กรองกระแส / ดิสรัปต์ การเมือง การเมืองเก่า การเมืองใหม่ เลือกตั้ง 24 มีนาคม

กรองกระแส

 

ดิสรัปต์ การเมือง

การเมืองเก่า การเมืองใหม่

เลือกตั้ง 24 มีนาคม

 

การเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม เป็นการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างการเมืองเก่ากับการเมืองใหม่

รูปธรรมก็คือพรรคพลังประชารัฐกับพรรคอนาคตใหม่

แม้ผลการเลือกตั้งที่พรรคพลังประชารัฐได้ 8.4 ล้านคะแนนดิบ ได้ 115 ส.ส. ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ได้ 6.2 ล้านคะแนนดิบ ได้ 80 ส.ส.

เด่นชัดว่าพรรคพลังประชารัฐครองความเหนือกว่า

แต่หากดูจากรัฐธรรมนูญ ประสานเข้ากับ พ.ร.ป.อันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ประสานเข้ากับการปฏิบัติที่เป็นจริงขององค์กรอิสระที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และกลไกอำนาจรัฐอื่นของ คสช. ก็เป็นเรื่องไม่แปลกที่พรรคพลังประชารัฐจะครองความเหนือกว่าพรรคอนาคตใหม่

กระนั้น เมื่อดูรายละเอียดหลายอย่างอันปรากฏขึ้นไม่ว่าต่อพรรคการเมืองเก่าอย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา จะสัมผัสได้ถึงภาวะถดถอย

การทะลวงของการเมืองใหม่ไม่เพียงแต่ผ่านพรรคอนาคตใหม่ หากแต่ยังผ่านพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา หรือแม้กระทั่งพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทยอย่างลึกซึ้งกว้างขวาง

ก่อให้เกิดการดิสรัปต์ ก่อให้เกิดการปะทะระหว่างการเมืองเก่ากับการเมืองใหม่

 

ภาพ การเมืองใหม่

ผ่าน “อนาคตใหม่”

 

ปฏิกิริยาจาก คสช.และจากเครือข่าย คสช.ที่รุมกระหน่ำเล่นงานต่อพรรคอนาคตใหม่คือเงาสะท้อนอันเด่นชัดในความตระหนก และความรับรู้ว่าการปรากฏขึ้นของพรรคอนาคตใหม่อาจส่งแรงสะเทือนก่อให้เป็นอันตราย

จึงจำเป็นต้องงัดเอาทุกกลไกมาสกัด ขัดขวาง และยับยั้งการเติบใหญ่ ไม่ว่าจะโดยกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ว่าจะโดยกระบวนการอันเป็นความต่อเนื่องของการเลือกตั้ง

เฉพาะหน้าอาจเพียงเพื่อลดทอนจำนวน ระยะยาวอาจตั้งเป้าถึงขั้นยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมือง

ความหวาดกลัวเป็นอย่างมากคือ ความหวาดกลัวต่อการขานรับและให้การสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมากกว่า 6.2 ล้านคะแนน ความหวาดกลัวต่อมาก็คือ ความหวาดกลัวในทิศทางอันเป็นยุทธศาสตร์และเป้าหมายของพรรคอนาคตใหม่

พรรคอนาคตใหม่ประกาศยุทธศาสตร์ของตนเองอย่างเด่นชัด นั่นก็คือ ใช้หนทางรัฐสภาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้

ขณะเดียวกัน ก็ยืนยันในพรรคภาพอันเป็น “พรรคมวลชน” มิใช่ “พรรคสภา”

 

เคลื่อนไหว ทุกวินาที

เพื่อเป้าหมาย การเมือง

 

พรรคการเมืองโดยทั่วไปซึ่งเรียกกันว่า “พรรคสภา” เป็นพรรคซึ่งจัดตั้งมาในลักษณะเฉพาะกิจ นั่นก็คือ มีเป้าหมายเพื่อการเลือกตั้ง เมื่อจบสิ้นการเลือกตั้งก็เน้นหนักในการดำเนินภารกิจทางด้านรัฐสภาเป็นหลัก ยุติภารกิจทางด้านอื่นโดยสิ้นเชิง

แต่พรรคอนาคตใหม่ต้องการสร้างพรรคในลักษณะอันเป็น “พรรคมวลชน” วางรากฐานอยู่ที่สมาชิก วางน้ำหนักอยู่ที่การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าก่อน ไม่ว่าหลังการเลือกตั้ง

พยายามขยายฐานของสมาชิกออกไปอย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง พยายามหารายได้ในทุกวิถีทางเพื่อให้พรรคมีความแข็งแกร่งทางการเงินเพื่อสามารถเคลื่อนไหวได้โดยไม่จำเป็นต้องผูกติดหรือขึ้นต่อกับนายทุนคนใดคนหนึ่งอันเป็นเจ้าของพรรค

พรรคอนาคตใหม่จึงมิได้มีเพียงการเข้าร่วมลงสัตยาบันกับพรรคเพื่อไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนชาวไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ เพื่อก่อรูปขึ้นเป็นพันธมิตรในแนวร่วมต่อต้านการสืบทอดอำนาจ หากแต่ยังได้ขับเคลื่อนผ่านยุทธวิธี “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ก่อกระแสคลื่นใหญ่ในการเรียกร้องทุกพรรคการเมืองไม่ให้เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ

การเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่นับวันจะยิ่งสร้างจุดต่างในทางการเมืองและส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งไปทุกพรรคการเมือง

 

การเมืองใหม่ เก่า

ปะทะ ทางความคิด

 

การเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม จึงเป็นการปักธงในทางความคิดอันสร้างจุดต่างอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เพียงแต่ระหว่างพรรคการเมืองเก่ากับพรรคการเมืองใหม่ หากที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งได้มีส่วนในการผลักดันและสร้างเวทีให้กับการเมืองใหม่

เป็นการเมืองใหม่เหมือนกับพรรคเศรษฐกรเคยเสนอตัวเอง เหมือนกับพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยได้เสนอตัวเองพร้อมกับพรรคพลังใหม่

เพียงแต่ในอดีตสภาพทางสังคมยังไม่เอื้ออำนวยให้กับพรรคการเมืองใหม่อย่างเป็นจริง

ภายหลังผ่านสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 สถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ผ่านสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และโดยเฉพาะสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ได้เกิดปัจจัยใหม่ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมหลายประการเอื้ออำนวย

เอื้ออำนวยให้เกิดพรรคการเมืองใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่ ทะลวงเข้าไปในพื้นที่ของพรรคการเมืองเก่า และนำไปสู่การปะทะระหว่างพรรคการเมืองเก่ากับพรรคการเมืองใหม่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

  สภาพการณ์นี้จะก่อให้เกิดการดิสรัปต์ทำลายล้างอย่างรุนแรงในอนาคตอันใกล้นี้