ข่าวดีของบ้านเรา “รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า” สามารถส่งไปจำหน่ายได้ทั่วโลก ?

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า

ในขณะที่นักวิชาการ ข้าราชการ กำลังตั้งหน้าค้นหา ตั้งใจส่งเสริมเอกลักษณ์ไทยเพื่อจะนำโปรโมตประเทศ เพื่อการท่องเที่ยว เพื่อการค้าขาย และเพื่อความมั่นคงของรัฐบาล

เพียงแต่ว่า นักวิชาการและข้าราชการที่จบจากต่างประเทศ หรือนิยมไปดูงานต่างประเทศ จึงมักคิดตามตำรา หรือสิ่งที่พบเห็นในต่างประเทศ มักจะมองข้ามสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในบ้านเมือง

หลายเรื่องที่ชาวไทยเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ชาวเทศกลับเห็นเป็นเรื่องแปลก เพราะไม่มีในบ้านเขา อย่างเช่น ผัดไทย ต้มยำกุ้ง หรือที่โด่งดังมากๆ คือ รถตุ๊กตุ๊ก

คงจำกันได้ว่า ชุดตุ๊กตุ๊กไทย ได้รับความนิยมถึงกับได้รับรางวัลในการประกวดเครื่องแต่งกายประจำชาติยอดเยี่ยมเมื่อหลายปีก่อน ตุ๊กตุ๊กไทยมักจะปรากฏในฉากภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับประเทศไทยอยู่เสมอ รวมทั้งหนึ่งในรายการที่นักท่องเที่ยวจีนหรือฝรั่งต้องทำ คือ การนั่งรถตุ๊กตุ๊ก

จะมีแต่วิศวกรทางด้านจราจร ที่มองข้ามรถตุ๊กตุ๊กที่เป็นพาหนะประจำซอย โดยไม่นับว่าเป็นขนส่งมวลชนประเภทหนึ่ง

ด้วยเหตุผลเดียว คือ ไม่มีในตำราฝรั่ง

 

ในขณะที่ชาวบ้านคุ้นเคยกันดี มีการพัฒนารูปแบบให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ต่างๆ เช่น รถสกายแล็บ ในหลายเมืองภาคอีสาน หรือที่เกาะสีชัง รถกบที่อยุธยา รถสี่ล้อแดงที่เชียงใหม่ เป็นต้น

ในขณะที่หลายคนรังเกียจรถตุ๊กตุ๊ก ด้วยเสียงดัง ปล่อยควันดำ คนขับมักจะเป็นเด็กแว้นมาก่อน จึงชมชอบในการขับฉวัดเฉวียน เทกระจาดผู้โดยสารในบางครั้ง

แต่มีบางคนพัฒนารถตุ๊กตุ๊กให้ทันสมัย ใช้ไฟฟ้า ปรับโฉมให้ดูไฮโซ นำไปใช้ในต่างประเทศ หรือตามโรงแรม คอนโดฯ หรูในบ้านเรา

 

ข่าวดีตอนนี้ คือ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด ได้พัฒนาสามล้อเครื่องไฟฟ้าหรือรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า สำหรับโรงแรม คอนโดมิเนียม ร้านอาหาร ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งหมายความว่า สามารถส่งไปจำหน่ายได้ทั่วโลก

เมื่อฝรั่งยอมรับมาตรฐานแล้ว นักวิชาการไทยคงจะจำยอม ข้าราชการไทยคงจะจำใจรับ จึงอยากเสนอให้เมืองต่างๆ รีบนำรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าไปแก้ปัญหาจราจร เพื่อรองรับการขนส่งสาธารณะ และลดปัญหารถยนต์ส่วนบุคคล สำหรับเชียงใหม่และเมืองอื่นในภาคเหนือ ที่กำลังมีปัญหาฝุ่น การใช้รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าก็ช่วยลดมลภาวะที่เกิดจากรถยนต์ รถสองแถว รถจักรยานยนต์ และรถตุ๊กตุ๊กรุ่นเก่าได้อีกด้วย

ขณะนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังพัฒนาแอพพลิเคชั่นใช้กับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่ให้บริการบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัย ในโครงการ Chula Smart City โดยผู้ใช้สามารถเลือกใช้ online และรูปแบบ sharing สำหรับผู้เดินทางไปทางเดียวกัน เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยการชำระค่าบริการผ่าน QR Code

อยากนำรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าและแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ไปแก้ปัญหาจราจร จะได้ไม่ต้องเจอะเจอปัญหาแท็กซี่น้ำมัน และแท็กซี่ก๊าซ ที่สร้างมลภาวะอากาศ และปฏิเสธผู้โดยสาร ไม่กดมิเตอร์ ที่สร้างมลภาวะทางจิตใจ

ที่สำคัญ จะได้ก้าวหน้าเข้าสู่สมาร์ตซิตี้ ก่อนกรุงเทพฯ

 

ภาพจาก : https://www.chula.ac.th/news/15648