เมื่อคำสั่ง ของ ผบ.ตร.ที่คืนอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายให้ ผบช. เป็นการคืนความสุขวงการสีกากี

คำสั่ง ผบ.ตร.ที่ 297/2562 คืนอำนาจโยกย้ายให้ ผบช. คืนความสุขวงการสีกากี

หลังจากการเลือกตั้งผ่านไปไม่นาน ก็ดูเหมือนว่าบ้านเมืองจะกลับคืนสู่สภาพเดิมไม่แตกต่างจากห้าปีที่แล้ว

ล่าสุดวงการสีกากีกลับกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หรือจะเรียกอีกนัยหนึ่งว่าเป็นการคืนความสุขให้กับข้าราชการตำรวจ

เมื่อ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ออกหนังสือคำสั่งที่ 297/2562 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2562

“เรื่องการมอบหมายอำนาจการสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ”

ที่บางคนกล่าวว่า คำสั่งนี้มีจุดประสงค์เพื่อต้องการคืนอำนาจปกครองในหมู่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ออกจากการกุมบังเหียนของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

“เพื่อให้การบริหารงานบุคคลในส่วนของการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ อาศัยตามอำนาจในมาตรา 11 และมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2559 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 การกำหนดตำแหน่งของข้าราชการตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวน และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 7/2560 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่องการปรับปรุงระบบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ จึงมอบหมายการสั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ทั้งกรณีเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นหรือสับเปลี่ยนหมุนเวียน”

ข้อความส่วนหนึ่งในหนังสือคำสั่งที่ประกาศให้รู้ทั่วกันในวงการสีกากีโดย “บิ๊กแป๊ะ” ผบ.ตร. ที่ต้องการคืนอำนาจให้กับหัวหน้าหน่วยตำรวจได้คัดสรรลูกน้อง ในการเลือกตำแหน่งหน้าที่อย่างเหมาะสมตามศักยภาพของแต่ละคน

ที่น่าจับตามองคงเป็นการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งสารวัตรพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ และผู้บังคับหมู่ในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อาทิ สำนักงานกำลังพล สำนักงานยุทธศาสตร์ รวมไปถึงจเรตำรวจ ให้จเรตำรวจแห่งชาติหรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้สั่งแต่งตั้ง

และในข้อที่ 2 การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งในรองผู้กำกับไปจนถึงผู้บังคับหมู่ ในกองบัญชาการที่มิได้สังกัดในสำนักตำรวจแห่งชาติ ให้ผู้บัญชาการหรือตำแหน่งเทียบเท่าที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยเป็นผู้แต่งตั้ง โดยเมื่อจัดทำบัญชีเสร็จสิ้นแล้วจึงส่งให้ทางสำนักงานกำลังพล (กองทะเบียนพล) เป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งของข้าราชการตำรวจที่จะแต่งตั้งให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง

แต่ทั้งนี้การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในระดับผู้กำกับการยังคงเป็นอำนาจแต่งตั้งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

หากจะกล่าวกันต่อไปถึงที่มาของคำสั่งดังกล่าวที่ออกมา คงต้องย้อนกลับไปในยุคที่ตำรวจอยู่ในอำนาจของ คสช. โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ “บิ๊กป้อม” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานควบคุมดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เทียบเคียงเวลาดังกล่าวก็มีกระแสข่าวหนาหูในวงการข้าราชการตำรวจว่ามีการซื้อขายตำแหน่งตำรวจกันอย่างไม่ขาดสาย แต่ก็น้ำท่วมปากหาคนพูดถึงข้อเท็จจริงไม่ได้

มีเพียง “บิ๊กตำรวจ” บางรายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ออกมาปฏิเสธแบบขอไปที

จนเรื่องร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกโรงกางหนังสือใช้อำนาจมาตรา 44 ดับไฟข่าวลือที่โหมกระหน่ำ

จากวันนั้น 20 กุมภาพันธ์ 2560 คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 7/2560 เรื่องการปรับปรุงระบบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ที่ถูกนำมาใช้ในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายสารวัตร ถึงรองผู้บังคับการ วาระประจำปี 2559

กล่าวคือ อำนาจการแต่งตั้ง ออกคำสั่ง ทุกหน่วยอยู่ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่ต้องผ่านการพิจารณาคัดเลือกหรือกลั่นกรองโดยคณะกรรมการหรือบอร์ดระดับกองบังคับการ (บก.) หรือระดับจังหวัด โดยมีผู้บังคับการหน่วยเป็นหัวโต๊ะ และรองผู้บังคับการทุกคนเป็นกรรมการ

เมื่อผ่านแล้วต้องกรองอีกชั้นโดยกองบัญชาการ ที่มีผู้บัญชาการหน่วยเป็นประธาน และมีรองผู้บัญชาการเป็นกรรมการ

จากนั้นต้องขึ้นบอร์ดสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นด่านสุดท้ายที่กลั่นกรองโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่เป็นประธาน และคณะรอง ผบ.ตร. เป็นกรรมการ โดยมีเหตุผลว่าที่ต้องทำเช่นนี้ ก็เพื่อลดการซื้อขายตำแหน่งในแวดวงข้าราชการตำรวจ

แต่ทว่าคำสั่งเมื่อครั้งนั้นทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกาสีกากีว่าเบื้องหลังอำนาจที่แท้จริงภายใต้กระดาษแผ่นนี้คือบิ๊กตำรวจคนหนึ่ง แทนที่จะเป็น ผบ.ตร.อย่างที่กล่าวอ้างสรรพคุณไว้

จนคนในแวดวงบางคนตั้งชื่อให้อดีตนายตำรวจคนนั้นว่า “ผบ.ตร.น้อย” ซึ่งเล่าลือกันว่าเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดของ “บิ๊กป้อม” ทำให้เกิดข้อครหาในคำสั่งดังกล่าวว่าจะช่วยลดการซื้อขายตำแหน่งได้จริงหรือแค่เป็นการปูทางสู่อำนาจที่เพิ่มขึ้นของ คสช.

ศูนย์อำนาจรวมไว้ที่ ผบ.ตร.แต่เพียงผู้เดียวจริงหรือ?

ว่ากันว่า ทุกโผทุกคำสั่งต้องส่งไปให้ “ผบ.ตร.น้อย” ตรวจสอบและเป็นคนชี้ชะตาชีวิตตำรวจแทบทุกนาย ใครพวกใคร ใครพรรคเดียวกันได้สิทธิ์ประจำโรงพักเกรดเอตามหัวเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นสิทธิ์ขาดของ “ผบ.ตร.น้อย”

จนบางครั้งทำให้การแต่งตั้งเกิดความล่าช้า เพราะมีการสับเปลี่ยนตำแหน่งไปมาจนกว่าจะมีใครสักคนพอใจ กลายเป็นว่าบางคนทำดีแต่ไม่ถูกเห็น ข้าราชการบางคนเหนื่อยหน่ายจนลาออกไปก็มี

อย่างไรก็ตาม จากวันนั้นผ่านมาร่วมปีจนวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา คำสั่งใหม่โดย “บิ๊กแป๊ะ” เมื่อเทียบกันแล้วก่อนหน้านี้ ชัดเจนว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ และคืนอำนาจให้ผู้บัญชาการหน่วย

ทำให้เสียงสะท้อนของข้าราชการตำรวจในระดับชั้นสัญญาบัตรบางคนก็ดูเหมือนจะเห็นด้วยกับคำสั่ง ว่าผู้บังคับบัญชาที่ใกล้ชิดกับการทำงานของลูกน้องในพื้นที่ ก็จะรู้ว่างานใดเหมาะสมกับบุคคลใด

นอกจากนี้ยังเป็นการลดจุดการพิจารณาการแต่งตั้งให้แคบลง ผลดีที่ตามมาคือเจ้าหน้าที่จะมีความกระตือรือร้นในการทำงานในหน่วยงานของตัวเองมากยิ่งขึ้น

“ควรมองย้อนกลับไปในภาพรวมเดิม ที่การแต่งตั้งแบบกระจายอำนาจในระดับผู้บัญชาการนั้นก่อนหน้านี้ก็มีมาก่อนแล้ว กระทั่งมีการแก้ไขเรื่อยมาจนถึงขั้นรวมอำนาจไว้ที่ ผบ.ตร. ยอมรับว่าเห็นด้วยให้ยึดตามหนังสือคำสั่งล่าสุดให้คืนอำนาจกับกองบัญชาการหน่วยเหมือนเดิม เพราะจากคำสั่งแต่งตั้งที่ผ่านๆ มาพอมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ ผบ.ตร. ทำให้ไม่รู้ว่าบุคคลทำงานเป็นอย่างไร แต่ถ้าผู้บัญชาการหน่วยแต่งตั้งจะทราบดีว่าลูกน้องเป็นอย่างไร ซึ่งจะแก้ไขได้ตรงจุดมากกว่า”

“แต่ถ้าถามถึงในระดับผู้กำกับที่ยังถูกคุมอำนาจในความรับผิดชอบของ ผบ.ตร.นั้นดีหรือไม่? ผมอยากขอให้เป็น 2 มุมมอง 1.ในมุมมองของผู้ถูกแต่งตั้งก็คงมีความเห็นเดียวกันว่า หากปล่อยให้ในระดับกองบัญชาการหน่วยทำก็จะดีกว่าเพราะจะทราบว่าใครคนไหนชำนาญพื้นที่ไหน หรือทำงานเป็นอย่างไร 2.หากมองในมุมมองของผู้ใหญ่ที่ควบคุมดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ผบ.ตร.มองว่า ผกก.เป็นตำแหน่งสำคัญในระดับต้นๆ เพราะถือเป็นจุดแตกหักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะเป็นจุดบริการประชาชนด่านแรก จึงต้องอยู่ในความควบคุมของระดับ ผบ.ตร. แต่ในการแต่งตั้งก็ควรผ่านการกลั่นกรองจากบอร์ดของกองบัญชาการก่อนจะเสนอไปยัง ผบ.ตร. ในการพิจารณาการแต่งตั้ง” เสียงสะท้อนจากผู้กำกับนายหนึ่ง

วาระการแต่งตั้งสีกากีอีกครั้งในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ คงต้องจับตามองกันว่าหนังสือคำสั่งดังกล่าวจะช่วยลดจุดบอดการพิจารณาแต่งตั้งสีกากีให้เป็นไปอย่างขาวสะอาดได้อย่างไร

หรือจะเป็นเพียงกระดาษที่ช่วยลบข้อครหาเรื่องสิทธิ์ชี้ขาดวงการสีกากีที่เขาเล่าว่ามีนอกมีในภายใต้ยุคที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเรืองอำนาจ

และรอวันที่จะถูกแก้ไขอีกครั้งด้วยกฎเกณฑ์ของ คสช.