ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 พฤษภาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | วิกฤติศตวรรษที่ 21 |
เผยแพร่ |
วิกฤติประชาธิปไตย (56)
วิกฤติประชาธิปไตยเป็นวิกฤติทางอุดมการณ์มี 3 ระดับ
วิกฤติประชาธิปไตยถือเป็นวิกฤติทางอุดมการณ์ หมายความว่าได้เกิดวิกฤติทางโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ-การเมือง-การทหารมากพอควรแล้วจึงลามมาถึงอุดมการณ์
วิกฤติประชาธิปไตยได้สะท้อนวิกฤติทั่วทั้งสังคม อยู่ในขั้นหัวเลี้ยวหัวต่อ ว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ หรือเสื่อมถอยสู่ภาวะล่มสลาย
วิกฤติประชาธิปไตยมีสามระดับ
ระดับแรก เป็นเปลือกนอก กระทบต่อความเชื่อมั่นในค่านิยมพื้นฐานของระบอบ คือ
ก) สิทธิเสรีภาพ สิทธิในการแสดงออกของบุคคลและกลุ่มบุคคลและเสรีภาพของสื่อมวลชน เป็นต้น รวมถึงสิทธิประชาธิปไตยอื่น เช่น เสรีภาพทางศาสนา เสรีภาพในชีวิตและทรัพย์สิน
ข) ความก้าวหน้า เชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นความก้าวหน้าในตัวมันเอง และสิทธิประชาธิปไตยส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสู่ความก้าวหน้าและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอยู่เสมอ
ค) หลักนิติธรรมหรือการปกครองของกฎหมาย บุคคลมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และมีการแบ่งอำนาจรัฐเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดรวบอำนาจทั้งหมดไว้
ง) ศาสนาที่เป็นแบบโลกวิสัยเพื่อประโยชน์ทางโลก เกื้อกูลต่อจิตใจผู้ประกอบการ เป็นเรื่องของส่วนบุคคลไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองไม่มามีอำนาจเหนือ หรือเคียงคู่กับรัฐ
ตามหลักเกณฑ์นี้ เห็นได้ว่าประเทศกำลังพัฒนา หรือแม้กระทั่งประเทศตลาดเกิดใหม่ในปัจจุบัน ย่อมเกิดปัญหาประชาธิปไตยได้ง่าย
เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีโครงสร้างอำนาจในแบบที่ว่า ภาครัฐมีอำนาจสูง มีการรวมศูนย์อำนาจ ในรูปแบบ เช่น ระบอบราชาธิปไตย ระบอบฮ่องเต้ ระบอบกาหลิบไปจนถึงระบอบเจ้าผู้ครองนครและชนเผ่า
ส่วนภาคประชาชนหรือประชาสังคมยังไม่เข้มแข็ง ประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรอยู่อย่างกระจัดกระจาย และต้องขึ้นต่อมูลนาย มีส่วนในการบริหารปกครองประเทศน้อย เรื่องการปกครองประเทศกลายเป็นสิทธิเฉพาะชนชั้นสูง
นอกจากนี้ ในโลกอิสลามไม่ได้แยกอำนาจศาสนาออกจากอำนาจรัฐ มีการใช้กฎหมายอิสลามในการปกครองและการค้า เป็นต้น ที่มีหลายประเทศหันไปใช้กฎหมายอิสลามมากขึ้น
ส่วนประเทศตะวันตกมีโอกาสดีกว่า เนื่องจากเหตุปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การค้นพบและยึดทวีปอเมริกาอันอุดมสมบูรณ์เป็นอาณานิคม และการยึดครองทวีปต่างๆ เป็นอาณานิคมทั่วโลก การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ การปฏิวัติการพิมพ์และการสื่อสาร การปฏิรูปศาสนาการศึกษา การปฏิวัติอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและพาณิชยกรรม เกิดการเป็นเมือง การเปลี่ยนสถานะทางสังคม การขยายตัวของชนชั้นกลางในเมือง
จนกระทั่งก่อการปฏิวัติเสรีประชาธิปไตยขึ้น
ประเทศตะวันตกอาศัยความเหนือกว่าทางโอกาสและแสนยานุภาพของเรือปืน เข้าปกครองครอบงำแทรกแซงประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า
ทำให้ประชาธิปไตยในประเทศเหล่านี้ประสบปัญหา อุปสรรคมากขึ้นอีกโดยทั่วไป
วิกฤติประชาธิปไตยระดับที่สองเป็นเนื้อใน
กระทบต่อความเชื่อมั่นในระบอบปกครองว่า ไม่ได้เป็นไปเพื่อประชาชนคนส่วนข้างมากที่สุดของประเทศ
หากเป็นไปเพื่อคนกลุ่มน้อยเพียงหยิบมือเดียว โดยอาศัยอำนาจบาตรใหญ่ สร้างรัฐตำรวจ การคุกคามทางทหาร และบิดเบนกระบวนการยุติธรรม เพื่อรักษาอำนาจของตนไว้ ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมจริงจัง เกิดวิกฤติการนำขึ้น
ประชาชนไม่ไว้วางใจผู้มีอำนาจ
ผู้มีอำนาจก็ไม่ไว้วางใจประชาชน
ในสหรัฐเกิดวิกฤติการนำปรากฏชัดตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีคาร์เตอร์ (ระหว่าง 1977-1981) เมื่อวิกฤติประชาธิปไตยหยั่งลึกถึงขั้นนี้ ผู้คนจำนวนมากเกิดความรู้สึกว่า ระบบยากที่จะแก้ไขหรือปฏิรูปด้วยตนเองได้
เกิดความลังเลว่า อุดมการณ์ประชาธิปไตยจะมีค่าพอจะเสียสละชีวิตให้ได้หรือไม่
วิกฤติประชาธิปไตยระดับที่สามเป็นแก่นแกน กระทบต่อลัทธิยุโรปหรือตะวันตกเป็นศูนย์กลางอยู่ลึกสุด ลัทธินี้เป็นตัวหล่อเลี้ยงแนวคิดเสรีประชาธิปไตยทั้งหมด เมื่อเกิดวิกฤติถึงขั้นนี้แล้วก็ยากจะแก้ไข มีเสื่อมถอยเป็นเบื้องหน้า
ลัทธิตะวันตกเป็นศูนย์กลาง สร้างขึ้นโดยนักคิด นักวิชาการ นักการเมือง นักเคลื่อนไหว ทั้งที่สนับสนุนและคัดค้านการครองความเป็นใหญ่ของตะวันตก
ฝ่ายสนับสนุนลัทธิตะวันตกเป็นศูนย์กลางโดยทั่วไปมีแนวคิดแบบเสรีนิยมไปจนถึงแบบชาตินิยมเชิงเชื้อชาตินิยม
กลุ่มแนวคิดที่นำเสนอได้แก่
ก) “ความพิเศษของตะวันตก” เกิดจากการที่ยุโรปหรือตะวันตกมีขนาดพื้นที่และประชากรไม่ใหญ่ แต่มีความเหนือกว่าทางวัฒนธรรมและอารยธรรมจนสามารถขึ้นมาเป็นผู้ปกครองโลกได้
ข) “ความอัศจรรย์ของตะวันตก” การเจริญทางเศรษฐกิจการทหารอย่างรวดเร็วของตะวันตก ในช่วงเวลาไม่กี่ร้อยปี
ค) “ภาระของคนขาว” (เสนอ 1899) กล่าวว่า คนผิวขาวชาวตะวันตกที่เจริญแล้ว จำต้องรับภาระหน้าที่ในการช่วยเหลือและนำพาผู้คนที่ด้อยพัฒนาทั่วโลกสู่ความเจริญ ซึ่งรวมทั้งการยึดครองเป็นอาณานิคม ลัทธิตะวันตกเป็นศูนย์กลางแผ่ครอบคลุมไปทั่วทุกปริมณฑลทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร การศึกษาสาธารณสุข ไปจนถึงด้านวัฒนธรรม ศิลปะวรรณกรรมและค่านิยมแฟชั่นความบันเทิง เช่น มาตรฐานทางความงาม (ผิวขาวถือว่างาม) อุตสาหกรรมบันเทิง เป็นต้น
ฝ่ายที่คัดค้าน เห็นว่าลัทธิตะวันตกเป็นศูนย์กลาง เป็นเพียงอคติเพื่อสร้างและรักษาการครองความเป็นใหญ่ ลัทธิอาณานิคมทั้งเก่าและใหม่ และจักรวรรรดินิยมของตะวันตก
ผู้ที่มีแนวคิดแบบนี้จำนวนมากได้รับอิทธิพลจากลัทธิมาร์กซ์ อีกส่วนหนึ่งต้องการสร้างโลกที่ได้สมดุล
นักคิด นักวิชาการตะวันตกที่คัดค้านลัทธิครองความเป็นใหญ่ของตะวันตกที่จะกล่าวถึงมี 2 คน คือ อันโตนิโอ กรัมชี (1891-1937) เป็นปัญญาชนนักปฏิวัติ ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถูกรัฐบาลฟาสซิสต์ของมุสโสลินีจับกุม ตายขณะที่รับอนุญาตให้ออกมารักษาตัว
กรัมชีเขียนบทความชี้นำการเคลื่อนไหวจำนวนมาก งานเอกได้แก่ “สมุดบันทึกจากคุก” (เขียนระหว่างปี 1929-1935 เผยแพร่ครั้งแรกเป็นฉบับย่อใช้ชื่อว่า “จดหมายจากคุก” ปี 1947 ฉบับเต็มเผยแพร่ปี 1975)
มีเนื้อหาสำคัญว่า รัฐบาล นายทุนไม่ได้ใช้เพียงกลไกรัฐ ได้แก่ ทหาร ตำรวจ อัยการ ศาล รวมทั้งหน่วยงานรัฐอื่นที่ทำงานด้านการเก็บภาษี และ สวัสดิการสังคมในการรักษาระบบทุนนิยมไว้
ที่สำคัญยังใช้การครองความเป็นใหญ่ทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความยินยอมในหมู่พลเมือง
ในประเทศที่ทุนนิยมมีการพัฒนาไปพอควรอย่างเช่นอิตาลีขณะนั้น แนวทางการต่อสู้หลักต่อเสรีประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนของชนชั้นกรรมาชีพ ควรจะเน้นไปในด้านการต่อสู้ทางวัฒนธรรม เป็น “สงครามแห่งสถานะ”
นั่นคือการทำลายลัทธิการครองความเป็นใหญ่ของชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นการต่อสู้ที่ยากกว่า “สงครามใช้กำลังอาวุธ”
เพราะถึงหากชนชั้นกรรมาชีพจะชนะสงครามใช้กำลังอาวุธ ได้อำนาจรัฐสร้างกลไกรัฐของตน ชนชั้นนายทุนยังสามารถใช้ความเหนือกว่าทางวัฒนธรรม ฟื้นฟูฐานะของตนกลับขึ้นมามีบทบาทได้
อนึ่ง แนวคิดของกรัมชีที่แบ่งอำนาจรัฐออกเป็น 2 ดังกล่าว ต่อมานักคิด นักวิชาการของชนชั้นนำสหรัฐได้สร้างทฤษฎี 2 อำนาจของตนขึ้น ในราวปี 1990 เรียกว่า “อำนาจแข็ง” และ “อำนาจอ่อน” เพื่อใช้ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
อำนาจแข็งเป็นอำนาจในการบังคับบัญชา การกดบีบและการคุกคาม แสดงออกพื้นฐานคือ การแทรกแซงทางทหาร การคุกคามทางการทูต และการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ
ส่วนอำนาจอ่อนเป็นอำนาจในการจูงใจสร้างความร่วมมือให้ผู้นำและชาติอื่นคล้อยตาม โดยอาศัยวัฒนธรรม อุดมการณ์และสถาบันต่างๆ เช่น กลุ่มเอ็นจีโอ
ทั้งนี้ ให้ความสำคัญสูงแก่อำนาจอ่อน ที่ให้ผลอย่างลึกซึ้ง
ในที่สุดได้ข้อสรุปว่า ชนชั้นนำสหรัฐควรใช้ “อำนาจฉลาด” คือประสานอำนาจแข็งและอำนาจอ่อนเข้าด้วยกัน
แต่ในทางปฏิบัติ ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงใช้อำนาจแข็ง หนักหน่วงต่อเนื่องจากประธานาธิบดีคนก่อน
คนที่สองคือ ฌากส์ แดร์ริดา (1930-2004) ชาวยิวเชื้อสายแอลจีเลียสัญชาติฝรั่งเศสเสนอ “ทฤษฎีการรื้อถอน” (เรียกว่าคตินิยมเปลี่ยนแนว หรือทฤษฎีรื้อสร้าง ก็มี)
เป็นแนวคิดอยู่ในกลุ่มทฤษฎีหลังสมัยใหม่
ทฤษฎีการรื้อถอน เป็นท่าทีในการต้องการเปลี่ยนแนวรูปทรงไม่ว่าจะเป็นทางสถาปัตยกรรม หรือทางความคิด
เช่น ทัศนะทางสังคม และการสื่อสาร เช่น ทางภาษาและวรรณกรรม ไปจนถึงวิธีเข้าถึงและสร้างความจริงจากเดิมเป็นแนวใหม่ ที่จำต้องรื้อถอนก็เพราะว่า คนเราโดยเฉพาะชาวตะวันตกถูกบังคับให้ทำซ้ำอดีตที่มีความผิดพลาดอยู่มาก
มีนักวิชาการตะวันออกบางคนตีความว่า การรื้อคือรื้อแนวคิดค่านิยมตะวันตก การถือตะวันตกเป็นศูนย์กลาง การสร้างคือสร้างแนวคิดค่านิยมใหม่ ที่อยู่ในระดับสูงกว่าเดิม
สำหรับการเคลื่อนไหวทางแนวคิดของนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวและนักการเมืองฝ่ายตะวันออก มีอยู่จำนวนมากด้วยกันจนสร้างลัทธิหลังอาณานิคมขึ้น
ที่จะกล่าวถึงได้แก่
ก)ความพยายามของชวาหระลาล เนรูห์ (1889-1964) ผู้กู้เอกราชและเป็น “สถาปนิกแห่งอินเดียยุคใหม่”
เนรูห์ต้องการมองประวัติศาสตร์โลกอย่างที่เป็นจริงทั้งโลก ไม่ใช่มียุโรปเป็นศูนย์กลางอย่างเดียว และการสร้างประวัติศาสตร์อินเดียที่เป็นอิสระขึ้น
เขาเผยแพร่หนังสือชื่อ “ชำเลืองประวัติศาสตร์” (1942) เป็นการรวมจดหมายที่เขียนถึงลูกสาวของเขาซึ่งต่อมาคือนางอินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีหลายสมัยของอินเดีย
ในบันทึกนั้น มีบางข้อความว่า “การอ่านประวัติศาสตร์นั้นถือเป็นสิ่งที่ดี แต่สำคัญกว่านั้นก็คือการได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประวัติศาสตร์
และประวัติศาสตร์ที่น่ายกย่องที่สุดคือประวัติศาสตร์การสร้างชาติของเรา
ฉันไม่ชอบให้คนหนุ่มสาวศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะเธอจะไม่มีวันเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างถ่องแท้ หากเธอไม่เข้าใจประวัติศาสตร์โลก”
และว่า “เป็นความโง่เขลาที่จะไม่ยอมรับความยิ่งใหญ่ของยุโรป แต่ก็เป็นความโง่เขลาเช่นเดียวกันที่จะลืมความยิ่งใหญ่ของเอเชีย”
ข)แฟรนซ์ แฟนอน (1925-1961) นักคิด นักจิตแพทย์ เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางผิวดำที่เกาะทะเลแคริบเบียน ที่เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
ต่อมาอพยพไปอยู่ที่แอลจีเรีย ร่วมการต่อสู้เพื่อเอกราชที่นั่น
เขาเขียนหนังสือสำคัญ 2 เล่ม
เล่มแรกได้แก่ “ผิวดำ หน้ากากขาว” (1952) เปิดเผยให้เห็นมูลรากของการเหยียดคนผิวดำ ในวัฒนธรรมแห่งการกดขี่ และลัทธิอาณานิคมตะวันตก งานเขียนของเขาได้เปิดเผยให้เห็นวิกฤติของสิทธิมนุษยชนตะวันตก
หนังสือสำคัญเล่มที่สองของแฟนอนได้แก่ “ผู้ทุกข์ระทมของโลก” (1961)
ในนี้เขากล่าวถึงความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความทุกข์ระทมของโลก
ในระบบการครองความเป็นใหญ่และลัทธิอาณานิคม การต่อสู้เพื่อให้หลุดจากความทุกข์นี้ โดยเป็นผู้ทรยศทางเชื้อชาติของคนผิวขาว
ไปจนถึงการเดินหน้าสู่ความเป็นมนุษย์หลังยุคอาณานิคม
ค)เอ็ดเวิร์ด ซาอิด (1935-2003) ชาวปาเลสไตน์ ครอบครัวเป็นนักธุรกิจมีฐานะดี รับการศึกษาแบบตะวันตก
ต่อมาได้โอนสัญชาติเป็นชาวอเมริกัน เป็นอาจารย์สอนวิชาวรรณคดี ต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระของชาวปาเลสไตน์จากการยึดครองของอิสราเอล
เขียนหนังสือสำคัญคือ “ลัทธิตะวันออก” (1978) ชี้ว่า สิ่งที่เรียกว่า “ตะวันออก” ซึ่งรวมพื้นที่ทั้งในเอเชีย แอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางนั้น เป็นเพียงเรื่องนำเสนอที่ตะวันตกได้อุปถัมภ์สร้างขึ้นมา เพื่อแสดงความเหนือกว่าของวัฒนธรรมตะวันตก
ต้องรื้อถอนโครงสร้างและกรอบความคิดนี้ออกจึงจะเข้าใจตะวันออก และวัฒนธรรมหลังยุคอาณานิคมได้
ง)คนท้ายสุดได้แก่ คยาตรี จักราวอรติ สปิวัก (เกิด 1942) นักสตรีนิยมชาวอินเดีย เขียนความเรียงชื่อ “ผู้ถูกกดขี่กีดกันจะเปิดปากพูดได้หรือไม่” (1985) ผู้ถูกกดขี่กีดกันเป็นผู้ห่างไกลจากศูนย์อำนาจ ได้แก่ ผู้ตกอยู่ในอาณานิคมและสตรีทั่วไป เป็นต้น กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง เป็นผู้ไม่ออกคำสั่ง หากเป็นผู้รับคำสั่ง
ดังนั้น เมื่อคนเหล่านี้เปิดปากพูด ก็จะพูดในแบบที่ผู้คนชนชั้นสูงไม่อาจเข้าใจได้ทันที และแก้ไขด้วยการเข้ามาช่วยเหลือในรูปแบบของการช่วยเหลืออุปถัมภ์ที่มีผลน้อย
เห็นได้ว่าวิกฤติประชาธิปไตยเกิดจากการกัดกร่อนที่ศูนย์กลางอำนาจโลกหลายด้านเป็นเวลานาน
ฉบับต่อไป จะกล่าวถึงวิกฤติประชาธิปไตยในศูนย์กลาง และเหตุปัจจัยภายในที่ก่อให้เกิดวิกฤตินี้