เทศมองไทย : “แรงงานอพยพ” ของฝากรัฐบาลใหม่จาก “ยูเอ็น”

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) หน่วยงานหนึ่งของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ดูแลเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานและแรงงานที่อพยพย้ายถิ่นไปทำงานข้ามประเทศ เผยแพร่รายงานล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานอพยพในประเทศไทยออกมา

มีข้อมูลตัวเลขที่น่าสนใจหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะคำให้สัมภาษณ์ที่ซาคารี ฟราย แห่งอาเซียน ทูเดย์ หยิบมารายงานเอาไว้เมื่อ 15 พฤษภาคมนี้ เพราะมี “ของฝาก” ถึงรัฐบาลใหม่ของไทยโดยเฉพาะด้วยอีกต่างหาก

ทั้งๆ ที่เลือกตั้งกันมาจนถึงป่านนี้ ยังไม่มีวี่แววว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่จะบริหารประเทศสืบต่อไปรูปร่างหน้าตาเป็นยังไงก็ตามทีเถอะ

ตัวเลขที่น่าสนใจที่ว่านั้น มีตั้งแต่จำนวนล่าสุดของแรงงานที่เป็นคนต่างชาติในไทย ซึ่งข้อมูลของยูเอ็นบอกเอาไว้ว่า ถึงตอนนี้มีอยู่ราวๆ 4.9 ล้านคนเข้าไปแล้ว

คิดเป็นสัดส่วนสูงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณแรงงานไทยทั้งประเทศเข้าไปแล้วครับ

ยิ่งจำแนกเป็นรายประเทศว่าแรงงานเหล่านี้มีที่มาจากประเทศใดบ้าง ยิ่งน่าสนใจเข้าไปอีก เพราะไอโอเอ็มบอกว่า 66.97 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานต่างชาติในไทยมาจากประเทศเมียนมา รองลงมาเป็นแรงงานจากลาว (9.81 เปอร์เซ็นต์) กัมพูชา (6.91 เปอร์เซ็นต์) เป็นหลักครับ

ที่เหลือนอกจากนั้นเป็นจีนกับญี่ปุ่นในระดับไล่เลี่ยกันคือ 4.40 เปอร์เซ็นต์ และ 4.0 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

 

ที่ชวนให้คิดเป็นพิเศษก็คือ แรงงานเหล่านี้มีบทบาทสูงมากกับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย รายงานของไอโอเอ็มประเมินเอาไว้ว่า ระหว่าง 4.3 เปอร์เซ็นต์ถึง 6.6 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทย มีที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของแรงงานต่างถิ่นเหล่านี้

แรงงานอพยพเหล่านี้สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ แล้วก็ก่อปัญหาท้าทายให้เกิดขึ้นมากมายหลายด้านด้วยกัน

ถ้าย้อนกลับไประหว่างปี 2014-2015 ไทยกลายเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายของแรงงานอพยพ ปัญหาการกดขี่แรงงานในภาคการประมงก็ดี ปัญหาการค้ามนุษย์ก็ดี เรื่อยไปจนถึงการผูกมัดแรงงานด้วยหนี้ ไม่ยอมจ่ายค่าแรง และที่ถึงระดับฆาตกรรมก็มี

รัฐบาลไทยต้องดำเนินการหลายอย่าง จนสามารถดิ้นหลุดขึ้นมาอยู่ในเทียร์ 2 ของรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาและทำให้สหภาพยุโรปยกเลิก “ใบเหลือง” ได้ในที่สุด

แต่ไอโอเอ็มบอกว่า ปัญหาของแรงงานอพยพในไทยยังไม่สิ้นสุด ยังคงมีรายงานการก่อหนี้เพื่อมัดตัวแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม และการกำกับดูแลที่ยังอ่อนแออยู่เกิดขึ้นให้เห็น ซึ่ง “แสดงให้เห็นว่ายังคงจำเป็นต้องมีการทำงานต่อเนื่องอีกมาก”

รายงานชิ้นนี้ชี้ว่า กระบวนการในการนำแรงงานอพยพ “เข้าระบบ” นั้นยังกินเวลา สิ้นเปลือง และซับซ้อน ซึ่งส่งผลให้แรงงานจำนวนหนึ่งยังคงตัดสินใจ “อยู่นอกระบบ” จนกลายเป็นปัญหาตามมา

 

ไอโอเอ็มยกกรณีของ “มา อู” แรงงานในโรงงานชาวพม่าในกรุงเทพฯ ที่ถูกนายหน้าในเมียนมาเรียกเงินล่วงหน้าสูงถึง 400 ดอลลาร์ หรือราว 12,600 บาทเป็นหนี้สินไว้แลกกับการได้มาทำงานในไทย นอกจากนั้นยังอ้างผลการสำรวจขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่พบว่า 34 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบการสำรวจ ไม่ได้รับค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ (9,000 บาทต่อเดือน) ทั้งๆ ที่มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างนั้น

ข้อแนะนำในรายงานก็คือ ทางการไทยจำเป็นต้องดำเนินการต่ออีกหลายขั้นตอน ซึ่งอาจเริ่มต้นได้ตั้งแต่การยินยอมให้มีการก่อตั้งสหภาพแรงงานอพยพ และเพิ่มขีดความสามารถในการกำกับดูแล ต่อไปอาจต้องใส่ใจในภาคธุรกิจอื่นๆ ซึ่งเดิมไม่ได้รับการใส่ใจ อย่างเช่น แม่บ้านที่ทำงานบ้าน เป็นต้น

รูเบน ลิม เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารและสื่อมวลชนของไอโอเอ็มประจำประเทศไทย บอกกับอาเซียน ทูเดย์ ว่า ที่ผ่านมา ไทยบรรลุความคืบหน้าที่น่าชื่นชมในการบริหารจัดการแรงงานอพยพ ขยายการเข้าถึงบริการสาธารณะ และยังให้สัตยาบันรับรองมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องหลายประการ

รัฐบาลชุดใหม่ของไทยยังต้องรับภาระปฏิรูปเรื่องนี้ต่อเนื่องต่อไป เพราะไม่เพียงแค่แรงงานไทยเองมีปัญหามากขึ้นตามลำดับจากสภาวะสังคมสูงอายุ ในขณะที่อัตราว่างงานต่ำมากๆ แต่ต้องการคงระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ต่อไปให้ได้เท่านั้น

ในฐานะเป็นประธานของอาเซียนในปีนี้ ไทยต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อเพื่อนสมาชิกทั้งมวลอีกด้วย