ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 พฤษภาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
การเมืองช่วงสองเดือนหลังเลือกตั้งเต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆ ที่ทำให้คนทั้งประเทศเอือมระอา ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลทำให้คนบ่นว่า “เมื่อก่อนหลังเลือกตั้งไม่กี่วันก็ได้รัฐบาล” ดังขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เสียงซึ่งดังกึกก้องวันนี้คือความหดหู่ที่พรรคแพ้เลือกตั้งจะตั้งรัฐบาลให้หัวหน้าคสช.เป็นนายกรัฐมนตรี
อดีตนายกอภิสิทธิ์พูดตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งว่าคุณประยุทธ์จะเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งในสังคม และถึงแม้บรรยากาศการเมืองแบบแบ่งขั้วช่วงหาเสียงจะทำให้ไม่มีใครสนฟังที่คุณอภิสิทธิ์พูด ประเทศไทยตอนนี้กำลังเผชิญความขัดแย้งที่ประเด็นหลักคือ “เอาประยุทธ์” หรือ “ไม่เอาประยุทธ์” ตามนั้นจริงๆ
ภายใต้ความอีดอัดเรื่องไม่รู้ว่าใครจะได้ตั้งรัฐบาล “กระแส” ของฝ่ายที่ “ไม่เอาประยุทธ์” คือเสียงที่ดังกึกก้องในสังคมมากที่สุด ส่วนฝ่าย “เอาประยุทธ์” แสดงตัวให้เห็นในสังคมน้อยมาก ยกเว้นพลังประชารัฐ,11 พรรคเล็กที่นักวิชาการบางคนเรียกว่า “ส.ส.ไม่พึงมึ” และวุฒิสมาชิกซึ่งพลเอกประยุทธ์ตั้งเองกับมือ
โดยปกติแล้วคนเรามักจะโวยวายในเวลาไม่ได้ดั่งใจ “กระแส” ของฝ่าย “ไม่เอาประยุทธ์” จึงเป็นหลักฐานของความรู้สึกว่าหัวหน้าคณะรัฐประหารมีโอกาสเป็นนายกต่อสูงมาก ส่วนโอกาสที่ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากการ “สืบทอดอำนาจ” ที่มีพรรคการเมืองและวุฒิสภาร่วมมือกับหัวหน้า คสช.ก็แทบไม่มีเลย
ด้วยเล่ห์เหลี่ยมในรัฐธรรมนูญซึ่งคุณประยุทธ์ตั้งคุณมีชัยเป็นคนเขียน นายกต้องมาจากการลงมติของส.ส. 500 คน กับวุฒิสมาชิกที่พลเอกประยุทธ์เลือกอีก 250 คุณมงคลกิตติ์และพวกจึงช่วยให้คุณประยุทธ์เป็นนายกได้เด็ดขาดแล้ว เพราะคนกลุ่มนี้กับวุฒิสมาชิกและพลังประชารัฐทำให้ฝ่าย “เอาประยุทธ์” มีเสียงสองสภา 376 ทันที
ท่ามกลางความหงุดหงิดของฝ่าย “เอาประยุทธ์” ที่เห็นว่าคุณประยุทธ์ใกล้สืบทอดอำนาจสำเร็จ พรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยกลายเป็นจำเลยให้คนจำนวนมากแดกดันเรื่องแทงกั๊ก, ไม่ตอบให้ชัด, ต่อรองเก้าอี้ ฯลฯ ทั้งที่การตัดสินใจของสองพรรคนี้ไม่มีผลต่อการเป็นนายกของคุณประยุทธ์แม้แต่นิดเดียว
ต่อให้ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยประกาศ “ไม่เอาประยุทธ์” เครือข่ายคสช.ก็มีคนในสองสภามากพอจะเลือกคุณประยุทธ์เป็นนายกไปแล้ว ท่าทีของทั้งสองพรรคจึงมีผลอย่างมากคือทำให้ฝ่าย “ไม่เอาประยุทธ์” ที่มี ส.ส. 245เป็น “เสียงข้างมาก” ในสภาผู้แทนจนคุณประยุทธ์เป็นรัฐบาล “เสียงข้างน้อย” เท่านั้นเอง
คนจำนวนมากหวังให้พลเอกประยุทธ์ที่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยถูกคว่ำกลางสภา แต่ต่อให้เป็นเช่นนั้น นายกคนใหม่ต้องมาจากวิธีเดียวกับที่ผลักดันให้คุณประยุทธ์เป็นนายก วุฒิสภาซึ่งตั้งโดยคุณประยุทธ์จึงมีโอกาสเลือกคุณประยุทธ์กลับมาได้ โดยเฉพาะในเวลาที่จำนวน ส.ส.ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
ต่อให้คิดว่าการคว่ำประยุทธ์จะนำไปสู่การยุบสภา แนวโน้มที่ฝ่าย “ไม่เอาประยุทธ์” จะชนะเลือกตั้งก็ไม่ชัดเจนนัก เพื่อไทยมีโอกาสไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเหมือนเดิม อนาคตใหม่ผันผวนหลังธนาธรโดนระงับการปฏิบัติหน้าที่แน่ๆ ซ้ำพลังประชารัฐอาจโตขึ้นเมื่อประชาธิปัตย์มุ้ง “เอาประยุทธ์” ย้ายพรรคเต็มตัว
“การเมืองพิเศษ” มีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองในปัจจุบัน แต่ถึงจะไม่คิดเรื่องนี้เลย ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยก็อยู่ในสถานการณ์ที่มีทางเลือกน้อยมาก การตั้งรัฐบาลกับ“ฝ่ายประชาธิปไตย” ทำให้เสี่ยงจะถูกผู้มีอำนาจไม่พอใจ ส่วนการลุ้นให้คุณประยุทธ์ถูกคว่ำหรือยุบสภาก็ไม่ชัดว่าทำให้ขั้วการเมืองเปลี่ยนไป
ด้วยตัวเลขของฝ่ายหนุนพลเอกประยุทธ์จากพรรคพลังประชารัฐ, 11 พรรคเล็ก และวุฒิสมาชิกที่มีเกิน 376 คนไปแล้ว การร่วมมือกับพลังประชารัฐคือเส้นทางการเมืองที่ง่ายกว่าการไม่ร่วมมือแน่/ๆ แต่การตัดสินใจนี้จะนำประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยไปสู่ความเสี่ยงทางการเมืองชุดใหม่ที่จะเสียหายระยะยาวด้วยเช่นกัน
พลเอกประยุทธ์ไม่ใช่ผู้นำหน้าใหม่ซึ่งมาจากเสียงส่วนใหญ่ในสภา และไม่ว่าจะประดิษฐ์วาทกรรมอย่างไร คนผู้นี้คือหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ตั้งตัวเองเป็นนายกห้าปีแล้วสร้างปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ความล้มเหลวด้านเศรษฐกิจ, การแต่งตั้งพวกพ้องเป็นรัฐมนตรี หรือความไม่ยอมรับของประชาชน
ไม่ว่าจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่จะเลือกคุณประยุทธ์เป็นนายกตามกติกาที่คุณประยุทธ์กำหนดจะมีกี่คน จำนวนประชาชนที่เลือกพรรคซึ่งไม่ได้ชูคุณประยุทธ์เป็นนายกมีถึงกว่ายี่สิบล้าน ส่วนคนเลือกพรรคที่หนุนคุณประยุทธ์ก็ไม่รู้ว่าเลือกเพราะ ส.ส.ที่พลังประชารัฐดูดจากพรรคอื่นๆ หรือเพราะคุณประยุทธ์จริงๆ
ถ้าประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยสนับสนุนคุณประยุทธ์เป็นนายก ความไม่พอใจที่ประชาชนมีต่อคุณประยุทธ์ตลอดห้าปีย่อมลุกลามสู่ทั้งสองพรรคด้วย ข้อหา “สืบทอดอำนาจ” จะถูกประทับบนหน้าผากของทุกคนในพรรคขนาดกลางทั้งสองจนปฏิเสธไม่ได้ เช่นเดียวกับความไม่พอใจต่อปัญหาเศรษฐกิจที่ผ่านมา
นอกจากความไม่พอใจต่อคุณประยุทธ์จะส่งต่อความมัวหมองให้ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย รัฐมนตรีที่กอดเก้าอี้เหนียวแน่นก็จะเป็นปัญหาของประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยไปด้วย ความรู้สึกที่สังคมมีต่อพลเอกประวิตรเรื่องนาฬิกาหรู, ทริปฮาวาย ฯลฯ จะถาโถมไปยังพรรคซึ่งร่วมรัฐบาลกับพลเอกประวิตรด้วยทันที
พรรคการเมืองที่ฉลาดย่อมมองออกว่าคุณประยุทธ์ใช้ ส.ส.ฟอกการสืบทอดอำนาจ คสช. แต่พรรคการเมืองที่กระหายอำนาจย่อมมองไม่ออกว่าความเบื่อหน่ายที่ประชาชนมีรัฐมนตรีนายพลคนต่างๆ จะฉุดกระชากความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อพรรคการเมืองให้จมดิ่งลงไปสู่ปลักตมเพียงไร
ด้วยรายชื่อวุฒิสมาชิกที่คุณประยุทธ์ตั้งเอง “กระแสสังคม” ที่รู้สึกว่า คสช.ตอบแทนคนในเครือข่ายโดยตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้เพื่อเลือกนายกแบบ “ต่างตอบแทน” นั้นรุนแรงอยู่แล้ว และการสนับสนุนคุณประยุทธ์จะเป็นหลักฐานว่าประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยยอมรับวุฒิสมาชิกและนายกที่เข้าสู่อำนาจด้วยวิธีนี้ทันที
ห้าปีที่พลเอกประยุทธ์ตั้งตัวเป็นนายกคือห้าปีที่ประชาชนตรวจสอบอำนาจรัฐไม่ได่ ทันทีที่ระบบรัฐสภากลับมา การตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่และการจัดซื้อจัดจ้างยุค คสช.ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ องค์กรอิสระที่ตั้งโดย คสช.ต้องรับภาระหนักในการปกป้องคุณประยุทธ์จนเลี่ยงข้อกล่าวหา “สองมาตรฐาน” ไม่ได้เลย
ด้วยพฤติกรรมการใช้อำนาจที่พลเอกประยุทธ์แสดงให้เห็นตลอดห้าปี โอกาสที่คุณประยุทธ์จะมีท่าทีดูหมิ่นเหยียดหยามหรือไม่ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์จากสภาผู้แทนฯ ย่อมมีสูงมาก ไม่ต้องพูดถึงการยื่นญัตติหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจที่อาจถูกสกัดไม่ให้เกิด และเป็นไปได้ที่จะปรากฎ “เผด็จการรัฐสภา” ขึ้นมาจริงๆ
จากการใช้กองทัพเป็นฐานค้ำยันอำนาจการเมืองมาห้าปี โอกาสที่พลเอกประยุทธ์จะใช้กองทัพหรือพลเอกอภิรัชต์ในการจรรโลงอำนาจเหนือระบบรัฐสภาย่อมไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินฝัน การเผชิญหน้าระหว่างกองทัพกับผู้แทนประชาชนในสภาจะสร้างความรู้สึกพะอืดพะอมแก่ประชาชนที่ยากจะยอมรับโดยปริยาย
เมื่อคำนึงถึง ส.ส.ที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ในสภา คนอย่างคุณมงคลกิตติ์หรือคุณไพบูลย์ย่อมต้องเล่นบทบาทเป็น “องครักษ์พิทักษ์ประยุทธ์” เพื่อปกป้องคุณประยุทธ์ไม่ให้ถูกตรวจสอบหรือวิพากษ์อย่างถึงที่สุด คุณประยุทธ์ที่ถูกโอบอุ้มด้วย ส.ส.แบบนี้จึงมีโอกาสถูกสังคมระแวงถึงความไม่โปร่งใสได้ตลอดเวลา
ทันทีที่ประชาธิปัตย์และภูมิใจหนุนคุณประยุทธ์เป็นนายกต่อไป สิ่งที่สังคมจะรู้สึกโดยปริยายคือทั้งสองพรรคเป็น “เครือข่าย คสช.” เหมือนองค์กรอิสระ, วุฒิสภา, เผด็จการรัฐสภา, องครักษ์พิทักษ์ประยุทธ์, พลเอกประวิตร ฯลฯ จนไม่ว่าเสนอความเห็นอะไรก็จะถูกสังคมสงสัยความเป็นพรรคหางเครื่องทหารทันที
แม้การตัดสินใจหนุนคุณประยุทธ์เป็นนายกจะดูง่ายเมื่อเทียบกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อตัดสินใจอีกแบบ แต่วิธีจรรโลงอำนาจของพลเอกประยุทธ์จะสร้างความเสียหายทางการเมืองแก่ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยถึงขั้นที่ฟื้นฟูได้ยาก ไม่ว่าจะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีอะไรในกระทรวงใหญ่แค่ไหนก็ตาม
ปฏิกริยาที่ประชาชนแสดงออกในวันเลือกตั้งชี้ชัดแล้วว่าคนส่วนใหญ่ไม่อยากให้คุณประยุทธ์เป็นนายกต่อไป และถึงแม้จะเห็นว่าประเทศไทยอยู่ใน “สถานการณ์เปลี่ยนผ่าน” จนต้องมี “การเมืองพิเศษ” ที่โอนอ่อนผ่อนตามผู้มีอำนาจจนเกินปกติ ประเทศนี้ก็มีคนเก่งๆ ที่ดีและเหมาะเป็นนายกยิ่งกว่าคุณประยุทธ์อยู่ดี
ไม่มีนักการเมืองคนไหนมองไม่ออกว่าคุณประยุทธ์คือหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ใกล้อวสาน ยิ่งกว่านั้นคือวิธีที่คุณประยุทธ์สืบทอดอำนาจกำลังจุดชนวนการเผชิญหน้าของประชาชน,องค์กรอิสระ, พรรคการเมือง, ทหาร, ส.ส., วุฒิสมาชิก ฯลฯ จนประเทศกำลังเดินหน้าสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี
ต่อให้คุณประยุทธ์ยึดทำเนียบตามแผนสำเร็จ วินาทีที่การสืบทอดอำนาจเริ่มต้นจะเป็นวินาทีแห่งการนับถอยหลังสู่วิกฤติการณ์ทางการเมืองของประเทศไปพร้อมกัน
นักการเมืองที่ฉลาดย่อมรู้ว่าควรจะวางตัวอย่างไรในสถานการณ์นี้ นักการเมืองเขลาเท่านั้นที่จะแลกอนาคตเพื่อสายสะพายของอำนาจรัฐที่ไม่นานจะเป็นรอยมลทิน ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยมีผู้นำซึ่งมีดีพอจะเป็นผู้นำประเทศในอนาคต ทั้งสองพรรคไม่ควรเอาตัวเองไปเกลือกกลั้วอำนาจเก่าที่ใกล้ลงโลงเต็มที