เส้นทางสืบทอดอำนาจ ที่อดสูและน่าอับอาย | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

โดยปกติแล้วการเลือกตั้งควรนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากความยอมรับของประชาชน แต่ปรากฏการณ์ทางการเมืองหลังเลือกตั้ง 2562 กลับชี้ว่า เรามีโอกาสจะได้รัฐบาลใหม่ซึ่งประชาชนยอมรับต่ำมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจาก 11 นักการเมืองจาก 11 พรรคเล็กแถลงหนุนพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาล

แน่นอนว่านักการเมืองพรรคเล็กไม่ใช่นักการเมืองที่สังคมให้ราคา และด้วยเหตุที่ส่วนใหญ่ของ 11 นักการเมืองล้วนเป็นคนที่ประชาชนไม่รู้จัก ความยอมรับรัฐบาลที่พรรคเล็กสนับสนุนจึงพลอยต่ำไปด้วย

โดยเฉพาะในเวลาที่สังคมเห็นว่าคนกลุ่มนี้ได้เข้าสภาเพราะวิธีคำนวณของ กกต.ยิ่งกว่าคะแนนเสียงประชาชน

จริงอยู่ว่าโดยกฎหมายแล้วพรรคเล็กมีสิทธิได้เข้าสภาตามคำวินิจฉัยของ กกต.

แต่ในเวลาที่คนจำนวนมากเห็นว่าเรื่องนี้ กกต.คำนวณผิดถึงขั้นมีผู้ระแวงไปเองว่า กกต.รับงาน ความชอบด้วยกฎหมายย่อมไม่ทำให้เกิดความชอบธรรมทางการเมืองไปด้วย แม้โดยเนื้อแท้แล้ววิธีของ กกต.จะมีเหตุผลทางกฎหมายก็ตาม

ท่ามกลางความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อ กกต. และความเชื่อว่าพรรคเล็กได้เข้าสภาตามแผนทางการเมือง คำประกาศของพรรคเล็กเรื่องหนุนพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลและหนุนคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ทำให้พรรคเล็กถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงแบบที่ไม่เคยเกิดแก่ ส.ส.คนไหนหรือพรรคการเมืองใดๆ

ในทวิตเตอร์ของคุณวงศ์ทนงซึ่งปกติแล้วไม่ค่อยพูดเรื่องการเมืองแรงๆ “ฉายา” ที่โซเชียลตั้งให้กลุ่มพรรคเล็กมีตั้งแต่ ส.ส.สวะ, ส.ส.ขยะ, ส.ส.ขอทาน, ส.ส.ขอส่วนบุญ, ส.ส.สัมภเวสี ฯลฯ จนคุณวงศ์ทนงตั้งคำถามว่าคนกลุ่มนี้ไม่อับอายบ้างเลยหรือ เพราะไม่เคยมี ส.ส.ที่ถูกประชาชนด่าขนาดนี้ทั้งที่ยังไม่เข้าสภา

ด้วยคำประกาศของ 11 ส.ส.จาก 11 พรรคเล็กซึ่งทุกพรรคได้ ส.ส.พรรคละคน พรรคพลังประชารัฐซึ่งแพ้เลือกตั้งสามารถรวบรวมเสียง ส.ส.สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ทั้งสิ้น 135 คนแล้ว นั่นคือ 115 จากพลังประชารัฐ, 5 จากพรรคสุเทพ, 3 จากพรรคคุณชัช เตาปูน และ 11 ส.ส.ซึ่งสังคมตั้งฉายาที่เลวร้ายต่างๆ นานา

แม้จะเป็นเรื่องอัปยศที่พรรคฝ่ายหนุนประยุทธ์ทั้ง 14 พรรคมีจำนวน ส.ส.รวมกันน้อยกว่าพรรคเพื่อไทยพรรคเดียว

แต่ในรัฐธรรมนูญที่คุณประยุทธ์อำนวยการผลิต ตัวเลข ส.ส. 135 คนแปลว่าคุณประยุทธ์ต้องการเสียงวุฒิสภาในการเลือกนายกฯ อีกแค่ 240 จากจำนวนวุฒิสมาชิกที่คุณประยุทธ์เลือกเอง 250 คน

เมื่อคำนึงว่า “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” มี ส.ส.รวมกัน 245 วุฒิสมาชิกที่ฝ่ายนี้ต้องการเพื่อให้ได้นายกฯ ที่มาจากพรรคเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนฯ คือ 130 ซึ่งถือว่ายากเมื่อคำนึงว่าคุณประยุทธ์เป็นคนตั้งวุฒิสมาชิกทั้งหมด

และแม้อนาคตใหม่จะชนะเลือกตั้งซ่อมเชียงใหม่จนฝ่ายนี้ได้ ส.ส.รวมเป็น 247 เรื่องนี้ก็ยากอยู่ดี

ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยเป็นตัวแปรสำคัญต่อการตั้งรัฐบาล “ฝ่ายประชาธิปไตย” เพราะถ้าหากทั้งสองพรรคหนุนนายกฯ จากเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนฯ จำนวน ส.ส.จากทุกพรรคจะอยู่ที่ 350 เท่ากับครึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา แต่ฉากอนาคตแบบนี้เกิดยากพอๆ กับเรื่องวุฒิสมาชิกเลือกนายกฯ ที่มาจากประชาชน

แม้ประชาธิปัตย์จะเลือกหัวหน้าพรรคในวันที่ 15 พฤษภาคม แต่โอกาสที่พรรคจะแถลงจุดยืนเรื่องตั้งรัฐบาลน่าจะเกิดหลังจากนั้นไปอีก เพราะในเมื่อพรรคภูมิใจไทยให้ ส.ส.รับฟังความเห็นประชาชนเพื่อแสดงท่าทีเรื่องนี้ในวันที่ 20 หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ย่อมไม่มีทางแสดงจุดยืนเรื่องนี้เร็วกว่าภูมิใจไทย

ด้วยปัจจัยภายในของประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยตั้งแต่ความสัมพันธ์กับเพื่อไทย, ความรู้สึกต่อคุณทักษิณ, สายสัมพันธ์ส่วนบุคคลกับพลังประชารัฐ ฯลฯ หรือปัจจัยภายนอกอย่าง “การเมืองพิเศษ” ที่ครอบงำประเทศตั้งแต่ปี 2557 โอกาสที่ทั้งสองพรรคจะตั้งรัฐบาลกับ “ฝ่ายประชาธิปไตย” มีน้อยถึงแทบไม่มีเลย

ต่อให้ “ฝ่ายประชาธิปไตย” จะดิ้นรนไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งรัฐบาลโดยทุกวิถีทาง ความเป็นไปได้ที่ข้อเสนอประเภทให้คุณอนุทินหรือคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ จะได้รับการตอบสนองจากประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยก็มีน้อยมาก ต่อให้ข้อเสนอจะถึงขั้นให้สองพรรคได้ตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงหลักๆ ด้วยก็ตามที

ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอของอนาคตใหม่ที่พูดแบบเท่ๆ ว่า “ปิดสวิตช์ ส.ว.” หรือการเจรจาต่อรองเพื่อให้พรรคที่ยังไม่แสดงท่าทีชัดๆ เปลี่ยนใจมาสนับสนุน “ฝ่ายประชาธิปไตย” ความเป็นไปได้ที่ประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย, ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนา ซึ่งมีจำนวน ส.ส. 116 คน จะตัดสินใจแบบนั้นแทบไม่มีเลย

ทันทีที่คำแถลงของพรรคเล็กเผยแพร่ออกไป ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุณประยุทธ์ส่งยิ้มให้สื่อทำเนียบอย่างมีความสุข ความทระนงว่าการตัดสินใจของตัวเองสำคัญต่อคุณประยุทธ์ทำให้คุณมงคลกิตติ์ที่สังคมเรียกว่า “ส.ส.ปัดเศษ” เย้ยหยันพรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยว่าอย่าต่อรองเยอะอย่างไม่มีใครทำกัน

ถ้าการเมืองเป็นแค่การรวมเสียง ส.ส.อย่างที่คุณประยุทธ์เข้าใจ โอกาสที่คุณประยุทธ์จะได้ครอบครองทำเนียบรัฐบาลราวมรดกประจำตระกูลก็คงจะยาวนานต่อไปอีก

แต่อย่างที่ทุกคนรู้กัน หากเสียงส่วนใหญ่ในสภาเป็นโจร มติที่ชุมโจรตกลงย่อมเป็นมติซึ่งผู้คนยอมรับได้ยาก และนั่นคือสิ่งที่คุณประยุทธ์อาจเจอ

ด้วยพื้นฐานของการเป็นนายกฯ โดยมีพลังประชารัฐเป็นแกนกลางในสภาผู้แทนฯ ประชาชนจำนวนมากย่อมรู้สึกว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เพราะการสนับสนุนของพรรคที่ “แพ้เลือกตั้ง” จนยากที่คุณประยุทธ์กับรัฐบาลจะเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ไปได้ รัฐบาลสืบทอดอำนาจจึงเริ่มต้นด้วยต้นทุนที่ติดลบทันที

เพื่อให้คุณประยุทธ์เห็นฉากอนาคตที่จะเกิดอีกไม่ไกล รัฐบาลประยุทธ์อยู่บนเส้นทางของการถูกโจมตีว่าเป็นรัฐบาล “แพ้เลือกตั้ง” แบบรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ แต่ข้อต่างคือคุณอภิสิทธิ์ได้เป็นรัฐบาลเพราะรัฐบาลเสียงข้างมากอย่างพลังประชาชนล่มสลาย ส่วนคุณประยุทธ์ได้เป็นเพราะฝ่ายแพ้แย่งฝ่ายชนะตั้งรัฐบาล

ถ้ารัฐบาลแพ้เลือกตั้งยุคคุณอภิสิทธิ์ถูกสังคมประณามจนเกิดปัญหา “วิกฤตความชอบธรรม” ทั้งที่มีข้ออ้างเรื่องความจำเป็นทางการเมืองแบบนี้ รัฐบาลแพ้เลือกตั้งยุคคุณประยุทธ์จะเลี่ยงปัญหา “วิกฤตความชอบธรรม” จากความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกพรรคอื่นไปตั้งรัฐบาลได้อย่างไร?

นอกจากการได้เป็นนายกฯ ของรัฐบาลที่พรรค “แพ้เลือกตั้ง” เป็นแกนกลาง พรรคการเมืองที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ล้วนห่างไกลคำว่า “ความสง่างาม” แทบทั้งสิ้น มือที่เลือกคุณประยุทธ์คือพรรคเล็กซึ่งสังคมมองว่าได้เข้าสภาเพราะ กกต.จนถูกเหยียดหยามอย่างหนักหน่วงจนไม่มีทางสร้างความยอมรับให้ใครได้เลย

คุณมงคลกิตติ์และพรรคเล็กอาจเพิ่มยอด ส.ส.ที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ในสภา แต่สิ่งที่คนเหล่านี้ไม่มีคือ “ความชอบธรรมทางการเมือง” ที่จะส่งผ่านให้คุณประยุทธ์ได้ความยอมรับนับถือจากประชาชนไปด้วย

ขณะที่นายกฯ ซึ่งคนกลุ่มนี้ยอมรับต้องแบกรับแรงหมิ่นหยามที่สังคมมีต่อคนกลุ่มนี้ไปด้วยกัน

คนกลุ่มใหญ่ที่ทำให้คุณประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ คือวุฒิสภา แต่ด้วยการที่คุณประยุทธ์ตั้งคนเหล่านี้เพื่อเลือกตัวเอง, แจกเก้าอี้ให้คนใกล้ชิดในรัฐบาล/สนช./สภาปฏิรูป, ตั้งน้องตัวเองอย่าง พล.อ.ปรีชาเป็น ส.ว. ทั้งที่สังคมมองว่าขาดประชุมเยอะ ฯลฯ วุฒิสภาย่อมเป็นฐานด้านความชอบธรรมให้คุณประยุทธ์ไม่ได้เลย

ต่อให้ประชาธิปัตย์ยุคหัวหน้าพรรคคนใหม่ตัดสินใจโหนรัฐบาลพลังประชารัฐแล้วหนุนคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปี 2562 อย่างย่อยยับทำให้ประชาธิปัตย์ไม่มีหน้าไปพยุงความชอบธรรมทางการเมืองให้ใครอีก อย่างเดียวที่คุณประยุทธ์จะได้คือมือที่ไร้ความนับถือจากสังคมไปเลือกตัวเอง

ในวังวนของความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาหลายสิบปี และหนึ่งในบทเรียนที่คนไทยควรได้คือเสียงส่วนใหญ่ในสภาคือรากฐานของความชอบธรรมทางการเมืองที่สำคัญที่สุด ปัญหาใหญ่ของ พล.อ.ประยุทธ์ในการสืบทอดอำนาจครั้งนี้คือการเข้าสู่อำนาจด้วย ส.ส. และ ส.ว.ที่หาความชอบธรรมไม่ได้เลย

ต่อให้แผนการตั้ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ด้วยพรรคการเมืองที่แพ้เลือกตั้งและวุฒิสมาชิกที่ท่านตั้งเองจะสำเร็จ เมื่อใดที่ประชาชนเห็น พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อนั้นประชาชนจะเห็นรัฐบาลซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้เลือก

และกระบวนการที่คนกลุ่มน้อยใช้การเลือกตั้งเป็นพิธีกรรมสืบทอดอำนาจโดยลงมือทำทุกวิถีทาง