ฉัตรสุมาลย์ : บ้านพระยาวิจิตรนาวี ในความทรงจำของฉัน

ความทรงจำของฉันเนี่ยะนะ ฉันไปรู้จักอะไรกับเขาด้วย พระยาวิจิตรนาวี คนนี้ชื่อ วิลเลี่ยม บุณยะกลิน เป็นเจ้ากรมอู่ทหารเรือคนที่ 5 นี่เปิดดูในยูทูบนะคะ

มีคนคอมเมนต์เข้ามาหลายคน เลยคิดว่าไอ้ที่ตัวเองรู้ก็ควรจะบันทึกไว้ด้วยนะ

ผู้เขียนเคยอยู่บ้านนี้ถึง 8 ปี

จริง

ช่วง พ.ศ.2504 ถึง 2512 ค่ะ

8 ปีเชียวนะ สามารถเขียนผังบ้านทั้ง 3 ชั้น 17 ห้องให้ดูได้เลย

ไม่ใช่บ้านทรงไทยค่ะ ไม่ใช่เลย เพราะเจ้าของบ้านท่านจะเป็นมุสลิมด้วยซ้ำกระมัง

เอาทีละเรื่องก่อนนะคะ เข้าไปอยู่บ้านที่ทรงเกียรตินี้ได้อย่างไร

 

อันนี้ขอให้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่านะคะ ไม่ได้ค้นคว้าศึกษาประกอบ ลูกหลานของท่านพระยาวิจิตรนาวี จำเป็นต้องใช้เงินจึงเอาบ้านมาจำนองไว้กับคุณหลวง… ผู้พิพากษา ท่านมีบ้านอยู่ในซอยวัดดีดวด จำนองไว้ในราคาเรือนแสน และทำสัญญามาไถ่คืนในเวลาสั้น ปรากฏว่า หาเงินมาไถ่ไม่ได้ เลยตกเป็นของคุณหลวง…

บ้านหลังใหญ่มี 17 ห้อง สามชั้นนี้ เป็นภาระ ไม่สามารถให้ใครเช่าได้ เพราะชาวบ้านลือว่าเป็นคฤหาสน์ผีดุ

บ้านที่อยู่ตรงข้ามฝั่งคลองมอญเล่าว่า ตอนกลางคืน บางทีเห็นไฟเปิด และมีคนเดิน บรื๊ออออ

บ้านนี้ก็เลยทิ้งร้าง เจ้าของใหม่ก็ไม่ทราบจะจัดการอย่างไร ท่านมีลูกชายคนเดียว เป็นนายแพทย์ คุณหมอท่านก็คงไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน

คุณหลวงท่านให้ป้าปุ๋ย หญิงชราอยู่ที่บ้านชั้นเดียว ริมน้ำ ติดกับบ้านหลังใหญ่นี้ดูแล ป้าปุ๋ยก็เลยมาออกปากให้หลวงย่าภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ (มารดาของผู้เขียน) ไปอยู่ เพื่อจะได้ทำบ้านให้เกิดประโยชน์ ทำบุญทำทานให้กับวิญญาณที่อาจจะมีในบ้านนี้ และช่วยผ่อนคลายความน่ากลัวลง

นี่เป็นที่มาของเรื่อง

 

เราเองก็อยู่ในช่วงของการที่จะย้ายศูนย์กลางของวัตรจากกรุงเทพฯ ออกไปอยู่นครปฐม ซึ่งมีที่ดินรออยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันเราก็ยังต้องมีสำนักงานในกรุงเทพฯ เพื่อติดต่องาน โดยเฉพาะงานพิมพ์ที่เรามีนิตยสารรายเดือนวิปัสสนา บันเทิงสาร ที่เราพิมพ์เอง ตั้งแต่ พ.ศ.2498 หนังสือรายเดือนนี้อยู่ยงคงกระพันมาถึง 32 ปี ที่พูดว่า “เรา” นี้ ก็ต้องขยายความว่าหมายถึง มารดาของผู้เขียน ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์

ช่วงที่อยู่ที่คฤหาสน์ของท่านพระยาวิจิตรนาวีนี้ เราใช้เป็นโรงพิมพ์ผลิตหนังสือที่ว่า เพราะผู้คนแถบนั้นเล่าลือว่า บ้านนี้เป็นบ้านผีดุ ในช่วงที่เราอยู่ หลวงย่าท่านก็เลยตั้งชื่อแก้เคล็ดให้เป็นมงคลว่า ตึกวีรธรรม

ยังมีสองเรื่องดุๆ เกี่ยวกับบ้านหลังนี้ คือ ห้องเล็กชั้นสาม ทางขึ้นเป็นบันไดแคบๆ ต้องขึ้นจากห้องที่อยู่ด้านหลังของโถงชั้นสอง เป็นห้องที่บิดาของท่านพระยาวิจิตรนาวีผูกคอตาย จริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่เล่ากันมาให้เราซึ่งเป็นเด็กๆ สยองเล่น

ส่วนห้องที่อยู่ชั้นล่าง แอบอยู่ด้านหลัง ต้องเข้าจากห้องใหญ่ที่เราไปใช้ตั้งแท่นพิมพ์ฉับแกละ ห้องนี้มีประตูเข้าแคบๆ เล็กๆ มีหน้าต่างติดลูกกรง ความสูงเลยศีรษะ ก็ว่ากันว่า ภรรยาเด็กของท่านเจ้าของบ้านที่เป็นบ้า ถูกจองจำจนเสียชีวิตที่ห้องนี้

ผู้เขียนไม่เคยกรายเข้าไปเลยค่ะ กลัว

 

ปีที่เราย้ายเข้าไปอยู่นั้น ผู้เขียนเรียนอยู่ชั้น ม.8 ที่โรงเรียนราชินีบน ประมาณ พ.ศ.2504 เส้นทางการเดินทางไปโรงเรียน คือออกมาขึ้นรถสีฟ้าสาย 42 บนถนนจรัญสนิทวงศ์ แล้วไปลงที่พรานนก เพื่อข้ามเรือข้ามฝาก 1 สลึงไปขึ้นที่ท่าวังหลัง แล้วต่อรถเมล์ต้นทางไปลงบางกระบือ เลยโรงเรียนไปเล็กน้อย แล้วเดินย้อนกลับมา นี่เป็นเส้นทางไปโรงเรียน รู้จักเส้นทางเดียวค่ะ

คฤหาสน์หลังนี้ ที่เราเรียกตามชื่อใหม่ว่าตึกวีรธรรม หันหน้าออกคลองมอญ สมัยนั้นยังไม่มีถนน เพราะฉะนั้น หน้าคฤหาสน์หันหน้าไปทางเหนือ แต่เราไปอยู่ในช่วงที่มีถนนแล้ว การเดินทางเข้าออกตึกหลังนี้จึงเข้าทางด้านข้างของตัวบ้าน โดยใช้ประตูด้านข้าง น่าจะเป็นทิศตะวันออก คือด้านถนนจรัญสนิทวงศ์

ห้องด้านล่างขนาดใหญ่ แน่ใจว่าต้องเป็นห้องรับแขกของท่านเจ้าของบ้าน พื้นเป็นหินอ่อนขาวดำ วางสลับกันในมุม 45 องศาแบบตาหมากรุก เหนือบานหน้าต่างเคยติดม่าน ยังมีราวและห่วงทองเหลืองที่คล้องผ้าม่านอยู่ สมัยเรานึกไม่ออกเลยว่าจะลงทุนทำราวด้วยห่วงทองเหลืองของจริงไม่ใช่พลาสติกเคลือบสีทอง สามารถจินตนาการได้ว่า สมัยของท่าน ห้องนี้ต้องอลังการ

มีห้องเล็กๆ อีกห้องหนึ่งอยู่ด้านหลังห้องโถงใหญ่นี้ มีประตูเปิดเข้าได้จากทางห้องโถง ติดกันเป็นบันไดขึ้นไปห้องชั้นบนที่มีลักษณะแคบยาว บันไดแคบและมืด ขอบอก

คฤหาสน์หลังนี้มีบันไดฝั่งตะวันออก กลาง และตะวันตก แคบและมืดน่าตกบันไดมาก มีบันไดฝั่งตะวันออกเท่านั้น ที่ขึ้นจากห้องด้านหลังที่มีขนาดกว้างกว่าบันไดอื่น เนื้อไม้อย่างดีทั้งสามบันได

 

ย้อนกลับไปห้องชั้นสองที่ผู้เขียนพาท่านผู้อ่านตามมานะคะ ห้องนี้เมื่อขึ้นมาแล้ว มองไปทางขวา จะเห็นประตูเล็กๆ เปิดไปจะเป็นบันไดขึ้นไปบนห้องเล็ก ประมาณห้องพระเล็กๆ นั่งคนเดียว ห้องนี้แหละที่เขาว่า บิดาของท่านเจ้าของบ้านขึ้นมาผูกคอตาย

หลวงย่านอนห้องชั้นสอง แล้ววางเตียงยันประตูที่ว่าไว้ ตกลง นอกจากที่เราเคยปีนขึ้นไปดูห้องชั้นสามแล้ว ห้องก็ปิดตาย ไม่ได้ใช้งานในช่วง 8 ปีที่เราอยู่

จากห้องนอนแคบและยาวนี้ ขึ้นบันได 3 ขั้น จะเป็นห้องโถงใหญ่ ตรงกับห้องโถงข้างล่าง เป็นห้องที่สง่างามที่สุดของคฤหาสน์ พื้นไม้เนื้อแข็งอย่างดี มีหน้าต่างแบบบานเกล็ด เปิดแบบบานกระทุ้งโดยรอบ ช่วงที่เราอยู่ ใช้เป็นห้องพระ สวดมนต์และทำพิธีทางศาสนา

เดินทะลุห้องโถงใหญ่ ก็ต้องลงบันไดอีกสามชั้น เป็นระเบียง พื้นหินอ่อน เชื่อมต่อกับอาคารทางฝั่งตะวันออก เดินทะลุห้อง เหมือนกับห้องเชื่อมสองอาคารไปออกที่ระเบียง ต้องเรียกว่าด้านหน้าของคฤหาสน์ ตรงนี้ ด้านขวามีห้องนอนใหญ่สองห้อง ผู้เขียนเลือกห้องริมสุด ติดด้านถนนจรัญสนิทวงศ์ ใครไป-มามองออกไปจากหน้าต่างห้องนอนได้

ระเบียงสวย ลูกกรงเป็นโลหะแข็งแรง ลวดลายยังงดงามอยู่ ในสมัยที่เราอาศัยอยู่ ได้ทาสีน้ำมันทับเพื่อให้ดูสะอาดตาขึ้น เนื้อไม้ที่ระเบียงเนื่องจากถูกแดดและฝน ไม่เรียบเหมือนด้านใน

ภายในห้องที่ผู้เขียนใช้เป็นห้องนอนในช่วง พ.ศ.2504 ผนังตึกหนามาก ตรงมุมเป็นรูโบ๋ แบบที่คนชอบไปขุดหาสมบัติ เราไม่ได้ซ่อม เพราะคิดว่า หากคนที่มาอยู่คนต่อไปจะสนใจในแง่ประวัติศาสตร์ การทิ้งร่องรอยแบบนี้ไว้ น่าจะดีกว่าที่เราจะเอาปูนโบกปิดตาย

ห้องนอนของผู้เขียนนี้ มีทางลงสองทาง คือ บันไดกลาง ซึ่งเล็กและแคบมากอย่างที่ว่าไว้ข้างต้น หรือจะเดินข้ามระเบียงระหว่างอาคารไปด้านหลัง ก็จะลงบันไดด้านหลังได้

 

เล่าถึงห้องโถงใหญ่ชั้นล่างไปแล้ว ที่ทางเดินทะลุตึก อีกห้องหนึ่งฝั่งตะวันออก ก็เป็นห้องรับแขกหรืออาจจะเป็นห้องนั่งเล่นของสมาชิกผู้สูงศักดิ์ในบ้าน ห้องนี้มีขนาดย่อมกว่าห้องโถงที่เป็นห้องรับแขก น่าสนใจที่หินที่ปูพื้น นัยว่ามาจากอิตาลี จริงหรือเปล่าไม่ทราบ แต่แน่นอนไม่ใช่หินท้องถิ่นบ้านเรา สีแดงแก่ลายขาวค่ะ แผ่นหนึ่งที่พวกเราเด็กๆ หลอกกันมาก คือ ตรงลายในหินที่เป็นสีขาวนั้น อ่านว่า “ผีออก”

ห้องนี้มีตู้ใส่ถ้วยชามน่ารักฝังติดผนัง ถ้าไม่รู้จะนึกว่าเป็นประตูที่จะเปิดไปสู่อีกห้องหนึ่ง

เนื่องจากในช่วงที่เราอยู่นั้น ใช้ทางเข้าออกจากถนนจรัญสนิทวงศ์ เราก็เลยใช้ห้องนี้เป็นห้องรับแขก และใช้ห้องรับแขกใหญ่ที่อยู่ข้างในเป็นที่วางโต๊ะเรียงพิมพ์สำหรับโรงพิมพ์

จากประตูเล็กที่เราเข้าทางด้านข้างของบ้านนั้น ห้องซ้ายมือ เราใช้เป็นห้องกลึงหิน ใช่ค่ะ เราสกัดและกลึงหินสบู่เพื่อทำเครื่องใช้ ตั้งแต่ บาตร โอ โถ แจกัน ฯลฯ ห้องด้านขวาจะเปิดเข้าห้องที่มีพื้นเป็นหินอ่อนสีแดง และเราใช้เป็นห้องรับแขก

มีระเบียงกว้าง ติดกำแพงด้านขวา วางโต๊ะมีช่างเรียง 3-4 คน เลยห้องกลึงหินทางขวามือเข้ามา เป็นทางขึ้นบันไดหลัง และต่อมาเป็นอีกห้องหนึ่งที่เราใช้วางแท่นพิมพ์ที่เล่าไปแล้ว

เดินตรงทะลุออกจากตัวอาคารไปเลย มีต้นละมุด ออกผลให้เราได้เก็บกินอยู่

ทั้งบ้านไม่มีน้ำ และไม่มีส้วม

มีก๊อกน้ำก๊อกเดียวอยู่นอกบ้านที่เราใช้ทั้งอาบทั้งกิน ส้วมเป็นส้วมเล็กๆ ที่มาสร้างทีหลังแบบชั่วคราว เป็นอะไรที่โหดมากๆ กับความรู้สึกตอนนั้น

จำได้ว่าผู้เขียนแอบไปสร้างห้องน้ำใต้มุขเล็กด้านหน้าคฤหาสน์ แต่กลายเป็นด้านข้างไปแล้ว คงทำให้เสียความงามของบ้านไปโข ด้วยความไม่รู้แท้ๆ

เออ แล้วท่านพระยาวิจิตรนาวีท่านเข้าห้องน้ำยังไง

เพราะบ้านหันหน้าออกคลองมอญ ท่าน้ำลงคลองมอญแข็งแรงมาก บริวารของท่านก็คงอาบน้ำในคลอง แต่บัดนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะเรือหางยาววิ่ง คลองกลายเป็นคับแคบไปเลย

 

เพิ่งทราบว่า ตอนนี้ (2562) มีฝรั่งที่มีความสนใจด้านสถาปัตยกรรมมาเช่าคฤหาสน์นี้ และซ่อมแซมอย่างดี เข้าไปตามดูในยูทูบแล้วแทบจะจำไม่ได้เลย สวยมาก อยากขอบคุณคนที่เห็นคุณค่าของสถาปัตยกรรมที่หายากแบบนี้จริงๆ

ขอน้อมคารวะ

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ คิดว่าอาจจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องและสนใจประวัติศาสตร์ของคฤหาสน์แห่งนี้