การศึกษา / เจาะปัญหา ‘อาชีวะเอกชน’ ‘3 ปี’ ภายใต้ร่มเงาของ ‘สอศ.’

การศึกษา

 

เจาะปัญหา ‘อาชีวะเอกชน’

‘3 ปี’ ภายใต้ร่มเงาของ ‘สอศ.’

 

กลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงในแวดวงอาชีวศึกษา หลังจากผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนออกมาสะท้อนปัญหาว่า วิทยาลัยอาชีวะเอกชนหลายแห่ง จำนวนนักเรียนและนักศึกษา “ลดลง” ส่งผลให้วิทยาลัยอาชีวะเอกชนบางแห่ง “ยุติ” การรับนักเรียนและนักศึกษาในปีนี้

อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะทยอยปิดกิจการอีกหลายแห่ง

โดยอ้างว่าปัญหาต่างๆ เริ่มหนักหนามากขึ้น ตั้งแต่ให้สถานศึกษาอาชีวะเอกชนไปอยู่ภายใต้สังกัด “สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)” ทำให้ไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร

จึงเรียกร้องให้รัฐบาล “ยกเลิก” คำสั่งตามมาตรา 44 เรื่องคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 8/2559 เรื่องการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน โดยสถานศึกษาอาชีวะเอกชนจะขอกลับไปอยู่ภายใต้สังกัด “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)” ตามเดิม!!

โดยจากการสำรวจสถานศึกษาอาชีวะเอกชนกว่า 400 แห่ง พบว่ามีความต้องการกลับเข้ามาอยู่ในสังกัด สช.เดิมถึง 320 แห่ง หรือคิดเป็น 80%

 

ทั้งนี้ ภายหลังรัฐบาลใช้มาตรา 44 เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ที่สถานศึกษาอาชีวะเอกชนขยับไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สอศ. ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่ต้องประสบพบเจอ คงไม่มีใครสามารถสะท้อนปัญหาได้ดีกว่า “ผู้บริหาร” สถานศึกษาอาชีวะเอกชนอีกแล้ว

เริ่มจากนายอนุพงค์ มกรานุรักษ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ ระบุว่าการรับนักเรียนในสถานศึกษาอาชีวะเอกชนมีปัญหามากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากแนวทางการรับนักเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีนโยบายให้โรงเรียนรับนักเรียนที่จบระดับชั้น ม.3 โรงเรียนเดิมทุกคน เข้าเรียนต่อในระดับชั้น ม.4 ทำให้เกิดผลกระทบหนักกับสถานศึกษาอาชีวะเอกชนอย่างมาก และในอนาคตปัญหานี้จะหนักขึ้นไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ สถานศึกษาอาชีวะรัฐไม่ทำตามนโยบายการรับนักเรียน ที่ได้กำหนดไว้ว่า ในสาขาวิชาที่ตรงกับที่เปิดรับในสถานศึกษาอาชีวะเอกชนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันจะไม่เพิ่มจำนวนรับ แต่สถานศึกษาอาชีวะรัฐกลับเปิดรับเพิ่มในสาขาที่ซ้ำซ้อนกับสถานศึกษาอาชีวะเอกชน

นายอนุพงค์กล่าวอีกว่า นอกจากปัญหาการรับนักเรียนแล้ว สถานศึกษาอาชีวะเอกชนยังมีปัญหาเรื่องการเงิน เนื่องจากการช่วยเหลือของภาครัฐที่ล่าช้าไปหมด จนต้องหาเงินมาหมุนเพื่อใช้จ่ายก่อน บางแห่งเมื่อเปิดเรียนแล้ว ต้องหาเงินมาจ่ายค่าหนังสือเพื่อแจกนักเรียนให้ครบ ถ้ามานั่งรองบประมาณ การดำเนินการต่างๆ คงจะล่าช้ามากขึ้น

และเท่าที่พูดคุยกัน มีสถานศึกษาอาชีวะเอกชนที่อาจจะมีโอกาส “ปิดตัว” มากกว่า 10 แห่ง โดยเฉพาะสถานศึกษาอาชีวะเอกชนในต่างจังหวัด!!

 

ประเด็นนี้ร้อนไปถึงนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ต้องออกโรงแจงประเด็นปัญหาเหล่านี้…

นายสุเทพบอกว่า การรับนักเรียนและนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวะรัฐและเอกชนเพิ่มขึ้นทุกปี สอศ.พยายามแก้ปัญหาการรับนักเรียนและนักศึกษา ให้ได้ตามนโยบายรัฐบาล โดยให้วิทยาลัยอาชีวะรัฐ และวิทยาลัยอาชีวะเอกชนในจังหวัดต่างๆ ทำแผนการรับนักเรียนและนักศึกษาร่วมกัน ขณะที่ตนได้ให้นโยบายแก่วิทยาลัยอาชีวะตั้งแต่ช่วงต้นปีว่าทุกแห่งต้องปรับตัว โดยสาขาใดที่ไม่มีคนเรียน และไม่ได้รับความนิยมแล้วให้ทยอยปิด และเปิดสอนในสาขาที่ตรงกับความต้องการของผู้เรียน หรือสาขาที่ตรงกับความต้องการของประเทศ

แต่ก็ยอมรับว่ามีบางแห่งที่ “ไม่ปรับตัว” ทำให้มีผู้เข้าเรียนน้อย ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งหลักสูตรไม่ทันสมัย การบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบ โดยพยายามเข้าไปช่วยดูแลและพัฒนาอย่างเต็มที่…

“ผมมีความห่วงใยอาชีวะเอกชนเหมือนไข่ในหิน ไม่เคยทอดทิ้ง พยายามจะดูแล ทั้งในเรื่องของการแก้ไขกฎหมาย โดยเมื่อเร็วๆ นี้คณะอนุกรรมการการจัดการอาชีวศึกษาเอกชน เห็นชอบให้วิทยาลัยเอกชนสามารถเปิดสอนระดับปริญญาตรีสายปฏิบัติการได้ ยืนยันว่าให้ความสำคัญกับการพัฒนา ทั้งอาชีวะรัฐและเอกชน” นายสุเทพกล่าว

ส่วนที่สถานศึกษาอาชีวะเอกชนบางแห่งเตรียมปิดกิจการนั้น นายสุเทพกล่าวว่า ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการปรับตัวและการบริหารงาน โดย สอศ.พยายามส่งเสริมให้ทุกแห่งพัฒนา เปิดสอนในสาขาที่เป็นความต้องการ ซึ่งมีวิทยาลัยที่ทำและประสบความสำเร็จ สามารถรับเด็กได้เพิ่มขึ้นหลายแห่ง

เห็นได้ชัดเจนว่า ทั้ง สอศ.และสถานศึกษาอาชีวะเอกชนมีความคิดเห็น “ต่างกัน”

โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา สถานศึกษาอาชีวะเอกชนรู้สึกว่าไม่ได้รับการเหลียวแล ไม่ได้รับความเป็นธรรม คล้ายจะอยู่ผิดที่ เป็นปลาผิดน้ำ…

ขณะที่ สอศ.มองว่า ได้พยายามพัฒนาสถานศึกษาอาชีวะรัฐและสถานศึกษาอาชีวะเอกชนไปพร้อมๆ กัน ไม่เคยทอดทิ้ง ทั้งยังผลักดันให้สถานศึกษาอาชีวะเอกชนเปิดสอนในระดับปริญญาตรีได้อีกด้วย!!

 

ฟากฝั่งนักวิชาการอย่างนายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) มองประเด็นปัญหาเหล่านี้ว่า ในความคิดตน สถานศึกษาอาชีวะเอกชนควรอยู่รวมกับ สอศ.เพื่อให้การบริหารงานอยู่ภายใต้ภารกิจและเป้าหมายเดียวกัน ไม่ควรแยกออกจากกัน หรือกลับไปอยู่ภายใต้การกำกับของ สช.อีก

เนื่องจากคำสั่งตามมาตรา 44 เรื่องการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน ที่ออกมาเพราะต้องการให้สถานศึกษาอาชีวะรัฐและสถานศึกษาอาชีวะเอกชนบริหารจัดการในรูปแบบเดียวกัน

“อยากให้สถานศึกษาอาชีวะเอกชน และ สอศ.พูดคุยกัน ปรับความคิดและการดำเนินงานร่วมกันใหม่ โดยยึดประโยชน์ของผู้เรียนเป็นที่ตั้ง หากอ้างเรื่องได้รับงบประมาณล่าช้า หรือรับนักเรียนได้น้อยลง คนอาจจะมองว่าเห็นผลประโยชน์ของสถานศึกษามากกว่าผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน” นายภาวิชกล่าว

ดังนั้น หากสถานศึกษาอาชีวะเอกชนและ สอศ.หันหน้าเข้าหากัน ปรับความคิด หรือวิธีการดำเนินงานใหม่ ปัญหาต่างๆ ที่สถานศึกษาอาชีวะเอกชนพบเจออยู่นั้นอาจจะเบาบางลงไปบ้าง โดยเอาประโยชน์และคุณภาพของผู้เรียนเป็นที่ตั้ง!!

แต่หากไม่มีการพูดคุย บริหารสวนทางกันไปมา ปัญหาเดิมๆ ก็จะกลับมาอีก และอาจจะหนักขึ้นเรื่อยๆ!!

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของสถานศึกษาอาชีวะเอกชนนี้ คงจะเป็นอีกหนึ่งความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับผู้บริหาร สอศ.คนใหม่ คือนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)

เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ (ซี) 11 จำนวน 2 รายสลับตำแหน่งกัน คือ นายบุญรักษ์ ไปเป็นเลขาธิการ กอศ. ส่วนนายสุเทพ จากเลขาธิการ กอศ.ไปเป็นเลขาธิการ กพฐ. เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

จับตาดูว่า เมื่อนายบุญรักษ์เข้ามานั่งตำแหน่งเลขาธิการ กอศ.แล้ว จะใช้เวลาที่เหลืออีก 4-5 เดือน จัดการแก้ปัญหาให้สถานศึกษาอาชีวะเอกชนได้อย่างไร หรือมากน้อยแค่ไหน??

หรือแค่สลับมานั่งรอวันเกษียณอายุราชการเท่านั้น!!