เกษียร เตชะพีระ | ประชานิยมฝ่ายซ้าย : ที่มาและทรรศนะ (6)

เกษียร เตชะพีระ

(บทสนทนาระหว่าง ชองตาล มูฟ นักทฤษฎีประชานิยมฝ่ายซ้ายคนสำคัญ กับ โรสแมรี่ เบคเลอร์ บรรณาธิการหลักของเว็บไซต์ openDemocracy เกี่ยวกับปรากฏการณ์ประชานิยมในยุโรปและอเมริการอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาของระบอบเสรีประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน และหนทางรับมือแก้ไข)

โรสแมรี่ เบคเลอร์ : ฐานคะแนนเสียงเลือกตั้งของเมลองชองเป็นพวกฝ่ายซ้ายชัดๆ เลยไม่ใช่หรือคะ ฉันหมายถึงคนหนุ่มสาวและชนชั้นคนงานที่ปกติไม่ไปโหวต รวมทั้งผู้คนที่ถูกดึงดูดใจจากโครงการแบบสังคมประชาธิปไตยฝ่ายซ้ายน่ะค่ะ?

ชองตาล มูฟ : แน่นอนค่ะ ดังนั้น การไม่ประกาศตัวเป็นฝ่ายซ้ายจึงเป็นเรื่องชั้นเชิงทางปฏิบัติแค่ว่าจะใช้ยี่ห้ออะไรเท่านั้นเอง ถึงแม้ตัวเมลองชองเองจะไม่ใช้ศัพท์คำว่า “สายโซ่สมมูล” (chains of equivalence) ก็ตาม ทว่ากล่าวโดยพื้นฐานแล้ว เรากำลังพูดเรื่องจะสร้าง “ประชาชน” ขึ้นมาสำหรับยุทธศาสตร์ประชานิยมฝ่ายซ้ายอย่างไรนั่นเอง ประชานิยมฝ่ายซ้ายนั้นไม่ใช่ระบอบค่ะ แต่มันเป็นยุทธศาสตร์ทางวาทกรรมในการสร้างพรมแดนทางการเมืองขึ้นมา เรื่องนี้ฉันต้องขอยืนกราน ตัวอย่างเช่น ถ้าเผื่อขบวนการฝรั่งเศสกบฏ (La France Insoumise) ของเมลองชองได้อำนาจขึ้นมา พวกเขาก็จะไม่ติดตั้งระบอบประชานิยมฝ่ายซ้ายอะไรหรอกค่ะ เพราะมันไม่มีไอ้สิ่งที่เรียกว่าระบอบประชานิยมฝ่ายซ้ายอยู่จริง! หรือเราจะกลับมาดูกรณีทรัมป์ก็ได้ค่ะ แน่ชัดที่สุดเลยว่าทรัมป์รณรงค์หาเสียงแบบประชานิยม แต่ระบอบปกครองของเขาไม่ใช่ประชานิยม ทรัมป์ทำการรณรงค์แบบประชานิยม แต่ระบอบของเขาไม่ใช่ประชานิยมค่ะ

ดังนั้น เธอคงพอจะเห็นได้นะคะว่าโดยพื้นฐานแล้วประชานิยมฝ่ายซ้ายเป็นหนทางในการสร้างประชาชนขึ้นมา และสร้างสรรค์เงื่อนไขประดามีสำหรับอำนาจนำใหม่ และแน่ล่ะว่าพอเรื่องนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องหันเหอำนาจนำใหม่ที่ว่านี้ไปสู่การกู้ประชาธิปไตยกลับคืนมาแล้วหยั่งประชาธิปไตยให้ลึกลงไป ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะเธอมุ่งจะเอาธุระกับการพิชิตภาวะหลังประชาธิปไตย (post-democracy) ให้ปราชัยไปนั่นเอง

ฉันสันนิษฐานว่าตอนนั้นแหละค่ะถึงจะเห็นความแตกต่างระหว่างประชานิยมปีกขวากับประชานิยมปีกซ้ายได้ ประชานิยมทั้งสองปีกล้วนแต่เสแสร้งว่าจะกู้ประชาธิปไตยกลับคืนมาและให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงอีกครั้ง แต่วิธีการซึ่งพวกประชานิยมปีกขวากู้ประชาธิปไตยที่ว่านี้กลับคืนมาก็โดยสงวนมันไว้ให้แต่กับคนสัญชาติฝรั่งเศสเท่านั้น

ขณะที่ประชานิยมปีกซ้ายกู้ประชาธิปไตยกลับคืนมาก็เพื่อจะหยั่งให้มันลึกลงไปและขยายมันให้แผ่กว้างออกไปอีก

โรสแมรี่ เบคเลอร์ : แต่ตอนนี้ฉันอยากจะลองขอผลักให้เธอขยายความละเอียดขึ้นอีกหน่อย ในหนังสือเล่มล่าสุดของเธอ เธออ้างอิงคำพูดของเออร์เนสโต ลาคลาว ว่า : “ข้อเรียกร้องโดดๆ แต่ละข้อนั้นมีลักษณะปริแตกอยู่ในโครงสร้างองค์ประกอบของมัน กล่าวคือ ในด้านหนึ่งมันเป็นตัวของมันเองโดยเฉพาะเจาะจง แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็บ่งชี้ไปยังห่วงเชื่อมสมมูลทั้งหลายแหล่ที่ยึดโยงกับองค์รวมของข้อเรียกร้องอื่นๆ ด้วย”

การสาธิตโดยใช้ผ้าเช็ดปากมาแสดงประกอบของเมลองชอง (ท้ายตอนที่ 5 – ผู้แปล) เป็นการบอกว่าข้อเรียกร้องทั้งสามประการต้องมาบรรจบเข้าด้วยกันเป็นความคิดหนึ่งเดียวในแนวร่วมฝ่ายซ้าย ขณะที่ฉันเองกลับเห็นว่ามันสำคัญถึงขั้นอุกฤษฏ์ที่การหยั่งประชาธิปไตยให้ลึกลงไปแบบฝ่ายซ้ายนั้นจะต้องเป็นเรื่องของการเสริมสร้างอำนาจซึ่งกันและกันแบบพหุนิยม และนั่นน่ะมันไม่ใช่เรื่องเดียวกับการที่บัดนี้ทุกคนจะต้องมาสามัคคีกันเพื่อหนุนหลังข้อเรียกร้องต่อต้านคณาธิปไตยเดียวกันไม่ใช่หรือ?

ชองตาล มูฟ : ไม่ใช่แน่ๆ ค่ะ ทว่าฉันไม่คิดว่าเมลองชองหมายความว่าอย่างนั้นนะคะและมันก็ไม่ใช่สิ่งที่เราถกเถียงนำเสนอด้วย นี่เป็นเรื่องที่ฉันได้พยายามอธิบายมาแล้ว เอาเข้าจริงมันเป็นวิวาทะต่อเนื่องที่ฉันมีกับดิดิเอร์ เอริบอง ผู้วิตกกังวลยิ่งว่าเวลาเราพูดถึงการถกแถลงข้อเรียกร้องต่างๆ นานานั้น เอาเข้าจริงที่เราจะทำคือตบแต่งให้มันกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน เขามีทรรศนะแบบมิเชล ฟูโกต์ มากในเรื่องนี้ (หมายถึง Michel Foucault, ค.ศ.1926-1984, นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ความคิด นักทฤษฎีสังคมและนักวิจารณ์วรรณกรรมชาวฝรั่งเศสชื่อดัง ผู้เพ่งเล็งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้กับอำนาจ และการใช้ความรู้กับอำนาจไปควบคุมสังคมผ่านสถาบันสังคมต่างๆ – ผู้แปล) และฉันก็จำได้ว่าเราเคยอภิปรายเรื่องเดียวกันนี้ในวารสารว่าด้วยฟูโกต์ชื่อ MF ซึ่งฉันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

เราเคยยืนกรานและฉันก็ยังคงยืนกรานอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ว่าจำต้องตระหนักรับถึงลักษณะเฉพาะของลัทธิเฟมินิสต์ แต่ขณะเดียวกันฉันก็ยืนกรานด้านที่ฉันคิดแบบอันโตนิโอ กรัมชี เช่นกันว่าจำต้องเข้าสู่สายโซ่สมมูลกับการต่อสู้แบบอื่นๆ ด้วย ทว่าสายโซ่สมมูลหาได้เป็นแค่แนวร่วมสายรุ้งที่ซึ่งเธอเอาการต่อสู้แบบต่างๆ ไปวางเรียงเคียงกันเท่านั้นไม่ ทั้งนี้ก็เพราะอาจมีความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ระหว่างการต่อสู้ในแนวทางประชาธิปไตยแบบต่างๆ และจะต้องนำการต่อสู้เหล่านั้นมาประกอบประสานเข้าด้วยกัน การนี้เรียกร้องต้องการให้สร้างอัตวิสัยแบบใหม่ๆ ขึ้นมา สายโซ่สมมูลจึงไม่ได้เป็นแค่แนวร่วมสายรุ้งเท่านั้น

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำไมฉันจึงวิพากษ์วิจารณ์แนวคิด “มวลมหาชน” (the multitude) ในงานของฮาร์ดต์กับเนกรี (Michael Hardt กับ Antonio Negri สองนักปรัชญาหลังมาร์กซิสต์ เจ้าของงานเขียน Empire พิมพ์ปี ค.ศ.2000 และ Multitude พิมพ์ปี ค.ศ.2004 อันโด่งดัง – ผู้แปล) ทั้งนี้เพราะพวกเขาทึกทักเอาง่ายๆ ว่าประดาเชื้อมูลทั้งหลายทั้งปวงของมวลมหาชนนั้นจะบรรจบเข้าด้วยกัน ส่วนเรากลับบอกว่าไม่หรอก มันไม่บรรจบเข้าด้วยกันอย่างอัตโนมัติหรอก และเอาเข้าจริงในหลายกรณีมันขัดแย้งกันด้วยซ้ำไป ตัวอย่างเช่น เพราะข้อเรียกร้องของพวกผู้หญิงก็อาจขัดแย้งกับข้อเรียกร้องของฝ่ายแรงงานก็ได้ ฉะนั้น เธอต้องสร้างวิธีการที่จะสรุปข้อเรียกร้องแต่ละข้อขึ้นเป็นสูตรเพื่อสถาปนาสายโซ่สมมูลขึ้นมา กล่าวคือ สิ่งที่เราแสวงหานั้นได้แก่สมมูล (equivalence) หาใช่เอกลักษณ์หนึ่งเดียวกันไม่ (not identity) สิ่งที่พวกเขามีร่วมกันคือปรปักษ์ร่วมกัน และสิ่งที่สมานสามัคคีฐานคะแนนเสียงซึ่งแตกต่างกันยิ่งนี้เข้าด้วยกันเป็นปึกแผ่นก็คือความจำเป็นที่จะต้องเอาชนะปรปักษ์ที่ว่านั่นเอง

อย่างเช่น อดีตนายกรัฐมนตรี นางมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ แห่งพรรคอนุรักษนิยมของอังกฤษ ชนะใจชนชั้นคนงานไปได้ส่วนหนึ่งซึ่งอาจเรียกว่าเป็นพวกอำมาตย์ในหมู่แรงงานก็ได้ ผู้คนไม่อยากพูดเรื่องนั้น แต่แธตเชอร์กล้าพูดออกมา และแธตเชอร์พูดโดยบอกคนงานเหล่านั้นว่าเธอเข้าใจปัญหาของพวกเขา ทว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่พวกเฟมินิสต์ยืนกรานให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงาน ผู้หญิงก็เลยมาแย่งงานไปจากพวกเขาต่างหาก กรณีผู้อพยพก็เช่นเดียวกัน ฉะนั้น เป้าหมายของพวกผู้กุมอำนาจแต่ไหนแต่ไรมาก็คือแบ่งแยกบรรดาผู้ถูกกดขี่ออกจากกันและป้องกันไม่ให้พวกเขาก่อตัวกันขึ้นมาเป็นปึกแผ่น

ข้อสำคัญก็คือเวลาเธอสร้างพันธมิตรขึ้นมาอย่างเช่นพันธมิตรกับผู้หญิง เป็นต้น เธอต้องสรุปข้อเรียกร้องของพวกเธอขึ้นมาเป็นสูตรในลักษณาการที่มิอาจสนองตอบข้อเรียกร้องเหล่านั้นได้เพียงด้วยการผลักภาระไปให้กับพวกผู้อพยพเท่านั้น มิฉะนั้นแล้วพวกผู้อพยพก็จะกลายเป็นฝ่ายสูญเสียไป

โรสแมรี่ เบคเลอร์ : เหมือนอย่างที่ซัสเกีย ซัสเซ็น (ศาสตราจารย์หญิงด้านสังคมวิทยาหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายดัตช์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียของสหรัฐผู้เชี่ยวชาญเรื่องโลกาภิวัตน์และการอพยพของผู้คนระหว่างประเทศ – ผู้แปล) นำเสนอแนวคิด “ผู้หญิงลูกโลก” (Global Woman) อันน่าประทับใจไม่รู้ลืมเพื่อใช้เรียกหาบรรดาผู้อพยพทั่วโลกซึ่งทำงานด้านอภิบาล (caring) มากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมประเทศที่ก้าวหน้า…

ชองตาล มูฟ : ถูกต้องแล้วค่ะ แต่เธอเห็นไหมล่ะว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งในแต่ละกรณีก็คือการสร้างอัตวิสัยรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา

โรสแมรี่ เบคเลอร์: และในกระบวนการที่ว่านี้ เธอเห็นด้วยไม่ใช่หรือว่ามันไม่ได้เป็นแค่ปัญหาเรื่องการแสวง หาศัตรูร่วมเท่านั้น แต่ศัตรูร่วมที่ว่านี้จะยิ่งถูกระบุบ่งบอกบุคลิกลักษณะออกมาอย่างลุ่มลึกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ด้วยพร้อมกับที่เธอนำเอาประสบการณ์แห่งการถูกกดขี่ของคนทำงานมาประกบประกอบเข้ากับการหยั่งซึ้งถึงระบอบปิตาธิปไตยจากมุมมองของพวกเฟมินิสต์และนักกิจกรรมรักร่วมเพศ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ผสมผสานเข้าด้วยกันให้เราเกิดสำนึกอย่างใหม่ที่เอาเข้าจริงลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงบทบาทของสถาบันครอบครัวในการผลิตซ้ำระบบกดขี่ดังที่เป็นอยู่ออกมา สิ่งที่เรามุ่งแสวงหาคือสมมูล หาใช่เอกลักษณ์ไม่

ชองตาล มูฟ : การแสวงหา “พวกเขา” (ศัตรู – ผู้แปล) ร่วมกันเป็นเชื้อมูลอันจำเป็นในกระบวนการสร้าง “พวกเรา” ขึ้นมา แต่มันไม่เคยเป็นเรื่องของการพูดว่า “เอาล่ะ พวกเราทั้งหมดต้องต่อสู้กับลัทธิเสรีนิยมใหม่นะ!” แค่นั้นเลย ไม่อย่างแน่นอน

(ต่อสัปดาห์หน้า)