ต่างประเทศอินโดจีน : อียูกับกัมพูชา

EU Flag Wallpaper

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ต้นปีนี้ สหภาพยุโรป (อียู) เริ่มต้นกระบวนการที่ใช้เวลานาน 18 เดือน ในการตรวจสอบ สืบค้นข้อเท็จจริงทั้งหลาย เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจว่า จะยังคงให้สิทธิพิเศษในการเข้าถึงตลาดอียู สำหรับสินค้าออกทุกอย่างยกเว้นอาวุธ (อีบีเอ) ต่อกัมพูชาต่อไปอีกหรือไม่

กระบวนการที่ว่านี้ มีขึ้นหลังจากอียูมองว่า กัมพูชาในเวลานี้ “ประชาธิปไตยเสื่อมทรามลง, ไม่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนและหลักนิติรัฐ” ใดๆ อันเป็นเงื่อนไขสำคัญในการให้สิทธิพิเศษดังกล่าว

ถึงตอนนี้ บรรดาภาคประชาสังคมในกัมพูชา นักวิเคราะห์ และผู้สันทัดกรณี รวมถึงภาคเอกชน ส่วนใหญ่ลงความเห็นตรงกันว่า โอกาสที่อียูจะระงับสิทธิพิเศษอีบีเอนั้นมีมากจนน่าวิตก

เพราะผลกระทบมหาศาลมาก

 

อีบีเอเป็นสิทธิพิเศษที่ทางอียูมอบให้กับกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries) โดยมอบให้กัมพูชามาตั้งแต่ปี 2001

กัมพูชาสามารถส่งออกทุกอย่าง ยกเว้นอาวุธ ไปยังอียูได้โดยไม่ต้องเสียภาษี แถมยังไม่มีการจำกัดโควต้าอีกต่างหาก

สิ่งที่ต้องทำเพื่อแลกกับอีบีเอก็คือ ต้องดำเนินการตามพันธะที่มีต่อหลักการของสหประชาชาติ และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศทั้งหลายเท่านั้น

ปัญหาของกัมพูชาเริ่มต้นในช่วงการเลือกตั้งครั้งหลังสุดที่ผ่านมา เมื่อมีการยุบพรรคฝ่ายค้าน เล่นงานสื่อมวลชนอิสระทุกแขนง รวมไปถึงบรรดาองค์การเพื่อการพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ทั้งหลายอย่างที่รับรู้กันนั่นเอง

คำถามสำคัญในเวลานี้จึงอยู่ที่ว่า จริงๆ แล้ว อีบีเอส่งผลกระทบต่อกัมพูชามากน้อยขนาดไหนกัน

 

ตัวเลขการส่งออกจากกัมพูชาไปยังอียูของปีหลังสุดคือเมื่อปี 2018 นั้นมีมูลค่าอยู่ที่ 4,900 ล้านยูโร คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงกว่า 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ โดยที่ 99 เปอร์เซ็นต์อยู่ในข่ายได้สิทธิพิเศษที่ว่านี้ทั้งหมด

ไล่ดูเป็นรายสินค้า จะพบว่าสิ่งทอกับรองเท้า, อาหาร, ผัก, ข้าว และจักรยาน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 97 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกของกัมพูชาไปยังอียู

เมื่อหวนกลับมาดูจะเห็นได้ว่า เฉพาะสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ถุงเท้า รองเท้า เพียงอย่างเดียว ก่อให้เกิดการจ้างงานในกัมพูชามากถึงกว่า 700,000 คน สร้างผลประโยชน์ทางอ้อมต่อเนื่องอีกหลายล้านคน

มีคนนำตัวเลขจีดีพีของกัมพูชาเมื่อปี 2001 กับปี 2017 มาเปรียบเทียบกัน ได้ภาพที่แสดงให้เห็นว่าจีดีพีของกัมพูชาในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึงกว่าเท่าตัว ตัวเลขแสดงสัดส่วนคนยากจนในประเทศลดลงจาก 50.2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2003 เหลือเพียง 13.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2014

แต่ถ้าเป็นผลกระทบโดยตรงในกรณีที่อีบีเอถูกระงับหรือยกเลิกไป คงบอกได้ยากไม่น้อย แม้แต่รายงานของธนาคารโลกล่าสุดยังบอกได้เพียงเป็นนัยๆ ว่า “จะส่งผลให้การส่งออกชะลอตัว”

ถ้าอียูเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 12 เปอร์เซ็นต์สำหรับภาคสิ่งทอ และ 8-17 เปอร์เซ็นต์ในภาครองเท้าและอุปกรณ์ ต้นทุนเศรษฐกิจของกัมพูชาจะเพิ่มขึ้นราวๆ 676 ล้านดอลลาร์

 

รายงานของเวิลด์แบงก์ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า ถึงแม้จำนวนคนยากจนจะลดลง แต่คนกัมพูชาอีกอย่างน้อย 4.5 ล้านคนหรือราว 28 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศยังคงอยู่ในภาวะ “ใกล้จน” ซึ่งหมายถึงคนที่อ่อนไหวพร้อมที่จะตกกลับสู่สถานะ “ยากจน” ถ้าหากเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจหรือภาวะ “ช็อก” จากภายนอก

ที่น่าสนใจก็คือ รัฐบาลกัมพูชาไม่เพียงไม่ยี่หระกับการตรวจสอบของอียูเท่านั้น ยังประณามด้วยว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ “ไม่เป็นธรรมสูงสุด”

และไม่มีวันที่จะนำเอา “อธิปไตย” ของชาติไปแลกกับ “ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ” แน่นอน