E-DUANG : อำนาจ จาก 245 เสียงต้านคสช. ในอุ้งมือ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย

ปัจจัยอะไรทำให้พลังจากการโอบกอดระหว่าง นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ณ ห้องอาหารย่านถนนพระรามที่ 1 ทรงความหมาย

กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์ ก็ต้องกุมขมับ

เพราะว่าข้อเรียกร้องอันมาจากการหารือและตกลงร่วมกันเป้าหมายอยู่ที่ 6 กระทรวงสำคัญ มหาดไทย คมนาคม พาณิชย์ พลังงาน ท่องเที่ยวและกีฬา สาธารณสุข

หากคสช.และพรรคพลังประชารัฐไม่ยอม”คาย”หมายถึงเส้น ทางการจัดตั้งรัฐบาลต้องลำบาก

“ฝัน”ที่วางเอาไว้ อาจไปไม่ถึง

 

ต้องยอมรับว่า การร่วมลงนามใน”สัตยาบัน” ต่อต้านการสืบทอดอำนาจคสช.โดย 6 พรรคที่นำโดยพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ คือ ปัจจัยหนึ่ง

เพราะเมื่อมีพรรคเศรษฐกิจใหม่เข้ามาร่วมด้วยเท่ากับภายใต้สัตยาบันนี้มี 245 เสียง

นี่คือที่ยืนจังก้าหน้าคสช.และพรรคพลังประชารัฐ

ผลโดยพื้นฐานก็คือ ทำให้ 52 เสียงจากพรรคประชาธิปัตย์และ 51 เสียงจากพรรคภูมิใจไทย กลายเป็น”ตัวเลข”ที่ชี้ต้นตายชี้ปลายเป็น

แม้พรรคพลังประชารัฐจะมี 250 ส.ว.เป็นกระดานหกทะยานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่หากไม่มี 52 เสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มี 51 เสียงจากพรรคภูมิใจไทย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะกลายเป็น “รัฐบาลเสียงข้างน้อย”โดยพลัน

ถึงตอนนั้นแม้กระทั่ง 11 ส.ส.จาก 11 พรรคขนาดเล็กก็สามารถขึ้นขย่มได้โดยไม่เกรงอกเกรงใจ

 

เหมือนกับฐานอันแข็งแกร่ง 245 เสียงจากพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคประชา ชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนชาวไทย

ได้กลายเป็น”เครื่องมือ”อันทรงพลานุภาพ

เพราะว่ามิได้หมายความว่า พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจ ไทย จะนำไปใช้ตามอำเภอน้ำใจได้

อย่างน้อย”สังคม”ก็เฝ้ามองอย่างใกล้ชิด ติดพันอยู่