ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 พฤษภาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
ผู้เขียน | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
เผยแพร่ |
คงเพราะคุกเป็นอีกโลกหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยประสบ เรื่องของคุกจึงเป็นความอยากรู้อยากเห็นของผู้คนตลอดมา มีงานเขียนเกี่ยวกับคุกในภาษาไทยหลายชิ้นแล้ว ทั้งจากผู้เขียนประสบมาเอง และที่เก็บรวบรวมจากประสบการณ์ของคนอื่น หรือได้โอกาสเข้าไปใช้ชีวิตในคุกช่วงหนึ่ง
แต่ “มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” แตกต่างจากงานเขียนเกี่ยวกับคุกชิ้นอื่น ไม่ใช่เพียงเพราะคุณภรณ์ทิพย์ มั่นคง ผู้เขียนต้องคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี 6 เดือน จึงได้บันทึกพฤติกรรมและแรงจูงใจที่แปลกๆ ของผู้ต้องโทษมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งมักเป็นท้องเรื่องหลักของงานเขียนเกี่ยวกับคุก แต่ผู้เขียนเล่าถึงความสัมพันธ์ทางสังคมของตนเองกับผู้ต้องขังคนอื่น ท่ามกลางเงื่อนไขที่มนุษย์ขาดเสรีภาพในการเลือกไปเสียเกือบทุกอย่างในชีวิต
จะว่าเป็นบันทึกส่วนตัวของผู้เขียนระหว่าง 2 ปี 6 เดือนในคุกก็ได้ แต่เป็นบันทึกที่มากกว่ากิจกรรมทางกาย ยังรวมถึงอารมณ์ความรู้สึกและความคิดเห็นต่อสิ่งที่ประสบในความสัมพันธ์นั้น “มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ” จึงมีลักษณะเป็นนวนิยายมากกว่าเรื่องจริงเกี่ยวกับคุก
ผมไม่ได้หมายความว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องที่คุณภรณ์ทิพย์แต่งขึ้นเอง แต่ทั้งหมดเป็นปรากฏการณ์ที่คุณภรณ์ทิพย์มองเห็นจากความรู้สึกนึกคิดของคุณภรณ์ทิพย์เอง “เรื่องจริง” ทุกเรื่องล้วนเป็นนวนิยายทั้งนั้น เพราะต่างก็เป็นจริงตามคติและอคติของผู้เล่า ใครจะไปรู้ได้ว่าความจริงคืออะไร
ผมเดาว่าคุณภรณ์ทิพย์ก็เข้าใจประเด็นนี้ดี เพราะเธอเล่าว่าไม่ได้เดินเข้าคุกไปคนเดียว แต่มี “เจ้าปีศาจ” ประจำตัวเธอติดเข้าไปด้วย อีกทั้งไม่ได้ติดไปเฉยๆ แต่มีบทบาทเป็น “ตัวละคร” อีกตัวหนึ่งในเรื่อง ที่มีส่วนช่วยตัดสินใจหรือแย้งหรือเสนอมุมมองอีกมุมหนึ่งให้เธอใช้เปรียบเทียบตลอดเวลา
และอาจเพราะเป็นนักการละคร “มันทำร้ายฯ” จึงเป็นนวนิยายที่แฝงลักษณะบทละครไว้อย่างชัดเจน เรื่องดำเนินไปด้วยบทสนทนาและคำบรรยายเกี่ยวกับอากัปกิริยาของตัวละคร รวมทั้ง “ฉาก” และสถานการณ์ในฉากนั้น บางครั้งมีภาพเขียนลายเส้นฝีมือคุณภรณ์ทิพย์ประกอบด้วย ผู้กำกับฉากอ่านแล้วจัดแสงเงาได้เป๊ะเลย ความคิดเห็นและอารมณ์ความรู้สึกทุกตัวละครนอกจาก “เรา” มาจากสายตาและความเข้าใจของ “ผู้เล่า” ซึ่งเป็นตัวละครหลัก
หลายตอนของบทละครขนาดยาวเรื่องนี้ ถูกเล่าไว้ด้วยภาษาที่ “สวย” มากๆ
อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า คุกคือสถานที่ซึ่งปลดคนจากเสรีภาพในการเลือก เหมือนทำให้ผู้ต้องโทษและผู้ต้องขังทั้งหมดกลับไปเป็นเด็กวัยไม่เกิน 1 ปี พวกเขาจึงเลือกชีวิตไม่ได้แทบจะทุกนาทีของวัน ตื่นเมื่อไรและอย่างไร นอนเมื่อไรและอย่างไร กินเมื่อไรและอย่างไร ฯลฯ จนแม้แต่กิจวัตรประจำตัวก็กำหนดไว้ให้เสร็จสรรพ เช่น อาบน้ำ, ถ่าย และความสัมพันธ์ระหว่างกัน
จะปลดเปลื้องคนจากเสรีภาพในการเลือกได้ถึงขนาดนี้ ต้องใช้เครื่องมืออะไร หนึ่งคือความรุนแรง อันเป็นสิ่งที่ผู้คุมอาจใช้เองโดยตรง หรือผ่านสมุนที่เป็นนักโทษของตน ซึ่งเป็นท้องเรื่องของคุกต่างๆ ทั่วโลก แต่นั่นเป็นเพียงเครื่องมือชิ้นเดียวที่อาจไม่ให้ผล เป็นการจำนนอย่างเด็ดขาดของคนติดคุก เท่ากับเครื่องมือชิ้นอื่น เช่น การแสดงความกรุณาตักเตือนสั่งสอน, ความพยายามกำกับให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันของนักโทษมีขอบเขตจำกัด, การสร้างสำนึกในความด้อยอย่างเด่นชัดของนักโทษเมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่ นับตั้งแต่การบังคับในเรื่องสรรพนามระหว่างกัน และ “ระดับ” ของการนั่งที่ไม่เสมอกัน… นั่นคือตอกย้ำความเป็นเด็กทารกที่ต้องอยู่ในกำกับดูแลของผู้ใหญ่ตลอดเวลา
แม้แต่กิจวัตรประจำวันของนักโทษ ซึ่งมีตารางตายตัวว่าจะตื่น, อาบน้ำ, กินข้าว, เข้านอน ฯลฯ เมื่อไร ก็อาจถูกป่วนได้ เพราะเรือนจำจัดระเบียบใหม่, ทดลองระเบียบใหม่ หรือเหตุอื่นๆ ที่แล้วแต่องค์กรผู้คุมจะตัดสินใจ โดยไม่ต้องอธิบายเหตุผลให้นักโทษเข้าใจ
กิจวัตรที่ตายตัวโดยไม่มีการขยับเลยอาจกลายเป็น “อำนาจ” ในตัวของมันเอง เพราะมันกลายเป็น “สิทธิ” ขึ้นมาได้ ด้วยเหตุดังนั้นตารางเวลาจึงต้องถูกป่วนเป็นครั้งคราว อย่างไม่ต้องมีเหตุผลด้วย
ช่วงชั้นก็มีความสำคัญในการปลดเปลื้องอำนาจและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักโทษ แต่ช่วงชั้นไม่ได้จำกัดอยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่และนักโทษเท่านั้น เพราะหากช่วงชั้นมีอยู่เพียงเท่านั้น ก็อาจแปรเป็น “ชนชั้น” ได้ง่าย ซึ่งจะทำให้นักโทษเป็นฝ่ายข้างมากหรือมีสำนึกว่าเป็นฝ่ายข้างมาก ในขณะที่ผู้คุมกลายเป็นฝ่ายข้างน้อย ดังนั้น ช่วงชั้นระหว่างนักโทษด้วยกันจึงมีความจำเป็น และช่วงชั้นระหว่างนักโทษนี่แหละ เป็นส่วนหนึ่งที่คุณภรณ์ทิพย์เล่าถึงไว้มากทีเดียว
ช่วงชั้นในคุก มีที่มาได้สองทาง คือติดตัวมาจากข้างนอกอย่างหนึ่ง เช่น ราชนิกุลสามคนซึ่งต้องโทษจำคุกได้รับอภิสิทธิ์มาแต่แรกเข้า แต่นั่นมีไม่มากนัก เพราะอภิสิทธิ์ชนที่ไหนๆ หากไม่จนมุมจริง ก็อาจหลีกเลี่ยงโทษจำคุกได้อยู่แล้ว ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ที่มีมากกว่าคือคนมีเงิน ซึ่งสามารถใช้เงินจากข้างนอกสร้างอภิสิทธิ์ให้แก่ตนเองในคุกได้ เพราะก็เหมือนคุกในประเทศอื่นๆ คนจนคือประชากรส่วนใหญ่ของคุกเสมอ มากกว่าสัดส่วนที่มีจริงในสังคมหลายเท่าตัว การสวามิภักดิ์ต่อคนมีเงินจึงเป็นทางเลือก
“เรา” ใน “มันทำร้ายฯ” ก็ได้มาซึ่งช่วงชั้นที่สูงกว่านักโทษธรรมดาโดยอาศัยเงินเช่นกัน แต่หว่านเงินอย่างชาญฉลาดเพื่อสร้างสถานภาพของตนเองขึ้นในคุก โดยไม่ต้องหว่านอย่างอีลุ่ยฉุยแฉกอย่าง “เจ๊หลังบ้าน” อีกทั้งสถานภาพนอกคุกของ “เรา” ก็ส่อไปในทางที่จะเป็นผู้อุปถัมภ์ได้ด้วย เช่น จบปริญญาตรี และมีญาติมาเยี่ยมทุกวัน
และนี่คือที่มาของช่วงชั้นในคุกอย่างที่สอง ซึ่งนักโทษที่สามารถทำได้ต่างสร้างขึ้นให้แก่ตนเอง บางคนใช้ความรุนแรง ใช้เงินที่ได้จากการค้า “ของเถื่อน” ในคุก ใช้ความสามารถทางใดทางหนึ่งจนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการ “คุม” นักโทษ เลื่อนสถานภาพของตนขึ้นเป็น “แม่” จนถึงที่สุดการแต่งเนื้อแต่งตัว การเป็นเจ้าของปากกาเจล หรือชุดนอนและเสื้อหนาวชั้นดี ก็ทำให้ได้สถานภาพสูงขึ้นเช่นกัน
ช่วงชั้นที่เต็มไปทั้งคุกคือช่วงชั้นที่เกิดขึ้นเองภายในคุกนี่แหละ ในแง่หนึ่งช่วงชั้นก็มีประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ เพราะช่วยป้องกันมิให้นักโทษมีสำนึกร่วมเกิดขึ้นได้ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นประโยชน์แก่นักโทษเองด้วย เพราะการเขยิบช่วงชั้น หรือแม้แต่การตัดสินใจเข้าสังกัดกลุ่มช่วงชั้น ก็เป็นการ “เลือก” อย่างหนึ่ง อันเป็นเสรีภาพที่ถูกลิดรอนไปแทบจะสิ้นเชิง นักโทษอาจใช้ช่วงชั้นเป็นเครื่องยืนยันแก่ตนเองได้ว่า เขาไม่ใช่เด็กทารก
พื้นที่เสรีภาพในการเลือกอีกแห่งหนึ่งคือศาสนา อย่างน้อยคุกไทยก็ยอมให้นักโทษนับถือศาสนาที่ตนเลือกได้โดยเสรี ผมไม่ทราบว่าคุณภรณ์ทิพย์เป็นคน “ธรรมะธัมโม” ในศาสนาคาทอลิกหรือไม่ แต่ข้อเขียนของเธอเรื่องนี้เต็มไปด้วยมิติทางศาสนาอยู่เสมอ แม้แต่เจ้าปีศาจตัวน้อยที่ติดตัวเธอเข้าคุกมาด้วย ก็เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ที่ต้องเลือกระหว่างหนทางของพระเจ้าและหนทางของซาตานอยู่ตลอดเวลา (และในฐานะคนนอกศาสนาคาทอลิก ผมคิดว่าเพราะมนุษย์ต้องเลือก – อย่างที่คุณภรณ์ทิพย์ต้องเลือกอยู่เสมอ – เช่นนี้แหละ จึงทำให้เกิดปัญญาขึ้นได้)
คุณภรณ์ทิพย์เล่าไว้ตั้งแต่หน้าแรกๆ ของนวนิยายแล้วว่า นอกจากปีศาจแล้ว ยังมีนกตัวน้อยๆ บินวนเวียนอยู่รอบตัวเธอเสมอ แต่เมื่อเธอจะเข้าคุก นกตัวน้อยๆ นั้นก็ถูกพรากจากเธอไป
แน่นอน นกตัวน้อยนั้นคือสัญลักษณ์ของเสรีภาพ ของการใช้สติปัญญาเพื่อเลือกให้แก่ตนเอง ผมอยากจะเดาว่ามันคือ “พระจิต” หรือหนึ่งในตรีมูรติของพระเป็นเจ้าในคาทอลิก ซึ่งมีติดตัวมนุษย์ทุกคน
เจ้านกน้อยอาจไม่สามารถบินวนเวียนรอบตัวของคุณภรณ์ทิพย์ได้อีกในคุก แต่มันก็ไม่ได้ถูกพรากไปไหนไกล ยังโฉบกลับมาทุกครั้งที่มีโอกาส เช่น เมื่อคุณภรณ์ทิพย์สมัครเรียนโรงเรียนช่างสิบหมู่ หลังจากเรียนลายไทยตามมาตรฐานแล้ว ครูก็สอนให้ใช้ลายเหล่านั้นไปประดับสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลาย ตั้งแต่สร้อย, กำไล, ไปจนถึงทับทรวงและชฎา งานของคุณภรณ์ทิพย์ได้รับคำชมจากครูอย่างมาก เพราะเธอดัดแปลงลายประดับให้แปลกใหม่ ไม่ทำตามแบบแผนที่ครูสอน กลายเป็นงานออริจินอลในตัวเอง
นี่เป็นโอกาสเปิดที่เจ้านกน้อยบินกลับมาหาเธออีกกระมัง ผมเชื่อว่าเจ้านกน้อยของนักโทษทุกคนอาจบินกลับมาหาเจ้าของได้อีกเสมอเมื่อมีโอกาส เพียงแต่คุกพยายามไม่ให้เกิด “โอกาส” เช่นนั้นได้บ่อยและง่าย เพราะสิ่งที่ระบบคุกกลัวที่สุดคือนักโทษ เช่นเดียวกับที่โรงเรียนกลัวนักเรียน ค่ายทหารกลัวทหาร โรงพยาบาลกลัวคนไข้ และรัฐกลัวประชาชน จึงต่างพยายามทุกวิถีทางมิให้นกตัวน้อยบินเข้าใกล้เจ้าของเลย
เรื่องนี้นำมาสู่คำถามที่ผมไม่รู้คำตอบ และไม่พบคำตอบที่พอใจมาตลอดชีวิต นั่นคือคุกมีไว้ทำไม
ในเมืองไทยสมัยโบราณ คุกมีไว้กักขังและลงโทษคนที่ละเมิดต่อพระราชอำนาจ แต่การละเมิดต่อบุคคล ไม่จำเป็นต้องติดคุกหากสามารถชดใช้ความเสียหายได้ (ในรูปใดรูปหนึ่ง) ที่ต้องกักขังก็เฉพาะในกรณีที่ยังไม่อาจชดใช้ผู้เสียหายเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะในเมืองไทยโบราณ ยังไม่มีแนวคิดเรื่อง “สังคม” คนจึงไม่มีทางทำร้าย “สังคม” ได้
แต่ในปัจจุบันซึ่งมีแนวคิดเรื่อง “สังคม” แล้ว นักกฎหมายตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 พยายามเตือนว่า คุกไม่ได้มีไว้เพื่อแก้แค้นแทนสังคม ถ้าอย่างนั้นคุกมีไว้ทำไม? บางคนตอบว่าเพื่อแยกคนชั่วออกจากสังคม มิให้ไปทำร้ายสังคมได้อีก
ถ้าอย่างนั้นนักโทษทุกคนต้องถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตทั้งสิ้น
แม้มีผู้เสนออุดมคติใหม่ของคุกว่า คือสถาบันสำหรับแก้ไขปรับปรุงบุคลิกภาพของนักโทษ ให้สามารถกลับมาเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมในวันหน้า จนกระทั่งคุกในสหรัฐหลายประเภทเปลี่ยนชื่อตนเองจากคุกเป็นศูนย์แก้ไขความบกพร่องบ้าง ศูนย์ปรับปรุงบุคลิกภาพบ้าง ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะชื่ออะไร การปฏิบัติต่อนักโทษก็ล้วนทำให้นกตัวน้อยบินหนีไปทั้งนั้น เขาจะกลับมาเป็นคนเต็มคนที่กอปรด้วยพระบิดา, พระบุตร และพระจิตได้อย่างไร
คำถามเกี่ยวกับคุกและกระบวนการยุติธรรม ตอลสตอยเคยถามไว้กว่าศตวรรษมาแล้ว (ใน Resurrection) และก็ยังเป็นคำถามที่ใช้ได้มาจนถึงทุกวันนี้ในทุกสังคมของโลก
คุกมีไว้ทำไม?