กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร : “สกีลงเขา น่ากลัวจริงหรือ” —> “สัญชาตญาณ” จะเข้ามาแทนที่ “ความกลัว”

ท่ามกลางอากาศหนาว ติดลบสององศาเซลเซียส

กรวิชญ์ ยืนอยู่บนยอดเขาแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น

ยอดเขาแห่งนี้ ถูกปกคลุมด้วยหิมะถึงสองเดือนเต็มๆ ในฤดูหนาว

เป็นสถานที่ยอดนิยม สำหรับการเดินทางมาพักผ่อน

และ เล่น “สกี”

วันนี้ มีผู้คนออกมาเล่นสกีเป็นจำนวนมาก

บ้างมาเดี่ยว บ้างมากับครอบครัว

บ้างเป็นมืออาชีพ และบ้างหัดเล่นเป็น “ครั้งแรก”

เฉกเช่น “กรวิชญ์” จากแดนสยาม

ผู้เกิดและโตภายใต้อากาศร้อนชื้น ฝนตกชุก

ไม่เคยสัมผัสหิมะ นอกสวนสนุกดรีมเวิลด์ มาก่อน

การเล่น “สกี” ครั้งแรก บนยอดเขา จึงเป็นเรื่อง “น่าตื่นเต้น”

คุณครู “ฮิโรชิ” เดินมาแล้ว

“เอ้า คุณกรวิชญ์ พร้อมหรือยัง มาทางนี้เลย”

กรวิชญ์ เดินไปที่เนินฝึกหัด บรรจงใส่รองเท้าสกี สายตาหวั่นๆ เล็กน้อย

แบบฝึกหัดแรกของการเล่น “สกี” คือ ยืนทรงตัวให้ได้

สำหรับ “กรวิชญ์” ที่สมัยเด็กๆ เคยสไลด์ “โรลเลอร์เบลด” กับเพื่อนๆ ที่สวนลุมฯ ตอนเย็นๆ

เรื่องยืนทรงตัวนั้น ไม่มีปัญหา

ทีนี้ ได้เวลาเคลื่อนตัวออกจากยอดเนินฝึกหัด

“เหย ทำไมมันเร็วอย่างนี้” กรวิชญ์คิด

พลันย่อตัว และเอนตัวมาทางด้านหลังเล็กน้อย เพื่อชะลอความเร็ว

แน่นอน หลังจากนั้นไม่กี่อึดใจ

ก้นถูพื้น เสียสมดุล ล้มไม่เป็นท่า

คุณครูฮิโรชิ รีบเดินมาตรวจสภาพความเรียบร้อย

“เอาใหม่ครับ ทีนี้พยายามยืนตัวตรงๆ มองไปช้างหน้า”

กรวิชญ์ ปล่อยตัวลงมาอีกครั้งหนึ่ง

“เหย เร็วอีกแล้ว” พลันย่อตัว เอนไปด้านหลัง อย่างอัตโนมัติ

เสียสมดุล ไปได้ไม่กี่สิบเมตร ก้นไถพื้น ไปตามระเบียบ

อาจารย์ฮิโรชิ เดินมาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้พร้อมรอยยิ้ม

แล้วเอ่ยว่า…

 

ขวัญใจ นักยิมนาสติก ประจำโรงเรียนมัธยมในเมืองแห่งหนึ่ง

กำลังฝึกซ้อม “ท่าใหม่” เพื่อนำไปแข่งขันระดับจังหวัด

วันนี้ โค้ชอี้ด จะสอนท่า “ม้วนหลัง” โดยมีขั้นตอนดังนี้

ยืนตัวตรง ทิ้งตัวไปด้านหลัง มือสองข้างแตะพื้น ยกขาชี้ฟ้าสองข้าง

ปล่อยร่างกายให้เป็นธรรมชาติ ขาม้วนกลับมาแตะพื้น ยืนตรง ชูแขน

แค่นี้เอง เริ่มกันเลย ขวัญใจ

ขวัญใจเดินมาที่เบาะฝึก มีโค้ชยืนประกบอยู่ด้านข้าง

“เอ้า ประจำที่ ยืนตัวตรง” โค้ชอี้ดสั่ง

ขวัญใจยืนตัวตรง ยกแขนขึ้นสองข้าง เตรียมรอฟังคำสั่งต่อไป

“ทิ้งตัว” โค้ชสั่งต่อ

ขวัญใจเอื้อมมือไปด้านหลังสองข้าง เอียงตัวไปได้เพียงเล็กน้อย

ก็ต้องย่อเข่าลงนั่งกับพื้น

“มันแปลกๆ ค่ะโค้ช กลัวจะล้ม กลัวว่าแขนจะไม่มีแรงแล้วหัวจะฟาดพื้นจริงๆ” ขวัญใจบอกความรู้สึก

โค้ชยิ้ม แล้วบอกให้ลองใหม่อีกครั้งหนึ่ง

“ทิ้งตัวไปข้างหลัง เดี๋ยวผมช่วยดูให้ไม่ต้องกลัว”

ขวัญใจหลับตา ค่อยๆ เอื้อมมือไปด้านหลัง เอียงตัวโค้งไปได้เล็กน้อย

พอเหมือนจะล้ม เริ่มเสียสมดุล ก็เผลอย่อขาลง นั่งกับพื้นอีกครั้งหนึ่ง

“มันกลัวจะล้มจริงๆ ค่ะโค้ช ทำไงดี”

โค้ชยิ้มแล้วบอก “ขวัญคิดว่า การม้วนหลัง ตรงไหนยากที่สุด”

ขวัญตอบ “ไม่ทราบค่ะ แต่น่าจะเป็นการยกขาชี้ฟ้ารึเปล่า”

“ไม่ใช่ครับ” โค้ชตอบ เงียบไปพักหนึ่ง

แล้วพูดต่อ “การทิ้งตัวไปข้างหลังนี่แหละที่ยากที่สุด

มันเหมือนกับว่า เราต้องเชื่อสัญชาตญาณของตัวเอง

ก้าวข้ามความกลัว ที่เกิดจากความ “ไม่รู้”

ต้องเชื่อว่า ทุกอย่างจะโอเค แล้วลงมือทำ

ร่างกายส่วนที่เหลือ จะตามมาเองโดย “อัตโนมัติ””

ขวัญใจ พยักหน้าหงึกๆ พร้อมลองใหม่อีกครั้งหนึ่ง

 

คราวนี้ หลับตา กลั้นใจ “เอาวะ ลองดูสักที ล้มหัวฟาดไป ก็ยังมีเบาะรองนี่นา”

ขวัญยืนตัวตรง ยืดแขนไปด้านหลังช้าๆ โค้งตัวไปด้านหลัง

เมื่อถึงจุดที่ร่างกายจะล้มไปด้านหลัง ขวัญข่มใจปล่อยตัวให้ล้มทั้งยืน

สัญชาตญาณทำงาน แขนเข้ามารับช่วงต่อ แตะพื้นพอดีๆ

ขาถูกดันขึ้นจากแรงเหวี่ยง วาดเป็นรูปครึ่งวงกลม

ลงมาแตะพื้นอีกข้าง ได้อย่างสวยงาม

ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาไม่เกิน 1 วินาที

แบบอัตโนมัติ โดยใช้ “สัญชาตญาณ”

และ “ความกล้า” เป็นตัวขับเคลื่อน

แน่นอน ครั้งแรกจะยาก เพราะไม่เคยทำ

ครั้งที่สองและต่อๆ ไป ก็จะกลายเป็นเรื่อง “ขนมๆ”

โดยคนที่ยังไม่มีครั้งแรก ไม่มีทาง “เข้าใจ”

 

ช่วงแรกๆ ที่ผมเริ่มเขียนบทความ

ทราบมั้ยครับ ว่า ผมกลัวช่วงเวลาใดมากที่สุด

น่าจะพอเดาได้

ก็ตอนที่เปิดคอมพ์ขึ้นมา เปิดโปรแกรม “เวิร์ด”

ตั้งชื่อไฟล์ทุกอย่างเรียบร้อย

เหลือแค่ “ต่อสู้” กับหน้ากระดาษเปล่า ยังไงล่ะครับ

กลัวครับ ว่าวันหนึ่ง จะ “เขียนไม่ออก”

เขียนแล้วจะดีมั้ย คิดแล้วคิดอีก ก็ยังไม่ “เขียน” สักที

บางครั้ง นั่งจ้องมันเป็น “ชั่วโมงๆ” เลย ก็ยังไม่ได้ “เขียน”

เครียดครับ บอกเลย

จนกระทั่งได้มาพบรุ่นพี่นักเขียนรุ่นเก๋าคนหนึ่ง ให้คำปรึกษา โดยยกคำพูดภาษาอังกฤษขึ้นมา

“You can always edit a bad page, not a blank page”

(คุณแก้หน้าแย่ๆ ได้เสมอ แต่ไม่ใช่หน้าเปล่าๆ)

เข้าใจทันทีเลยครับ หลังจากนั้น ผมจะพยายามเขียนอะไรในหัวลงไปก่อน ไม่ต้องคิดมาก

เชื่อมั้ยครับ แก้ไปแก้มา มันก็ไม่ได้แย่มากมาย แถมดีเสียอีก

เร็วกว่า การนั่งคิด จนมัน “สมบูรณ์แบบ” แล้วค่อยเขียน เป็นไหนๆ

 

เมื่อสมัยที่ผมเรียนเรื่อง “นวัตกรรม (Innovation)” ที่อเมริกา ยังจำได้ครับ

อาจารย์บอกว่า การจะ “สร้างสรรค์” งานใหม่ๆ นั้น ใช้ “ความกล้า”

พอได้มาเขียนบทความ ได้อ่านเรื่องราวต่างๆ ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นการ “ม้วนหลัง” หรือ “การเขียนบทความ”

ลองถ้าทำเป็นครั้งแรกๆ ล้วน “น่ากลัว” ทั้งสิ้น

ต้องใช้ “ความกล้า” ที่จะ “ผิด” กล้าที่จะ “เจ็บ” ในครั้งแรกๆ แล้วลงมือทำไปก่อน

ครั้งต่อๆ ไป จะง่ายขึ้นครับ “สัญชาตญาณ” จะถูกสร้างมาแทนที่ “ความกลัว”

นี่แหละ เคล็ดลับของ “นวัตกร” ทุกคน

 

กลับมาที่ยอดเขาในแดนอาทิตย์อุทัย

อาจารย์ฮิโรชิ บอกกับกรวิชญ์ ว่า

คุณเล่นสกีลงจากเขา ปกติความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอยู่แล้ว

หลายคนเลือกจะเอนตัวไปข้างหลัง แล้วล้มช้าๆ ยอมแพ้ แบบมือสมัครเล่น

แต่อีกหลายคน เลือกจะยืน เผชิญหน้ากับความเร็ว สร้างสมดุล แบบมืออาชีพ

ล้มบ้าง ก็ลุกขึ้นมา สักพัก “สัญชาตญาณ” จะเข้ามาแทนที่ “ความกลัว”

 

Biz Stone ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ทวิตเตอร์ (Twitter) บอกไว้ว่า

ในโลกธุรกิจทุกวันนี้ ที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

ก็คล้ายๆ คุณกำลังเล่นสกีลงจากเขาด้วยความเร็วสูงอยู่แล้ว มันอันตราย ไม่ง่าย

คุณจะเลือก “ชะลอ” ความเร็วของตัวเอง แล้วให้คนอื่นแซง

หรือจะยืนสู้กับการเปลี่ยนแปลงด้วยความกล้าหาญ เพื่อสร้าง “นิสัย” ใหม่ๆ ให้กับตัวเอง

ก็ขึ้นอยู่กับ “ทัศนคติ” ของคุณแล้วล่ะครับ