ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 พฤษภาคม 2562 |
---|---|
เผยแพร่ |
แมลงวันในไร่ส้ม
ข่าวการเมืองระอุ
ต้อนรับ หน.ใหม่ ปชป.
โจทย์หินของ ‘จุรินทร์’
สํารวจข่าวตามสื่อต่างๆ ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีประเด็นใหญ่ๆ อยู่ 2-3 เรื่อง
เรื่องแรกๆ ก็คือ การกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาล ในแต่ละวัน จะมีข่าวของ “ขั้วการเมือง” ที่ยังไม่มีเสียงถึงครึ่งของสภาอย่างเด็ดขาด พยายามช่วงชิงดึงพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไปอยู่กับกลุ่มของตนเอง
ขณะที่ 2 พรรคยังไม่ยอมตัดสินใจ อ้างขั้นตอนการตัดสินใจ รอดูเหตุการณ์ไปก่อน
สำหรับภูมิใจไทย ถือว่ามีเอกภาพในพรรค ยกการตัดสินใจให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคเป็นผู้ตัดสินใจ
ส่วน ปชป. แตกเป็น 2 กลุ่มชัดเจน และผ่านการประลองกำลังในการเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารชุดใหม่แทนชุดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อผลเลือกตั้ง ที่เข้ามาแค่ 52 เสียง
ผลการเลือกตั้ง ชัยชนะเป็นของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีต ส.ส.พังงา อดีต ส.ส.หลายสมัย ที่มีนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ให้การสนับสนุนอยู่
ขณะที่คู่ชิงคือนายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งสนับสนุนโดย ส.ส.กลุ่มที่อยากเข้าร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยร่วมกับ กปปส.
คะแนนแพ้-ชนะกันไม่มาก โดยเฉพาะเสียงโหวตจาก ส.ส. ซึ่งนายจุรินทร์ชนะนายพีรพันธุ์ 25-20 จากทั้งหมด 52 เสียง
เมื่อนายจุรินทร์มาเป็นหัวหน้าพรรค มีเสียงลุ้นให้แยกตัวออกมา ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์
แต่หัวหน้าพรรคคนใหม่บอกว่า ให้เป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งยังไม่มีการประชุมในเรื่องนี้
เชื่อว่าพรรค ปชป.คงจะลากเรื่องนี้ยาวออกไปก่อน เพื่อประคองไม่ให้เกิดสภาพพรรคแตก
ในวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคมนี้จะมีการประชุมสภาผู้แทนฯ เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนฯ ซึ่งจะเป็นบุคคลสำคัญ กล่าวคือ เป็นประธานรัฐสภา ที่จะต้องจัดการประชุมรัฐสภาเพื่อกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี
ทั้งสองขั้วการเมืองจะช่วงชิงตำแหน่งนี้กันอย่างเต็มที่
จึงต้องจับตาว่า ปชป.จะมีบทบาทและท่าทีอย่างไรในวันดังกล่าว
พร้อมกับข่าวการดึง ปชป.และภูมิใจไทยเข้าขั้วการเมือง
อีกข่าวที่มีกระแสต่อเนื่องได้แก่ ข่าวการตามสกัดพรรคอนาคตใหม่
พรรคอนาคตใหม่แจ้งเกิดในการเลือกตั้งอย่างสวยหรู ได้ ส.ส.ทั้งสองระบบรวม 80 คน เป็นที่สามรองจากเพื่อไทยและพลังประชารัฐ
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล หัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค เป็นปัญญาชนรุ่นใหม่ ที่เสนอแนวทางใหม่ในการหาเสียง โดยเฉพาะคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 การแก้ไขผลพวงต่างๆ จากรัฐประหารตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และแนวคิดเกี่ยวกับกองทัพ
จึงกลายเป็นเป้าหมายการทำลายล้างอย่างหนัก
โดยอาศัยสื่อบางสำนักเสนอข่าวเชิงลบ ผ่านทางข่าวและข้อเขียนของคอลัมนิสต์ที่สนับสนุนการชัตดาวน์ของ กปปส. การรัฐประหารของ คสช.มาก่อน
มีความพยายามป้ายสีให้นายธนาธรเป็น “ทักษิณ 2”
ขณะที่มีการตั้งประเด็นขึ้นมาว่า นายธนาธรถือหุ้นสื่อ แม้นายธนาธรชี้แจงว่าได้โอนไปก่อนยื่นใบสมัคร ส.ส.แล้ว
แต่ กกต.ระบุว่ามีมูล ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสมาชิกภาพ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่อง อาจจะสั่งให้นายธนาธรหยุดทำหน้าที่
ซึ่งจะมีผลให้นายธนาธรไม่สามารถเข้าสภาเพื่อทำหน้าที่ ส.ส.ได้
ขณะที่พรรคอนาคตใหม่เอง หลังจากที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถรวบรวมเสียงเพิ่มให้เกิน 250 เสียงได้ ก็ประกาศยุติความพยายาม แกนนำพรรคอนาคตใหม่ประกาศว่าจะดำเนินการเคลื่อนไหวจัดตั้งรัฐบาลเอง
โดยจะผลักดันให้นายธนาธรเป็นนายกฯ
มีการทำโพลในโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ข่าวต่างๆ ปรากฏว่ามีเสียงตอบรับคึกคัก
ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้กลุ่มอำนาจยิ่งเพิ่มความพยายามในการจัดการกับนายธนาธรมากขึ้นไปอีก
สําหรับท่าทีของสื่อต่อการเมืองในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยเฉพาะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ปชป. ซึ่งนายจุรินทร์ได้รับเลือก เสียงตอบรับจากสื่อต่างๆ เป็นไปในทางบวก
คอลัมนิสต์ชื่อดัง “ซูม” แห่งเหะหะพาที ไทยรัฐ ฉบับ 20 พฤษภาคม ระบุตอนหนึ่งว่า
เท่าที่ผมเคยมีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยและติดตามการทำงานของคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์มาพอสมควร ผมก็แอบให้คะแนนคุณจุรินทร์ไว้ค่อนข้างสูงพอใช้ คงจะสามารถรับตำแหน่ง “ผู้นำ” ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี
คุณสมบัติข้อหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นจุดเด่นของคุณจุรินทร์ก็คือ ความสุภาพอ่อนโยน ไม่ก้าวร้าว ยอมรับฟังความเห็นคนอื่น แต่ก็ยึดมั่นในหลักการและความถูกต้องและพร้อมที่จะสู้ในสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าถูกต้อง ในแบบที่ภาษาไทยเราใช้คำว่า “อ่อนนอก แข็งใน”
คุณสมบัติข้อนี้น่าจะเหมาะสมกับการเป็นผู้นำ ไม่เฉพาะพรรคประชาธิปัตย์หรอกครับ แต่ควรเป็นคุณสมบัติของผู้นำทุกประเภทตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงไปจนถึงผู้บริหารในทุกๆ องค์กร
ก็ขอให้กำลังใจครับ ขอให้คุณจุรินทร์ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแน่นอนจากการผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 73 ปี ย่อมต้องมีทั้งยุครุ่งโรจน์และรุ่งริ่งเป็นของธรรมดา
มาถึง พ.ศ.นี้ แม้จะไม่ถึงกับรุ่งริ่งเสียทีเดียวนัก แต่ก็ต้องถือว่าการมีเสียงเพียง 52 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรย่อมไม่ใช่พรรคใหญ่อย่างที่เคยเป็นในอดีตอย่างแน่นอน
ยังมีความจำเป็นที่คุณจุรินทร์จะต้องบริหารด้วยความระมัดระวังรอบคอบเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงเกียรติคุณของพรรคให้กลับมาเป็นพรรคชั้นแนวหน้าอีกครั้งหนึ่งให้จงได้
สำหรับปัญหาใหญ่เฉพาะหน้าที่คุณจุรินทร์และกรรมการบริหารพรรคจะต้องตัดสินใจก็คือ การจะเข้าร่วมกับรัฐบาลบิ๊กตู่หรือไม่? อันเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้
ร่วมหรือไม่ร่วม? ย่อมมีทั้งผลดีและผลลบต่อพรรคทั้ง 2 ประการ ในยุคที่ความเห็นทางการเมืองของคนไทยแบ่งแยกออกเป็นหลายฝั่งหลายฟากอย่างทุกวันนี้
เป็นประเด็นหลักที่คุณจุรินทร์และคณะกรรมการบริหารของท่านจะต้องช่วยกันขบคิด ช่วยกันหาคำตอบที่ถูกต้องและเหมาะสมทั้งในบริบทของพรรคและบริบทของประเทศ พร้อมกับให้คำตอบแก่สังคมไทยโดยเฉพาะคนที่เป็นแฟนคลับของพรรคประชาธิปัตย์ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
นั่นคือความเห็นจากสื่ออาวุโสแห่งไทยรัฐ ซึ่งตรงกับความคิดของสื่ออีกไม่น้อย
และเป็น “ต้นทุน” ที่ทำให้สังคมตั้งความหวังต่อนายจุรินทร์ ว่าจะนำพรรคไปในทิศทางที่แตกต่างจากอดีต
และไม่สร้างความผิดหวังต่อผู้ที่หวังจะเห็นพรรคเก่าแก่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศนี้