ฉัตรสุมาลย์ : อารามที่จัดบรรพชาสามเณรี

ช่วงนี้ผู้หญิงนิยมเปลี่ยนทรงผมสั้น ดูแลรักษาง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างที่เขียนไปในอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็มีผู้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามเรื่องการบรรพชาสามเณรีมากขึ้น

วัตรทรงธรรมกัลยาณีที่นครปฐมเป็นอารามภิกษุณีแห่งแรก เริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2501 ก็เลยเป็นที่รู้จักมากกว่าที่อื่น แต่เวลานี้ภิกษุณีอารามแห่งอื่นๆ ก็เริ่มจัดการบวชสามเณรีกันมากขึ้น

ญาติโยมบางคนที่ถามมาก็อยากจะบวชภิกษุณีเลย เพราะอายุมากแล้ว ก็เลยต้องมานั่งคุยกันใหม่ว่า ฝ่ายผู้หญิงนั้น ไม่ว่าอายุเท่าใด จะเริ่มต้นการบวชโดยการบวชเณรก่อน ฝ่ายผู้หญิงก็เรียกว่าสามเณรี บางคนคุ้นปากกับการพูดว่าสามเณร พอเป็นผู้หญิงก็ยังเน้นว่าสามเณรรี (สามมะเนนรี) ออกเสียงจริงๆ ว่า สามมะเณรี ค่ะ

สามเณรีที่ผ่านท่านธัมมนันทาที่อายุมากที่สุดตอนที่บวช คือ 82 ตอนนี้ท่านอายุ 83 ยังมีชีวิตอยู่ น่าชื่นชมจริงๆ น่าจะออกนามได้นะคะ ท่านชื่อกัลยา สาคริก ท่านธัมมนันทาเรียกท่านว่าโยมพี่

ทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอารามเป็นแห่งแรกที่จัดการบรรพชาสามเณรีชั่วคราว ปีละ 2 ครั้ง ตอนนี้ผ่านมา 22 รุ่นแล้วค่ะ

 

ที่สงขลา ดูเหมือนว่าภิกษุณีอารามจะผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดรอบทะเลสาบสงขลาเลยทีเดียว เริ่มจากทิพยสถานธรรมที่เกาะยอ มีการจัดการบรรพชามาแล้วหลายครั้ง

ขับรถไปอีก 15 นาที ข้ามสะพานติณสูลานนท์ช่วงที่สอง เข้าสู่ อ.สิงหนคร ก็มีภิกษุณีอารามเล็กๆ ชื่อสวนวิปัสสนาศีลวัตรภิกษุณีอาราม เพิ่งเริ่มจัดงานบรรพชาปีนี้ โดยนิมนต์ท่านธัมมนันทา ซึ่งเป็นปวัตตินีรูปเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการแต่งตั้งจากภิกษุสงฆ์ลงไปทำพิธีบรรพชาให้ เมษายนที่เพิ่งผ่านมานี้ ก็มีการบรรพชา 21 รูป

รอบทะเลสาบสงขลายังมีภิกษุณีอารามอีกแห่งหนึ่งที่กำลังก่อตัวขึ้นที่ อ.ท่าหิน น่าจะได้จัดการบรรพชาให้กับสามเณรีได้ปีหน้า 2563 ละค่ะ

ที่นี่ได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างโดยตรงจากอดีตท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านได้เคยเข้ามาสังเกตการณ์ตอนที่ท่านธัมมนันทาลงไปให้การบรรพชาสามเณรีที่เกาะยอเมื่อปีที่ผ่านมา

ท่านยังได้นิมนต์ท่านธัมมนันทาไปดูสถานที่และความพร้อม

ท่านจัดการก่อสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมที่จะเป็นภิกษุณีอารามที่ป่าช้าวัดท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา

ตอนนี้ท่านธัมมกมลาจากเกาะยอได้ส่งภิกษุณีซึ่งมีพื้นเพเดิมจากที่นั่นไปประจำแล้ว การจัดการบรรพชาในปีหน้า (2563) น่าจะมีความเป็นไปได้สูง

 

เราขึ้นมาทางเหนือ ที่นิโรธาราม อยู่ที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ก็มีการจัดการบรรพชาสามเณรีเป็นประจำเช่นกัน เข้าไปดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ของอารามท่านนะคะ

ทางตะวันออกเฉียงเหนือก็มี แต่ผู้เขียนไม่มีรายละเอียดชัดเจน ใกล้สุดที่อยากจะเล่าให้ฟังคือที่ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น มีการจัดการบรรพชาครั้งแรกคือวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา อารามนี้มีภิกษุณีอยู่เพียงรูปเดียว แต่เมื่อเริ่มจัดการบรรพชาให้ชาวบ้านในท้องถิ่น เป็นวิธีการที่จะให้ข้อมูลความรู้แก่ชาวบ้านที่ตรงที่สุดในเรื่องการบวชของผู้หญิง

ท่านธัมมนันทาได้รับนิมนต์ให้ขึ้นไปเป็นปวัตตินีให้ แต่ท่านมอบหมายให้ภิกษุณีที่มีพรรษาสูงสุดของอารามอีกรูปหนึ่งขึ้นไปทำหน้าที่แทนพร้อมภิกษุณีที่จะไปสอนขานนาค

 

มีเรื่องตื่นเต้นค่ะ คืนวันก่อนที่หลวงพี่ท่านจะเดินทางขึ้นไปเตรียมการขานนาค เกิดพายุที่ขอนแก่น (วันที่ 22 เมษายน) เต็นท์หลายหลังที่เช่ามาเตรียมการรับรองแขกเหรื่อที่จะมาในงานบวช พายุซัดเสียเค้เก้ระเนระนาดลงไปนอนพังพาบ หลวงพี่ที่เป็นแม่งานออกจะใจเสีย รายงานมาพร้อมภาพสถานที่เกิดเหตุ เออ มันก็น่าตกใจอยู่นะ

ท่านธัมมนันทาถามไปคำเดียวว่า “เต็นท์พัง แล้วใจพังตามไปด้วยไหม”

ถ้าใจไม่พังก็ลุกขึ้นมาว่ากันใหม่

ก็ผู้หญิงที่จะบวช 9 คนนั้น เขาก็มีลูกมีสามี เมื่อเต็นท์พัง ก็ลูกและสามีของเขานั่นแหละจะเป็นกำลังให้

หลวงพี่สองรูปที่กำลังจะออกเดินทางขึ้นเครื่องตีห้าของวันรุ่งขึ้น ต้องเดินทางจากอารามที่นครปฐมตั้งแต่ตีสามก็บอกว่า ยิ่งเขามีปัญหายิ่งต้องขึ้นไปช่วย

หลวงพี่ภิกษุณีและสามเณรีที่ขึ้นมาจากสงขลามาช่วยเตรียมงานอยู่ก่อนหน้านั้นไม่พูดอะไรสักคำ พอพายุโหมกระหน่ำ ไฟดับ ท่านก็หันไปจุดเทียน แล้วก็สอนขานนาคต่อ บรรดาโยมที่กำลังตกใจ ก็ขวัญกลับมา รู้ว่าตัวเองกำลังขานนาค หลวงพี่ยังตั้งใจสอน

จุดนี้สำคัญมากค่ะ ในภาวะที่ผู้คนเสียขวัญเสียกำลังใจ ถ้ามีคนหนึ่งตั้งมั่นได้ ก็จะเป็นผู้พลิกผันสถานการณ์ ต้องขอชมเชยว่าลูกสาวของพระพุทธเจ้าทำหน้าที่ได้ดี

 

วันรุ่งขึ้น เมื่อพระภิกษุณีอีกสองรูปจากทรงธรรมกัลยาณีอารามขึ้นไปสมทบ ผู้ขอบวชที่กำลังซ้อมขานนาคอยู่ทั้ง 9 คนก็มีกำลังใจอย่างยิ่ง รู้แน่ละว่า ตนได้บวชแน่ๆ

เช้าวันรุ่งขึ้น ภิกษุณีทางขอนแก่นติดต่อมาทางไลน์ส่งรูปมาให้ดูใหม่ คราวนี้ตั้งเต็นท์ใหม่ มีการโยงเชือกให้มั่นคงขึ้น

ทุกขั้นตอนเป็นการเรียนรู้โดยแท้

เรียนรู้จากข้างในแหละค่ะที่สำคัญ

ท่านธัมมนันทาสำทับไปว่า การบวชสามารถทำกลางแจ้งก็ได้ ขอให้มีผู้ให้การบรรพชา และผู้ขอการบรรพชาก็พอ

ตัวอาคารที่สมมุติสีมาเป็นพระอุโบสถแล้ว กว้าง 5 เมตร ยาว 15 เมตร ก็ยังใช้การได้ ท่านธัมมนันทาตอบกลับไปว่า เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ท่านจะวางใจละนะ

 

อยากให้ท่านผู้อ่านได้เห็นสภาพของการเกิดขึ้นของภิกษุณีอารามแต่ละแห่งว่า กว่าจะเกิดได้ ต้องอาศัยบารมีหลายประการ องค์แรกเลยก็คือความศรัทธาในพระพุทธเจ้า หากไม่มีศรัทธาตั้งมั่นแล้ว ทุกอย่างก็คลอนแคลน

ที่ขอนแก่น หวังว่าจากสามเณรีที่บวชครั้งนี้ 9 รูป หลังจาก 9 วันเมื่อลาสิกขากลับคืนสู่ครอบครัว จะเป็นผู้แทนในหมู่บ้านที่จะชี้นำได้จากประสบการณ์ตรง คือการที่ตัวเองได้เคยบวชมา แม้ว่าจะเป็นช่วงสั้นเพียง 9 วันก็ตาม

มีภิกษุณีที่อยู่ตามลำพังอีกหลายจังหวัด เช่น ยโสธร สุรินทร์ อุทัยธานี สมุทรสาคร หากประสงค์ที่จะสร้างสังฆะให้เป็นปึกแผ่น วิธีหนึ่งคือการจัดงานบรรพชาสามเณรีชั่วคราว ต้องจัดในท้องที่นั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมโดยตรง ลูกเขา ภรรยาเขา แม่เขา น้าเขา ป้าเขา เป็นผู้ออกบวชเองเป็นครั้งแรก เมื่อจัดงานบรรพชาสามเณรี

เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้สัมผัสกับชีวิตนักบวช

 

ผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นสามีหรือบิดา ตอนแรกอาจจะมีทีท่าปฏิเสธ รับไม่ได้ แต่เมื่อเห็นลูก ภรรยา ญาติของตัวเองที่ออกบวชแล้วกลับมาดีขึ้น ด่าน้อยลง ขยันงานขึ้น ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายน้อยลง ฯลฯ ก็ย่อมเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อภิกษุณีไปโดยปริยาย และผู้ชายเมื่อหันมาสนับสนุนแล้ว ก็จะสนับสนุนเต็มที่

ผู้เขียนได้เห็นผู้ชายที่เปลี่ยนท่าทีเช่นนี้มาหลายครอบครัว จึงสามารถยืนยันจากประสบการณ์ตรงได้

ภิกษุณีนั้นเป็นหนึ่งในพุทธบริษัทสี่ ที่เป็นพระประสงค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตั้งแต่ต้นทีเดียว อย่างที่ได้เคยเขียนมาแล้วบ่อยครั้ง

เมื่อมีการบรรพชาสามเณรีในหมู่บ้านที่ชาวบ้านที่ห่างไกลข่าวสารเรื่องการเกิดขึ้นของภิกษุณี ชาวบ้านเองได้เห็น ได้สัมผัส ได้เข้าไปมีส่วนร่วม แม้เพียงช่วยยกเต็นท์ขึ้นตั้งใหม่หลังพายุ ก็จะเกิดความตระหนักว่า เป็นสิ่งที่ทำได้ ช่วยกันโจษขานต่อๆ ไปว่า มีภิกษุณีอารามขึ้นแล้วในหมู่บ้านของตัวเอง

และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ภิกษุณีเปิดพื้นที่ให้มีการเล่าเรียน มีการฝึกจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในครรลองของชีวิตที่มีธรรมะเป็นฐาน ใช้เวลาเพียงไม่นาน หมู่บ้านนั้นจะมีความสุขขึ้น อย่างเป็นรูปธรรมที่เขาสัมผัสได้เอง

เช่นนี้ จะเป็นการยืนยันว่า ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงสอนนั้น นำพาสู่ความพ้นทุกข์ได้จริง