วิรัตน์ แสงทองคำ : ความเป็นไปทีวีดิจิตอล

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

การก้าวสู่ยุคทีวีดิจิตอลของไทยผันแปรไปอย่างรวดเร็วอย่างเหลือเชื่อ

พัฒนาการขั้นใหม่ ว่าด้วยสื่อสังคมไทยได้อุบัติขึ้นในปี 2557 เมื่อทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นในคราวเดียวมากถึง 48 ช่อง แต่หลังจากนั้นเพียงไม่ถึง 2 ปี ได้ปรากฏร่องรอยแห่งปัญหา

ปี 2559 (กุมภาพันธ์) ผู้ดำเนินธุรกิจทีวีดิจิตอลรายหนึ่งได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตต้องยุติดำเนินการเป็นรายแรก ประหนึ่งส่งสัญญาณ “ลางร้าย” สำหรับธุรกิจเกิดใหม่ซึ่งเริ่มต้นในสังคมธุรกิจไทยอย่างคึกคัก ด้วยมุมมองโลกในแง่ดีอย่างเหลือเชื่อ

จากนั้นยังไม่ทันข้ามปี (24 พฤศจิกายน 2559) สถานการณ์ผันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วอีกครั้ง ด้วยเหตุการณ์สำคัญ

บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง แถลงว่าได้ขายหุ้นเพิ่มได้เงินมาประมาณ 850 ล้านบาทให้กับนิติบุคคล (บริษัท วัฒนภักดี จำกัด โดย ฐาปน สิริวัฒนภักดี และปณต สิริวัฒนภักดี) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นตัวแทนกลุ่มทีซีซี โดยเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นผู้นำ ซึ่งจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายใหม่แทนกลุ่มเดิม

และจากนั้นอีกประมาณ 1 ปี (พฤศจิกายน 2560) ฐาปน สิริวัฒนภักดี ผู้บริหารคนสำคัญของกลุ่มทีซีซีและไทยเบฟเวอเรจ (หรือมักเรียกกันว่าเป็นเจ้าของเบียร์ช้าง) ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัทอมรินทร์ฯ

 

เหตุและปัจจัยการเปลี่ยนมือเจ้าของสื่อ กรณีที่น่าสนใจที่สุดกรณีหนึ่งนั้น เนื่องมาจากปัญหาทีวีดิจิตอลอย่างแท้จริง

“มีความต้องการใช้เงินทุนเพิ่มเติมสำหรับการลงทุนดำเนินการในธุรกิจทีวีดิจิตอลที่อยู่ในช่วงของการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งมีภาระผูกพันรายจ่ายเป็นเงินลงทุนที่สูง โดยต้องใช้เงินในการจ่ายชำระค่าใบอนุญาตดิจิตอลทีวี ค่าบริการโครงข่ายทีวีดิจิตอล การจ่ายคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและการผลิตรายการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพ เพื่อให้ธุรกิจทีวีดิจิตอลสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ จากภาวะอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลที่มีการแข่งขันที่รุนแรง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศซึ่งอยู่ในภาวะชะลอตัวส่งผลให้งบฯ โฆษณาของธุรกิจต่างๆ ในช่วงรอบระยะเวลา 10 เดือนของปี 2559 มีการปรับตัวลดลง …ความสามารถในการเติบโตของธุรกิจทีวีดิจิตอลไม่เป็นไปตามประมาณการของบริษัท ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินและกระแสเงินสด”

ถ้อยแถลงของอัมรินทร์ฯ ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (25 พฤศจิกายน 2559) ให้ภาพความเป็นไปธุรกิจทีวีดิจิตอลภายใต้สถานการณ์แวดล้อมไม่เอื้ออำนวยด้วย

อันที่จริงในช่วงเวลานั้นบริษัทดำเนินธุรกิจดิจิตอลหลายรายซึ่งจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้รายงานผลการดำเนินงาน สะท้อนภาพใหญ่อย่างสอดคล้องกัน ปรากฏว่าเกือบทั้งหมดประสบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะขาดทุนมากขึ้น

แม้ว่าบีอีซี (ช่อง 3) เป็นธุรกิจประสบความสำเร็จ มีกำไรอย่างต่อเนื่อง ขณะนั้นแนวโน้มกำไรค่อยๆ ลดลง จนในที่สุดต่อมาก็ประสบการขาดทุนอย่างที่ทราบกัน

 

เปิดฉาก

พัฒนาการธุรกิจทีวีดิจิตอลไทยภายใต้ระบบสัมปทาน เชื่อมโยงกับภาพบริบทสำคัญ สะท้อนภาพทางเศรษฐกิจ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมธุรกิจไทย และเผชิญปัญหาการปรับตัว

เรื่องราวนั้นเริ่มต้นขึ้นจากการประมูลสัมปทานครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26-27 ธันวาคม 2556 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ครึกโครม

โดยเฉพาะผลการประมูลทีวีดิจิตอลช่องความคมชัดสูง (HD) ปรากฏว่ามีผู้เสนอราคาสูงสุดถึง 3,530 ล้านบาท ถือว่าสูงกว่าราคาเริ่มต้นถึง 2,020 ล้านบาท

“ผลการประมูลที่ออกมาถือว่าเกินกว่าที่ได้คาดการณ์เอาไว้ โดยเฉพาะช่อง HD เดิมคาดว่าการประมูลจะอยู่ในช่วงราคา 2,500-3,000 ล้านบาท หรือมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 10% จากผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการภาคเอกชนได้เล็งเห็นว่าธุรกิจโทรทัศน์มีอัตราการเติบโตที่ดีสามารถทำกำไรได้ ซึ่งในส่วนของต้นทุนที่นำมาใช้ในการประมูล เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกรายได้วางแผนมาเป็นอย่างดีแล้ว”

ส่วนหนึ่งถ้อยแถลงของ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.)

แล้วก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งกรณีการประมูลประเภทช่องความคมชัดปกติ (SD) ทั้งช่องทั่วไป ช่องข่าวสาร และสาระ รวมไปจนถึงช่องเด็ก ครอบครัว และเยาวชน โดยมีผู้เสนอราคาสูงกว่าคาดการณ์ไว้เช่นกัน

 

โฉมหน้า “ผู้เล่น”

เรื่องราวผู้ชนะการประมูลทีวีดิจิตอลในเวลานั้นให้ภาพใหม่ๆ บางภาพ บางมิติ ว่าด้วยโอกาสและความพยายาม ภายใต้ความเชื่อ เกี่ยวกับโมเดลความมั่งคั่งใหม่อีกครั้งหนึ่ง

–เกี่ยวกับบริษัทในตลาดหุ้น ในบรรดา 17 รายใหม่ ซึ่งกลายเป็นเจ้าของทีวีดิจิตอล มีถึง 9 รายอยู่ในเครือข่ายบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แก่ บีอีซี เวิลด์ (ช่อง 3), ทรูคอร์ปอเรชั่น (เครือซีพี), จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, อสมท, เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์, อาร์เอส, เนชั่น, อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง และโมโนเทคโนโลยี

กรณีผู้ชนะประมูลได้ใบอนุญาติทีวีดิจิตอลมากกว่า 1 ช่องขึ้นไป ซึ่งมีทั้งหมด 6 ราย ส่วนใหญ่ (5 ราย) เป็นเครือข่ายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นกัน ได้แก่ บีอีซี เวิลด์ ได้ถึง 3 ช่อง เต็มเพดานตามข้อกำหนด กสทช. ส่วนที่เหลือได้รายละ 2 ช่อง ได้แก่ ทรูคอร์ปอเรชั่น (เครือซีพี) จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, อสมท, เนชั่น

บางคนวิเคราะห์ว่า แรงบันดาลใจบริษัทในตลาดหุ้นมีแรงกระตุ้นต่อราคาประมูล อาจเกี่ยวพันราคาหุ้น ซึ่งว่าไปแล้วเป็นประโยชน์หรือผลตอบแทนอีกมิติหนึ่ง ซึ่งอาจมาเร็วกว่าที่คิด โดยเฉพาะเชื่อมโยงกับช่วงเวลาคาบเกี่ยวการประมูล

–รายเก่ากับหน้าใหม่ เครือข่ายธุรกิจทีวีดั้งเดิมได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างคึกคัก เพื่อปกป้องพรมแดน โดยเฉพาะช่อง 7 และช่อง 3 ขณะที่อีกบางรายซึ่งมีประสบการณ์ธุรกิจทีวีมาบ้าง ทั้งทีวีแบบดาวเทียมหรือทีวีบอกรับ ได้พาเหรดเข้าสู่เวทีใหม่ด้วย ทั้งทรูวิชั่น, จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และอาร์เอส

อีกกลุ่มหนึ่งมาจากสื่อดั้งเดิม มีความพยายามเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิตอลอย่างจริงจัง บางรายอยู่ในช่วงเผชิญปัญหาการปรับตัว บางรายมีฐานสินทรัพย์และผลิตภัณฑ์อย่างจำกัด ทั้งกำลังเผชิญปัญหาอนาคตธุรกิจ จึงพยายามอย่างเต็มกำลัง หวังว่าทีวีดิจิตอลจะเป็นโอกาสใหม่ที่เปิดกว้างมากๆ

สมมุติฐานหนึ่งควรรับฟัง นอกจากจะเป็นแรงกระตุ้นที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับราคาแห่งโอกาส มาพร้อมๆ กับปัญหาซึ่งมาเร็วกว่าที่คาด อาจปะทุต่อเนื่อง มาจากความเสื่อมถอยของสื่อดั้งเดิม

 

บทเรียนไม่เคยจำ

บทสรุปอย่างกว้างๆ เชื่อมโยงและสร้างกระแสอันคึกคัก เชื่อว่ามาจากพื้นฐานสำคัญ ผู้คนในสังคมธุรกิจไทยมักมองธุรกิจอ้างอิงสัมปทานในเชิงบวก เชื่อมั่นโมเดลความมั่งคั่งมั่นคงอันคลาสสิคอย่างไม่เสื่อมคลาย

แม้ว่าเมื่อพิจารณาสาระแล้ว โมเดลความมั่งคั่งมั่นคงในยุคใกล้ที่ว่า มักเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์พิเศษ สัมปทานแบบพิเศษ เป็นไปอย่างเงียบๆ ไม่ว่ากรณีทักษิณ ชินวัตร กับธุรกิจสื่อสาร ไม่ว่ากรณีทีวีดั้งเดิม จุดกำเนิดช่อง 7 กับช่อง 3 ทั้งนี้ แตกต่างจากระบบสัมปทานแบบเปิดกว้างในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ถือว่าไม่มีกรณีใดประสบความสำเร็จอย่างที่ควร

กรณีทีวีเสรีระบบ UHF ในประเทศไทย กำเนิด ต่อสู้ และดิ้นรนอย่างไม่ราบรื่นและยืดเยื้อ กว่าจะจบฉากตอนสำคัญกินเวลาถึง 13 ปี

จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2538 สัมปทานทีวีช่องใหม่ มี “หน้าใหม่” สื่อสิ่งพิมพ์เข้าร่วมหลายราย ทั้งเนชั่น มติชน เดลินิวส์

แต่ปรากฏว่ากลุ่มเก่า ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นแกนชนะประมูล ท่ามกลางโมเดลความร่วมมือกับสื่อบางระดับ ต่างกรรม ต่างวาระ เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ (ปี 2540) ไม่สามารถเอาตัวรอด ขาดทุนอย่างหนัก

ระยะต่อมาต้องดึง “หน้าใหม่” แห่งธุรกิจสื่อสารเข้ามารับช่วง (ปี 2543) แต่จนแล้วจนรอด ไปไม่รอด รัฐต้องมาจัดการ จัดตั้งไทยพีบีเอสเข้าแทนที่ (ปี 2551)

อีกกรณีควรอ้างอิง รัฐไทยเปิดประมูลสัมปทานระบบสื่อสารครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ (ปี 2533) ให้เอกชนดำเนินการโทรศัพท์พื้นฐานทั้งในและนอกเมืองหลวง มุมมองทางธุรกิจในช่วงเวลานั้น (ปี 2532-2534) เป็นไปทางบวกอย่างมาก แต่กลับมีความผันแปรอย่างคาดไม่ถึงเช่นกัน เป็นบทเรียนความล้มเหลวทางธุรกิจ ด้วยเหตุปัจจัยหลายด้าน

ปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจคือสภาพธุรกิจและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กรณีโทรศัพท์พื้นฐาน เคยเป็นที่ต้องการของผู้ใช้อย่างมากๆ ในช่วงก่อนหน้านั้น ได้พลิกผันอย่างรวดเร็ว ถูกทดแทนด้วยระบบสื่อสารไร้สายในช่วงเพียงไม่ถึงทศวรรษ

ปัจจัยข้างต้นมีส่วนคล้ายๆ กับกรณีทีวีดิจิตอล โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์พายุบุแคม Social Media

 

ผู้ล่าถอย

มาถึงจุดหนึ่งแรงกดดันแห่งความผันแปร ส่งผลให้รัฐต้องเข้าร่วมรับผิดชอบระดับใดระดับหนึ่ง อาจจะมาจากเหตุที่ว่าหรือไม่ อย่างไรก็แล้วแต่

“ช่วงการเปลี่ยนผ่านระบบทีวีดั้งเดิมไปสู่ดิจิตอลซึ่งไม่ราบรื่นเอาเสียเลย สาเหตุหนึ่ง เนื่องจากหน่วยงานกำกับของรัฐทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ สำหรับสังคมไทย กรณีข้างต้นเป็นเรื่องเข้าใจได้เสมอในกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากระบบหรือแบบแผนดั้งเดิม ไปสู่สิ่งใหม่ๆ มักเป็นกระบวนการซึ่งใช้เวลามากทีเดียว เพื่อการฝึกงานและเรียนรู้ใหม่ของผู้คนในหน่วยงานกำกับของรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่มีความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์อย่างที่ควรจะเป็น” ผมเองเคยวิจารณ์ไว้เมื่อไม่นานมานี้

วันเวลาซึ่งมาถึง (10 พฤษภาคม) หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเปิดโอกาสให้ทีวีดิจิตอล “คืนช่อง” ปรากฏว่ามี 7 ช่องตัดสินใจล่าถอย มีบางตัวเลขสะท้อนมิติแห่งปัญหาผุดตามขึ้นมา “ประเมินเงินชดเชย 4,000 ล้านบาท ใช้งบฯ แก้ปัญหาทีวีดิจิตอลกว่า 3 หมื่นล้าน และผลกระทบจะเกิดกับพนักงานต้องถูกเลิกจ้างราว 2,000 คน”

สถานการณ์ผันแปร และปัญหาทีวีดิจิตอลไทย คงไม่จบเพียงแค่นี้