ธงทอง จันทรางศุ | อดีต ปัจจุบัน วิสาขบูชา

ธงทอง จันทรางศุ

พวกเราชาวไทยคงท่องจำได้ตั้งแต่ตอนเป็นเด็กเล็กแล้วว่าวันดังกล่าวเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

วันนี้เราจะมาย้อนหลังกันสักหน่อยครับว่าประเพณีการจัดงานวิสาขบูชาในบ้านเรามีมาตั้งแต่เมื่อใด อย่างไร

ในเบื้องต้นผมสันนิษฐานไว้ก่อนว่า หลังสมัยพุทธกาลแล้ว การนับถือว่าวันเพ็ญเดือนหกเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิก เนื่องจากต้องตรงกันกับวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของสมเด็จพระบรมศาสดา เห็นจะเริ่มต้นขึ้นจากประเทศอินเดียก่อน

แล้วแพร่หลายต่อไปยังประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย

ทำนองเดียวกันกับที่คริสต์ศาสนิกชนมีการเฉลิมฉลองวันคริสต์สมภพหรือที่เรียกว่าวันคริสต์มาสในวันที่ 25 ธันวาคมทุกปี

แต่การเฉลิมฉลองวันสำคัญอย่างนี้บางยุคสมัยก็เฟื่องฟูและบางยุคสมัยก็ซบเซาลงไป ตามธรรมดาวิสัยของโลกที่ไม่มีอะไรคงทนถาวรอยู่ได้เสมอไป

และผมจะได้เดาต่อไปด้วยว่างานบำเพ็ญกุศลวิสาขบูชานี้น่าจะได้เคยมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วแต่ร่วงโรยลงไปในภายหลัง

ความชัดเจนในการจัดงานวิสาขบูชาส่วนของหลวงเมื่อปรากฏชัดขึ้นอีกครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

มีรายละเอียดปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่สอง

พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า ในพุทธศักราช 2360 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินนั้นทรงพระราชดำริด้วย สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) ซึ่งประสูติมาตั้งแต่ครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ปลายกรุงศรีอยุธยา ให้ทำวิสาขบูชากลางเดือนหกขึ้นเป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์

มูลเหตุที่จะเกิดเรื่องนี้ขึ้น ปรากฏความในหนังสือข้างต้นว่า วันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระราชปุจฉาถามคณะสงฆ์ซึ่งมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานว่า ทรงพระราชรำพึงถึงสรรพการกุศลซึ่งได้ทรงบำเพ็ญมาช้านานนั้น ยังหาเต็มพระราชศรัทธาไม่

มีพระทัยปรารถนาอยากให้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลให้มีผลพิเศษเพิ่มเติมขึ้นไปอีก

สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยจึงถวายพระพรว่า วันวิสาขะนักขัตฤกษ์เป็นพิธีบูชาใหญ่มีผลอานิสงส์มาก แต่พระราชพิธีวิสาขบูชานี้เสื่อมสูญขาดหายมาช้านานแล้ว ถ้าได้กระทำสักการบูชาพระรัตนตรัยในวันนั้นจะเป็นอนันตคุณวิเศษนักนับประมาณมิได้

จึงทรงพระราชศรัทธาให้ยกรื้อวิสาขบูชามหายัญพิธีอันขาดประเพณีมานั้นให้กลับคืนมาสำหรับแผ่นดินสืบไป

พิธีวิสาขบูชาอย่างที่ทำในรัชกาลที่สอง มีรายละเอียดปรากฏอย่างพิสดารอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าโปรดเกล้าฯ ให้ทำโคมปิดกระดาษ ชักเสาไม้ไผ่ยอดผูกฉัตรกระดาษพระราชทานไปปักจุดเป็นพุทธบูชาตามพระอารามหลวง

ชักชวนให้ราษฎรจุดโคมประทีปตามบ้านเรือนเป็นพุทธบูชา แผ่พระราชกุศลให้ร้อยดอกไม้มาแขวนเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

มีดอกไม้เพลิงของหลวงตั้งจุดเป็นพุทธบูชาที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

นิมนต์พระสงฆ์ให้อุโบสถศีลและแสดงพระธรรมเทศนาแก่ราษฎรโดยมีเครื่องกัณฑ์เป็นของหลวงพระราชทาน

ป่าวร้องตักเตือนราษฎรให้ไปรักษาศีลฟังธรรมและห้ามการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เลี้ยงพระสงฆ์ในท้องพระโรง และการพระราชกุศลอื่นๆ เป็นอเนกปริยาย

การพระราชกุศลวิสาขบูชาส่วนของหลวงนี้ก็ยังถือเป็นประเพณีสำคัญของพระราชสำนักสืบมาจนถึงปัจจุบัน

และการ “แผ่พระราชกุศล” ซึ่งแปลเป็นภาษาชาวบ้านว่าทรงบอกบุญให้ข้าราชการและประชาชนนำโคมดอกไม้ไปถวายเป็นพุทธบูชาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็ยังรักษาธรรมเนียมนี้อยู่นะครับ

สมัยหนึ่งเมื่อผมรับราชการอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ชักชวนกันกับเพื่อนข้าราชการในหน่วยงานนั้น แต่งโคมประทีปด้วยดอกไม้สดงดงามเพื่อนำไปแขวนถวายที่วัดพระแก้ว เป็นที่ชื่นอกชื่นใจของผู้ที่ได้เข้าหุ้นส่วนกันทำกุศล

และทุกวันนี้ก็ยังสืบประเพณีนี้ต่อเนื่องกันมา พอใกล้วันวิสาขบูชาอย่างนี้ก็ต้องติดตาม บอกข่าวการบุญนี้แล้ว ไม่ยอมพลาดครับ

ทุกวันนี้น่าชื่นใจว่าวันวิสาขบูชาซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา มิได้เป็นวันสำคัญที่มีการเฉลิมฉลองอยู่แต่ในประเทศไทยของเราเท่านั้น หากแต่ประเทศที่มีพุทธศาสนิกชนอีกมากมายหลายประเทศก็เลยร่วมกระทำสักการบูชาพระรัตนตรัยในวันเดียวกันนี้ด้วย เรียกกันทั่วไปว่า Vesak Day และองค์การสหประชาชาติก็เลยยกย่องว่าวันนี้เป็นวันสำคัญที่เป็นสากลของโลกด้วย

กล่าวเฉพาะในประเทศไทยของเรา การบำเพ็ญกุศลวันวิสาขบูชามีขึ้นตามวัดวาอารามทั่วประเทศ ครั้นได้เวลาเย็นค่ำ ก็มีการเวียนเทียนที่สังเกตเห็นได้ว่าผู้เข้าร่วมพิธีมีทุกวัยทุกสถานะจริงๆ

พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่ทรงปรารภปรารถนาให้งานวิสาขบูชานี้ยั่งยืนคู่กับเมืองไทยตลอดไป เห็นจะไม่เสื่อมสูญเป็นแน่

ส่วนตัวผมเองปีนี้แปลกหน่อยครับ เพราะวางแผนจะไปเวียนเทียนที่เกาะสีชัง ที่เกาะแห่งนั้นภายในบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งแห่งพระราชวังที่ชื่อว่าพระจุฑาธุชราชฐาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระอารามไว้บนยอดเขายอดหนึ่ง พระราชทานนามว่า วัดอัษฎางคนิมิตร

ที่นั่นมีเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ถึงแม้เวลานี้วัดแห่งนั้นเป็นวัดร้างมิได้มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่แล้วก็ตาม แต่เมื่อถึงวันวิสาขบูชาของทุกปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้ดูแลสถานที่แห่งนั้น ก็ได้จัดให้มีพิธีวิสาขบูชาขึ้นตามแบบธรรมเนียมในสมัยรัชกาลที่ห้า

มีการแต่งประทีปโคมไฟ นิมนต์พระสงฆ์มาแสดงพระธรรมเทศนา เบื้องหน้าต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ทรงปลูก และเวียนเทียนรอบพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา อนุโลมตามแบบอย่างที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชาที่วัดแห่งนี้เมื่อร้อยกว่าปีก่อน

อย่าลืมนะครับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) ท่านเคยถวายพระพรไว้ว่า

“ถ้าได้กระทำสักการบูชารัตนตรัยในวันนั้นแล้ว ก็จะมีผลอานิสงส์มากยิ่งนัก อาจสามารถปิดประตูจตุราบายภูมิทั้ง 4 แลเป็นที่จะดำเนินไปในสุคติภพเบื้องหน้า อาจให้เจริญทฤฆายุสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล รำงับทุกข์โทษอุปัทวอันตรายภัยต่างๆ ในบริเฉทกาลปัจจุบัน…”

เมื่อเห็นคุณวิเศษดังนี้แล้ว ขอพวกเราจงมากระทำวิสาขบูชาให้พร้อมกันเถิด