คนดู, คนเขียน และความจริง เบื้องหลังความสำเร็จของละคร จากยิ่งยศ ปัญญา

“ละครแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน”

ด้วยเหตุผลนั้น ยิ่งยศ ปัญญา ผู้เขียนบทละครโทรทัศน์คนดังจึงว่า สำหรับเขา ความสำเร็จของ “กรงกรรม” ก็เป็นความสำเร็จเฉพาะของ “กรงกรรม” ความสำเร็จของละคร “รากนครา” หรือว่าเรื่องอื่นๆ ก็ไม่ต่าง

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือวิธีการทำงาน

“คนเขียนบทจะต้องมีพื้นฐานความเข้าใจฟังก์ชั่นของความเป็นละคร และรู้จักกับบทละคร เริ่มต้นตั้งแต่ค้นหาแก่นของเรื่อง ลักษณะของตัวละครเป็นอย่างไร การสร้างความขัดแย้งในแต่ละเหตุการณ์ทำอย่างไร อะไรคือจุดไคลแมกซ์ เราควรพัฒนาตัวละครในลักษณะไหน”

เล่าด้วยว่า สำหรับตัวเองก่อนลงมือเขียน เขาต้องอ่านบทประพันธ์ จากนั้นก็ให้เวลาสำหรับการตกตะกอน และค่อยๆ เรียบเรียงทุกอย่างตามไทม์ไลน์ของเรื่อง

“เสร็จแล้วก็ทำความรู้จักกับตัวละครอย่างทะลุปรุโปร่ง และทำความเข้าใจกับบริบทสังคม เหตุการณ์นี้ไม่จำเป็นก็ตัดออก แก้ไข นำมายุบรวมกับอีกเหตุการณ์ หรือบางเหตุการณ์ไม่มีความแข็งแรงพอที่จะไต่ไปสู่จุดไคลแมกซ์ ก็อาจจะเพิ่มเติม อาจมีคำพูดหรือซีนที่ปรากฏขึ้นมาในหัว”

แล้วก็เติมเข้าไป

ขณะเดียวกันถ้าเรื่องไหนมีตัวละครมาก อย่าง “กรงกรรม” จากบทประพันธ์ของจุฬามณี ที่เพิ่งจบ “ในการทำงานเราก็ต้องสกรีน ไม่ใช่ต้องรักษาตัวละครทุกตัวที่มีอยู่ในนิยาย”

ในความคิดของยิ่งยศ เขายังว่า ที่สำคัญมากๆ อีกอย่างหนึ่งคือ การจับแก่นสำคัญของเรื่อง ซึ่งถ้าจับได้อย่างชัดเจน ทุกอย่างก็จะง่าย

“แล้วมันจะบอกเอง ว่าแค่ไหนถึงพอดี ตรงนี้ยังไม่พอ ต้องขยำขยี้ จี้ลงไปอีก เพื่อที่จะปูไปสู่จุดที่พีก”

อีกทริกการทำงานที่ยิ่งยศยอมเผยคือ สำหรับเขาแล้ว เวลาเขียนบท เขาจะมองตัวละครใน 2 ลักษณะ หนึ่งคือ “เป็นคน” กับสองคือ “เป็นมนุษย์”

“คนกับมนุษย์แตกต่างกันในความหมาย คนก็คือคน สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ส่วนมนุษย์ในทางคำพระคือผู้ถูกขัดเกลาจิตใจ ถูกยกระดับขึ้นสูงกว่าคน ไม่ใช่ใช้ชีวิตด้วยสันดานดิบอย่างเดียว”

“เรามีหน้าที่มองตัวละครทุกตัวอย่างชัดเจน ในฐานะที่เป็นมนุษย์ เพราะในความเป็นจริง ไม่มีใครคิดว่าตัวเองเป็นผู้ร้ายหรอก หมายความว่าทุกคนต่างเป็นพระเอก นางเอก ในเรื่องราวของตัวเอง ได้ตัดสินใจกระทำในสิ่งที่คิดว่าถูกต้องที่สุดแล้ว”

“การตัดสินใจว่าใครเป็นผู้ร้าย อยู่ที่ใครจะมองในมุมไหนในตัวละครนั้น”

“มันจึงเป็นการถ่ายทอดแบบเรียลลิสติก สมจริง ทุกอย่างที่ปรากฏในฉาก มีตัวตนของมันจริงๆ”

เมื่อถามยิ่งยศซึ่งทำงานเขียนบทมาตั้งแต่ปี 2527 ว่า ในความเห็นของเขา คนดูชอบดูละครแนวไหนเป็นพิเศษ

คำตอบจากผู้มีประสบการณ์ 35 ปี คือ “คนดูพร้อมจะดูละครทุกเรื่องเสมอ ถ้าเราทำถึง”

“แต่พื้นฐานของคนคิดงาน โดยเฉพาะคนเขียนบท คือเรียลลิสติก ก่อนที่จะไปแตกแขนงว่ามันคือแนวไหน เราต้องมองทุกอย่างให้สมจริงเสียก่อน หลังจากนั้นถึงจะกลายมาเป็นบู๊ แอ๊กชั่น ดราม่า โรแมนติก ตลก เพราะละครทุกเรื่องคือเรื่องราวของมนุษย์ไง และถ้าเกิดพื้นฐานของคุณแน่นในความสมจริง มันจะเป็นกุญแจไข ว่าทำไมตัวละครถึงคิดทำอย่างนั้น อย่างนี้ เพราะอะไร”

ถามไปอีกว่าในบรรดาบทละครที่เขาเขียนมา ไม่ว่าจะเป็น “กรงกรรม”, “รากนครา”, “สุดแค้นแสนรัก”, “ทองเนื้อเก้า” ฯลฯ เขาชอบเรื่องไหนมากที่สุด

เจ้าตัวยิ้ม ก่อนเฉลยว่า “ไม่มี”

 

“ถ้าตอบว่าชอบทุกเรื่อง แปลว่าเราพึงพอใจ เราหยุดคิดแล้ว แต่งานละครต้องคิดตลอดเวลา โดยเฉพาะงานเขียนบท ต้องคิดและเก็บข้อมูล ก็ต้องเปิดตา เปิดใจ เพื่อรับรู้ความเป็นไปของโลก ของสังคม เพราะละครคือความเป็นไปของสังคม เพราะฉะนั้น หากถามว่างานละครชิ้นไหนที่ปลาบปลื้มใจที่สุด ไม่มี ที่ผ่านไปแล้ว ก็ผ่านเลยไป”

สิ่งเดียวที่บอกได้แน่นอนคือ สำหรับเขา “งานชิ้นต่อไปยากที่สุด”

สำหรับความสำเร็จของงานที่ทำๆ มา ยิ่งยศก็ว่าจริงๆ แล้วมีหลายอย่างเป็นองค์ประกอบ

“คนดูเป็นไปตามยุคสมัย ถ้ามันจะได้รับความนิยม คือจังหวะของมันเหมาะสมไหมตามอารมณ์และความเป็นไปของโลกนี้ ละครเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่ว่าจะถูกใจคนดูไปซะทุกเรื่อง ช่วงเวลา ช่วงสภาพอารมณ์ของคน สังคมก็เป็นตัวกำหนด ว่าละครเรื่องนั้นมีประเด็น มีสาระสำคัญอะไรที่จะบอกกับสังคมได้อย่างโดนจี๊ด โดนใจในตอนนั้นไหม เป็นต้น”

ในส่วนของคนทำงาน เขายังรู้สึกด้วยว่า “ยุคสมัยทำให้คนคิดงานแตกต่างกัน”

“นวนิยายรุ่นใหม่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อการค้าโดยเฉพาะ คุยกับนักเขียนชั้นครูต่างๆ นานาที่เป็นผู้ใหญ่ ทุกท่านมีความเห็นเหมือนกันว่า ท่านคำนึงถึงแก่นสารว่าท่านกำลังพูดถึงอะไร ในขณะที่ถ้ามองในทางธุรกิจ วงการหนังสือทุกวันนี้รองรับการตลาดมาก ในจำนวนหนังสือ 1,000 เล่ม เราจะเจอนิยายดีๆ แข็งแรงพอที่จะทำละครสักกี่เรื่องกัน สังคมไทยในยุคปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลง ความพัฒนาเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราเจอนวนิยายซึ่งนำเสนอและสะท้อนสังคมสังคมในยุคนี้ไม่ชัดเจน แปลกมาก ความคิดของคนในสังคมอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ วัตถุนิยมเข้ามาครอบงำอย่างรุนแรง แต่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับวงการวรรณกรรม”

สำหรับตัวเอง ยิ่งยศบอกว่า สิ่งที่เขาตระหนักอยู่เสมอคืองานที่เขาทำนั้นเป็นการทำเพื่อคนดู

“ถามว่าเคล็ดลับอะไรที่ทำให้อยู่มาถึงทุกวันนี้ ก็คือทำงานทุกชิ้นอย่างเคารพคนดูที่สุด ใช้วิชาความรู้ที่มีเพื่อประโยชน์ตรงนี้อย่างเต็มที่ ให้ละครได้ทำหน้าที่ของมัน”

“คือไม่ใช่แค่ความบันเทิง”

“ยิ่งเป็นละครทีวีที่ไปสู่สาธารณะ เป็นสื่อฟรีไปสู่ทุกบ้าน เขาพร้อมเปิดดูถ้ามันสนุกและพร้อมเปิดใจยอมรับ มันจึงเป็นโอกาสอันดีที่จะหยิบยื่นให้เขาไง”

ยื่นสาระให้โดยซ่อนไปภายใต้รูปแบบต่างๆ

“สิ่งที่ซ่อนในนั้น มันทำให้คนทำงานอย่างเรายิ่งต้องคิดหนัก ว่าในความตลกที่เหมือนไร้สาระ อะไรคือสาระที่ซ่อนอยู่ ต่อให้มันกุ๊กกิ๊กแค่ไหน แต่ต้องมีอะไรซ่อนอยู่ในนั้น มันคือศิลปะของการทำงานละคร โดยที่คนดูไม่รู้ตัวด้วยนะว่าเขากำลังเสพสิ่งนั้น”

“เพราะฉะนั้น หมายความว่า ถ้ามันดีพอ มันจะมีบางอย่างสื่อสารกับคนดู”

ผ่านบทละครที่เขียนด้วยความตั้งใจ