วงค์ ตาวัน | ผ่า!รัฐบาลพลเอก

วงค์ ตาวัน

การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งเป็นกฎกติกาที่เขียนในยุครัฐบาล คสช. ซึ่งมาจากการรัฐประหาร เห็นได้ชัดเจนว่า ต้องการถอยการเมืองไทยกลับไปสู่ยุคที่ระบบพรรคการเมืองไม่มีความเข้มแข็งมากนัก ต้องตกอยู่ภายใต้กฎกติกาควบคุมมากมาย

โดยพยายามอธิบายกันว่า ต้องมีประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่มีความเหมาะสมกับเอกลักษณ์ของสังคมเรา

“แต่จริงๆ แล้วก็คือประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ คือ ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง”

เชื่อกันว่าคงต้องการถอยการเมืองไทยให้กลับไปเหมือนเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว

นั่นคือ มีความเป็นประชาธิปไตยในบางส่วน มีนักการเมือง มีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง แต่เลือกกันเสร็จ ต้องไปเชิญผู้นำกองทัพมาเป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค เป็นลักษณะรัฐบาลผสมที่ไม่มีพรรคการเมืองไหนมีเสียงมากมาย

อยู่ภายใต้ผู้นำการเมืองที่มียศ “พล.อ.” นำหน้า

“โดย พล.อ.นั้น ไม่ต้องลงสนามเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญเขียนเปิดเอาไว้!”

ไม่ต่างจากการเมืองในปี 2562 นี้ รัฐธรรมนูญก็เปิดกว้างว่า ให้พรรคการเมืองใส่ชื่อผู้เหมาะสมได้รับการเสนอเป็นนายกฯ เอาไว้ในบัญชีแคนดิเดตของแต่ละพรรค

แต่แคนดิเดตนายกฯ คนนี้ ไม่จำเป็นต้องโดดลงสนามเลือกตั้งก็ได้

เอาเข้าจริงๆ แทบทุกพรรคการเมืองก็ใส่ชื่อผู้เหมาะสมเป็นนายกฯ ที่มาจากแกนนำของพรรคนั้นจริงๆ แล้วทุกคนก็โดดลงสนามเลือกตั้ง ด้วยการออกหาเสียง ลุยสนามพบปะประชาชนอย่างเต็มตัว

“แต่มีพรรคพลังประชารัฐที่ใส่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้เหมาะสมเป็นนายกฯ โดย พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้โดดลงมาคลุกคลีกับสนามเลือกตั้งเอง เพราะยังดำรงตำแหน่งนายกฯ ในรัฐบาลช่วงเลือกตั้งอยู่”

โดยเชื่อว่า คงต้องการวางตัว พล.อ.ประยุทธ์ให้เข้ามาเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง แบบยังคงมีลักษณะพิเศษ

คือ กึ่งๆ นักการเมือง แต่จะไม่ใช่นักการเมืองเต็มตัว ยังมีภาพผู้นำที่มาจากกองทัพอยู่ต่อไป

“น่าจะเดินแนวเหมือนนายกฯ ที่รับเชิญจากกองทัพเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว!!”

ทำให้ดูพิเศษ น่าเกรงขาม ยากที่นักการเมืองจะแตะต้องได้ เหมือนนายกฯ ที่มาจากนักการเมืองปกติทั่วไป

ยึดแนวทางย้อนยุคการเมือง และย้อนยุคนายกฯ ด้วย

ทั้งกรณีรัฐธรรมนูญ ที่กล่าวกันว่า “ออกแบบมาเพื่อพวกเรา” ทั้งกระบวนการจัดการเลือกตั้ง และการจัดสรรคะแนนภายใต้สูตรปาร์ตี้ลิสต์พิสดาร บ่งบอกว่าทำกันทุกอย่างทุกด้าน เพื่อให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม คสช. มีอุปสรรคขวากหนามมากที่สุด

ต่อให้ชนะเลือกตั้งมาเป็นที่ 1 ก็ยากจะตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

และแน่นอน เพื่อให้ขั้วสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเป็นนายกฯ ราบรื่นสะดวกโยธินไปเสียทั้งหมด

ที่ชัดเจนที่สุดอีกประการคือ บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ ที่ให้ 250 ส.ว.เหมือนพรรคการเมืองใหญ่อีกพรรค ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีได้

ส่งผลให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงมากที่สุดในข้อนี้

“ในสายตาคนทั่วโลกก็เห็นได้ว่า ระบบเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาล ไม่ใช่ประชาธิปไตย เสรี และเที่ยงธรรมมากนัก”

ครั้นเมื่อประกาศรายชื่อ 250 ส.ว.ออกมาอย่างเป็นทางการ แม้จะไม่ผิดคาด แต่ก็นึกกันไม่ถึงว่า จะหนักหนาขนาดนี้

“นั่นคือการมีขุนทหารระดับนายพล ไปจนถึงนายพลของตำรวจรวมกันแล้วกว่าร้อยชื่อ จนเรียกกันว่าสภาร้อยนายพล”

ส่วนพลเรือน ส่วนหนึ่งก็ยกทั้งแผงมาจาก สนช. มาจากแม่น้ำ 5 สาย ไปจนถึงแกนนำที่ร่วมเป่านกหวีดเรียกหารถถังเมื่อปี 2557

แถมด้วยรัฐมนตรีอีก 15 คนจากรัฐบาล คสช. ที่ตบเท้าเข้ามานั่งในวุฒิสภา

“จึงกลายเป็นสภาที่อยู่ในมือของ คสช.แบบร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม!”

รับประกันได้ว่าจะเป็น 250 เสียงในการโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ โดยไม่มีแตกแถวไปแม้แต่ชื่อเดียว

เมื่อรวมกับเสียงของ ส.ส.ที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนหลัก พรรคเล็กพรรคน้อยอีก 11 พรรค ที่ได้คะแนน 3-4 หมื่นก็สามารถมี ส.ส.ได้

ผสมเข้ากับพรรคขนาดกลางบางพรรค

แม้สุดท้ายว่าจะจับขั้วพรรคการเมืองและ ส.ส.เพื่อตั้งรัฐบาลไม่ได้ตามเป้าหมาย

“แต่สามารถเอา 250 เสียง ส.ว.มาร่วมโหวต ก็สามารถดัน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้อยู่ดี”

เราก็อาจจะมีนายกฯ ที่มียศ พล.อ.นำหน้า ในรัฐบาลยุคเลือกตั้ง เหมือนกับเมื่อ 30-4 ปีที่แล้วจนได้

ไม่เท่านั้น ภาพรวมของ ส.ว.ที่เต็มไปด้วยนายพลขุนทหาร แม้อาจจะเกษียณไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ก็ยังมีส่วนที่ยังเป็นผู้นำทหารปัจจุบัน อันแสดงให้เห็นสายสัมพันธ์และความเชื่อมโยงอันแนบแน่น

ระหว่างกองทัพกับผู้นำการเมืองที่มีรากฐานจากกองทัพ เสมือนเป็นพลังสนับสนุนที่เหนียวแน่นไม่แปรเปลี่ยน!

เวลาพูดถึงการเมืองไทยเมื่อ 30-40 ปีก่อน ในยุคผู้นำกองทัพเป็นผู้นำรัฐบาล มักจะมีการเน้นย้ำถึงภาพความสงบราบเรียบทางการเมือง เป็นยุคความดี ความซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งก็เป็นด้านที่ดีในบางส่วนจริง แต่ไม่ใช่ภาพทั้งหมดของการเมืองในสมัยนั้น

ต้องไม่ลืมว่านั่นคือยุคประชาธิปไตยแค่ครึ่งใบ บางคนเรียกว่าแค่เสี้ยวใบด้วยซ้ำ

“รวมทั้งเบื้องหลังความราบรื่นของการเมือง มีการเคลื่อนไหวในทางลับของเหล่าขุนศึก เพื่อค้ำยันรัฐบาลในยุคนั้นอย่างเข้มข้น”

การเจรจาทางการเมืองหลายครั้ง มีบิ๊กๆ ระดับกุมกำลังนั่งหรือยืนรายล้อม เพื่อกดดันให้การพูดคุยเจรจาได้ผลตามเป้าหมาย

การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจผู้นำรัฐบาล แทบทำไม่ได้ เพราะรู้ดีว่าถ้าปล่อยให้อภิปรายจะทนแรงเสียดทานจากเหล่านักอภิปรายไม่ไหว

“จึงมีมาตรการที่ทำให้ฝ่ายการเมืองไม่สามารถแตะต้องผู้นำรัฐบาลได้!”

เช่น ครั้งหนึ่งยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจสำเร็จสมบูรณ์แล้ว จะเปิดอภิปรายในวันรุ่งขึ้นแล้ว

แต่ค่ำคืนนั้น มีการเชิญแกนนำพรรคการเมืองที่ร่วมลงชื่อในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจมากินอาหารในโรงแรมหรูกลางเมือง

“พอมากันครบ ก็โดนบิ๊กที่เสียงดังน่าเกรงขาม ตบโต๊ะสั่งให้ถอนชื่อให้หมด เพื่อให้ญัตติล่มให้ได้”

มีคนถือปืนเดินกันเต็มห้องอาหารนั้น

“สุดท้ายญัตติก็ล่มจนได้!”

หรือในยุคถัดมา เมื่อระดับ พล.อ.ยึดอำนาจการเมือง แล้วลงเอยเป็นนายกฯ เอง ก็มีการนัดพรรคการเมืองในเป้าหมายให้มาร่วมลงชื่อสนับสนุนในการตั้งรัฐบาล

เรียกมาพบ พร้อมกับมีระดับบิ๊กๆ ตบโต๊ะ บังคับให้เซ็นชื่อสนับสนุนจนได้ครบ ตั้งรัฐบาลได้

“ทำให้พรรคการเมืองกลุ่มที่ไปร่วมสนับสนุนถูกสังคมป่าวประณาม กลายเป็น “พรรคมาร” ในประวัติศาสตร์การเมืองยุคนั้น”

การเมืองไทยในปี พ.ศ.2562 เดินถอยหลังกลับมาสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบจนได้

ตอนนี้ก็กำลังทำทุกอย่างเพื่อให้ พล.อ.เป็นนายกฯ ต่อไป

ส่วนจะมีกระบวนการเบื้องหลัง ที่ใช้ขุมกำลังอำนาจมาค้ำยันแบบเดิมหรือไม่ ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป

แต่อย่าลืมว่า ยุคนี้การถ่ายคลิปเป็นเรื่องง่ายดายอย่างมาก

อาจจะมีคลิปเบื้องหลังการเมืองว่อนเน็ตให้ดูกันได้อย่างสนุกสนานระทึกขวัญ!