สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/ตองแตก หรือ ทนดี คือสมุนไพรชนิดไหนแน่?

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

ตองแตก หรือ ทนดี

คือสมุนไพรชนิดไหนแน่?

 

มีสมุนไพรชนิดหนึ่งชื่อ ตองแตก หรือ ทนดี ซึ่งในเอกสารเก่าบ้างใหม่บ้างเกือบทั้งหมดบอกว่า ตองแตกและ ทนดี คือ สมุนไพรชนิดเดียวกัน

แต่เกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมในตำรับยาจึงปรากฏสมุนไพรทั้ง 2 ชื่อ

หากดูรายงานของหอพรรณไม้ กรมป่าไม้กล่าวไว้ว่า พืชที่อยู่ในกลุ่มนี้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ เปล้าตองแตก ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Baliospermum calycinum M?ll.Arg. และ ตองแตก ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Baliospermum solanifolium (Burm.) Suresh ซึ่งมีรายละเอียดของพืชทั้ง 2 ชนิด

ดังนี้

 

เปล้าตองแตก (Baliospermum calycinum M?ll.Arg.) จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็กแต่ก็สูงได้ถึง 3 เมตร มีชื่อพื้นเมืองเรียกว่า ตองแตกใบยาว ตองแตกเล็ก เปล้าดอย (ทั่วไป) เปล้าตองแตก (เชียงใหม่)

มีการกระจายในอินเดีย ภูฏาน บังกลาเทศ จีนตอนใต้ หิมาลายาตะวันออก เมียนมาร์ เนปาล ไทย เวียดนาม

ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 10-20 ซ.ม. ขอบใบจักฟันเลื่อยหรือจักมน แผ่นใบด้านล่างมีขนเอน

ช่อดอกเพศผู้ยาวได้ถึง 16 ซ.ม. ช่อดอกเพศเมียยาว 2-3 ซ.ม. ดอกเพศผู้ก้านดอกยาว 1-3 ม.ม. กลีบเลี้ยงรูปไข่กว้าง ยาว 1-2.5 ม.ม. จานฐานดอกแยกเป็นต่อม 5 ต่อม เรียงเป็นวง เกสรเพศผู้ 9-21 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 1-2 ม.ม.

ดอกเพศเมียก้านดอกยาว 1-2 ม.ม. กลีบเลี้ยงรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 3-8 ม.ม. เกลี้ยงหรือมีขน รังไข่เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ก้านเกสรเพศเมียยาว 1-3 ม.ม.

ผลตั้งขึ้น รูปรีกว้างเกือบกลม ยาว 1-1.2 ซ.ม. กลีบเลี้ยงติดทน ยาว 5-8 ม.ม. เมล็ดขนาดประมาณ 4 ม.ม. สีน้ำตาลเข้ม

ในตำราอายุรเวทใช้รากแห้ง แก้ดีซ่าน และใช้รักษาก้อนในท้อง (abdominal lump) ม้ามโต ใบนำมากินเป็นผักได้แต่ต้องทำให้สุกก่อนกิน

 

ส่วน ตองแตก (Baliospermum solanifolium (Burm.) Suresh) มีชื่อพื้นเมืองเรียกว่า ตองแต่ (ประจวบคีรีขันธ์) ตองแตก ถ่อนดี ทนดี (ทั่วไป ตรัง) โทะโคละ พอบอเจ๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) นองป้อม ลองปอม (เลย) เป็นต้น มีเขตการกระจายพันธุ์ในปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ศรีลังกา พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม ชายฝั่งทะเลมาเลเซีย เกาะบอร์เนียว สุมาตรา ชวา สุลาเวสี มาลูกู เลสเซอร์ เกาะซันดร้า

ประเทศไทยพบทั่วไปในป่าเบญจพรรณ หรือป่าดิบแล้ง จากระดับน้ำทะเลจนถึงระดับ 900 เมตร เป็นไม้พุ่มสูงถึง 2 เมตร

ใบเดี่ยว มักเป็นรูปไข่ หรือ รูปขอบขนาน กว้าง 3-10 ยาว 8-12 ซ.ม. ก้านใบ ยาว 2-13 ซ.ม. ฐานใบมักจะมน ขอบใบ จักเป็นฟันเลื่อยหรือหยักมน บางครั้งขอบเว้าเป็นแฉก 3-5 แฉก ปลายมน หรือแหลม เกลี้ยง หรือมีขนแข็งเอน ทั้งสองด้านของใบ

ดอก แยกเพศ ออกเป็นช่อ ช่อดอกเพศผู้ ยาว 1-8 ซ.ม. ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 ม.ม. ช่อดอกเพศเมีย ยาว 0.1-1 ซ.ม. ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 ม.ม.

ผลห้อยลง ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8-1.3 ซ.ม. กลีบเลี้ยงติดคงทน ขยายตัวเมื่อติดผล เมล็ด รูปไข่ สีน้ำตาล กว้าง 3 ยาว 3.5 ม.ม. เป็นพรรณไม้ที่มีอายุอยู่ได้นานและทนทาน ตายยาก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นทั่วไปตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าไผ่ และตามที่รกร้าง จนถึงระดับความสูง 700 เมตร

สรรพคุณของสมุนไพรตองแตก เมล็ด เป็นยาถ่ายอย่างแรงมาก (แรงกว่าใช้ราก)

ในส่วนของรากมีรสขมเล็กน้อย ใช้เป็นยาถ่ายแก้อาการบวมน้ำ แก้น้ำดีซ่าน ถ่ายเสมหะเป็นพิษ แก้ฟกบวม และทำลายพิษอุจจาระให้ตก

ส่วนใบ นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้โรคหืด

นอกจากนี้ ภายในเมล็ดจะมีน้ำมันซึ่งนำมาทำเป็นยาที่เรียกว่า ยารุ คือยาถ่ายอย่างแรงถึงกับถ่ายเป็นน้ำจึงต้องระมัดระวัง ถ้าใช้ภายนอกให้นำเมล็ดมาบดแล้วทาเพื่อช่วยกระตุ้นให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณที่ทา และน้ำมันจากเมล็ดใช้ทาแก้ปวดตามข้อได้

ในมาเลเซียมีการใช้โดยตัดเอารากสดหรือใบ มาแช่ในน้ำร่วมกับข้าวสาร 7 เมล็ด ประมาณ 30 นาที ให้ดื่มช่วยทำให้หยุดอาเจียนและคลื่นไส้

 

ตองแตก และ ทนดี มีการกล่าวไว้ในตำรับยา เช่น ตำรับยาวัดราชโอรสาราม กล่าวคือ ชื่อตองแตกปรากฏอยู่ในตำรับยาแก้อาโปธาตุกำเริบ กล่อนหิน แก้ริดสีดวง แก้ลมจุกเสียด แก้ลมเป็นก้อน เป็นเถาในท้อง แก้บวมทั้งตัว แก้ท้องมาน แก้เลือดเน่า แก้ก้อนในท้อง

ส่วนทนดีปรากฏอยู่ในตำรับยาแก้ชาติวาโยธาตุ กําเริบ หย่อน พิการ ยาแก้เลือดตีขึ้น ยาแก้วาโยธาตุพิการ ยาแก้ดานพืด ยาแก้ไข้เจลียง ยาแก้ดานทักขิณคุณ

หากพิจารณาจากตำรับยาวัดราชโอรสาราม การเข้ายาของตองแตกและทนดีมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง และก็พบเอกสารบางชิ้นบ้างครั้งก็บอกว่าเป็นต้นเดียวกัน

บางครั้งก็บอกว่าเป็นไม้คนละต้นกัน ซึ่งบางคนก็อ้างว่า เป็นต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย

ซึ่งสังเกตได้จากใบที่แตกและไม่แตกออกจากกัน ใบทนดีแตกมากกว่าใบตองแตก ซึ่งถ้าดูลักษณะต้นที่บรรยายไว้ข้างต้น เห็นชัดว่า ใบเปล้าตองแตกไม่แยกออกเป็นแฉก มีขนเอนที่ท้องใบ ผลตั้งขึ้น ในขณะที่ตองแตกจะมีใบแยกออกเป็น 3-5 แฉก มีขนเอนที่ผิวใบทั้ง 2 ด้าน

ผลมีลักษณะห้อยลง

 

ในการถ่ายทอดความรู้กันต่อๆ มา อ้างว่า ตองแตกและทนดีเป็นไม้ชนิดเดียวกัน ก็ยังเป็นที่สงสัย ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลทางวิชาการมาทำให้ชัดเจนต่อไป

มีข้อน่าสังเกตส่งท้ายว่า บางพื้นที่เรียกต้นตองแตกว่า “ต้นเรียกจิ้งจก” เนื่องจากในดอกและใบจะมีสารที่มีกลิ่นดึงดูดจิ้งจก

ถ้าขยี้ดอกและใบไว้ตามซอกมุมต่างๆ จิ้งจกจะเดินออกมาตามกลิ่นนั้น

เช่นเดียวกับต้นตำแยแมว ที่มีกลิ่นที่แมวชอบ ในต่างประเทศจึงนำมาสกัดเป็นครีมใช้ฝึกให้แมวถ่ายและปัสสาวะให้เป็นที่เป็นทางนั่นเอง

ดังนั้น ต้นตองแตกนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ดักจับจิ้งจก สำหรับคนไม่ชอบหรือไม่ให้มารบกวนเราได้