เพ็ญสุภา สุขคตะ : ศิลปิน “โกย่า” สุดจะทนทาน เมื่อ “มารครองเมือง”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปูมหลังศิลปินสเปนผู้ยิ่งใหญ่
หลงใหลเวลาสเควซ+เรมบรันท์

ฟรานซิสโก เด โกย่า (Francisco de Goya) เป็นศิลปินชาวสเปนผู้ก่อตั้งสกุลช่างศิลปะ “แนวสะเทือนอารมณ์” หรือลัทธิ Romanticism เขามีชีวิตระหว่างปี ค.ศ.1746-1828 อันเป็นช่วงที่สเปนกำลังตกต่ำย่ำแย่อย่างถึงขีดสุด เนื่องจากอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของฝรั่งเศสในยุคนโปเลียน

เมืองที่เขาเกิดคือ อารากอน (Aragon) เป็นเมืองชนบทเล็กๆ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของสเปนใกล้เทือกเขาพีเรเนส ติดพรมแดนฝรั่งเศส ในครอบครัวชาวบ้าน บิดามีอาชีพเป็นช่างไม้ ช่างทอง

แต่ด้วยความใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปินตั้งแต่วัยเยาว์ ด้วยวัยต้น 20 เขาดิ้นรนกระเสือกกระสนเดินทางไปศึกษาวิชาการเขียนรูปในอิตาลีทั้งที่กรุงโรมและฟลอเรนซ์เป็นเวลา 2 ปี (ระหว่าง 1770-1771) ด้วยการแชร์ห้องพักแคบๆ โกโรโกโสเบียดกับคนพลัดถิ่นเพื่อนร่วมฝันชาวเยอรมัน

ที่อิตาลีเขาได้เรียนรู้ถึงงานศิลปะระดับคลาสสิคของกรีกโรมัน ตลอดจนงานชิ้นโบแดงของโลกสมัยเรอเนซองส์และบาโรก เขาหลงใหลในพลังมหาศาลแห่งกล้ามเนื้อของประติมากรรมกรีกโบราณเช่นรูปเฮอร์คิวลิส เนปจูน มากเสียยิ่งกว่าที่จะชอบงานฝีมือเนี้ยบกริบแบบ “เลโอนาร์โด ดาวินชี” ถึงขนาดประกาศว่า

“ให้ข้าพเจ้าเป็นที่หนึ่งแห่งความหยาบกระด้างดิบเถื่อน ยังดีกว่าเป็นที่สองรองจากราฟาเอลในด้านความประณีตละเอียดบรรจง”

เมื่อกลับจากอิตาลี โกย่าเดินทางมายังกรุงมาดริด เพื่อสอบแข่งขันเข้ารับราชการเป็นนายช่างออกแบบลวดลายผ้าทอให้แก่ราชสำนักสเปน จากนั้นค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมาเป็นจิตรกรประจำพระองค์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส

เส้นทางการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของโกย่าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เขาต้องอาศัยจังหวะเวลารอให้จิตรกรคู่แข่งทางการเมืองรายอื่นๆ เพลี่ยงพล้ำลงเสียก่อน หากพูดกันตามตรงแล้ว แม้เขาเป็นคนมีฝีมือฉกาจฉกรรจ์ แต่สไตล์การวาดรูปของเขาก็ไม่ได้เข้าตากรรมการสักเท่าใดนัก

เนื่องจากเขาเป็นจิตรกรที่ไม่เน้นการ “สร้างภาพ” ตามใจผู้สั่งวาดหรือผู้เป็นแบบให้ “ดูดีขึ้น” แต่อย่างใดเลย กล่าวแบบบ้านๆ ก็คือเป็น “จิตรกรนอกคอก” นั่นเอง เวลาเขาวาดภาพพระบรมวงศานุวงศ์ ที่นั่งตัวเกร็ง ตกแต่งด้วยถนิมพิมพาภรณ์อันอลังการนั้น เขาไม่เคยเคารพ “ความเหมือนจริง” เลย

อาทิ พระพักตร์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ดูเขม็งเกร็ง ไม่ยิ้มหัวเขาก็เติมลักยิ้มให้ 2 บุ๋ม ไหล่ที่เล็กแคบลู่ลง แทนที่จะช่วยเสริมให้ดูใหญ่สมาร์ตขึ้นสักหน่อย เขาก็กลับเน้นเครื่องยศบนบ่าลาดลู่ดูเอน เหมือนจงใจโฟกัสให้เห็นไหล่ที่เล็กแคบชัดเจนขึ้น

พระราชินีในวัย 60-70 ที่พระขนงแสนจะบาง ต้องปกปิดความจริงด้วยการทาคิ้วหนาเทอะ และลงเครื่องสำอางหนักมาก โกย่าก็วาดคิ้วให้บางเป็นธรรมชาติ แต่แอบเติมไฝเสน่ห์เม็ดใหญ่ที่แก้มซ้ายเหนือริมฝีปากเพิ่มให้ 1 เม็ด คือเขารังสรรค์ “ความงามในแบบฉบับที่ควรจะเป็นขึ้นมาใหม่” ว่างั้นเถอะ

พระโอรสธิดานั่งหลังตรงตัวเกร็ง ถูกบังคับให้แหนห้อมพระราชาอย่างกับจะเล่นมอญซ่อนผ้า เขาก็จับแยกให้เป็นอิสระ นั่งบ้างยืนบ้างคนละมุม และต่างก็มีอิริยาบถของเด็กน้อยที่ยังซุกซน เช่น บางองค์น้ำมูกไหลย้อย บางองค์ถือขนม ตุ๊กตา มีกรงนก สุนัขอยู่ข้างๆ

แน่นอนว่าภาพเหล่านั้น ย่อมไม่เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แต่โกย่ากลับบอกว่า “ขอให้พระองค์ทรงอยู่เฉยๆ จงวางพระทัยหม่อมฉัน ต่อไปชาวโลกจักจดจำตัวตนของทุกพระองค์ในฐานะมนุษย์ปุถุชนที่มีเลือดเนื้อสัมผัสได้ ดีเสียยิ่งกว่าตัวตนจริงหรือภาพที่พระองค์เสกสร้างขึ้นมาเสียอีก”

โกย่าเอาแนวคิดนี้มาจากไหน หมายถึงความอาจหาญที่กล้าต่อกรกับประมุขของประเทศ ซ้ำบางภาพโกย่ายังเขียนภาพเหมือนของตัวเขาเองแทรกไปกับพระบรมวงศานุวงศ์อีกด้วย

คำตอบก็คือ ในอดีตมีศิลปินชาวสเปนเคยเบิกทางแนวดังกล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ ศิลปินผู้นั้นคนไทยนิยมเรียกว่า “เวลาสเควซ” จนติดปาก เพราะสะกดว่า Velasquez แต่ภาษาสเปนจะออกเสียงเป็น “เบลัสเกซ” มีชีวิตในยุคที่ศิลปะยุคบาโรกเฟื่องฟูก่อนหน้ายุคโกย่าราว 1 ศตวรรษ เวลาสเควซก็นิยมใส่รูปตัวเองประกบกับพระราชวงศ์

ศิลปินอีกคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่โกย่า ก็คือจิตรกรชาวดัตช์ผู้ยิ่งใหญ่ในยุคบาโรกเช่นกันมีนามว่า “เรมบรันต์” เห็นได้จากภาพเหมือนของโกย่าที่นำเสนอในที่นี้ เขาพรรณนาไว้ในสมุดบันทึกว่า

“ข้าพเจ้าไม่ปิดบังอำพรางเรือนร่างอันอัปลักษณ์อ้วนเตี้ย จะเอาอะไรกับชายวัย 51 จมูกบี้แบน นัยน์ตาเริ่มลึกโหล คงมีแต่เส้นผมสยายฟูฟ่องไร้ระเบียบที่ข้าพเจ้าชอบมันมาก เพราะมันเหมือนกับทีแปรงพู่กันของ “เรมบรันต์” ที่ขาดๆ หลุดๆ เป็นเส้นฝอยๆ ปราศจากกรอบรอบนอกอันเรียบร้อย เส้นผมของข้าคือมรดกตกทอดมาจากความสุขุมลุ่มลึกของจิตรกรในดวงใจนามเรมบรันต์”

 

จิตรกรในราชสำนัก แต่ใจรักเสรีสุดโต่ง?

โกย่าเป็นจิตรกรที่มีความสุดโต่งสองขั้วอยู่ในตัวเอง

มุมหนึ่งเขายอมรับว่าต้องการชื่อเสียง เกียรติยศ เงินตรา และติดหรู เขาย้ำเสมอว่า

“ข้าพเจ้ามีแรงปรารถนาที่จะโบยบินไปในจุดที่สูงที่สุด ต้องได้รับการเชิดชู เพราะข้าพเจ้าไม่อาจก้มหน้ารับคำดูถูกดูแคลนจากศิลปินคนอื่นได้ ข้าพเจ้าต้องมีเงินซื้อไวน์ราคาแพงจากฝรั่งเศส ต้องมีค่าจ้างสำหรับครูสอนภาษาฝรั่งเศส ต้องใส่น้ำหอม เสื้อผ้าโก้ทันสมัยแบบฝรั่งเศส”

ความนิยมหลงใหลในสิ่งศิวิไลซ์จากฝรั่งเศสถือเป็นรสนิยมส่วนตัวของเขา

“แต่ในขณะเดียวกัน ข้าพเจ้าก็รังเกียจจารีตประเพณีอันล้าหลังของราชสำนัก เช่น การทารุณกรรมนักโทษโดยไม่มีการไต่สวน การเก็บภาษีขูดรีดราษฎรผู้ยากไร้ การที่รัฐยกเลิกแนวคิดที่จะสร้างมหาวิทยาลัย แต่กลับหันไปสนับสนุนให้เปิดโรงเรียนสอนการสู้วัวกระทิงแทน ข้าพเจ้ารังเกียจความป่าเถื่อน โดยเฉพาะด้านการศาสนา ที่บาทหลวงทำตัวแย่ยิ่งกว่าเหลือบปลิงที่คอยดูดเงินจากศาสนิกชน”

ในที่สุด เมื่อรับใช้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เรื่อยมาอีก 2-3 รัชกาลแล้ว สเปนได้เกิดสภาวะสงครามกลางเมืองเรื้อรัง นับแต่การที่กษัตริย์สเปนพยายามดึงฝรั่งเศสมาคานอำนาจขับไล่อิทธิพลของโปรตุเกส อังกฤษ และฮอลันดา จนฝรั่งเศสเริ่มเหิมเกริมแทบจะยึดสเปนทั้งหมดไว้ในอุ้งมือ กษัตริย์สเปนต้องหันไปขอการสนับสนุนจากอังกฤษให้มาต่อต้านฝรั่งเศสอีก

โกย่าตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าจิตรกรแห่งราชสำนักสเปน เขาหันมาใช้ชีวิตเยี่ยงศิลปินอิสระ เร่ร่อนไปตามเมืองต่างๆ ยุคที่เขาออกแสวงหาสัจธรรมอย่างเดียวดายนั้น เขาต้องพกอุปกรณ์เขียนรูปในตู้รถม้า สะดวกที่ไหนก็กางเต็นท์ค่ำไหนนอนนั่น กางขาหยั่งเขียนรูปตามริมถนน เขาเรียกงานศิลปะยุคนั้นว่า “Cabinet Painter” (ประมาณว่า “จิตรกรในรถตู้”)

ถามว่าเขาพอใจในสภาพนั้นไหม อย่าปฏิเสธเลยว่าคนเคยกินดีอยู่ดีเช่นเขาจักยินดี เขาย่อมรู้สึกขัดแย้งและน้อยใจในวาสนาตัวเองไม่น้อยที่ตัดสินใจอำลาฟูกนุ่มหนามาเป็น “ไอ้หนุ่มรถตู้” แต่เขาก็ยืนยันว่า ช่างมันเหอะ นี่คือทางที่เลือกแล้ว ดีกว่าจะต้องรู้สึกบาปทั้งชีวิตหากยังดำรงตนแบบ “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง” คือไม่มีใจให้แก่ศักดินาแต่ต้องทนสวามิภักดิ์อยู่เพื่อเศษเงิน เสียศักดิ์ศรีของศิลปิน ตายเสียดีกว่า

เผอิญบาปซ้ำกรรมซัด เขาต้องเผชิญสิ่งเลวร้ายด้วยการที่หูทั้งสองข้างหนวกสนิท (เหมือนคีตกวีบีโธเฟ่นอีกราย) ยิ่งสร้างความเก็บกดทั้งกายใจ จนโกย่ากลายเป็นโรคซึมเศร้า ผสมไบโพลาร์

แต่วิกฤตทั้งหมดนี้ มันจะช่วยจุดชนวนให้เขากลายเป็นจิตรกรแถวหน้าของโลก เหตุที่เขามีแรงระเบิดอารมณ์ให้พวยพุ่งยิ่งกว่าจิตรกรธรรมดาทั่วไป พรั่งพรูออกมาเป็นร้อยเท่าพันทวี

 

ผู้ให้กำเนิดสกุลช่าง Romanticism

ในช่วงที่โกย่ากำลังรุ่งโรจน์นั้น ยุคสมัยทางศิลปะที่ขับเคลื่อนทั่วยุโรปอยู่ในสกุลช่าง “นีโอคลาสสิค” Neoclassicism หมายความว่าผู้คนรู้สึกรังเกียจเหยียดหยามศิลปะแนวเห่อเหิมฟุ้งเฟ้อแบบ “โรโกโก” ของฝรั่งเศสตามสไตล์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ชนิดสะอิดสะเอียนเต็มประดาแล้ว จึงเริ่มโหยหาความงามสง่าสุนทรีย์แบบยุคกรีกโรมัน ซึ่งสอดรับกับ “เลือดรักชาติ หลงใหลประวัติศาสตร์” ตามแนวคิดของนโปเลียน

ครึ่งแรกของชีวิตโกย่าก็เติบโตไหลตามกระแสน้ำนีโอคลาสสิคนี้เช่นกัน แต่โกย่าถามตัวเองว่า การวาดรูปบุคคลสูงศักดิ์ เลอเลิศเลียนแบบเทพนิยายกรีกนั้น โลกได้อะไรขึ้นมาบ้างล่ะหรือ? นอกเสียจากการหลอกตัวเอง ดังนั้น แม้นเขาจะตกที่นั่งศิลปินจรจัด แต่ก็ควรมีความคิดที่ก้าวไกลไร้ขีดจำกัดแห่งคำว่า “คลาสสิค”

โชคดีที่โกย่าไม่ว่าเมื่อไปถึงเมืองใดๆ ก็ตาม บุคคลชั้นสูงตามหัวเมืองชนบทก็ยังจดจำเขาได้ว่านี่คือ ศิลปินโกย่าผู้ทระนง จึงมักจ้างวานให้เขาวาดรูปเหมือน ซึ่งโดยเงื่อนไขเพื่อแลกเงินประทังชีวิตแล้ว โกย่าก็จำเป็นต้องยอมวาด

ทว่าผลลัพธ์นั้น รูปของดยุคและดัชเชสผู้ที่ควรจะเลอโฉมเชิดหน้าโผล่ออกมาจากรถม้าทำท่าโบกมือปรายตามองชาวบ้านสองข้างทางด้วยความเวทนา โกย่ากลับวาดฉากหลังราวป่าด้วยรูปคนถูกแขวนคอเรียงราย หญิงยาจกแบมือขอเงินจากดัชเชสที่ทำท่าตระหนกสะบัดหน้าหนี แถมรูปดยุคยังมีชาวไร่มายืนเท้าสะเอวตะโกนด่าอีกด้วยซะงั้น

แนวคิดทั้งหมดนี้ทำไปเพื่อสร้างความสะเทือนอารมณ์ให้แก่ผู้พบเห็น ทำให้โกย่ากลายเป็นผู้นำในการบุกเบิกศิลปะสกุลช่าง Romanticism คือหลุดไปจากทฤษฎีนีโอคลาสสิคไปแล้วโดยสิ้นเชิง ในขณะเดียวกันงานของโกย่าก็ยังส่งอิทธิพลต่อแนวคิดของสกุลช่าง Realism (สัจนิยม) Surrealism (เหนือจริง) และ Naturalism (ธรรมชาตินิยม) อีกด้วย

ผลพวงของศิลปินสเปนชื่อก้องโลก 2 คนในศตวรรษที่ 20 คือ ปิกัสโซ และซาลวาดอร์ ดาลี ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจักไม่ผ่านแรงบันดาลใจจากโกย่า

ส่วนรูปบุคคลร่างยักษ์ที่มีชื่อภาพว่า “Hercules” แต่นักเรียนศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเรียกตามศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ว่า “มารครองเมือง” นั้น เป็นผลงานช่วงสุดท้ายของโกย่า ด้วยความรู้สึกอัดอั้นตันใจสุดจะทานทนกับสงครามกลางเมืองในสเปน โดยทหารนโปเลียนเข้าประหัตประหารกวาดล้างประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ต่อสู้ด้วยสองมือเปล่า

โกย่าระเบิดอารมณ์กับเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยการสร้างภาพ “ยักษ์” หรือ “มาร” ที่หันหลังดูแข็งแกร่งทรงพลังอำนาจพร้อมจะเขมือบเมืองได้ทั้งเมือง โกย่าอธิบายว่ายักษ์ตัวนี้คือ “นโปเลียน” ผู้กัดกลืนประเทศสเปน ท่ามกลางท้องฟ้าพร่าหม่น ผู้คนนอนล้มตายกล่นเกลื่อน บ้างแตกฉานซ่านเซ็น บ้างถูกฆ่าข่มขืน

ขอให้สังเกตว่ามีรูปฝูงวัวกระทิง สัญลักษณ์ที่โกย่าต้องการเย้ยหยันชาวสเปนที่ยังไม่ยอมยกเลิกกีฬาป่าเถื่อนนี้ โดยวัวกระทิงต้องต่อสู้กับกองทหารม้าอันเกรียงไกรของฝรั่งเศสที่มีแสนยานุภาพสูงกว่า

สงครามระหว่างสเปนกับฝรั่งเศสยุติลง โดยมีชาวอังกฤษยื่นมือเข้ามาช่วยฝ่ายสเปน บั้นปลายชีวิตโกย่ายังคงเดินทางไกล ปักหลักสร้างงานศิลปะเพื่อชนชั้นล่างและคนชายขอบที่เมืองบอร์โดซ์ ในฝรั่งเศส ประเทศที่โกย่าทั้งรักทั้งแค้น กระทั่งเสียชีวิตที่นั่นด้วยวัย 81 ปี

ชาวสเปนต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากการที่ “มารครองเมือง” จนได้รับอิสรภาพมานานกว่า 300 ปีแล้ว ย้อนกลับมามองสยามประเทศ ณ ศตวรรษที่ 21 อิฉันก็มิรู้จะพรรณนาเยี่ยงไรดี