ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 พฤษภาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คนที่ 8 กับแคนดิเดตผู้สมัครลงรับเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ปชป.ทั้ง 4 คน ได้แก่
1. “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. ที่มี “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค เป็น “แบ๊กอัพ” คนสำคัญ พร้อมกับเสนอชื่อ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ คัมแบ๊กกลับมาเป็นเลขาธิการพรรค ปชป.อีกครั้ง
2. “กรณ์ จาติกวณิช” รักษาการรองหัวหน้าพรรค ปชป. เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอดีตหัวหน้า “มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. พร้อมกับเปิดตัว “ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์” ว่าที่ ส.ส.ตาก เข้ามาเป็นเลขาธิการพรรคคู่ใจ
ขณะที่คนที่ 3 “หล่อเล็ก” อภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม.สองสมัย ที่มีจุดแข็งในภาพของนักบริหาร ได้เสนอชื่อของ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” มาเป็นเลขาธิการพรรค
ปิดท้ายที่แคนดิเดตคนที่ 4 “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มของ “ถาวร เสนเนียม” ส.ส.สงขลา
โหวตเตอร์ทั้ง 309 คน แบ่ง 2 กลุ่ม คือ
1. ส.ส.ชุดใหม่ของพรรค 52 คน มีน้ำหนักคะแนนโหวตถึง 70%
และ 2. อดีต ส.ส.ของพรรคทุกสมัยที่ยังเป็นสมาชิกพรรค อดีตหัวหน้าพรรค อดีตรัฐมนตรี อดีตคณะกรรมการบริหารพรรค กรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ กลุ่มสาขาพรรค และตัวแทนจังหวัด สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค
ปรากฏว่าเทคะแนนเลือก “อู๊ดด้า” จุรินทร์ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ปชป. คนที่ 8 ด้วยคะแนน 160 เสียง คิดเป็น 50.59% ทิ้งห่างคู่แข่งที่มีตามมาในอันดับสองคือ “พีระพันธุ์” ด้วยคะแนน 102 เสียง หรือคิดเป็น 37.21%
พรรค ปชป.ภายใต้การนำของ “กัปตันจุรินทร์” โดยมี “เฉลิมชัย” นั่งเป็นแม่บ้านคู่ใจ ในฐานะเลขาธิการพรรค มีการบ้านข้อใหญ่ที่จะต้องให้คำตอบกับสมาชิกพรรค ปชป. รวมทั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคแนวร่วมว่า
พรรค ปชป.ภายใต้การนำของ “จุรินทร์” จะ “เซย์เยส” หรือ “โน” ในการร่วมรัฐบาลที่มีพรรค พปชร.เป็นแกนนำ
หากถอดรหัสและนัยยะในช่วงการโชว์วิสัยทัศน์ของ “จุรินทร์” ก่อนที่สมาชิกพรรคจะลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคนั้น ย่อมมีสัญญาณและทิศทางในการนำพาพรรค ปชป.ซ่อนไว้อยู่ไม่น้อย
ซึ่ง “จุรินทร์” บอกไว้ว่า ร่วมอุดมการณ์กับพรรคมาอย่างน้อย 33 ปี เคยเป็นเลขานุการนายชวน หลีกภัย ขณะเป็น รมว.สาธารณสุข นอกจากนี้ได้เป็นรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง
และยังทำหน้าที่ประธานวิปรัฐบาลและประธานวิปฝ่ายค้าน รวมถึงเป็นรองหัวหน้าพรรคตั้งแต่ปี 2546
ที่บอกสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพราะเก่งหรือดี เพราะมีโอกาส จึงทำให้ตระหนักว่า โอกาสคือสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน
ดังนั้น ถ้าได้รับโอกาสเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะหยิบยื่นโอกาสให้ทุกคนที่ตั้งใจทำงานทุ่มเทเสียสละให้พรรคโดยไม่จำเป็นว่าต้องอยู่ฝ่ายไหน หรือเป็นเด็กของใคร นี่เป็นคำสัญญาที่ขอให้ไว้
นอกจากนี้พรรคประชาธิปัตย์ถึงเวลาต้องเปลี่ยนอย่างมีวุฒิภาวะ อะไรดีต้องรักษาไว้ อะไรสมควรเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน แต่สิ่งที่ต้องไม่เปลี่ยนคืออุดมการณ์ระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
ส่วนสิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือ นโยบายวิสัยทัศน์ ต้องเปลี่ยนให้เท่าทันโลกเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันที่เกิดขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมือง รวมถึงต้องเปลี่ยนระบบบริหารจัดการ ต้องนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ สังเคราะห์ประกอบการตัดสินใจทางการเมือง เดินหน้าสู่ความทันสมัยในอนาคต บุคลากรต้องเปลี่ยน
“หมดยุคซูเปอร์แมน ยุคต่อไปต้องเป็นยุคของอเวนเจอร์ ซูเปอร์ฮีโร่ของพรรคต้องจับมือเป็นทีมอเวนเจอร์ประชาธิปัตย์ นำทัพเดินไปข้างหน้า นายกรณ์ นายอภิรักษ์ และนายพีระพันธุ์ จะเป็นหนึ่งในทีมอเวนเจอร์ของพรรค แต่แค่นี้ไม่พอ
เพราะวันนี้ประชาธิปัตย์เหลือแค่ 52 คน หัวหน้าพรรคต้องคิดทำอย่างไรให้เพิ่มจนมากกว่า 200 คน ในอนาคต มีคำตอบอยู่แล้วคือ ประชาธิปัตย์ต้องมีความเป็นเอกภาพ ภายใต้ความร่วมมือร่วมใจของทุกคน มั่นใจว่าประชาธิปัตย์สามารถก้าวเดินไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นได้” จุรินทร์ให้คำมั่นกับสมาชิกพรรคสีฟ้า
แม้จุดยืนทางการเมืองที่ “จุรินทร์” เคยให้ไว้ก่อนได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป. คนที่ 8 คือ ต้องรอให้ที่ประชุมพรรคที่มี ส.ส.ทั้ง 52 คนของพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคชี้ขาดจุดยืนทางการเมืองว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร.
ซึ่งคนในพรรค ปชป.ต่างรู้ดีว่าจุดยืนทางการเมืองของ “จุรินทร์” คงต้องฟังสัญญาณจาก “นายหัวชวน” ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ว่าจะเลือกทางเดินอย่างไรให้กับพรรค ปชป.
โดยพลพรรคสีฟ้าต่างรับรู้กันเป็นอย่างดีว่า นายหัวชวนไม่ได้มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนให้พรรค ปชป.เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร.ตั้งแต่แรก
เพราะ “นายหัวชวน” อ่านเกมการเมืองแบบมองข้ามช็อตว่า ด้วยการฟอร์มทีมตั้ง ครม.ของพรรค พปชร.ด้วยเสียงปริ่มน้ำ ที่ต้องเปิดหน้าปะ ฉะ ดะ กับฝ่ายค้านที่ผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็ง นำโดยพรรคเพื่อไทย (พท.) นั้น โอกาสที่รัฐบาล พปชร.จะอยู่รอดปลอดภัยแบบครบเทอม ครบวาระ 4 ปีนั้นเป็นไปได้ยาก
สู้ให้พรรค ปชป.ยึดมั่นในจุดยืนและอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่ยอมรับแนวทางการสืบทอดอำนาจ และทำหน้าที่พิสูจน์ตัว ฟื้นความเชื่อมั่นและศรัทธาจากประชาชนให้กลับมาเลือกพรรค ปชป.อีกครั้งน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า
ขณะที่แนวร่วมที่สนับสนุนแนวคิดไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร.ยกเหตุผลมาสนับสนุนด้วยว่า เพราะการรักษาคำมั่นสัญญาหรือสิ่งที่เคยเอ่ยปากไว้กับประชาชนในช่วงการหาเสียงก่อนผลการเลือกตั้งออกมาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะสิ่งนี้คือเหตุผลที่ประชาชนเขาเลือกพรรค ปชป.
การอ้างว่าแล้วแต่กรรมการบริหารชุดใหม่เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะประชาชนจะมองไปในทางว่า นี่คือการเล่นละครกันภายในพรรค พอหาเสียงให้คนหนึ่งพูดอย่าง พอหลังเลือกตั้งก็ให้คนนั้นหมดหน้าที่ แล้วให้คนใหม่มาพูดอีกอย่าง
ความไม่ศรัทธาในพรรคจะเกิดขึ้นและกลายเป็นสิ่งที่อยู่ในความทรงจำของประชาชน และไม่เชื่อถือทุกอย่างที่พรรค ปชป.พูดหาเสียงในอนาคต
ส่วนอีกกลุ่มที่นำโดย “ถาวร เสนเนียม” ส.ส.สงขลา พรรค ปชป. ที่มีกลุ่ม ส.ส.เป็นแนวร่วมและเห็นว่าควรร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร. เพื่อนำนโยบายที่พรรค ปชป.ใช้หาเสียงโดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจไปแก้ไข ช่วยให้ประชาชนไม่เดือดร้อนจากปัญหาที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนไม่ลืมผลงานและบทบาทของพรรค ปชป.
คำตอบร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร. จึงถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์การทำหน้าที่ของ “หัวหน้าจุรินทร์” ว่าจะควบคุมพลพรรคสีฟ้าให้เดินตามมติพรรคเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่
เพราะหาไม่แล้วช่วงโหวตเลือกนายกฯ คงได้เห็น “งูเห่า” พรรคสีฟ้าโผล่กลางสภาก็เป็นได้