นี่หรือคุณภาพชีวิตของเรา ?

ก้าวที่ไม่ทันกาล

ความสุขเป้าหมายปกติในชีวิตของมนุษย์

และความสมบูรณ์ของความสุขคือชีวิตที่ไม่มีแรงกดทับ เสียดทาน

สภาวะชีวิตเช่นนี้จะเกิดขั้นได้ คนคนนั้นจะต้องสามารถนำชีวิตให้ลื่นไหลไปกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวทั้งหมด ณ ปัจจุบันขณะได้

ชีวิตของปุถุชน สภาวะแบบนี้เกิดขึ้นได้ยาก เพราะหมายถึงต้องเป็นชีวิตที่ยอมรับและมีความพร้อมตลอดเวลาที่จะลื่นไหลไปอย่างรู้เท่าทัน และมีศักยภาพที่ทำให้จัดการชีวิตได้ราบรื่น ไหลตามความเป็นไปของสรรพสิ่งรอบข้าง ไม่มีอะไรเป็นเครื่องหน่วงรั้ง เหนี่ยวฝืน

แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ความพยายามที่มนุษย์สร้างสรรค์เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ดำรงชีวิตขึ้นมา ล้วนแล้วแต่เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชีวิตไหลลื่นไปกับความแปรเปลี่ยนได้คล่องตัว

บางอย่างเพื่อนเสริมศักยภาพของมนุษย์ แต่บางอย่างเพื่อนหยุดยั้ง หรือชะลอความเปลี่ยนแปลง

ซึ่งล้วนเป็นวิธีการลดแรงเสียดทาน

ประเทศ หรือสังคมที่พัฒนาแล้ว เครื่องไม้เครื่องมือ สิ่งอำนวยความสะดวกจะเท่าทัน เหมาะสม สอดรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างกลมกลืน

ส่วนประเทศที่พัฒนาไม่ทัน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะพัฒนาไม่ทัน หรือกระทั่งบางครั้งเป็นตัวหน่วงรั้ง ฝืนกระแสให้เกิดแรงเสียดทานก่อความเดือดร้อนเสียเอง

โลกยุคนี้เคลื่อนเข้าสู่สังคมออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ มนุษย์ติดต่อสื่อสารสัมพันธ์กันด้วยเครื่องมือออนไลน์

ไม่ว่าจะอยู่ไหนก็สามารถทำกิจกรรมร่วมกัน หรือตอบสนองกันได้ในหลายเรื่องโดยไม่ต้องมาพบปะเจอะเจอกัน

เหมือนกับว่า แสดงความระลึกถึง ห่วงใย หรือแบ่งปัน เอื้อเฟื้อกัน ไม่ขึ้นอยู่กับการไปมาหาสู่เหมือนที่เคยเป็นแล้ว สามารถจัดการผ่านเครื่องมือสื่อสารออนไลน์ และการขนส่งที่ทันสมัยได้โดยง่าย

อย่างไรก็ตาม นั่นหมายความว่า ระบบโดยเฉพาะที่เป็นทางการจำเป็นต้องยอมรับการสื่อสารดังกล่าวอย่างเท่าทันความเปลี่ยนแปลง

การติดต่อราชการทุกอย่างต้องหาทางให้รองรับโลกยุคออนไลน์ให้เป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งจะทำให้สังคมที่หนาแน่นขึ้นเกิดความคล่องตัวได้ตามความเปลี่ยนแปลง

ประเทศไทยเรา กรุงเทพมหานครเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของคำตอบในคำถามว่า “ปรับสภาวะสอดคล้องกับความเป็นจริงของพัฒนาการหรือไม่”

สังคมที่การสื่อสารและระบบขนส่งที่อาศัยออนไลน์พัฒนาไปมากมาย จนสามารถทดแทนการเดินทางได้แล้ว

มนุษย์สามารถทำงานหลายอย่างที่ไหนก็ได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นที่สำนักงาน

กรุงเทพมหานครพัฒนาได้เท่าทันหรือไม่

คำตอบที่ชัดเจนที่สุดคือ สภาพการจราจร

ผู้คนยังคงถูกบังคับให้ต้องเดินทาง

ถนนหนทางอัดแน่นด้วยรถรา เวลาที่หายไปบนท้องถนนมากกว่าเวลาที่ใช้ในการทำงาน

คนที่ใช้รถสาธารณะยิ่งเลวร้าย การลงทุนเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสาร และการขนส่งที่ทันสมัยไปไกลเกินกว่า “รถเมล์” นานมากแล้ว แต่ชีวิตของคนกรุงเทพมหานครอีกจำนวนมากต้องเดินทางโดย “รถเมล์” ที่ไม่มีใครอยากใส่ใจการพัฒนาให้ดีขึ้น

เมื่อยังต้องใช้ แต่ต้องหยุดการพัฒนา ความอึดอัดคับข้องจึงเกิดขึ้น

ในช่วงที่รถเมล์ขึ้นราคา “นิด้าโพล” ทำสำรวจว่า ประชาชนต้องการให้รถเมล์ของรัฐปรับปรุงอะไรบ้าง ร้อยละ 54.87 ชี้ไปที่สภาพภายในรถ เช่น ความสะอาด ความเย็นของแอร์ เบาะ หน้าต่าง ราวจับ ร้อยละ 46.02 เรียกหามารยาทของพนักงานทั้งการขับรถและการเก็บเงิน ร้อยละ 45.92 ขอความพอเพียงของรถ เวลารอรถไม่นาน ร้อยละ 42.45 อยากได้รถใหม่ ร้อยละ 27.45 อยากให้ตรงเวลา ร้อยละ 25.75 ต้องการให้จอดรับ-ส่งให้ตรงป้ายรถเมล์

เป็นความต้องการที่พื้นฐานมาก ไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไรเลย

เพียงแต่เป็นเรื่องที่รับรู้กันว่า ไม่มีทางที่จะได้ตามต้องการ

เพราะในความเป็นจริงคือ “รถเมล์” ไม่อยู่ในแผนที่จะต้องลงทุนเพื่อพัฒนาแล้ว เนื่องจากล้าหลังกว่าพัฒนาการของยุคสมัย

แต่ที่ยังก้าวไม่พ้น และกลายเป็นความเหลือทนของประชาชน ก็เพราะการบริหารจัดการที่ไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง