่รู้

เพราะไม่มี “โทรศัพท์มือถือ”

เพื่อนจะมาสายเพราะตื่นสาย รถติด มีธุระด่วน ฯลฯ

เราไม่มีทางรู้เลยจนกว่าเพื่อนจะมาถึงมหาวิทยาลัย

แต่วันนี้ถ้าใครใกล้ถึงก็จะไลน์บอกเพื่อนว่าจะถึงแล้วนะ

มาถึงก่อนก็จะโทร.ไปถามเพื่อนว่าถึงไหนแล้ว

พอถึงแล้วก็จะถามต่อว่ายืนรออยู่ตรงไหน

ทุกอย่างต้องชัดเจน

เทคโนโลยีทำให้เด็กรู้จักการอดทนรอคอยน้อยลง

“สมาธิ” ต่อเรื่องต่างๆ สั้นลง

คลิปในยูทูบต้องลดเวลาลง เพราะถ้ายาวคนจะไม่ดู

“TED TALK” ที่ว่าสั้นแล้ว

ปัจจุบันข้อมูลจากการดูย้อนหลังพบว่าความสนใจของคนสั้นลงกว่าเดิม

ต้องลดเวลาพูดลง

เด็กคนนี้คงรู้ว่าปัญหาของตนเองและเพื่อนในวัยเดียวกันเป็นอย่างไร

และคงเห็นความอดทนของผู้ใหญ่ที่คุ้นชินกับการรอคอยแล้วรู้สึกแปลก

“อด” คือ อยากได้แต่ไม่ได้

อยากกินแต่ไม่ได้กิน

“ทน” คือ ไม่อยากทำแต่ต้องทำ

“อดทน” จึงเป็น “พลัง” รูปแบบหนึ่ง

พลังที่ต้องสู้กับ “ความอยาก” และ “ไม่อยาก”

เด็กคงอยากรู้ว่าผู้ใหญ่ทำได้อย่างไร

เขาจึงตั้งคำถามกับ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ผู้อาวุโสที่เป็นเจ้าพ่อของการลงทุนแบบ VI

การลงทุนแบบนี้ต้องใช้การอดทนอดกลั้นต่อสู้กับ “ความโลภ” ในใจ

เพราะตลาดหุ้นเป็นตลาดแห่งความโลภ

พอราคาขึ้นมากๆ ก็อยากขาย

เห็นหุ้นเก็งกำไรก็อยากซื้อ

“บัฟเฟตต์” ร่ำรวยมาจากการอดทนและรอคอย

“มีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยให้เด็กพัฒนาความสามารถในการอดทนรอคอยได้”

คือ คำถามของเด็กน้อย

“วอร์เรน บัฟเฟตต์” ไม่ได้ตอบคำถามนี้แบบตรงๆ

ไม่ได้ตอบแบบ “HOW-TO”

เขาไม่ได้ชี้แนะในมุมที่หลายคนคิด

เพราะถ้าดูจากนิสัยและการใช้เงินอย่างประหยัดของ “บัฟเฟตต์” แล้วคนคงคิดว่าเขาจะแนะนำให้เด็กประหยัด

รู้จักเก็บเงิน

เอาเงินไปลงทุน

แล้วจะได้ “ร่ำรวย” เหมือนเขา

แต่ “บัฟเฟตต์” กลับบอกว่า “ความอดทน” และ “การรอคอย” เป็นเรื่องสำคัญก็จริง

“แต่การรู้ว่าตอนไหนควรจะใช้เงินก็สำคัญเช่นกัน”

เชื่อไหมครับว่าคนใช้เงินอย่างประหยัดอย่าง “บัฟเฟตต์” จะบอกว่า “การเก็บเงิน” ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกครอบครัว

และทุกสถานการณ์

เขายกตัวอย่างเรื่องการไม่ยอมพาครอบครัวไปเที่ยวดิสนีย์ เวิลด์สัก 2 วัน เพื่อเก็บเงินไว้ให้พอกับการไปเที่ยวทั้งสัปดาห์ในอีก 30 ปีข้างหน้า

มุมหนึ่งเหมือนกับการรู้จักอดทนและรอคอย

แต่ “บัฟเฟตต์” บอกว่านี่คือสิ่งที่ไม่ควรกระทำ

“การใช้เวลากับบางอย่างที่มีความหมายมันคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป”

และสรุปว่า “กิจกรรมที่ทำให้เรามีความสุขเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า”

ฟังแล้ว ปู่บัฟเฟตต์คิดแบบ “คนรุ่นใหม่” มาก

คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่า “บัฟเฟตต์” ขี้เหนียว ใช้รถเก่าๆ อยู่บ้านเล็กๆ

ใช้ชีวิตเรียบง่าย

เหมือนจะใช้ชีวิตแบบอดทนและรอคอยเพื่อการเก็บเงินอย่างเดียว

แต่จริงๆ แล้ว “บัฟเฟตต์” ไม่ได้สนใจเรื่อง “เงิน” เพื่อการสะสมเลย

ไม่เช่นนั้นเขาคงไม่บริจาคเงินจำนวนมหาศาลเพื่อการกุศล

เพียงแต่รถใหม่ บ้านหลังใหญ่ หรือการกินอาหารแพงๆ ไม่ใช่ “ความสุข” ของเขา

“บัฟเฟตต์” มองว่า “ความสุข” คือ การลงทุนประเภทหนึ่ง

ต้องลงทุนในเวลาที่เหมาะสม

เพราะบางอย่างมาแล้วมาเลย

ไม่มีทางที่เราจะเที่ยวดิสนีย์ เวิล์ด อย่างมีความสุขเท่ากับตอนที่เราเป็นเด็ก

และไม่มีทางที่อาหารจะอร่อย ถ้าเราอิ่ม

“บัฟเฟตต์” บอกว่า ถ้าคุณไม่มีความสุขตอนที่มีเงิน 50,000 เหรียญ หรือ 100,000 เหรียญ

“คุณก็ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นตอนที่มีเงิน 50 ล้านเหรียญ”

ครับ “การหาเงิน” แม้จะเป็น “ศิลปะ” ที่น่าเรียนรู้

แต่ที่น่าเรียนรู้มากกว่าคือ “ศิลปะ” ของ “การใช้เงิน”

ผมนึกถึงคำพูดของ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ของแบงก์ไทยพาณิชย์

“การหาเงินใช้สมอง แต่การใช้เงินใช้หัวใจ”

ใช้กับอะไร

ใช้อย่างไร

ใช้แล้วจึงจะมี “ความสุข”

“ความสุข” นั้นเป็นเรื่องของ “ความรู้สึก”

ไม่ได้ใช้ “สมอง”

แต่ใช้ “หัวใจ”