ธุรกิจพอดีคำ : “บทเรียนจากแอปเปิ้ล”

“บทเรียนจากแอปเปิ้ล”

“ผมว่าเราควรจะแยกบริษัทออกไปครับ”

กรวิชญ์พนักงานรุ่นใหม่ไฟแรงกล่าวต่อ

“องค์กรของเรามีขนาดใหญ่มาก

คนที่อยู่ปัจจุบันก็ไม่สามารถคิดอะไรใหม่ๆ ได้

ในเมื่อเราเอาพวกเขาออกไปไม่ได้

เราก็ให้เขาอยู่แบบนี้ไปแหละ

เราควรจะแยกตัวออกไปตั้งบริษัท เพื่อทำสิ่งใหม่

หาคนแบบใหม่ๆ

ผมคิดว่า เป็นคนจากบริษัทสตาร์ตอัพที่เน้นความไว

ไม่ต้องการพิธีรีตองอะไรมาก

ขอแค่ทำงานให้สำเร็จก็พอ ไม่เลือกวิถีและกระบวนการ

เท่านี้เราก็น่าจะสร้างนวัตกรรมได้ไม่ยาก”

สมชายซีอีโอ นิ่งฟังพนักงานหนุ่มนำเสนอ

แล้วเอ่ยขึ้นว่า

“แล้วคุณจะใช้เงินเท่าไรล่ะในการตั้งบริษัท”

กรวิชญ์ตอบ

“พันล้านครับ”

หลายๆ ท่านน่าจะรู้จัก “สตีฟ จอบส์” ดี

ผู้ก่อตั้งบริษัท “แอปเปิ้ล”

ผลิต “ไอโฟน” ให้เราๆ ท่านๆ ใช้กัน

เสียชีวิตเมื่อปลายปี 2011 ด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน

ทิ้ง “ตำนาน” การสร้างบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกไว้เบื้องหลัง

แต่หลายๆ ท่านอาจจะยังไม่ทราบ

สตีฟ จอบส์นั้นเคยโดนไล่ออกจากบริษัทของตัวเองมาแล้ว

ด้วยพฤติกรรมที่ไม่เอาใคร เอาตัวเองเป็นใหญ่

ถ้าจะให้พูดถึงจุดเริ่มต้นของบริษัทแอปเปิ้ล

ผลิตภัณฑ์ตัวแรกสุดนั้น เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องแรกของโลก

มีชื่อว่า “แอปเปิ้ลวัน (Apple I)” ทำขึ้นมาเมื่อปี 1976

คนที่คิดค้นขึ้นมานั้น ไม่ใช่ “สตีฟ จอบส์”

แต่เป็น “สตีฟ วอสนิแอค (Steve Wozniak)”

ผู้ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งแอปเปิ้ลกันมากับสตีฟ จอบส์

วอสนิแอคทำขึ้นมา

จอบส์เอาไปขายให้

เป็นคู่หูคลาสสิค คนหนึ่งเก่งเทคโนโลยี

อีกคนเก่งเรื่องลูกค้าและการขาย

สตีฟ จอบส์นั้นมีสายตาที่เชื่อว่า

อนาคตทุกคนจะต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ตั้งอยู่ที่บ้าน

บริษัทแอปเปิ้ลเติบโตมาเรื่อยๆ จนถึงจุดที่สตีฟ จอบส์ เริ่มมีไอเดียใหม่

เขาอยากทำคอมพิวเตอร์แบบใหม่

ที่ใช้ “ภาพ” ในการสั่งการ แทนการ “พิมพ์ตัวอักษร”

สตีฟ จอบส์มั่นใจมาก ตั้งทีมของตัวเองขึ้นมาทำงานนี้

เรียกมันว่าโครงการ “แมคอินทอช”

ทีมเล็กๆ ที่สร้างสรรค์งาน ภายใต้การดูแลของสตีฟ จอบส์

ไม่ต้องไปสุงสิงกับใคร

สตีฟ จอบส์ นั้นนอกจากภูมิใจกับทีมนี้มากแล้ว

ก็คอยก่นด่าทีมงานปัจจุบันของแอปเปิลว่า ล้าหลังบ้างละ

ไม่เก่งบ้างละ ไม่ใช่อนาคตบ้างละ

ทำให้เกิดรอยร้าวภายในองค์กรอย่างชัดเจน

ชัดเจนจนทำให้ “สตีฟ วอสนิแอค” เพื่อนรักทนไม่ได้

ตัดสินใจลาออกจากบริษัทที่ตัวเองร่วมก่อตั้งขึ้นมา

และทำให้มีปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย

จนเป็นเหตุให้ “สตีฟ จอบส์” เองนั่นแหละ

ที่ถูก “กรรมการบริษัท” ให้ออกจากการเป็น “ซีอีโอ”

ทำให้ตัวเองตกระกำลำบากไปพักใหญ่

กว่าจะฟื้นตัวเองได้ ก็ต้องไปฝึกวิชาความอดทนอยู่หลายปี

จนเมื่อปี 1997 เขาได้กลับมาเป็นซีอีโอของบริษัทแอปเปิ้ลอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากที่เดินสำรวจบริษัทของตัวเอง ที่ไม่ได้สัมผัสมาหลายปี

เขาก็ไปตกหลุมรักกับแผนก “ออกแบบ” ที่ยังหลงเหลือวิญญาณของแอปเปิ้ลในสมัยของเขาอยู่

ผู้ซึ่งรับผิดชอบแผนกนี้คือ “โจนี่ ไอฟ์ (Jony Ive)”

เรียกได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบผลิตภัณฑ์ทุกอย่างของแอปเปิ้ล

ตั้งแต่ ไอพอด ไอโฟน แมค ไอแพด

สร้างแฟนคลับจำนวนมากมายทั่วโลก

สตีฟ จอบส์ ชื่นชมโจนี่ ไอฟ์มาก

เขาถึงกับคิดจะทำสิ่งเดิม คือ การตั้งทีมขนาดเล็กทำงานที่ตัวเองอยากทำ

ไม่สนใคร ไม่ไว้หน้าใคร อีกครั้งหนึ่งเหมือนตอนทำเครื่อง “แมคอินทอช”

แต่เขาก็จำได้ถึงความเจ็บปวดของการไม่บริหารองค์กรให้อยู่ร่วมกัน

จนเป็นเหตุให้เพื่อนรักต้องลาออก

และตนเองโดนไล่ออกในที่สุด

เขาตัดสินใจสนับสนุนโจนี่ ไอฟ์ ให้ทำงานออกแบบได้อย่างเต็มที่

มีอิสระในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เริ่มจาก “ลูกค้า” อย่างแท้จริง

ทั้งการใช้งาน ความสวยงาม ความเป็นแอปเปิ้ล

หากแต่ว่า การออกแบบนั้น จะต้องมีผู้สร้างให้เกิดมีส่วนร่วมด้วย

ชายผู้นั้นคือ “ทิม คุก (Tim Cook)”

ผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลัง “งานปฏิบัติการ (Operation)” ทุกอย่างของแอปเปิ้ล

ตลอดห่วงโซ่การผลิต การขาย การทำให้ทุกสิ่งที่อยู่ในอากาศ

เกิดขึ้นได้ตรงเวลา ด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ และคุณภาพที่ไม่มีที่ติ

สตีฟ จอบส์ รู้ว่า คนหนึ่งคนไม่สามารถทำทุกอย่างได้

การให้คุณค่าของ “ความแตกต่าง” จึงมีความสำคัญ

ถ้าโจนี่ ไอฟ์ คือสมองซีกขวา ฝั่งความคิดสร้างสรรค์ของสตีฟ

ทิม คุก ก็เป็นเหมือนสมองซีกซ้าย ฝั่งตรรกะ

และสองมือในการผลิตงานให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

ตอนที่เขาเสียชีวิต เขาก็เลือกให้ “ทิม คุก (Tim Cook)” ขึ้นมาบริหารงานต่อจากเขา

แม้จะมีบุคลิกที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

แต่ก็ไว้ใจให้ขึ้นมาทดแทนตำแหน่งของตัวเองไว้

การ “สร้างสรรค์” งาน โดยไม่ให้เกียรติ ไม่สนใจคนรอบข้างนั้น

ได้เคยมอบบทเรียนที่สตีฟ จอบส์จำจนวันตายจริงๆ

และเขาก็ไม่ยอมพลาดซ้ำสอง

ทำให้แอปเปิ้ลเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้

กรวิชญ์พนักงานไฟแรง ขอเงินหนึ่งพันล้านบาทไปตั้งตัว

สมชายซีอีโอ อึ้งไปนิดหน่อย และชื่นชมในความกล้าหาญของพนักงานรุ่นใหม่

“มั่นใจได้ แต่ต้องประมาณตัวเอง ให้เกียรติผู้อื่น

เงินพันล้านที่มี อาจจะต้องรอให้คนอื่นที่เหมาะสมละกัน”