“วินมอเตอร์ไซค์เบอร์ 3” แห่งราชเทวี ผู้มี “นิทรรศการภาพถ่าย” เป็นของตนเอง

นี่คือเรื่องราวว่าด้วยศิลปะบนภาพถ่ายกับชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของพี่วินมอเตอร์ไซค์เบอร์ 3 แห่งราชเทวี “นายพิชัย แก้ววิชิต” หรือ “เอก” ชายวัยกลางคนอายุ 43 ปี ที่มีโอกาสค้นพบความฝันและตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง

“เอก” เล่าเรื่องราวชีวิตในวัยเด็กก่อนจะมาประกอบอาชีพวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ว่าเขาเกิดที่จังหวัดพะเยา และใช้ชีวิตอยู่กับยายท่ามกลางธรรมชาติอย่างมีความสุข

แต่เมื่ออายุ 8 ขวบ เขาได้เข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพมหานคร อาศัยอยู่กับพ่อและแม่ในชุมชนแออัดหรือสลัม ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของยาเสพติดที่แพร่ระบาดอยู่ในชุมชน

“ผมเจอทั้งคนฉีดผง ดมกาว ติดยาอยู่เต็มไปหมด แต่ผมไม่ได้ไปยุ่งกับพวกเขา วันๆ ก็ไปเรียน แล้วก็รีบกลับเข้ามาอยู่ในบ้าน”

“เอก” ใช้ชีวิตในสลัมกว่า 10 ปี เขาอาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ ห้องเดียว มีทั้งพ่อ แม่ และน้องๆ อีก 2 คน รวม 5 ชีวิต แทบทุกวันพ่อก็จะพาเพื่อนมาดื่มเหล้าในห้อง และหาเรื่องทะเลาะกับแม่อยู่เป็นประจำ

ตอนนั้นเขารู้สึกว่าโลกมันช่างโหดร้ายเหลือเกิน แต่ก็เลือกแก้ไขปัญหาด้วยการไปแอบอยู่มุมห้อง และเล่นของเล่นที่มีอยู่ไม่กี่ชิ้น

“เราใช้ชีวิตครอบครัวอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ เวลาพ่อกับแม่ทะเลาะกัน ผมรู้สึกไม่ดีมากๆ เลยกับการได้เห็นวงเหล้า หรือการทะเลาะเบาะแว้งของพ่อ-แม่

“แต่ผมก็มีโลกของผม ผมมีของเล่นอยู่ไม่กี่ตัว ไม่กี่ชิ้น เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าโลกมันโหดร้าย ผมก็จะหลบเข้ามาเล่นของเล่นอยู่กับตัวเอง จะได้ไม่รู้สึกทุกข์มากกับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า”

เมื่อโตขึ้น แม้ “เอก” จะมีเงินไม่มาก แต่เขาก็เลือกเรียนต่อผ่านระบบการศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน. ก่อนพบรักกับภรรยาและมีลูกด้วยกัน ทำให้เขาต้องดิ้นรนหาเงินเพื่อดูแลครอบครัวให้ดีที่สุด

เขาเริ่มประกอบอาชีพรับจ้างเข็นผลไม้ในตลาดมหานาค แต่เงินก็ไม่พอใช้ จังหวะชีวิตตอนนั้น มีเพื่อนมาแนะนำให้ไปขี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 22 ปีแล้วที่ “เอก” มีอาชีพหลักเป็นวินมอเตอร์ไซค์

บางครั้ง “เอก” ก็รู้สึกเบื่ออาชีพ “วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง” พร้อมเล่าให้ฟังว่า ในมุมมองของเขา อาชีพนี้เป็นอาชีพที่กดดันและเครียดมากที่สุดอาชีพหนึ่ง เพราะในแต่ละวันต้องใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนท่ามกลางการจราจรเมืองกรุงที่ติดขัดหลายชั่วโมง แต่ทุกครั้งที่เขารู้สึกเบื่อ เขาก็มีวิธีปลอบใจตัวเองให้สู้ต่อไป

“ทุกๆ ครั้งที่ผมรู้สึกเบื่อกับมัน ผมจะคิดเสมอว่าเราไม่ได้ส่งแค่ผู้โดยสารเพื่อแลกกับเงิน 5 บาท 10 บาท แต่เราส่งคน ส่งสิ่งที่มีค่าที่สุดบนโลกใบนี้ อยากส่งให้เขาถึงที่หมายอย่างปลอดภัย เพราะเขามีคนที่รักและมีครอบครัวรออยู่ที่บ้าน

“เพราะฉะนั้น ผมว่าอาชีพนี้มันเป็นอาชีพที่สำคัญมาก สำคัญมากกว่าคุณทำงานขนเงินด้วยซ้ำไป เพราะชีวิตคนเรามันสำคัญที่สุดและมีค่าที่สุด”

ระหว่างการประกอบอาชีพวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง “เอก” ใช้เวลาว่างช่วงกลางวันที่มีผู้โดยสารน้อยไปศึกษาต่อ โดยเรียน กศน. จนจบมัธยมปลาย และเลือกเรียนต่อด้านการถ่ายภาพ การล้างฟิล์ม จากวิทยาลัยสารพัดช่าง ก่อนไปเรียนต่อคณะมนุษยศาสตร์จนจบปริญญาตรี

“ผมว่าคนเราจะต้องมีการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต ตลอดการขับวินผมก็ขวนขวายอยากเรียน จนเรียนจบ เพราะหวังว่าอาจจะไปประกอบอาชีพอื่นๆ ได้ และหลุดพ้นจากการเป็นวินมอเตอร์ไซค์เสียที”

แต่เมื่อเรียนจบแล้ว ชีวิตคนเราก็ไม่ได้เป็นดังหวังเสมอไป การไปเริ่มงานในช่วงอายุมากและไม่มีประสบการณ์ ต้องแลกกับเงินเดือนขั้นต่ำ ทำให้ไม่พอเลี้ยงดูครอบครัว

“เอก” จึงตัดสินใจหวนมาวิ่งวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเหมือนเดิม

เมื่อไปไหนไม่ได้ “เอก” ก็เริ่มหาวิธีผ่อนคลายความเครียดให้กับตัวเอง และในที่สุดเขาก็ค้นพบว่าจริงๆ แล้วตัวตนของเขานั้นต้องการอะไร

“ผมคิดว่าในเมื่อคนเราไปไหนไม่ได้ อายุก็เยอะแล้ว ตั้ง 43 แล้ว ก็เลยอยากมีพื้นที่ให้ตัวเองได้ผ่อนคลายบ้าง เพราะรู้สึกว่าการเป็นวินมอเตอร์ไซค์มันก็ไม่สำคัญเท่ากับเราได้เป็นตัวเอง และนี่แหละคือจุดเริ่มต้นถ่ายภาพของผม”

“เอก” เริ่มต้นถ่ายภาพด้วยโทรศัพท์มือถือ ก่อนตัดสินใจซื้อกล้อง โดยนำรถจักรยานยนต์คู่กายไปจำนำ เมื่อได้กล้องมาแล้ว เขาก็มีข้อจำกัดไม่สามารถเดินทางไปถ่ายภาพวิวสวยๆ เช่น ทะเล ภูเขา น้ำตก เนื่องจากต้องหากินอยู่ในเมืองหลวง เขาจึงตัดสินใจเลือกถ่ายภาพกรุงเทพมหานครในมุมมองที่แตกต่างไป

“มุมมองมันเปลี่ยนไปจากเดิม อยากถ่ายอะไรที่ใกล้ตัวที่สุด เพราะว่าผมต้องหาเงิน มันทิ้งกรุงเทพฯ ไม่ได้เลยจริงๆ จึงเลือกมองผ่านศิลปะพื้นฐานง่ายๆ เส้น แสง เงา รูปร่าง สี ยกตัวอย่าง เหลี่ยมประตู เก้าอี้ หน้าต่าง แสงเงาตกกระทบ และรูปแรกที่ถ่ายลงอินสตาแกรม คือวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร”

เมื่อรูปแรกถูกโพสต์ลงอินสตาแกรมก็มีชาวต่างชาติเข้ามาแสดงความคิดเห็นและชื่นชมภาพถ่ายของเขา ตั้งแต่วันนั้น ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง “เอก” ก็จะสลัดคราบวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และก้าวเข้าสู่โลกอีกใบ ด้วยการคว้ากล้องคู่ใจเดินถ่ายภาพไปตามสถานที่ต่างๆ

“เวลาผมถอดเสื้อวินแล้วไปถือกล้องเดินถ่ายรูป ผมรู้สึกเหมือนว่าเราอยู่กับตัวเอง ผมตามหาตัวตนนี้มานานแล้ว อีกโลกหนึ่งเราพยายามดูแลครอบครัวให้อยู่รอด และไม่เคยสนใจตัวตนที่หลบซ่อนอยู่เลย

“ส่วนหน้าที่การงานก็แยกกัน อาชีพก็ส่วนหนึ่ง การเป็นตัวเราก็มาอยู่อีกโลกหนึ่ง มันเป็นโลกที่ประกอบไปด้วยเส้น แสง เงา รูปร่าง รูปทรง”

ในที่สุดภาพถ่ายของ “เอก” ในอินสตาแกรมก็ไปเข้าตากรรมการ เมื่อเขาได้รับโอกาสนำภาพถ่ายมาจัดแสดงในแกลเลอรี่ของบ้านอาจารย์ฝรั่ง ถนนราชวิถี กรุงเทพมหานคร

เมื่อได้รับคำเชิญ เขาก็หัวใจพองโตและรู้สึกอึ้ง ก่อนตอบตกลงอย่างไม่รีรอ

พอเริ่มมีชื่อเสียงก็เริ่มเกิดคำถาม? “เอก” เล่าให้เราฟังว่า มีหลายคนได้ตั้งคำถามและมองว่าอาชีพวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างดูขัดแย้งกับการเป็นช่างภาพ

แต่ส่วนตัวเขาเห็นว่า มนุษย์เราทุกคนสามารถสร้างผลงานศิลปะได้ ไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพอะไร เพราะงานศิลปะมันเป็นงานที่มาจากความรู้สึก มาจากหัวใจ มาจากอารมณ์ ที่ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบงานต่างๆ ทั้งภาพถ่าย ภาพเขียน บทเพลง และอื่นๆ อีกมากมาย โดยไม่มีเงื่อนไข

ดังนั้น งานศิลปะจึงไม่ได้ถูกตีกรอบโดยอาชีพที่คุณทำ ทุกๆ คนมีสิทธิที่จะแสดงออกและทำมันได้

นอกจากนี้ “เอก” บอกว่า ความฝันอันสูงสุดของเขาคือการได้ถ่ายภาพอย่างอิสระ และเผยแพร่ให้คนอื่นๆ ได้เห็นผ่านอินสตาแกรมเท่านั้น ส่วนสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้คือมาไกลเกินฝันแล้ว

สุดท้าย “เอก” ฝากถึงคนที่อยากทำตามฝันเหมือนกับตัวเขาว่า

“ขอให้มองย้อนกลับมาดูตัวเองว่า สิ่งที่คุณต้องการจริงๆ แล้วคืออะไร เมื่อคุณค้นพบตัวตน และอยากทำสิ่งที่รัก ก็ขอให้ใช้หัวใจเป็นตัวตัดสิน

“เช่นเดียวกับผมที่แยกโลกของการทำงานและโลกของตัวตนออกจากกัน เพราะถึงแม้จะอยากทำตามฝันมากเท่าไหร่ แต่ก็ต้องดูแลครอบครัวในโลกของการใช้ชีวิตจริงให้ดีที่สุด เมื่อสามารถทำทั้งสองอย่างได้แล้ว เราก็จะพบกับคำว่าความสุขและความสำเร็จในรูปแบบของเราเอง”