จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 24-30 พฤษภาคม 2562

จดหมาย

0 ส.ว. : สมาชิกวุฒิสภา

 

—เพราะว่าคนดีมันหายากไง

เข้าใจไหม—

ประเทศใดที่เศรษฐกิจดีเลิศ

ประชาชนอยู่ดีกินดีทุกคนนั้น

การงานก็ดี เงินก็หาง่ายสะดวกสบาย

สมควรที่จะต้องใช้เงินงบประมาณของประชาชนคนรวยเหล่านี้ **มากกว่าหนึ่งพันสามร้อยล้านบาท**

ในการสรรหา ส.ว.ส่วนของ 50 คน

มาช่วยกันดูแลชาติให้เจริญก้าวหน้ายิ่งใหญ่

รวยยิ่งขึ้น

คุ้มค่ามากๆ

เพราะว่าคนดีมันหายากไง

เข้าใจไหม…

เสกสรร แสงจันทร์รุ่ง

 

เข้าใจคร้าบ เข้าใจ

ท่านว่าดี

เราก็ต้องว่าดี

แถมอุตส่าห์เมตตาให้เราได้เลือกตั้ง

ท่านจะลากตั้ง แค่นี้ทำไมจะไม่ได้

ไปต่อ ไปต่อ ไปต่อ

ไปโลดด –ไม่ฮา-ฮิฮิ

 

0 ส.ว. : สูงวัย

 

ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ในปี 2564

จากสถิติที่ผ่านมา พบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุ ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป

เข้ารับบริการในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ด้วยสาเหตุการพลัดตกหกล้มมากขึ้น

และใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินด้วยสาเหตุการพลัดตกหกล้มวันละกว่า 140 ครั้ง

และมีผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจากการหกล้มเฉลี่ยวันละ 2 คน

เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า

ในรอบ 3 ปีกว่า นับตั้งแต่ปี 2559-2562 (2 ไตรมาส)

มีจำนวนผู้สูงอายุที่บาดเจ็บด้วยสาเหตุการพลัดตกหกล้มมาด้วยระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งหมด 141,895 ราย

หรือเพิ่มมากขึ้นคิดเป็นร้อยละ 29.5 จากปี 2559

โดยกลุ่มที่เข้ารับบริการในระบบการแพทย์ฉุกเฉินมากที่สุดคือกลุ่มที่มีอายุ 60-64

รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 65-69 ปี

และกลุ่มอายุ 70-74 ปี ตามลำดับ

และส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง

แต่เมื่ออายุมากขึ้น ตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จะพบว่าเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

โดยเฉพาะในปี 2562 มีจำนวนผู้สูงอายุที่บาดเจ็บด้วยสาเหตุพลัดตกหกล้มทั้งหมด 24,364 ราย

เป็นเพศชาย 10,745 ราย และเพศหญิง 10,981 ราย

ส่วน 5 จังหวัดที่มีสถิติสูงสุดคือ ขอนแก่น, นครราชสีมา, เชียงใหม่, อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด

การบาดเจ็บที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่พลัดตกหกล้มส่วนมากคือ กระดูกสะโพกหักหรือแตก

ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้พิการและมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง

เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุน เมื่อหกล้ม กระดูกจึงเกิดการแตกหรือหักได้ง่าย

นอกจากนี้ยังอาจมีอาการบาดเจ็บร่วมกันในหลายอวัยวะ

ประกอบกับผู้สูงวัยมักมีโรคประจำตัว เช่น ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง

จึงยิ่งทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

สาเหตุสำคัญของการพลัดตกหกล้มคือ ตัวผู้สูงอายุเองมีความเสื่อมและการถดถอยของร่างกาย

ทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ลดลง เช่น การมองเห็นไม่ชัด การทรงตัวไม่ดี แขน ขาอ่อนแรง

หรืออาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น พื้นและบันไดลื่น พื้นต่างระดับ แสงสว่างไม่เพียงพอ

ซึ่งการช่วยเหลือเบื้องต้น เริ่มแรกคือต้องตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตกใจ

จากนั้นให้ประเมินการบาดเจ็บ

หากไม่สามารถขยับและลุกเองได้ หรือเมื่อขยับขาแล้วรู้สึกปวดสะโพกหรือโคนขา หรือสงสัยว่ากระดูกสะโพกหัก ให้ผู้ป่วยพักในท่าที่สบาย

พยายามอย่าเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เพื่อป้องกันกระดูกที่หักไปทำลายเนื้อเยื่อ หลอดเลือด และเส้นประสาทข้างเคียง

ให้รีบโทร.แจ้งสายด่วนฉุกเฉิน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่หากศีรษะกระแทกและไม่รู้สึกตัว

ให้นอนในท่าเดิม และรีบโทร.แจ้ง 1669 ทันที

ส่วนกรณีที่มีแผลเลือดออก ให้ใช้ผ้าสะอาดกดไว้นาน 10-15 นาที

กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)

 

ผู้อ่าน “มติชนสุดสัปดาห์”

เป็นคนวัย ส.ว.กันมาก

โอกาสพลัดตกหกล้มมีสูง

เลยเอาข้อมูลของ สพล. มาเตือนใจ

แบบรู้ไว้ใช่ว่า

“ส.ว.สภาสูง” ล้มได้-และน่าล้ม (ฮา)

แต่ ส.ว.สูงวัย ล้มไม่ได้

–เข้าใจไหม