การศึกษา / เสียงแตก เกณฑ์รับเด็กปี ’63 ปลดล็อก ‘ร.ร.ดัง’ สอบ 100% แก้แป๊ะเจี๊ยะ??

การศึกษา

 

เสียงแตก เกณฑ์รับเด็กปี ’63

ปลดล็อก ‘ร.ร.ดัง’

สอบ 100% แก้แป๊ะเจี๊ยะ??

 

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง สำหรับเกณฑ์การรับนักเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หลังคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่มีนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ เป็นประธาน มีมติเสนอปรับหลักเกณฑ์การรับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ ม.4  ปีการศึกษา 2563

โดยอนาคตจะแบ่งโรงเรียนเป็น 2 กลุ่มคือ โรงเรียนที่รับนักเรียนจากทั่วประเทศเข้ามาเรียนโดยการสอบ 100% และไม่รับนักเรียนในเขตบริการ เช่นเดียวกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ถือเป็นโรงเรียนแข่งขันสูง จะรับเด็กเก่งๆ มาเรียนเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพ

กลุ่มที่สอง โรงเรียนที่รับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการเหมือนในปัจจุบัน โดยจะต้องมีการกำหนดสัดส่วนให้ชัดเจน ทั้งจำนวนการรับนักเรียน จำนวนนักเรียนต่อห้อง ที่สำคัญจะต้องกำหนดเป็นแผนแม่บทที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เปลี่ยนแปลงทุกปี เช่น การรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการกำหนดไว้ที่ 60% นักเรียน 40 คนต่อห้อง

และเพื่อไม่ให้โรงเรียนดัง ช้อนเด็กเก่งเข้าเรียนมากเกินไป ยังเสนอให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงลดจำนวนนักเรียนเหลือ 35 คนต่อห้อง จากปัจจุบันอยู่ที่ 40 คนต่อห้อง

ที่มาของข้อเสนอนี้ นอกจากแก้ปัญหาการรับนักเรียนที่มีทุกปีแล้ว ยังมีเป้าหมายหลักเพื่อให้โรงเรียนแข่งขันสูง มีโอกาสในการพัฒนานักเรียนที่มีศักยภาพได้อย่างแท้จริง ไร้ทุจริต เรียกรับเงินเพื่อแลกที่นั่งเรียนหรือแป๊ะเจี๊ยะเข้ามาเกี่ยวข้อง

ซึ่งแน่นอนว่า งานนี้มีเสียงแตก ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย…

 

โดยนายเลิศศิลป์ รัตนมุสิก บิ๊กโรงเรียนหอวัง ออกตัวเห็นด้วย ที่ให้โรงเรียนดังสอบเข้า 100% เพื่อพัฒนาเด็กที่มีศักยภาพให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศ

แต่ข้อเสียคือเด็กในพื้นที่บริการก็จะเสียโอกาส เพราะโรงเรียนก็จะคัดเฉพาะเด็กหัวกะทิเข้าเรียน เด็กในพื้นที่บริการในการเข้าเรียนเพราะต้องไปสอบแข่งขันเช่นเดียวกับเด็กทั่วประเทศ

ขณะที่นายโสภณ กมล ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เห็นคล้ายกันว่า แม้จะรับนักเรียนเข้าเรียนด้วยการจัดสอบเข้าเรียน 100% อยู่แล้ว แต่ก็ควรเริ่มกับโรงเรียนแข่งขันสูงในกรุงเทพฯ ก่อน ส่วนต่างจังหวัดอาจจะต้องดูความพร้อม

โดยมีข้อกังวลว่า หากเกณฑ์นี้ออกมา จะทำให้โรงเรียนดังหลายแห่งขอขยายห้องเรียนเพิ่ม กระทบกับโรงเรียนทั่วไปที่อยู่รอบๆ แน่นอน ดังนั้น ควรมีความชัดเจนว่า จะมาขอขยายห้องเรียนไม่ได้ เรื่องนี้ต้องดูอีกหลายจุด วิเคราะห์ตามพื้นที่ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นของผู้ปกครอง และควรประกาศเกณฑ์รับนักเรียนล่วงหน้า 2 ปี

“ข้อดีที่ให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงรับนักเรียนด้วยการสอบ 100% คือสามารถยกคุณภาพนักเรียน คุณภาพทางการศึกษาได้แน่นอน แต่การยกคุณภาพ ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนได้นักเรียนเก่งเข้ามาเรียนเพียงอย่างเดียว อยู่ที่ความสามารถในการบริหารจัดการ มีวิธีการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการสร้างคุณภาพทางการศึกษาด้วย” นายโสภณกล่าว

ด้าน น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) แม้จะเห็นด้วย แต่เสนอให้กำหนดจำนวนครูต่อนักเรียนต่อห้องให้ดี โดยมาตรฐานควรอยู่ที่ 1:25 1:30 คน ทั้งนี้เพราะความเป็นเลิศและความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นคนละแนวคิด โรงเรียนดังต้องการสร้างความเป็นเลิศ ไม่ใช่ความเสมอภาค…

ขณะที่รัฐต้องจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้อย่างเพียงพอ เพื่อสนับสนุนให้โรงเรียนจัดการศึกษามุ่งสู่ความเป็นเลิศได้จริง รวมถึงต้องไม่ลืมโรงเรียนที่อยู่โดยรอบที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมเช่นเดียวกัน

 

ขณะที่ฝ่ายค้านอย่างนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเสียงดัง ไม่เห็นด้วยที่จะให้โรงเรียนดังสอบรับเด็กเข้าเรียน 100% เพราะจะทำให้โรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งแยกชนชั้น เพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเก่งและครอบครัวมีฐานะจะมีโอกาสมากกว่าเด็กกลุ่มปานกลางจนถึงด้อยโอกาส อีกทั้งทุกวันนี้โรงเรียนดัง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ฯลฯ ต่างก็รับเด็กหัวกะทิเข้าเรียนอยู่แล้ว ทั้งที่ควรรับเด็กคละกัน ให้เด็กเก่งช่วยเด็กอ่อนให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข การจัดเกณฑ์สอบเช่นนี้ยิ่งทำให้เห็นภาพการแบ่งชนชั้นชัดขึ้นตั้งแต่ในระดับโรงเรียน

อีกทั้งเรื่องนี้ควรให้รอรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ และสอบถามความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เอาความเห็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ใช่เหตุผลที่ดี มาปรับเปลี่ยนในเรื่องสำคัญ!!

ล่าสุดนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งใหม่ ขอหารือผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ปกครอง ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ยอมรับว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดจากส่วนกลางหรือ สพฐ.เข้ามามีอำนาจในการบริหารจัดการมากเกินไป

ดังนั้น ต่อไปจะให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ให้มากขึ้น รวมถึงรอดูนโยบายจากรัฐบาล และนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ด้วย

รับนักเรียน เป็นเรื่องหนึ่งที่พบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นทุกปี และไม่ว่าจะเลือกแนวทางใด เชื่อว่าจะมีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงค้าน

เพราะคงไม่มีเรื่องใดที่ถูกใจทุกคน

    ดังนั้น หวังว่าผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องนี้ จะคิดถึงประโยชน์ของนักเรียน ผู้ปกครอง และคุณภาพการศึกษาเป็นสำคัญ!!