จับเข่าคุย “บิ๊ก บช.น.” จริงไหม? ตำรวจต้องเร่งทำยอด “ใบสั่ง”

โดย วิทวัส ปาลอินทร์

14452213061445221353l-1

สัปดาห์นี้ขอพาทุกท่านไปสัมผัสกับประเด็น “ไม้เบื่อไม้เมา” หรือที่หลายคนเรียกว่า “ของแสลง” ของชาว 2 ล้อ ตลอดจนผู้ใช้รถใช้ถนนประเภทอื่นๆ นั่นก็คือ ด่านตำรวจหรือด่านกวดขันวินัยจราจร

ทีมข่าวมติชนทีวีได้พูดคุยกับ พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รรท. รอง ผบช.น. ในฐานะผู้กำกับดูแลงานด้านจราจร เจ้าของประโยคคำพูดตรงไปตรงมา

“ตำรวจก็เหมือนฝ่ายปกครอง นักเรียนเกเรก็ต้องหวดต้องตีกันบ้าง”!!!

ประโยคข้างต้น ย่อมทำให้รู้ว่าเจ้าหน้าที่ยืนยันที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ซึ่งการตั้งด่านกวดขันวินัยจราจรก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการของตำรวจ

แต่หลายคนล้วนเห็นมาแล้วตามโลกออนไลน์ว่า ทุกครั้งที่มีการตั้งด่านกวดขันวินัยจราจร ก็มักมีการกระทบกระทั่งทั้งทางฝีปากและทางร่างกาย ระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน

รรท. รอง ผบช.น. บอกว่า ทางเจ้าหน้าที่เองไม่ได้นิ่งนอนใจ เนื่องจากช่วงนี้มีการปรับปรุงด้านกฎหมาย และองค์ประกอบเกี่ยวข้องหลายๆ อย่างตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งพยายามทำให้ใบสั่งมีความศักดิ์สิทธิ์ ให้คนที่รับใบสั่งมาชำระค่าปรับและเคารพกฎจราจร

แต่ที่ผ่านมา เมื่อตำรวจตั้งด่านคอยกวดขันผู้กระทำผิดกฎจราจร ด้วยการยึดใบขับขี่ บางครั้ง ก็อาจเกิดการกระทบกระทั่งกันบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา

“ก็เหมือนครูฝ่ายปกครองที่ต้องไล่จับนักเรียน นักเรียนเกเรก็ต้องถูกฝ่ายปกครองไล่หวดไล่ตี ดังนั้น นักเรียนย่อมไม่ชอบฝ่ายปกครอง เช่นเดียวกัน ตำรวจเป็นอาชีพบังคับใช้กฎหมาย ย่อมมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ” รรท. รอง ผบช.น. กล่าว

AFP PHOTO / MUNIR UZ ZAMAN
AFP PHOTO / MUNIR UZ ZAMAN

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ บอกอีกว่า นอกจากต้องทำให้ใบสั่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้น ตำรวจเองก็จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูปจากกล้องตรวจจับความเร็ว หรือกล้องตรวจจับการฝ่าสัญญาณจราจร

ถ้าการพัฒนาระบบเทคโนโลยีนี้สำเร็จ เราก็จะใช้กล้องเหล่านี้ตรวจจับผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนกฎหมายจราจร เมื่อกล้องสามารถตรวจจับผู้กระทำผิดได้ทั้งหมด ก็จะนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปใช้ในงานบริการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร บางส่วนก็เอาไปเสริมด้านป้องกันปราบปรามความสงบเรียบร้อย

ส่วนกรณีความผิดซึ่งหน้า ที่หลายคนถามมากันเยอะ ตนขอยืนยันว่าตำรวจจราจรมีอำนาจตามกฎหมาย ป.วิอาญา เราจับกุมได้ “โดยไม่ต้องมีด่าน”

ที่หลายคนเข้าใจผิดว่าตำรวจจราจรจับรถบนถนนไม่ถูก ต้องตั้งด่านก่อนนั้น จึงยืนยันเลยว่าไม่จริง เพราะเราจับตามความผิดซึ่งหน้า บางทีตำรวจจราจรบางคนยังเกรงๆ อยู่ ว่าจะสามารถจับได้หรือไม่

รรท. รอง ผบช.น. ยืนยันว่าสามารถทำได้ ตามความผิดซึ่งหน้าและตาม ป.วิอาญา

ทีมข่าวสอบถามถึงเทคโนโลยีปัจจุบันอย่างโทรศัพท์มือถือและกล้องโกโปรว่า มีผลต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หรือไม่?

เพราะหลายคนคงทราบดีว่า ระยะหลังมีประชาชนหลายรายใช้เครื่องมือเหล่านั้นบันทึกภาพการทำงานที่บกพร่องผิดพลาดของตำรวจ จนถึงขั้นต้องสั่งย้ายก็มี คำถามคือตำรวจเองจะเกรงกลัวเทคโนโลยีดังกล่าวหรือไม่?

รรท. รอง ผบช.น. ระบุว่า อยากนำข้อเท็จจริงมาพูดคือ ถ้าตำรวจของตน ตำรวจจราจรทั้ง กทม. และทั่วประเทศ กระทำการถูกระเบียบแบบแผน ถูกกฎหมาย ถูกต้องตามข้อสั่งการ รู้กฎหมายเรียกจับโดยไม่ได้กลั่นแกล้งใคร ไม่ต้องไปกลัว ประชาชนจะถ่ายก็เป็นสิทธิของท่าน เชื่อว่าตำรวจกว่า 99% พร้อมให้ถ่าย

“วันนี้เราไม่มีกล้องตรวจจับ เราก็ใช้คนตรวจจับไปก่อน แต่เราก็เน้นว่าการตั้งด่านต้องถูกกฎหมายมีใบอนุญาตตั้งด่าน มีผู้ควบคุมเป็นตำรวจยศร้อยตำรวจเอกขึ้นไป ดูความประพฤติ คำพูดคำจาต้องสุภาพ

“อย่าไปเดินรอบรถหา จนกว่าจะหาข้อหาจับได้ เหมือนที่ถูกกล่าวหากันบ่อยๆ คนที่เพียงไม่กี่คนในหมู่มากไปทำความผิด มันก็เสียในส่วนรวม ซึ่งผมมีหน้าที่ตัดเนื้อร้ายเหล่านี้ออกเพื่อรักษาองค์กร” พล.ต.ต.จิรพัฒน์ กล่าว

AFP PHOTO/Christophe ARCHAMBAULT
AFP PHOTO/Christophe ARCHAMBAULT

ต่อคำถามที่ว่า ในเมื่อรู้ว่ามีปัญหากระทบกระทั่งกับประชาชน เหตุใดตำรวจถึงขยันตั้งด่าน?

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ตอบว่า “ตำรวจไม่ได้ขยัน แต่จากสถิติที่ผ่านมา การตั้งด่านตรวจช่วงกลางวัน สามารถจับกุมคดีต่างๆ ได้อย่างมากมาย ที่นอกเหนือคดีจราจร

“เช่น คดีเกี่ยวกับอาชญากรรม คดีเกี่ยวกับยาเสพติด ใช้รถที่โจรกรรมมา ซึ่งเราสามารถป้องกันเหตุร้ายได้อย่างมากมาย จึงต้องมีการตั้งด่านกวดขันวินัยจราจร และยังเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนรู้สึกว่ามีกฎจราจรอยู่”

นอกจากนี้ ในส่วนของเจ้าหน้าที่เอง ก็ไม่ได้ดื้อดึงจนไม่ฟังเสียงคนอื่น เราได้มีการปรับแผนให้การตั้งด่านกวดขันวินัยจราจรไม่ทับซ้อนกัน ถนนเส้นหนึ่งไม่ใช่มี 5 ด่านติดๆ กัน จึงออกคำสั่งให้ทุกโรงพักไปจัดแผนใหม่ ห้ามตั้งด่านทับซ้อน พร้อมกับลดจำนวนด่านลง

โรงพักหนึ่งอาจจะตั้งด่านวันเว้นวัน โดยดูตามถนนเส้นทางสายหลัก สายรอง สายซอย สายย่อย เน้นเรื่องการป้องกันเหตุเป็นหลัก ถ้าเส้นหลักมีด่านแล้ว เราก็ไปดูเส้นรอง ถ้ายังไม่มีด่านเราก็ไปตั้ง ตามตรอกซอกซอยที่จะเป็นเส้นทางหลบหนีของคนร้ายมีไหม ถ้าไม่มีก็ไปตั้ง เวลาก็ต้องเหลื่อมกันไม่ซ้ำซากไม่มีที่ประจำ

“ถ้าเห็นผู้กระทำผิดจะแจ้งจับ ถ้าข้อหาคลุมเครือก็ใช้วิธีว่ากล่าวตักเตือน ซึ่งในยุคของผมจะเน้นวิธีว่ากล่าวตักเตือน” รรท. รอง ผบช.น. กล่าว

AFP PHOTO / MUNIR UZ ZAMAN
AFP PHOTO / MUNIR UZ ZAMAN

ในส่วนของค่าปรับตาม พ.ร.บ.จราจร หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า เงินค่าปรับไปอยู่กระเป๋าใคร? แบ่งกันอย่างไร?

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ชี้แจงว่า สมมติปรับ 100 บาท 50% ต้องเข้ากรุงเทพมหานคร (กทม.) จาก 50 ที่เหลือ แบ่งออกมา 20% ถึงจะเป็นรางวัลนำจับของตำรวจ เพราะฉะนั้นก็ไม่กี่บาท จะให้ตำรวจมาหวังร่ำรวยจากรางวัลนำจับคงไม่ใช่

และเดิมที ค่าปรับก็ต้องการให้เป็นค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ที่เหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน เพราะบางคนมาโบกรถตั้งแต่ 05.00-22.00 น. ยังไม่ได้กลับบ้าน

เมื่อถามกันตรงๆ ว่า ใบสั่งในแต่ละพื้นที่จะต้องมีการทำยอดหรือไม่?

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ยืนยันว่าไม่มีการทำยอด พร้อมอธิบายเหตุผลว่าทำไมต้องใช้เทคโนโลยีในการจับกุมผู้กระทำผิด และแก้กฎหมายให้ใบสั่งมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้น

“ก็เพราะทุกวันนี้ คนรับใบสั่งไปไม่มาจ่ายค่าปรับ ทุกวันนี้ไม่ถึง 20% ออกใบสั่ง 100 ใบ มาชำระไม่ถึง 20 ใบ แล้วตำรวจจะไปหวังตั้งเป้าอะไร เงินที่ได้เข้าตำรวจเพียงเศษเสี้ยว

“และอีกหน่อย ถ้าพัฒนาเทคโนโลยีในการตรวจจับ เงินก็เข้าหลวงไป และกลับมาหาประชาชนในการซ่อมถนน ติดสัญญาณไฟ ทำสี ทำป้าย ทำทุกอย่างเกี่ยวกับงานจราจร รวมถึงพัฒนาระบบการจราจร” รรท. รอง ผบช.น. กล่าวยืนยัน

 AFP PHOTO / STEPHEN SHAVER
AFP PHOTO / STEPHEN SHAVER

เมื่อถามว่า หากเทคโนโลยีไปไกลแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องตั้งด่านอีกหรือไม่?

รรท. รอง ผบช.น. มองว่าถ้าใบสั่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้น คนก็จะเริ่มเกรงกลัวกฎหมาย พอคนเกรงกลัวกฎหมาย ตำรวจก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปจับ เพราะคนก็จะไม่กระทำผิดกฎหมาย และเมื่อคนกลัวกล้องหรือเกรงกลัวกฎหมาย จนทุกอย่างเป็นระบบแล้ว ความผิดซึ่งหน้าก็จะลดลงตามไปด้วย

“ผมไม่ได้ว่าบ้านเราขับรถไม่มีระเบียบนะครับ มันเป็นเรื่องของกฎหมาย ฝรั่งอยู่เมืองนอก เขาทำตามระเบียบเป๊ะ คนไทยไปเที่ยวเมืองนอก ทำตามระเบียบเป๊ะ เพราะรู้ว่าเขาปรับหนัก ปรับแพง ปรับจริง ไม่เสียค่าปรับ เขาตามถึงบ้าน

“แต่พอฝรั่งมาบ้านเราก็มั่วเหมือนกัน อย่างที่พัทยา หัวหิน เคยโบกถาม ทำไมยูอยู่บ้านยู ยูเป๊ะ พอมาบ้านไอขับรถฝ่าไฟแดง เขาบอกฝ่าไปไม่เห็นเป็นไร เพราะมันอยู่ที่ความเข้มแข็งของกฎหมาย พอกฎหมายเข้มแข็ง คนเราจะพัฒนาไปสู่ความเป็นประเทศที่เจริญแล้ว”

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ กล่าว

 

นอกจากนี้ พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ยังมองในประเด็นการต่อยอดว่า ในการบูรณาการเรื่องจราจร ซึ่งมีทั้งภาคเอกชน ราชการ หรือแม้แต่สถานศึกษานั้น ทางโรงเรียนต้องปลูกฝังวินัยจราจร หรือถ้าให้ดีกระทรวงศึกษาธิการต้องหยิบกฎหมายจราจรไปเป็นวิชาบังคับ

ท้ายสุด การแก้ไขปัญหาจราจรสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากการมีน้ำใจต่อผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่นๆ การเคารพกฎจราจร เพราะถึงแม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าสักเพียงใด หรือกฎหมายศักดิ์สิทธิ์แล้ว แต่ถ้าคนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือไม่มีน้ำใจต่อบุคคลอื่น

ภาพที่เห็นก็จะเป็นภาพเดิมๆ ในสังคมไทย ทั้งปาดหน้า ขับรถชน ยิงปืนขู่ ลงมาด่าทอ หรือตบหน้ากันซักฉาด ก็เท่านั้น…