คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สยาม- ภารต (3) : เบญจคัพย์

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นอกจากการใช้อุปกรณ์พิเศษอย่าง “สหัสธารา” แล้ว ยังมีการใช้อุปกรณ์ที่สำคัญมากๆ ในพระราชพิธีอย่างหนึ่งคือ “พระเต้าเบญจคัพย์” ในการสรงมูรธาภิเษกด้วย

พระเต้าเบญจคัพย์องค์สำคัญมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่หนึ่ง โดยทรงให้คนไปซื้อมาจากอินเดีย ทำด้วยโมราสีเหลืองประดับเพชรพลอยต่างๆ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า น่าจะเป็นของที่มหาราชาในอินเดียสั่งทำมาจากยุโรป องค์นี้เรียกว่าพระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่ และมีอีกองค์หนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกันสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่สี่ เรียกว่าพระเต้าเบญจคัพย์รอง พระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่ จะใช้เฉพาะในพระราชพิธีที่สำคัญเท่านั้น

แต่ที่มาของนามของพระเต้า “เบญจคัพย์” นี้ มาจากไหน? และแปลว่าอะไร?

 

ในเฟซบุ๊กของอาจารย์ทองย้อย แสงสินชัย ท่านว่า ที่จริงควรเขียนเป็นเบญจครรภ หรือเบญจคัพภ์ ซึ่งแปลว่า “ห้าห้อง” จึงจะมีความหมาย แต่จะหมายถึงอะไรอย่างไรนั้นให้ลองสืบค้นกันต่อ

ในพจนานุกรมอาจารย์เปลื้อง ณ นคร บอกว่า “เบญจคัพย์ – 5 ห้อง หมายถึง เต้าน้ำบรรจุน้ำเทพมนตร์ใช้ในการพระราชพิธี, บางแห่งเขียนว่า เบญจครรภ”

พระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “จะแปลชื่อเบญจคัพย์ก็ไม่ออก แต่จะว่าไปถึงหาผู้รู้แปลชื่อออก จะเป็นพระราชาคณะชั้นผู้หลักผู้ใหญ่ผู้ใดก็แปลออกแต่ชื่อ ที่บอกลักษณะอาการของพระเต้าไม่ถูกเลย… เว้นไว้แต่ได้เห็นด้วยพระเต้านั้นไม่ต้องกับชื่อ ถ้าคิดตามชื่อคงจะเข้าใจว่าห้าห้องหรือห้าลอน ที่แท้พระเต้านั้นเป็นพระเต้าตามธรรมเนียม มีแผ่นทองคำลงยันต์กลมๆ ห้าแผ่นแช่อยู่ในน้ำก้นพระเต้า” และ

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระดำริหลายอย่าง ทรงเห็นว่าของเดิมเขาจะเป็นห้าห้องดอกกระมัง ก็ได้โปรดให้ลองทำขึ้นมาองค์หนึ่ง มีดอกนพเก้าอยู่กลาง ภายใต้ดอกนพเก้ามีขายื่นลงไปห้าขา ใช้โลหะขาละอย่างเป็นห้ากษัตริย์ ลงยันต์เบญจคัพย์ทั้งห้าขา”

ผมเห็นว่า ที่ถูกต้องควรเขียนเป็น “เบญจคัพย์” ไม่ใช่เบญจคัพภ์ หรือเบญจครรภ

ด้วยเหตุผลดังนี้ครับ

 

คํานี้น่าจะมาจากคำสันสกฤตว่า “ปัญจควยะ (ปญฺจควฺย)” เพราะปกติตัว ว ในสันสกฤตและบาลีจะแผลงเป็น พ ในภาษาไทย เช่น วิเศษ เป็นพิเศษ ฯลฯ ปัญจ เขียนแบบไทยได้ เบญจ

ปัญจควยะ จึงสามารถแปลงเป็นเบญจคัพย์ในภาษาไทยได้พอดี

ปัญจควยะแปลว่าอะไร?

ในหนังสือกรรมกาณฑภารตี ซึ่งเป็นคู่มือเกี่ยวกับพิธีกรรมต่างๆ ของคฤหัสถ์ กล่าวถึงปัญจควยะไว้ ผมขอยกมาทั้งโศลกดังนี้

“โคมูตรํ โคมยํ กฺษีรํ ทธิ สรฺปิ กุโศทกมฺ, นิรฺทิษฺฏํ ปํจควฺยํ จ ปวิตฺรํ กายโศธนมฺ” “ไขว่า ปัญจควยะ ได้แก่ โคมูตร (ฉี่โค) โคมัย (มูลโค) กษีระ (นม) ทธิ (โยเกิร์ต) สรฺปิ (เนย) และน้ำแช่หญ้ากุศะ ทำให้บริสุทธิ์ เป็นเครื่องชำระกายให้สะอาด”

“ปัญจควยะ” ที่แผลงมาในภาษาไทยเป็น “เบญจคัพย์” จึงแปลได้ว่า สิ่งอันเกี่ยวกับโค (ควยะ) ห้าอย่าง (ปัญจะ) ได้แก่ ฉี่โค มูลโค นม โยเกิร์ต และเนย เป็นผลิตภัณฑ์จากโคทั้งห้า แต่ทั้งนี้ท่านรวมเอาน้ำแช่หญ้ากุศะ (หญ้าคา หรือบางท่านว่าเป็นหญ้าชนิดใกล้เคียงกัน) เอาไว้ด้วย

แม้จะดูว่าเป็นมูตรคูถน่ารังเกียจ แต่ชาวฮินดูในอินเดียคุ้นเคยกับของพวกนี้ในพิธีกรรมเป็นอย่างดีครับ ถือกันว่าเป็นของช่วยชำระมลทินโทษทั้งภายในภายนอก ใช้ทั้งอาบและดื่มกิน นับถือว่าในบรรดาสิ่งทำให้บริสุทธิ์ ปัญจควยะเป็นยอด

ภายหลังท่านมีคำอธิบายในเชิงอายุรเวทเกี่ยวกับคุณค่าของปัญจควยะไว้มาก แม้แต่มูตรคูถของโคก็จัดเป็นสิ่งสำคัญในทางอายุรเวท ใช้รักษาโรคบางชนิดได้ แต่เน้นว่าต้องมาจากโคที่ถูกเลี้ยงโดยธรรมชาติ

ในปัจจุบันหากไปร้านเทวภัณฑ์ในอินเดีย เขามีฉี่โคบรรจุขายเป็นขวดและมูลโคบรรจุถุงขาย สะดวกแก่การใช้

 

ในกรรมการณฑภารตียังอธิบายถึงความเชื่อว่า มีเทพเจ้าสถิตในปัญจควยะดังนี้ โคมูตร (ฉี่โค) มีพระวรุณสถิต โคมัย (มูล) มี พระอัคนี (พระเพลิง) น้ำนมมีพระจันทร์ โยเกิร์ตมีพระวายุ เนยมีพระภานุราชและพระหริ น้ำแช่หญ้ากุศะมีปวงเทวาทั้งหลาย ฯลฯ

ดังนั้น ในพิธีกรรมต่างๆ ที่เน้นความบริสุทธิ์สะอาด จะมีการใช้ปัญจควยะเสมอ โดยพราหมณ์จะตั้งแต่งมณฑล จัดวางภาชนะใส่ปัญจควยะแต่ละอย่างไว้ตามตำแหน่ง และผสมกันทีละอย่างโดยมีมนต์กำกับ

ผมเองเคยเห็นการใช้ปัญจควยะของฮินดูในพิธี “อุปกรรม” หรือการชำระมลทินโทษประจำปีของพราหมณ์ในเทศกาลศราวณีปูรณิมาหรือวันเพ็ญเดือนศราวัณอยู่ทุกปี

ในพิธีราชาภิเษกยุคพระเวท มีการใช้นมและเนยใสสำหรับสรงสนานในพิธีอภิเษกจนียะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีราชสูยะ แต่หลังยุคพระเวทปรากฏมีการใช้ “ปัญจควยะ” ในพิธีราชาภิเษกด้วย ดังระบุไว้ในคัมภีร์คฤหยสูตรของโพธยานะ

ดังนั้น เมื่อเรารับพิธีกรรมของพราหมณ์จากอินเดีย ก็คงต้องรับเอาพิธีสรงสนานด้วยพระ “เบญจคัพย์” มาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย

แต่เนื่องจากนมเนยทั้งหลายรวมทั้งมูตรคูถของโคตามประเพณีอินเดีย ย่อมไม่ต้องด้วยรสนิยมของไทย จึงได้มีการเลี่ยงไปใช้สิ่งอื่นแทน

 

ในจารึกวัดพระเชตุพนฯ สมัยต้นรัตนโกสินทร์ยังมีการกล่าวถึงพวกพราหมณ์ “ฮินดู” ซึ่งพวกนี้ “ฉาบไล้โคมัย (มูลโค) ไป่เสพมังสะ” ซึ่งน่าจะแสดงให้เห็นด้วยว่า เรามองเป็นสิ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมเรา เพราะเราใช้กระแจะเจิมหน้า แม้ในตำราเก่าๆ บางเล่มยังถือว่ากระแจะจันทน์นั้นเป็นสัญลักษณ์ของโคมัยตามคติพราหมณ์

การหลีกเลี่ยงของแบบอินเดียในแบบของเราก็น่าสนใจครับ เพราะแม้โดยชื่อจะยังคงรักษาชื่อเดิมไว้ แต่ในพิธีกรรมเราใช้เพียงน้ำสะอาดบริสุทธิ์และน้ำอบน้ำหอมเท่านั้น ซึ่งผมเห็นว่าเราได้แปลงพิธีเกี่ยวกับพระเบญจคัพย์ในสองลักษณะ

อย่างแรกคือ ในพระราชพิธีตรีปวายตรียัมปวาย จะเห็นพราหมณ์ตั้งแต่งแท่นวางเบญจคัพย์คล้ายกับแบบที่ปรากฏในอินเดีย แต่ใช้ภาชนะทำด้วยวัสดุต่างกัน เช่น แก้ว ทอง เงิน นาค ฯลฯ โดยสมมุติเป็นเบญจคัพย์แต่ละชนิด ภายในบรรจุน้ำสะอาดน้ำหอมเหมือนกันหมด

ส่วนในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น มีการใช้พระเต้าเบญจคัพย์โดยชื่อ แต่มีการเขียนยันต์ลงในแผ่นทองคำห้าแผ่นในนั้น

ผมเข้าใจว่าคงได้ลงยันต์เบญจคัพย์ตามคติไทย และสมมุติเอาว่าน้ำในพระเต้าก็ดุจดั่งปัญจควยะตามคติพราหมณ์นั่นเอง

ที่มาของนาม “เบญจคัพย์” ดังพรรณนามาฉะนี้แล