บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ/ กรณี อธ.ผู้พิพากษาศาลฯ รายนั้น จะเหลืออะไรให้เชื่อมั่นกระบวนยุติธรรม

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

กรณี อธ.ผู้พิพากษาศาลฯ รายนั้น

จะเหลืออะไรให้เชื่อมั่นกระบวนยุติธรรม

 

นับเป็นเหตุการณ์น่าสิ้นหวัง และน่าห่วงสำหรับกระบวนการยุติธรรมไทย

กรณีอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 จ.นครศรีธรรมราช ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจใบขับขี่ เมื่อค่ำวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา บริเวณจุดตรวจถนนสายทุ่งใหญ่ หนองดี หมู่ 2 เขตเทศบาล ต.ท่ายาง จ.นครศรีธรรมราช

ซึ่งการตั้งจุดตรวจนั้นก็เป็นไปตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ให้กวดขันวินัยจราจรผู้ขับขี่

อธิบดีคนดังกล่าว ไม่ยอมให้ตรวจใบขับขี่ อ้างว่าไม่ได้นำติดตัวมาด้วย เพราะแค่ขับรถมากินข้าวใกล้บ้าน

แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันจะขอดูใบขับขี่ ซึ่งก็นับว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตรงไปตรงมา

อธิบดีดังกล่าวพูดกับตำรวจว่า ผมเป็นอธิบดี จะเอาให้ได้ใช่หรือไม่ บอกว่าเป็นอธิบดีจะค้นรถมั้ย ตำรวจบอกว่าไม่ได้ค้น แค่ขอดูใบขับขี่

ต่อมาอธิบดีคนดังกล่าวได้อ้างว่าเป็นเพื่อนผู้กำกับโชค (พ.ต.อ.โชคดี รักษ์วัฒนาพงษ์ ผู้กำกับการ สภ.ทุ่งใหญ่) สุดท้ายตำรวจจึงปล่อยไป

 

เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะสะท้อนว่าแม้แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาล ซึ่งเป็นบุคลากรระดับสูงสุดของกระบวนการยุติธรรมกลับไม่ได้ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี แต่กลับดูเหมือนใช้อภิสิทธิ์แทนหลักความถูกต้อง

หากอธิบดีผู้นี้มีจิตสำนึกที่ถูกต้อง และอยากทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ก็จะต้องยอมให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับฐานไม่พกใบขับขี่เฉกเช่นประชาชนทั่วไป และถึงแม้ตำรวจชั้นผู้น้อยจะยอมหยวนให้ อธิบดีคนนี้ก็ควรจะยืนกรานให้ตำรวจออกใบสั่งแก่ตนเอง หรือไม่เช่นนั้นก็โทร.ไปหาคนที่บ้านให้นำใบขับขี่มาส่งให้ ซึ่งนอกจากจะไม่เกิดเรื่องฉาวด้านลบทางโลกโซเชียลแล้ว ยังจะได้รับคำชื่นชมยกย่องว่าประเทศนี้มีความหวังเพราะบุคลากรในวงการยุติธรรมทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี

ความน่าเศร้ายิ่งไปกว่านั้นก็คือ พ.ต.อ.โชคดี ผู้กำกับการ สภ.ทุ่งใหญ่  สั่งย้าย ส.ต.อ.เอกพล จุ้ยส่องแก้ว ตำรวจ สภ.ทุ่งใหญ่ ที่ไปเรียกดูใบขับขี่อธิบดีรายนั้น

ซึ่งกลายเป็นว่าตำรวจที่ทำหน้าที่ถูกต้อง กลับถูกลงโทษ ส่วนอธิบดีกลับได้รับการขอโทษจากผู้กำกับโชค

เท่านั้นไม่พอ ท่านผู้กำกับโชคยังพาตำรวจชั้นผู้น้อย 2 นายที่ทำหน้าที่ในวันนั้นคือ ส.ต.อ.เอกพล และ ส.ต.ท.ธีระพงษ์ เดินทางไปขอโทษอธิบดี ทำให้อธิบดีพอใจและยอมให้อภัย

 

คําถามคือ ทำไมต้องไปขอโทษ และใครควรเป็นฝ่ายให้อภัยใคร ระหว่างคนที่ไม่พกใบขับขี่ กับตำรวจที่มีอำนาจเต็มตามกฎหมาย

ที่น่าโกรธไปกว่านั้น คือคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.อ.โชคดี ที่พูดในทำนองว่าเป็นความผิดของลูกน้องล้วนๆ ที่ไม่รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ ใช้ไหวพริบไม่เป็นว่าใครเป็นคนดีคนร้าย

แถมยังบอกอีกว่าในวันนั้นก่อนที่อธิบดี “ในฐานะนักกฎหมายชั้นผู้ใหญ่” จะขับรถออกไปจากด่าน ได้แนะนำหลักการทำงานว่าต้องนำหลักรัฐศาสตร์มาใช้ควบคู่กับหลักนิติศาสตร์

นี่ก็สะท้อนความ “ป่วย” ทางทัศนคติและหลักการทำงานของท่านผู้กำกับ

เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ลูกน้องของผู้กำกับโชคจะรู้จักหน้าค่าตาทุกคนที่เป็นเพื่อนของผู้กำกับโชค

มันไม่ใช่ความผิดของตำรวจชั้นผู้น้อยที่ไม่รู้จักหน้าค่าตาของอธิบดีคนนั้น เพราะไม่ได้เป็นที่รู้จักหรือเป็นคนดังเพียงพอ

แต่ต่อให้รู้จัก ถ้าคนนั้นทำผิด ตำรวจก็มีหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ถ้าหากยกเว้นให้ตำรวจก็อาจมีความผิดเสียเอง

ไม่ใช่หน้าที่หรือภาระอะไรของตำรวจชั้นผู้น้อยที่จะต้องมาคอยจดจำหน้าตา ชื่อเสียงเรียงนามเพื่อนของท่านผู้กำกับโชค เพื่อจะได้คอยยกเว้นการทำผิดให้

หากผู้กำกับโชคไม่อยากให้เกิดความผิดพลาด ก็คงต้องไปยืนประจำทุกด่านตรวจเองกระมัง เพราะคงรู้จักหน้าตาผู้หลักผู้ใหญ่ คนดัง คนรวยที่เป็นเพื่อนของผู้กำกับโชคทั้งหมด จะได้ไม่มีปัญหาให้ตำรวจชั้นผู้น้อยต้องโทรศัพท์ไปถึงผู้กำกับโชคว่าคนนี้เป็นใคร เป็นอธิบดีผู้พิพากษาฯ จริงไหม

แต่เชื่อเถอะว่า ถ้าผู้กำกับโชคไปยืนประจำด่านตรวจเอง คงมีผู้ขับขี่ที่ทำผิดหลายคนได้รับการปล่อยไป เพราะว่ารู้จักผู้กำกับโชค ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เลิกด่านตรวจไปเลยดีกว่าไหม เพราะแทบจะจับใครไม่ได้สักคน

 

ถ้าผู้กำกับโชคหรือตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาคนใดก็ตาม ใช้หลักการทำงานแบบเดียวกันนี้ คือถ้าใครเป็นเพื่อน เป็นคนรู้จักกับผู้กำกับ ก็ได้รับยกเว้น ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องมาตรการความปลอดภัย แล้วมีการยกเว้นให้บางคนเพียงเพราะอ้างว่ารู้จักกับตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่เราจะปล่อยให้คนร้ายผ่านด่านตรวจเข้าไปก่อเหตุร้ายสักอย่าง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้นั้นสถานการณ์ไม่น่าไว้ใจอย่างที่ทราบกัน

กรณีอธิบดีคนนั้น หากบังเอิญว่าเป็นตัวปลอมขึ้นมา แล้วไม่มีการตรวจค้นรถ ไม่มีการแสดงเอกสารเพื่อยืนยันตัวตน จะแน่ใจได้อย่างไรว่าเหตุร้ายจะไม่เกิดขึ้น ผู้กำกับโชคจะให้ลูกน้องทำงานโดยอาศัยดูจากหน้าตา การแต่งกาย แล้วสันนิษฐานเอาเองว่าไม่ใช่คนร้าย โดยไม่ดูใบขับขี่ ไม่ตรวจค้นอย่างนั้นหรือ

ทุกวันนี้โจรแหกตาตำรวจได้หลายครั้ง ก็เกิดจากการใช้ลักษณะภายนอกตบตาตำรวจนั่นแหละ เพราะโจรเดี๋ยวนี้ฉลาด ถ้าตำรวจฉลาดน้อยกว่าโจร จะจับโจรได้อย่างไร

 

ผู้กำกับโชคพูดในเชิงตำหนิว่า ส.ต.อ.เอกพลเป็นตำรวจจบใหม่ การย้ายก็เพื่อให้เรียนรู้มากขึ้น ก่อนนำไปอยู่ในจุดที่สัมผัสกับประชาชน ถ้าเขาไม่รู้เรื่องกฎหมาย ไม่รู้ระเบียบจะเกิดปัญหากับโรงพัก และอ้างว่ากลัวจะถูกอธิบดีคนนั้นฟ้องฐานขอดูใบขับขี่โดยไม่มีเหตุอันควร จึงต้องพาลูกน้องไปขอโทษ

เหตุการณ์นี้เสี่ยงที่จะสั่นคลอนความศรัทธาที่มีต่อบุคลากรในวงการผู้พิพากษา เพราะอย่าลืมว่าในเมืองไทยนั้น ในกระบวนการยุติธรรม ที่มีอยู่ 3 ส่วน คือ ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา นั้น ตำรวจได้รับคะแนนความน่าเชื่อถือศรัทธาน้อยสุด ส่วนผู้พิพากษาได้คะแนนสูงสุด

ขณะเดียวกัน มีประเด็นที่น่าตั้งคำถามอีกเช่นกัน ว่าเหตุใดอธิบดีผู้นั้นจึงไม่นำกระเป๋าสตางค์ (ที่บรรจุเอกสารต่างๆ รวมทั้งใบขับขี่) ติดตัวไปด้วย ทั้งที่บอกว่าขับรถไปกินข้าวนอกบ้าน

คำว่าไปกินข้าวนอกบ้าน เป็นการไปกินตามบ้านของเจ้าภาพที่เชิญหรือไปกินร้านอาหาร ถ้าไปกินร้านอาหาร แล้วไม่พกกระเป๋าสตางค์ไป แปลว่าไปกินฟรีหรือเปล่า และใครเลี้ยง

ปกติคนเรา ถึงแม้จะไปกินฟรีอย่างไร ก็ควรพกกระเป๋าสตางค์ไปเผื่อเหตุฉุกเฉิน แม้จะอ้างว่าใกล้บ้านก็ตาม