โครงสร้างพื้นฐานไทย พร้อมแล้วหรือยังกับ 5G ที่ 1 ในอาเซียน /รายงานพิเศษ / โชคชัย บุณยะกลัมพ

รายงานพิเศษ / โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

 

โครงสร้างพื้นฐานไทย

พร้อมแล้วหรือยังกับ 5G

ที่ 1 ในอาเซียน

ในช่วง 10 ปีผ่านมาเทคโนโลยี 4G ได้เปลี่ยนชีวิตของคนเรา ทำให้สามารถสร้างรายได้มากขึ้นจากธุรกิจที่มีอยู่และสร้างธุรกิจใหม่ๆ

แต่ตอนนี้เราเห็นว่า 5G ไปได้ไกลกว่า เร็วกว่า และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่กับทุกคน ทุกบ้าน ทุกกลุ่มธุรกิจและองค์กร

ในเวลานี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ต่อเนื่องไปยังบริการดิจิตอล ต่างมองเห็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าคือการมาของ 5G ที่ในประเทศไทยมีโอกาสเกิดขึ้นพร้อมๆ กับประเทศผู้นำทางเทคโนโลยีอย่างเกาหลีใต้ จีน ยุโรป และสหรัฐ

5G ไม่ใช่เรื่องของอนาคต

หลายๆ ประเทศต่างเริ่มดำเนินการทดสอบใช้งาน 5G กันแล้ว ทั้งในยุโรปและสหรัฐ หรือในภูมิภาคเอเชียอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน ก็เริ่มมีการทดสอบใช้งานแล้ว

เช่น ซอฟต์แบงก์ของญี่ปุ่นที่ได้ทดลอง 5G บนคลื่น 4.5 GHz

Verizon ของสหรัฐอเมริกาทดลองใช้เชื่อมต่อกับรถยนต์ด้วยสปีด 6.4 Gbps ขณะรถเคลื่อนที่

“5G ไม่ใช่แค่ 4G เวอร์ชั่นที่เร็วขึ้น แต่ต้องประกอบไปด้วยหลายภาคส่วน ทั้งความหน่วงในการเชื่อมต่อที่ต้องเร็วที่สุด รองรับการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ด้วยกัน ดังนั้น การทำระบบ 5G ต้องเตรียมไว้เพื่อให้ทุกคนพร้อมใช้งาน เพื่อสร้างการรับรู้ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะ 5G ไม่ใช่แค่โทรศัพท์มือถือ”

เทคโนโลยี 5G จะส่งข้อมูลได้เร็วกว่า มากกว่า และหนาแน่นกว่า 4G หลายร้อยเท่า จึงมีบทบาททำให้เทคโนโลยีต่างๆ เกิดการเชื่อมโยงกันได้อย่างรวดเร็ว

เปิดโอกาสให้อุปกรณ์ต่างๆ สื่อสารกันเองได้อย่างเป็นอิสระ

 

5G กำลังจะเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ทรงอิทธิพลที่สุดเทคโนโลยีหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

ซึ่ง 5G ไม่เพียงแต่ทำให้มนุษย์สามารถดาวน์โหลดข้อมูลขนาดมหาศาลได้ด้วยความเร็วสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดเท่านั้น

แต่ยังทำให้อุปกรณ์และสิ่งของรอบตัวคนนับหลายพันล้านชิ้น สามารถเชื่อมโยงกันเองและเชื่อมโยงกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง แบบออนไลน์ ทุกที่ ทุกเวลา

และมีความชาญฉลาดในการวิเคราะห์ข้อมูลจนทำให้ในทศวรรษหน้านับจากนี้ เราจะได้เห็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง และเมืองที่มีการบริหารจัดการที่ชาญฉลาด

การมาของ 5G จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คน ไปจนถึงการเปลี่ยนเมืองให้อัจฉริยะมากขึ้น

ที่สำคัญ จะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น จากการเชื่อมต่อที่รวดเร็ว เทคโนโลยี 5G มีศักยภาพและบริการใหม่ๆ มากมาย

สำหรับบุคคลทั่วไป : รถอัจฉริยะ การสื่อสารแบบหลากหลายภาษา กล้อง AI ความบันเทิงแบบเสมือนจริง (VR Entertainment) VR หรือ AR จะเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ (cloud) ด้วยการหน่วงของเวลาหรือ delay ที่ต่ำมากจนทำให้การเล่นเกมปราศจากอุปสรรคการหน่วงของเวลา จนทำให้มิติของเกม ทีวีอินเตอร์เน็ต 4K (4K IPTV), หมวกนำทางสำหรับผู้พิการทางสายตา คาดการณ์ว่าร้อยละ 90 ของผู้ใช้อุปกรณ์อัจฉริยะจะใช้ผู้ช่วยอัจฉริยะส่วนตัวด้วย

ในบ้าน : บริการใหม่ๆ เช่น หุ่นยนต์เพื่อการดูแลสุขภาพ ภายในบ้านจะมีการติดตั้งระบบสื่อสารแบบโฮโลแกรม เป็นบ้านแบบอัจฉริยะ และคาดว่าร้อยละ 12 ของครัวเรือนจะมีหุ่นยนต์บริการอัจฉริยะประจำบ้าน ด้วยการเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ การเชื่อมต่อรถยนต์กับรถยนต์ รถยนต์กับสิ่งของ รถยนต์กับคน คนกับสิ่งของ จะปรากฏขึ้นด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเรียลไทม์จนทำให้ระบบเซ็นเซอร์หรือ IoT ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับธุรกิจและองค์กร : 5G จะเปิดโอกาสทางธุรกิจมากมาย ตั้งแต่การขนส่งอัตโนมัติ, ระบบโลจิสติกส์และการเฝ้าระวังด้วยโดรน, WiFi สำหรับการบิน, การผลิตแบบ Customized, เมืองปลอดภัย, การบริหารจัดการฝูงชน, การจ่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (สมาร์ตกริด), หุ่นยนต์และบริการ ภาครัฐอัจฉริยะ

โดยองค์กรร้อยละ 86 จะมีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ทำให้หุ่นยนต์สามารถเข้ามาแทนแรงงานในสายการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบให้โรงงานทำงานแบบอัตโนมัติ

เนื่องจากระบบ 5G สามารถทำให้ข้อมูลในเซ็นเซอร์และแขนกลหุ่นยนต์ทำงานร่วมกันได้ด้วยการส่งข้อมูลและคำนวณวิเคราะห์ได้อย่างเรียลไทม์

 

การเตรียมพร้อมวางรากฐานระบบของ 5G ให้แข็งแกร่ง ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมและพันธมิตรอื่นๆ จำเป็นต้องกระตุ้นให้มีการออกแบบ พัฒนา และเกิดการทดสอบ การทดลอง และตรวจสอบการใช้งานเทคโนโลยี 5G เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยได้ก้าวไปสู่การเป็น “ดิจิตอลไทยแลนด์”

นอกจากนี้ ต้องมีการฝึกอบรมที่สมบูรณ์แบบสำหรับนิสิต-นักศึกษา ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการสัมผัสประสบการณ์ตรงที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย และยังจะช่วยกระตุ้นและพัฒนาให้เกิดศูนย์รวมบุคลากรของประเทศอีกด้วย

ในประเทศไทยคาดว่า 5G จะเริ่มใช้อย่างกว้างขวางตั้งแต่ปี 2563

ซึ่งกลุ่มแรกๆ หนีไม่พ้นวงการโทรคมนาคม ที่จะช่วยให้เข้าไปมีบทบาทใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมอื่นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

และที่น่าจับตาคืออุตสาหกรรมการผลิตที่ไทยมีความแข็งแกร่ง จะประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต อุตสาหกรรมพลังงาน ความปลอดภัยสาธารณะ สุขภาพ และบันเทิง

ซึ่งตลาดไทยพร้อมมากในการใช้ 5G โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้กับ IOT

 

ขณะที่ “การจัดสรรคลื่นความถี่” คือปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริม 5G ซึ่งต้องผสมผสานทั้งคลื่นในย่านความถี่ต่ำอย่าง 700 MHz ที่จะสนับสนุนการส่งสัญญาณให้ครอบคลุมย่านความถี่ระดับกลางอย่าง 3.5 GHz ที่มีศักยภาพในการส่งผ่านและรองรับการใช้งานด้วยความเร็วที่ดีในระดับหนึ่ง

และคลื่นย่านความถี่สูง อย่าง 26-28 GHz ที่จะใช้เป็นจุดกระจายสัญญาณในอาคาร เพื่อรองรับการใช้ชีวิตกว่า 80% ของผู้ใช้งานในแต่ละวัน

อย่างไรก็ตาม สงครามทางการค้า 5G ก็ยังต้องดำเนินต่อไปอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

เนื่องจากตลาดของ 5G กำลังเกิดขึ้นจริงแล้วทั่วโลก

ซึ่งจากการคาดการณ์ของ IHS Markit คาดว่า 5G จะมีมูลค่าในระบบเศรษฐกิจโลกถึง 12.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2035