ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 ธันวาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | หน้าพระลาน |
เผยแพร่ |
การทำงานสร้างงานทุกสิ่งอย่างย่อมต้องลงทุน มีต้นทุน เริ่มจากความรู้สึกนึกคิด แรงจูงใจ บันดาลใจ เกิดความรักความศรัทธา โดยเฉพาะกับการสร้างงาน “ศิลปะ”
เหมือนดังเช่นนักศึกษา ครูอาจารย์ ศิษย์เก่า “ศิลปินอิสระ-ศิลปินแห่งชาติ” จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ร่วมกับชาวศิลปากรทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งรู้จักกันเป็นอย่างดีทั่วไปจนเรียกขานกันติดปากว่าชาว “หน้าพระลาน” นำเอาความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ความบันดาลใจอันเกิดจากความรักอาลัย “พ่อหลวง-พ่อของแผ่นดิน”
มาถ่ายทอดลงบนแผ่นไม้อัด ผืนผ้าใบ เป็นงาน “จิตรกรรม” ขนาดใหญ่
โครงการ “งานวาดภาพในหลวงของประชาชน” ซึ่งรวมเอางานประติมากรรม สื่อผสม กิจกรรมอื่นๆ และดนตรี ได้เสร็จสิ้นผ่านพ้นไปตามเป้าหมายแล้ว เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2559 บังเอิญได้มีส่วนเข้าร่วมโครงการบ้างเล็กๆ น้อยๆ ในฐานะศิษย์เก่าด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์จากต้นทุนของความรักเทิดทูนจงรักภักดี พร้อมทั้งได้ติดตามเสนอข่าวความเคลื่อนไหวเป็นไปมาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งขณะนี้จำนวนชิ้นงานซึ่งเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จำนวน 89 ชิ้น รวมทั้งงานประติมากรรมขนาดต่างๆ ซึ่งมีทั้งภาพนูนต่ำ นูนสูง และลอยตัว ขนาดใหญ่ จำนวนหนึ่ง ได้ดำเนินการติดตั้งไว้บริเวณอาคารรอบสนามหญ้า คณะจิตรกรรมฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Prof.Corrodo Feroci) ผู้ก่อตั้งคณะจิตกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร–ติดกับด้านหลังกรมศิลปากร
ประชาชนทั่วไป ผู้ที่ให้ความสนใจสามารถผ่านเข้าไปชมได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไร ซึ่งดูเหมือนจะได้รับความสนใจเดินทางเข้าไปเยี่ยมชมยังมหาวิทยาลัยแห่งนี้กันมิได้ขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันหยุดราชการ
บรรยากาศรอบๆ กำแพงมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งนี้ โดยเฉพาะกำแพงด้านนอกทางด้านทิศใต้ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกำแพงเดิมเก่าของวังท่าพระ ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง ก็มีผลงานเพ้นต์พระบรมสาทิสลักษณ์ ซึ่งเป็นฝีมือของนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ ติดตั้งมาตั้งแต่หลังวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นวัน “สวรรคต” เพียงไม่กี่วัน เพราะพวกเขากระหน่ำพู่กันกันอย่างรวดเร็วกระทั่งเกิดผลงานเสร็จสมบูรณ์อยู่เต็มกำแพง เป็นที่ปรากฏต่อสายตาประชาชน
สมาคมนักศึกษาเก่า คณะจิตกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ร่วมมือกับคณบดีคณะจิตรกรรมฯ เปิดโครงการ “ศิลปากร-รวมใจถวายพ่อหลวง” เพื่อชักชวนชาวศิลปากรมาร่วมแรงร่วมใจกันวาดภาพในหลวงของประชาชนขึ้น ซึ่งมิได้คาดหมายมาก่อนว่าจะต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจะสร้างผลงานเป็นจำนวนมาก เพราะเครื่องไม้เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ทั้งหลายในการทำงานศิลปะ โดยเฉพาะสีชนิดต่างๆ ปัจจุบันมีราคาสูงยิ่งทีเดียว
สถานที่ทำงานก็อีกปัญหาหนึ่งเพราะต้องทำงานกันกลางแจ้ง ย่อมต้องมีร่มเงา เช่น เต็นท์ ขณะเดียวกันความคับแคบของอาคารเนื่องจากมหาวิทยาลัยกำลังรื้อถอนเพื่อก่อสร้างปรับปรุงอาคาร (Renovate) รวมทั้งปลายเดือนตุลาคม ฝนฟ้ายังกระหน่ำลงมาได้ทุกเวลา โต๊ะ เก้าอี้ จานสี กระป๋องน้ำ แม้กระทั่งผ้าสำหรับเช็ดสี เช็ดพู่กัน
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าอื่นใดทั้งสิ้นกับการที่มีคนมารวมตัวกันมากๆ เพื่อปฏิบัติงานตลอดทั้งวัน คือ อาหารและน้ำดื่ม สิ่งเหล่านี้ สมาคมนักศึกษาเก่า คณะจิตรกรรมฯ ต้องเตรียมไว้พร้อม
ถ้าหากไม่บังเอิญพลัดหลงด้วยความจงใจเข้าไปอยู่ในกลุ่มไลน์ของสมาคมนักศึกษาเก่า คณะจิตรกรรมฯ ย่อมไม่รู้อะไรเป็นอะไร อันที่จริงสมาคมนักศึกษาเก่าพอจะมีเงินทุนสะสมอยู่บ้างพอสมควร แต่การจับจ่ายใช้สอยเงินของส่วนรวมนั้นจะทะเล่อทะล่าส่งเดชหละหลวมไม่รัดกุมย่อมไม่ได้ สมาคมมีคณะกรรมการรับผิดขอบ และมีการตรวจสอบอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบ ยึดถือข้อบังคับ และกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ถึงแม้ไม่ได้นัดประชุมกันอย่างพร้อมหน้าเพราะด้วยเงื่อนไขของเวลา เพียงติดต่อกันทางไลน์ ทุกท่านก็เห็นดีเห็นงามกับโครงการนี้ด้วยการใช้เงินของสมาคมเพื่อดำเนินการไปก่อนกับต้นทุนที่จะเกิดขึ้นกับโครงการเพื่อถวายความจงรักภักดีต่อ “พ่อหลวง-พ่อของแผ่นดิน” ค่อยมาหาทางจัดการกันต่อไปทีหลังย่อมจะได้
จะต้องบอกว่าราคาวัสดุอย่างเช่น การจัดทำไม้อัดขนาดใหญ่ 2.40 x 2.40 เมตร เพื่อใช้วาดภาพ รวมถึงมาเพิ่มคุณภาพขึ้นโดยขึงทับด้วยผ้าใบ (Canvas) คิดกันเป็นราคาออกมาแต่ละเฟรม เมื่อมาคิดจำนวนรวมกันทั้งหมดออกมาเป็นตัวเลขจำนวน 6 หลักขึ้นไปทีเดียว
เมื่อมีการระดมความคิด เริ่มเผยแพร่ชักชวนกันในแวดวงคนทำงานศิลปะ ศิษย์เก่า ทั้งเป็นศิลปิน ครูอาจารย์สอนศิลปะตามสถาบันสอนศิลปะทั้งหลายทั่วประเทศเพื่อให้มาทำงานวาดภาพครั้งนี้ ข่าวคราวเริ่มแพร่กระจายก็มีการตอบรับจากคนทำงานศิลปะเข้ามาเพื่อจะช่วยกันสร้างงานสำคัญครั้งแรกนี้ถึงกว่า 80 คน
คนยิ่งมาก ข่าวยิ่งกระจายดังขึ้นย่อมยิ่งสร้างความกังวล หนักใจให้กับเจ้าภาพ และเจ้าของสถานที่ โดยเฉพาะคณบดีคณะจิตรกรรมฯ นายกสมาคมนักศึกษาเก่า คณะจิตรกรรมฯ รวมทั้งกรรมการสมาคมทั้งหลาย เพื่อเตรียมการรับรอง ซึ่งแน่เหลือเกินว่านั่นเป็นการเพิ่มขึ้นของ “ต้นทุน” ในการผลิตงานจำนวนมาก
แวบหนึ่งของความคิดจากประสบการณ์ คงหนีไม่พ้นการระดมทุนจากคนที่มีกำลังพอ คนละน้อยนิด ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นกองใหญ่ขึ้น เมื่อแสดงเจตจำนงลงไปเป็นการจุดประกาย
ปรากฏว่ามีท่านอื่นๆ ได้หยิบยื่นการสมทบทุนมาแล้ว ตั้งแต่เป็นเงินสด อุปกรณ์การวาดภาพ-เขียนรูป ทั้งสี พู่กัน และ ฯลฯ
ที่สำคัญที่สุดแนวทางนี้ก็ไม่ได้หยุด ยังเพิ่มจำนวนผู้ร่วมสมทบทุนเหมือนดังที่กล่าวกับกรรมการว่าช่วยกันคนละน้อยนิด ประเดี๋ยวก็จะเพิ่มพูนขึ้นแน่ๆ
ในที่สุดเรื่องของอาหารและน้ำดื่มก็ติดตามมาถึงขนาดไปเปิดครัวกัน เพื่อแจกจ่ายประชาชนที่แห่แหนกันไปกราบพระบรมศพด้วย
หลังจากหัวเรือใหญ่ของคณะจิตรกรรมฯ กับนายก+คณะกรรมการสมาคมนักศึกษาเก่า คณะจิตรกรรมฯ ทำงานกันอย่างหนักด้วยความเร่งรีบแข่งกับเวลา ประกอบกับความมีศักยภาพในการเรียนการสอนศิลปะ การผลิตบัณฑิตออกมารับใช้สังคมประเทศชาติ สร้างชื่อเสียงในประเทศนี้อย่างมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป จึงมี “กลุ่มทุนขนาดใหญ่” เข้ามาเป็น “ผู้สนับสนุนหลัก” เป็นเงินทุนตัวเลข 7 หลักทีเดียว หลังการวาดภาพครั้งแรก (32 ภาพ) ผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 22-24 ตุลาคม 2559
โครงการวาดภาพในหัวข้อ “ในหลวงของประชาชน” อีก 2 ครั้ง ในวันที่ 12-13 พฤศจิกายน (30 ภาพ) วันเสาร์-อาทิตย์ที่ 26-27 พฤศจิกายน 2559 (27ภาพ) จึงติดตามมาพร้อมกับความคิดใหม่ๆ เพื่อจะได้พระบรมสาทิสลักษณ์ จำนวนทั้งหมด 89 ภาพ รวมกับงานประติมากรรมอีกจำนวนหนึ่งดังที่ได้เขียนบอกกล่าวไปบ้างแล้ว
เพราะไม่ใช่เพียงแค่การวาดภาพ ปั้นรูปกันแต่เพียงอย่างเดียว คณะจิตรกรรมฯ ได้เชื้อเชิญชักชวนคณะต่างๆ ให้มามีส่วนร่วม เช่น คณะมัณฑนศิลป์ นำของมาแจก นักศึกษามาพิมพ์เสื้อสัญลักษณ์ เลข 9 ให้ประชาชนพร้อมแจกพระบรมสาทิสลักษณ์ ขนาด A4 มีการแสดงดนตรีเพลงพระราชนิพนธ์ จากนักร้องประสานเสียง และวงดุริยางค์จากคณะดุริยางคศาสตร์ ศิลปากร รวมทั้งการเขียนภาพประกอบดนตรีโดย “ศิลปินแห่งชาติ” พร้อมอาหาร น้ำดื่ม
ครั้งที่ 3 นอกจากบรรยากาศการเขียนภาพของศิลปินทั้งหลายอย่างไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นภาพ “ประวัติศาสตร์” ในอนาคตแล้ว ก็ยังมีรายการแสดงดนตรี เช่น Silpakorn Student Jazz Ensemble, วุฒิชัย & Jazz Happens Band บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์/เพลงประพันธ์เพื่อในหลวง/เพลง Jazz สแตนดาร์ด/เพลงที่ในหลวงทรงโปรด/ที่ยกเอามาบอกซ้ำนั้น ผ่านไปเรียบร้อยแล้วทั้งสิ้น
ขณะนี้ผลงานซึ่งนักศึกษา นักศึกษาเก่าหลากหลายรุ่น ศิลปินใหญ่-น้อย (เกือบ 200 ชีวิต) ร่วมด้วยช่วยกันสร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจ เพื่อเป็นการถวายความอาลัยด้วยความจงรักภักดี ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตผลงานจำนวนมากนี้จะถูกบันทึกไว้เป็น “ประวัติศาสตร์”
แต่ขณะเดียวกันกลับดูเหมือนว่าผลงานอันทรงคุณค่าเหล่านี้ เริ่มที่จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องราวต่างๆ ขึ้น เช่น มีผู้หยิบฉวยไปตีพิมพ์เป็นปกหนังสือ เป็นหนังสือแจกฟรี ไม่เว้นแม้แต่ “กระทรวงวัฒนธรรม” ซึ่งรับผิดชอบเรื่องศิลปวัฒนธรรมของชาติ ก็หยิบฉวยด้วยการถ่ายภาพการทำงานภายในคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ครั้งนี้ ไปตีพิมพ์แจกประชาชน ทำเหมือนกับเป็น “ผลงานของกระทรวง” ทีเดียว
คนที่รับผิดชอบเรื่องศิลปวัฒนธรรมของชาติ ไม่มีปัญญาคิดแค่เรื่อง “มารยาท” หรือต้นทุนของการสร้างงาน กระทั่งเรื่องลิขสิทธิ์ ทำอะไรมักง่าย แล้วชาวบ้านทั่วไปจะทำยังไงกันดี?
ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกันเพื่อให้เกิดความชัดเจน จะได้ไม่มีปัญหา ซึ่งพร้อมจะติดตามมาอีกมากในอนาคต