เศรษฐกิจ / ส่องทิศทางเศรษฐกิจครึ่งหลังปี ’62 ฟันธงเทรดวอร์พ่นพิษฉุดจีดีพี แต่หวังรัฐบาลใหม่พลิกฟื้น!!

เศรษฐกิจ

 

ส่องทิศทางเศรษฐกิจครึ่งหลังปี ’62

ฟันธงเทรดวอร์พ่นพิษฉุดจีดีพี

แต่หวังรัฐบาลใหม่พลิกฟื้น!!

 

รายงานออกมาแล้วสำหรับตัวเลขอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในไตรมาสแรกของปี 2562 เติบโต 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเติบโต 1.0% เทียบกับช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2561

ถือเป็นการเติบโตต่ำสุดรอบ 17 ไตรมาส นับจากไตรมาสที่ 1 ปี 2558

เหตุผลสำคัญ เพราะการส่งออกติดลบ 3.6% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการติดลบในรอบ 11 ไตรมาส นับจากไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกผลจากสงครามการค้า ส่วนการนำเข้าติดลบ 2.9%

ขณะที่การท่องเที่ยวชะลอตัวลง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 10.8 ล้านคน มีรายได้การท่องเที่ยวเติบโต 0.4%

อย่างไรก็ตาม แรงหนุนเศรษฐกิจมาจากในประเทศ การลงทุนรวมเติบโต 3.2% ซึ่งการลงทุนเอกชนเติบโต 4.4% แต่การลงทุนภาครัฐติดลบ 0.1%

ทั้งนี้ การบริโภคเอกชนเติบโตดี 4.6% อุปโภครัฐบาลเติบโต 3.3%

 

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกที่ชะลอตัว และตัวเลขไตรมาสแรกที่ออกมาเติบโตต่ำ ทำให้ สศช.ต้องปรับประมาณการจีดีพี ปี 2562 เติบโต 3.6% กรอบประมาณการ 3.3-3.8% จากเดิม 4.0% ด้านมูลค่าการส่งออกคาดเติบโตได้ 2.2% จากเดิม 4.1% การนำเข้าคาดเติบโต 2.6% จากเดิม 4.3% ด้านการลงทุนคาดเติบโต 4.5% จากเดิม 5.1% โดยการลงทุนเอกชนเติบโต 4.5% จากเดิม 4.7% ลงทุนภาครัฐเติบโต 4.5% จากเดิม 6.2%

ทั้งหมดนั้นอยู่ภายใต้ประมาณการการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น

แต่กระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จะแล้วเสร็จและประกาศใช้หลังเดือนตุลาคม หรือสิ้นปีงบประมาณ 2562 ประมาณ 2-4 เดือน

จึงอาจกระทบการเบิกจ่ายงบฯ ลงทุนของรัฐในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้ ด้านการบริโภคเอกชนทรงตัวที่ 4.2% เช่นเดียวกับอุปโภครัฐบาลทรงตัว 2.2% ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวปรับลดลงเป็น 40.5 ล้านคน จากเดิม 41.0 ล้านคน

และรายรับจากนักท่องเที่ยวลดลงมาที่ 2.21 ล้านล้านบาท จากเดิม 2.24 ล้านล้านบาท

 

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่า จีดีพีที่ออกมา 2.8% ต่ำกว่าที่ ธปท.ประเมินไว้ ผลจากการติดลบของการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจระยะต่อไปต้องติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสงครามทางการค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและการใช้จ่ายภาคเอกชน ทำให้ ธปท.อาจต้องทบทวนตัวเลขจีดีพีใหม่ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน วันที่ 26 มิถุนายน 2562 และประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีต่อไป ที่ปัจจุบันคาดจีดีพีเติบโต 3.8% การส่งออกเติบโต 3.0%

เช่นเดียวกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ยังคงประมาณการจีดีพีที่ 3.7% ในกรอบ 3.2-3.9% เพื่อรอประเมินปัจจัยความไม่แน่นอนทั้งจากภายนอกและภายในประเทศก่อน หากสถานการณ์ลากยาวออกไปจะส่งผลกระทบให้จีดีพีทั้งปี 2562

ขยายตัวโน้มเข้าสู่กรอบล่างของประมาณการที่ 3.2% ได้

 

ฟากธนาคารโลกประเมินว่า เศรษฐกิจไทยแม้จะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวแต่อุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภค การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะผลักดันเศรษฐกิจไทย

หากประเมินในแง่สถานการณ์การคลัง ไทยยังมีความสามารถที่จะใช้นโยบายการคลัง เพื่อเป็นแรงส่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จากหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ประมาณ 40% อย่างไรก็ดี จะมีการทบทวนจีดีพีทั้งปีนี้คาดที่ 3.8% ช่วงเดือนกรกฎาคมนี้

ด้านศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดจีดีพี 2562 มาอยู่ที่ 3.5% จากเดิม 3.8% โดยการส่งออกสินค้าเติบโตเพียง 0.5% จาก 3.9% ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ปรับลดจีดีพีปีนี้โตแค่ 3.0% จากเดิม 3.5% เพราะไตรมาสแรกชะลอมากกว่าคาด ทำให้แรงส่งต่อไปยังในช่วงที่เหลือมีข้อจำกัด และมองว่าสถานการณ์ส่งออกไทยยังคงอ่อนแอ ทั้งปีโตได้เพียง 0.5% เท่านั้น

ซึ่งช่วงที่เหลือของปีนี้ สศช.ยังมีมุมมองว่าเศรษฐกิจในแต่ละไตรมาสจะปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาสที่ 3 ปี 2562 น่าจะเป็นไตรมาสที่เติบโตสูงที่สุดของปี แต่ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่อาจจะมีมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติม ล้วนเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

ซึ่งประเด็นนี้ทุกภาคส่วนล้วนเห็นตรงกัน

 

สําหรับปัจจัยในประเทศที่สามารถควบคุมได้ ที่ชัดเจนขึ้น คงเรื่องหลังจากการเลือกตั้งผ่านมาสถานการณ์การเมืองนิ่ง หากยิ่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลเร็วเท่าไรจะทำให้ผู้นำรัฐบาล มีคณะรัฐมนตรี ออกมาเดินหน้าขับเคลื่อนบริหารประเทศ สามารถผลักดันงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 โดยเร็ว เดินหน้าการเจรจาการค้ากับประเทศต่างๆ ที่ค้างอยู่ และสามารถเตรียมการรับมือผลกระทบสงครามการค้าต่อไทยได้

รวมทั้งเข้ามาสานต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะยิ่งช่วยหนุนเอกชนลงทุน หมุนเงินไปสู่เศรษฐกิจและการบริโภค หากจัดตั้งล่าช้าออกไปอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว การอนุมัติโครงการลงทุนใหม่ๆ เช่นกัน

ดังนั้น หวังว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะพิจารณาตกลงกันได้โดยไว เพื่อจะได้รัฐบาลเข้ามาทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นบรรเทาผลกระทบ และสร้างการเติบโตต่อเนื่องระยะยาว เพราะหากประเทศขาดผู้นำก็เปรียบเหมือนเรือที่ขาดกัปตัน ลอยลำท่ามกลางคลื่นลมพายุรุนแรงในทะเลที่มีแต่ผันผวน

   และหวังไว้ว่าจะเห็นภาพเศรษฐกิจไทยมีแรงหนุนจากทั้งรัฐและภาคเอกชน ทำให้ช่วงที่เหลือของปีปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ตามที่ทุกฝ่ายหมายมั่นไว้!!!