ไม่มีประวัติศาสตร์ ในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีชื่อตลกๆ 5 นิทรรศการแห่งเรื่องเล่า จากปากเปล่า (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่น่าสนใจอย่างยิ่งมา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า

ไม่มีประวัติศาสตร์ในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีชื่อตลกๆ 5 (No history in a room filled with people with funny names 5)

ของกรกฤต อรุณานนท์ชัย ศิลปินหนุ่มชาวไทยผู้ถูกจับตามองในวงการศิลปะระดับโลกในฐานะศิลปินรุ่นใหม่ที่มาแรงที่สุดในยุคสมัยนี้

ซึ่งเราเคยกล่าวถึงเขาไปแล้ว ร่วมกับอเล็กซ์ กวอจิก (Alex Gvojic) นักออกแบบสภาพแวดล้อมและผู้กำกับภาพจากนิวยอร์ก และบอยไชลด์ (Boychild) ศิลปินผู้ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นสื่อการแสดงอันเปี่ยมพลัง

นิทรรศการครั้งนี้ เป็นการแสดงครั้งล่าสุดของกรกฤต หลังจากการแสดงเดี่ยวครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ในปี 2559

โดยเป็นการแสดงผลงานชุดใหม่ที่มีแนวความคิดต่อเนื่องจากผลงานที่ผ่านๆ มา เกิดจากการทำงานร่วมกันตลอดหกปีกับศิลปินร่วมอย่างอเล็กซ์ กวอจิก และบอยไชลด์

โดยหนึ่งในสองของผลงานวิดีโอในนิทรรศการนี้ ตัดต่อจากคลังบันทึกการแสดงสดของกรกฤตและบอยไชลด์ ภายใต้จักรวาลที่พวกเขาสร้างขึ้น

ซึ่งบอยไชลด์รับบทบาทเป็นพญานาค อันแสดงคุณลักษณะของภาวะของเรื่องเล่าที่ไม่อยู่ในประวัติศาสตร์กระแสหลัก

ผลงานในห้องแสดงนิทรรศการเล็กของหอศิลป์

คู่ขนานไปกับกระบวนการผลิตซีรี่ส์วิดีโอและศิลปะการแสดงสด Ghost : 2561 ที่เราเคยกล่าวถึงไปแล้วเช่นกัน

ด้วยการเล่าแบบมุขปาฐะ (การบอกเล่าต่อๆ กันมาแบบปากต่อปากโดยมิได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร) ในการสร้างนิยายปรัมปราที่กลายพันธุ์และส่งต่อผ่านกาลเวลา พื้นที่ที่ “ไม่มีประวัติศาสตร์” เหล่านี้ ดึงดูดความสนใจของกรกฤตมาโดยตลอด

ในฐานะเรื่องเล่าที่ไม่ได้ถูกจารึกไว้ของเหล่า “ผู้คนที่มีชื่อตลกๆ” ตลอดช่วงเวลาหกปีของเรื่องเล่า ทั้งส่วนบุคคลและหมู่คณะ ได้กลายมาเป็นซีรี่ส์ผลงานวิดีโอสี่ชิ้นก่อนหน้าในชื่อ “วาดภาพกับประวัติศาสตร์ในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีชื่อตลกๆ” (Painting with history in a room filled with men funny names)”

จนกระทั่งมาถึงผลงานชุดล่าสุดนี้ กรกฤตใช้สื่อภาพเคลื่อนไหวในการสร้างโลกที่ผนวกรวมทั้งเรื่องเล่าปรัมปราของท้องถิ่น พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และโลกอินเตอร์เน็ตอันไร้พรมแดนเอาไว้ด้วยกัน

กรกฤตถ่ายทำงานชุดหลักของเขาบนพื้นที่ในจังหวัดเชียงรายและอุดรธานี โดยพื้นที่ในอำเภอแม่สาย เชียงรายนั้นเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ที่ทีมฟุตบอลเยาวชนติดอยู่ในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

ส่วนพื้นที่ในอุดรธานี ก็มีเรื่องเล่าปรัมปราเกี่ยวกับผีจ้างหนัง ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับการที่ผู้ชม “ถูกเข้าสิง” ผ่านประสบการณ์การชมภาพยนตร์ ด้วยการรับรู้ รู้สึก และเดินทางผ่านเรื่องเล่าที่ไม่ใช่ของตน

และเรื่องเล่าเหล่านี้เองก็ยังคงหายใจและดำเนินไปต่อภายในสภาวะในจิตสำนึกของผู้ชม

ผลงานในห้องแสดงนิทรรศการเล็กของหอศิลป์

นิทรรศการ “ไม่มีประวัติศาสตร์ในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีชื่อตลกๆ 5” ยังพยายามที่จะโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและเหตุการณ์เหล่านี้ผ่านอุปมาของการสัมผัส ภายหลังจากได้สัมผัสแสงสีเขียว แสงนั้นก็แปลงมาสู่เรื่องเล่าในความมืด บนพื้นผิวที่อับทึบ แสงสีเขียว ซึ่งเเป็นแสงเขียวของจอภาพยนตร์ หรือกรีนสกรีนที่ใช้ในการสร้างภาพยนตร์ เรื่องเล่าปรับแต่งและควบคุมรูปแบบของการรวมกลุ่มและการกระทำของมนุษย์

เรื่องเล่าของภาพยนตร์ผนึกรวมพรมแดนอันกำกวมระหว่างเด็กๆ ซึ่งติดอยู่ในถ้ำที่เชียงราย อดีตที่ทำการสำหรับสายลับซีไอเอ มรดกของสงครามเย็น และนักวิทยาศาสตร์สายพฤติกรรมสัตว์ผู้เป็นแม่ของศิลปินร่วม

เรื่องเล่าเหล่านี้เติบโตจากภาวะไร้การมองและภาวะอับแสง ไปสู่การกลายเป็นอำนาจบางอย่าง

กรกฤตเปลี่ยนพื้นที่ในห้องแสดงงานหลักให้กลายเป็นสภาพแวดล้อมเฉพาะตัวของเขา ด้วยการถมดินลงบนพื้นห้องแสดงงานหลักจนเต็มพื้นที่

จัดวางต้นไม้ใบหญ้าปกคลุมประติมากรรมรูปคนที่คล้ายกับรูปเคารพของเจ้าป่าเจ้าเขา ใจกลางห้องกางจอที่ดูคล้ายกับจอฉายหนังกลางแปลง

แต่ต่างกันตรงที่จอในห้องนี้เป็นจอคู่ขนานที่ถูกฉายภาพเคลื่อนไหวประกอบ เสียงบรรยายทั้งสองด้าน จอด้านหนึ่งฉายวิดีโอที่เป็นส่วนผสมของบันทึกการแสดงสดของกรกฤตและบอยไชลด์ ในฐานะร่างทรงของพญานาค

ผสานกับเรื่องราวของเหล่าบรรดาภูตผีจ้างหนังในชุดขาว เฝ้ามองจอสีเขียวอย่างจดจ่อราวกับต้องมนต์

ในขณะที่จออีกด้านเป็นวิดีโอที่เป็นส่วนผสมของข่าวทีมฟุตบอลที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง, เรื่องเล่าเกี่ยวกับพญานาคทั้งในนิยายปรัมปรา และข่าวชุมชนในยุคร่วมสมัย

ภายในห้องถูกอาบด้วยสีเขียว อันมีต้นกำเนิดจากหลอดไฟและแผงลำแสงเลเซอร์สีเขียวที่ฉายอยู่ในห้องท่ามกลางหมู่ไม้รกเรื้อ

สร้างบรรยากาศอันลี้ลับราวกับโลกวิญญาณให้แก่ผลงานศิลปะจัดวางอันทรงพลังชิ้นนี้

ในส่วนของห้องแสดงงานเล็กด้านหน้าของหอศิลป์ ยังมีศิลปะจัดวางอีกชิ้นของเขาที่ประกอบด้วยผลงานจิตรกรรมผ้ายีนส์อันเป็นผลงานแจ้งเกิดของกรกฤต

ผลงานในห้องแสดงนิทรรศการเล็กของหอศิลป์

บนพื้นห้องวางด้วยเบาะนวมผ้ายีนส์ฟอกสีหลายใบ ตระเตรียมไว้สำหรับให้ผู้ชมนั่งเอกเขนก ฟังเสียงของประติมากรรมรูปศิลปินเจ้าของงานสีขาวเรืองแสง ขนาดเท่าตัวจริง อุ้มตุ๊กตากระต่าย” เปล่งวาจาเอื้อนเอ่ยลำนำอรรถาธิบายผลงานที่ผ่านๆ มาของเขาราวกับเป็นร่างวิญญาณ ที่กำลังบอกเล่าหนังตัวอย่างหรือบทโหมโรงของนิทรรศการนี้ก็ปาน

ผลงานในห้องแสดงนิทรรศการหลักของหอศิลป์

“ซึ่งเจ้าตุ๊กตากระต่ายที่ว่านี้ นอกจากจะเป็นตัวแทนของสัตว์ทดลองที่แม่ของอเล็กซ์ กวอจิก (ศิลปินร่วมในนิทรรศการ) ผู้เป็นนักวิทยาศาสตร์สายพฤติกรรมสัตว์ใช้ในการทดลองแล้ว มันยังทำให้เราอดนึกไปถึงศิลปินเยอรมันเรืองนามอย่างโจเซฟ บอยส์ ที่ทำงานศิลปะแสดงสดด้วยการอธิบายภาพวาดให้กระต่ายที่ตายแล้วฟังในผลงาน How to Explain Pictures to a Dead Hare (1965) ไม่ได้เลยจริงๆ อะไรจริง! (ยังมีต่อ)

นิทรรศการ “ไม่มีประวัติศาสตร์ในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีชื่อตลกๆ 5” จัดแสดงที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ (สาทรซอย 1 สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุมพินี จอดรถที่ 123 ปาร์กกิ้ง) ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 20 เมษายน – วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม 2562 แกลเลอรี่เปิดทำการวันพุธถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 13:00-19:00 น.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [email protected] หรือ +668-3087-2725