จิตต์สุภา ฉิน : ภารกิจของ Microsoft ใน Build 2019

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ซู่ชิงมีโอกาสได้ไปร่วมงาน Build 2019 งานสำหรับนักพัฒนาที่ Microsoft จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และถือเป็นการได้ไปเยือนเมืองซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา อีกครั้งหลังจากไม่ได้ไปมาเกือบยี่สิบปีด้วยค่ะ

เวลาพูดถึง Microsoft ผลิตภัณฑ์ที่เราจะนึกถึงขึ้นมาเป็นอย่างแรกๆ ก็คือระบบปฏิบัติการ Windows

จากนั้นอาจจะตามมาด้วย Microsoft Office โปรแกรมที่ผูกพันกับชีวิตนักเรียนและคนทำงานชนิดที่แยกออกจากกันแทบไม่ได้

เว็บเบราเซอร์ที่อยู่คู่กับชีวิตท่องอินเตอร์เน็ตยุคแรกๆ ของเราอย่าง Internet Explorer ใครมาทางสายฮาร์ดแวร์ก็อาจจะนึกถึงไลน์ผลิตภัณฑ์ Microsof Surface ที่มีทั้งแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก

หรือสายเกมก็น่าจะนึกถึงคอนโซลเกม Xbox

ขณะเดียวกันก็ยังมีผลิตภัณฑ์และบริการอีกจำนวนมากที่เราใช้งานทุกวันโดยที่เราไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นทำงานอยู่บนพื้นฐานเทคโนโลยีของ Microsoft

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะสรุปว่าชีวิตคนส่วนมากในโลกนี้ต้องเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้

 

ในยุคที่สมาร์ตโฟนกลายเป็นทุกอย่าง และวัฒนธรรมของงานเปิดตัวอันน่าตื่นเต้นเทไปกองรวมกันอยู่ที่ไม่ Apple ก็ค่ายมือถือจากจีนที่กำลังกวาดกระแสนิยมอันเชี่ยวกรากและไหลเร็ว

แต่ Microsoft สามารถยืนหยัดสร้างรายได้อย่างแข็งแกร่ง

จนเมื่อเร็วๆ มานี้ก็เพิ่งจะขึ้นแท่นบริษัทสัญชาติอเมริกันบริษัทที่สามที่มีมูลค่าในตลาดหลักทรัพย์มากกว่าหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อจาก Apple และ Amazon

โดยที่รายได้หลักๆ ที่ทำให้ Microsoft มายืนอยู่จุดนี้ได้ แบ่งออกเป็น 3 หมวดหมู่ คือ

1. Office, LinkedIn และ Dynamics

2. Azure Cloud บริการคลาวด์ เซิร์ฟเวอร์ และบริการสำหรับองค์กร

และ 3. Windows, Xbox และ Surface ค่ะ

ตามปกติแล้ว บริษัททำสถิติแบบนี้ได้ พนักงานก็น่าจะเปิดแชมเปญปุงปัง ชนแก้วกันกริ๊งกรั๊งเพื่อเป็นการฉลองใช่ไหมคะ

แต่ Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่แคร์เลยกับการที่บริษัทมีมูลค่าหนึ่งล้านล้านดอลลาร์ภายใต้การนำของเขา

และจะรู้สึกรังเกียจมากถ้าใครลุกขึ้นมาฉลองเรื่องนี้

เขาบอกว่า เขาอยากโฟกัสไปที่อนาคตมากกว่าจะมัวแต่มาเสียเวลาไปกับการฉลองให้กับความสำเร็จในอดีต

Nadella เล่าว่า คน Microsoft มีนิสัยไม่ค่อยดีที่มักจะไม่ผลักดันตัวเองไปข้างหน้าเพราะคิดว่าพึงพอใจกับความสำเร็จที่มีอยู่แล้ว

ตอนนี้ก็เลยอยู่ในช่วงปรับตัวให้ไม่สนใจอดีตมากจนเกินไปนั่นเอง

 

บนเวทีในงาน Build 2019 ครั้งนี้ Nadella ก็เปิดงานด้วยการขึ้นเวทีทักทายพูดคุยอย่างคล่องแคล่ว

เขาเล่าให้ฟังถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ Microsoft กำลังทำและมีหลายอย่างที่น่าสนใจค่ะ

Microsoft พูดถึงการทำงานร่วมกันกับแบรนด์ร้านกาแฟชั้นนำของโลกอย่าง Starbucks ที่ใช้แพลตฟอร์มของ Microsoft ในการเปลี่ยนให้ร้านกาแฟทันสมัยมากยิ่งขึ้น

อย่างเช่น การติดตั้งเทคโนโลยี IoT เข้ากับเครื่องชงกาแฟ ทำให้อุปกรณ์ชงกาแฟต่างๆ เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ และสามารถควบคุมรายละเอียดการชงกาแฟให้เป็นไปตามสูตรเป๊ะๆ

ซึ่งการเชื่อมต่อเดียวกันนี้จะช่วยให้งานซ่อมบำรุงเครื่องต่างๆ เหล่านี้ทำได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น

Starbucks ใช้เทคโนโลยี Microsoft เพื่อเก็บและประมวลผลความชอบที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละคน

เริ่มจากการทดลองกับหน้าจอสั่งเครื่องดื่มและอาหารแบบไดรฟ์ทรู ที่จะแสดงเมนูไม่เหมือนกันโดยดูจากวัน เวลา สถานที่ สภาพอากาศ และความชอบของคนในแต่ละท้องถิ่น

หากใช้งานร่วมกับแอพพลิเคชั่นด้วยก็จะยิ่งทำให้ระบบของร้านรู้จักความชอบของลูกค้าเป็นรายบุคคลด้วย

 

Azure Speech Service เป็นระบบที่ต่อไปจะต้องใช้กันในทุกห้องประชุม

เพราะด้วยอุปกรณ์ที่เรามีอยู่แล้วอย่างคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟน มันจะทำหน้าที่เป็นเลขาฯ ช่วยบันทึกการประชุมให้ ด้วยการแยกแยะเสียงของแต่ละคนออกจากกันและเปลี่ยนเสียงพูดให้กลายเป็นข้อความเพื่อจดบันทึกอย่างรวดเร็วตามเวลาจริง แถมเรียนรู้ศัพท์แสงยากๆ ของแต่ละวงการได้ด้วย

ดังนั้น ก็ไม่ต้องกลัวจะจดไม่ทันหรือจดผิดเลยค่ะ

ข้อดีก็คือ จะทำให้คนในห้องประชุมเอาสมาธิไปจดจ่อที่เนื้อหาการประชุมได้ 100%

แบบที่ไม่ต้องแบ่งสมองและมือมาคอยนั่งพิมพ์หรือจดยิกๆ อีกต่อไป

 

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ Satya Nadella พูดถึงบนเวที และซู่ชิงคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ElectionGuard ระบบที่นำเทคโนโลยีมาใช้กับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลการลงคะแนนของเราจะปลอดภัย โปร่งใส

และช่วยยืนยันให้กับประชาชนอย่างเราด้วยว่าเสียงของเรานั้นได้รับการนับคะแนนอย่างถูกต้อง

แล้วจริงๆ อันนี้เขาเปิดให้ทุกประเทศทั่วโลกนำไปใช้งานได้นะคะ

นอกจากการพูดและสาธิตบนเวทีหลักแล้ว ซู่ชิงเดินสำรวจไปรอบๆ บริเวณงานก็ยังพบกับสิ่งที่น่าสนใจอีกเยอะมาก

อย่างเช่น AI For Good หรือการนำปัญญาประดิษฐ์มาทำเรื่องดีๆ ให้กับมนุษย์

ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เกษตรกรที่มีรายได้ต่ำสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเซ็นเซอร์ราคาถูกและปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมเพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตและรายได้

การใช้ปัญญาประดิษฐ์มาคอยติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ที่เราต้องการสงวนไว้ อย่าง ฉลามวาฬ ม้าลาย ยีราฟ หรือปลากระเบน โดยให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลเพื่อเก็บข้อมูลเป็นรายตัวด้วยวิธีสังเกตจากลวดลายบนตัวสัตว์

และเทคโนโลยีช่วยทำให้คนที่บกพร่องทางการมองเห็นสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นปกติมากขึ้น

อย่างการใช้กล้องสมาร์ตโฟนถ่ายภาพสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเพื่อให้ระบบส่งเสียงออกมาอธิบายให้ฟังว่าของในภาพนั้นคืออะไร

น่าทึ่งและน่ายินดีมากๆ ที่คนซึ่งมีความรู้ด้านเทคโนโลยีจะจับมือช่วยกันใช้ความรู้ที่มีมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนอื่นๆ บนโลกที่มีเงื่อนไขการใช้ชีวิตที่ด้อยกว่า

 

ความตั้งใจอย่างหนึ่งของ Microsoft ที่ฉายชัดและทำมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็คือการให้ความสำคัญกับการศึกษาของเด็กนักเรียนและผลักดันให้เด็กกล้าคิด

มีความพร้อมและแรงสนับสนุนเพียงพอที่จะทำให้ความคิดนั้นกลายเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ขึ้นมาได้จริงๆ

อย่างการจัดแข่งขัน Imagine Cup ที่ทีมนักเรียนซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศปีนี้เป็นทีมที่คิดค้นพัฒนาระบบการใช้กล้องสมาร์ตโฟนถ่ายภาพดวงตาเพื่อตรวจวัดระดับกลูโคสในเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน จุดประสงค์ก็คือจะได้ไม่ต้องทรมานกับการต้องคอยเจาะเลือดที่ปลายนิ้วทุกวันอีกต่อไป

ในระหว่างเดินอยู่ในงาน (สลับกับการแวะไปลูบหัวเกาพุงน้องหมาที่อาสามาบำบัดผ่อนคลายความเครียดให้คนที่มาร่วมงาน)

ซู่ชิงก็นึกถึงคำว่า inclusion หรือการออกแบบเทคโนโลยีที่ให้ทุกคนได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างเท่าเทียม ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แน่นอนว่านี่เป็นเป้าหมายของบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งที่มุ่งมั่นทำให้เทคโนโลยีเป็นเรื่องของทุกคนแบบไม่มีแบ่งชนชั้นหรือฐานะ

และ Microsoft ก็เป็นส่วนหนึ่งของการกิจนี้