เพ็ญสุภา สุขคตะ : ถอดรหัส “สัตว์สัญลักษณ์” แห่ง Notre Dame de Lausanne

เพ็ญสุภา สุขคตะ

สัตว์จริง vs สัตว์ในจินตนาการ

ปริศนาโบราณคดีฉบับที่แล้วได้นำเสนอเรื่องราว “ประติมากรรมบุคคล” แกะสลักหินชิ้นเยี่ยมของมหาวิหาร Notre Dame de Paris เพื่อรำลึกถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เนื่องในโอกาสที่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนั้นถูกเพลิงไหม้

ฉบับนี้ขอนำเสนอเรื่องการนำรูปสัตว์มาประดับตัววิหารยุคกอทิกเช่นกัน ว่ามีความหมายใช้เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งใดบ้าง? ซึ่งรูปสัตว์ดังกล่าวประดับปะปนตามสถาปัตยกรรมส่วนต่างๆ เช่น หน้าต่าง ประตู กรอบหน้าบัน เสา เพดาน ฯลฯ

สัตว์ทั้งหมดนี้มีทั้งสัตว์จริงและสัตว์ในจินตนาการ (Imaginative Animal) คล้ายกับคำว่า “สัตว์หิมพานต์” ของไทย ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกว่าสัตว์ประหลาด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสัตว์ประเภทใด กลุ่มนี้ล้วนเป็น “สัตว์สัญลักษณ์” ที่ต้องมีการตีความทั้งสิ้น

เนื่องจากสัตว์สัญลักษณ์ที่ประดับมหาวิหาร Notre Dame de Paris มีจำนวนมากหลายพันชิ้น ดิฉันจึงขอพาท่านผู้อ่านเปลี่ยนบรรยากาศข้ามเทือกเขาจูราจากฝรั่งเศสไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ชมประติมากรรมรูปสัตว์ของมหาวิหารขนาดย่อมลง ณ Notre Dame de Lausanne แทน เพราะเป็นดินแดนที่ดิฉันคุ้นเคยยิ่ง

 

8 ภาพสัตว์สัญลักษณ์
แห่งมหาวิหารเมืองโลซานน์

มหาวิหารแม่พระของเรา (Notre Dame) แห่งนครโลซานน์ สร้างขึ้นบนเนินเขาขนาดย่อมใจกลางเมือง ตามแนวคิดของกรีกโบราณที่กำหนดว่าศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ควรอยู่บนเขาให้โดดเด่นมองเห็นแต่ไกลตามรูปแบบที่กรีกเรียกว่า อะโครโปลิส (Acropolis)

Notre Dame de Lausanne สร้างขึ้นระหว่างคริสต์ศวรรษที่ 13-16 ถือเป็นรอยต่อระหว่างสมัยศิลปะกอทิกตอนปลายเชื่อมต่อกับศิลปะแบบเรอเนซองส์แล้ว

มหาวิหารหลังนี้มีรูปสัตว์สัญลักษณ์ประดับแทรกตามส่วนต่างๆ จำนวนมากกว่า 200 จุด (ไม่มากเท่ากับมหาวิหารขนาดใหญ่อย่าง Notre Dame de Paris) ในที่นี้ดิฉันคัดเลือกมาจำนวน 8 ชนิด

 

อับราฮัมผู้เดินทางไกล
จากลาสู่แพะ

กลุ่มแรกนี้ ขอนำเสนอด้วยรูปสัตว์ที่มีอยู่จริงบนพื้นพิภพก่อน โดยจะขอยกภาพของแพะ แกะ หอยทาก กระต่าย และสิงโต มาถอดรหัสกันทีละตัวๆ

“แพะ” ภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า เลอบุ๊ก (le Bouc) เป็นสัญลักษณ์ของ “การเดินทางไปสู่นรก” มีบุคคลอยู่ตอนบนคล้ายกับพระยม (ยมบาล) ขี่ควายของศาสนาฮินดู แต่ศาสนาคริสต์ในยุคกลางนำเสนอด้วยบุคคลที่ชื่อว่า “อับราฮัม” (Abraham)

ในคัมภีร์พันธสัญญาเดิม (Old Testament) ก่อนจะมีคริสต์ศาสนา อับราฮัมเคยมีบทบาทสำคัญ ด้วยการถูกพระเจ้าทดสอบแรงศรัทธาว่าจะมีต่อพระองค์มากเพียงใด ด้วยการลองใจว่าให้พาลูกชายชื่ออิสซัก (Isac) เดินทางไกลด้วยลาไปยังแคว้นโมริยาห์เพื่อถวายอิสซักเป็นเครื่องบูชา ครั้นเมื่อพระเจ้าเห็นว่าอับราฮัมยอมเสียสละแม้แต่บุตรที่เกิดแต่อกของตน จึงช่วยชุบชีวิตของอิสซักให้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง

อับราฮัมและอิสซักจึงเป็นสัญลักษณ์ของ “มหาทาน” หรือการให้ที่ยิ่งใหญ่ คล้ายกับการกระทำของพระเวสสันดรที่ยอมยกกัญหาชาลีให้ชูชก

เมื่อมีคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ (New Testament) อับราฮัมได้ถูกปรับเปลี่ยนหน้าที่ ช่วยนำพาผู้ที่ได้รับการตัดสินว่าทำบาป คือคนที่นั่งกลางเอามือประสานอกทำท่าหวาดกลัว ถูกคุมด้วยปีศาจร้ายสองข้าง มีแพะเป็นพาหนะ (ในยุคหลังใช้แพะแทนลา) พร้อมที่จะนำพามนุษย์บาปไปส่งยังนรกภูมิ

 

“แกะ” ฝูงมนุษย์ผู้หลงทาง

“แกะ” ภาษาฝรั่งเศสเรียก ลาญโน (l”Agneau) แกะถือเป็น “สัตว์สัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ที่เก่าที่สุด” มีมาแล้วตั้งแต่สมัยที่พระเยซูยังทรงพระชนม์ชีพ โดยใช้แกะเป็นสัญลักษณ์ของ “มนุษย์ผู้เร่ร่อนหลงทาง” คือยังไม่พบจุดหมายปลายทางของชีวิต

แกะ ตรงกับคำว่า Sheep คนเลี้ยงแกะจึงเรียก Shepherd (เชพเฟิร์ด) ศาสนาคริสต์เปรียบพระเยซูว่าเป็น Good Shepherd อุปมาดั่งคนเลี้ยงแกะที่ดี เพราะจะเป็นผู้คุ้มครองมนุษย์ผู้หลงผิดไปสู่ทางสว่าง

โดยศาสนาคริสต์เองก็พัฒนาเค้าโครงเรื่องนี้มาจาก “คนเลี้ยงแกะพเนจร” ในวัฒนธรรมของกรีกโบราณ ที่นิยมทำประติมากรรมรูปคนแบกแกะมาแล้วตั้งแต่ศิลปะยุคอาร์เคอิก ราว 1,500 ปีก่อนคริสตกาล

สำหรับแกะในมหาวิหารที่โลซานน์ จำหลักอยู่ในตำแหน่งที่ควรจะเป็นไม้กางเขน นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะแห่งมหาวิทยาลัยโลซานน์ตีความว่าหมายถึง “การก้าวข้ามแรงปรารถนา กิเลส ตัณหา และชัยชนะหลังความตาย” โดยยังมองว่า “แกะ” คือมนุษย์ผู้ดิ้นรน ปรารถนาการหลุดพ้น ตามรากศัพท์ดั้งเดิม

 

หอยทาก กระต่าย สิงโต

หอยทาก ภาษาฝรั่งเศสเรียก เลสคาร์โก (l” Escarcot) เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีเปลือกหนาหุ้มและค่อยๆ คืบคลานอย่างช้าๆ ทิ้งเมือกเป็นร่องรอยตลอดเส้นทาง จึงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของ “การเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยการสลัดคราบเมือกเก่าๆ”

กระต่าย ภาษาฝรั่งเศสเรียก เลอลิแยฟร์ (le Lievre) ในที่นี้เป็นกระต่ายสามตัว มีชื่อเฉพาะว่า Triquetre หมายถึง Trinity หรือตรีเอกานุภาพ ประกอบด้วยหัวใจทั้งสามของศาสนาคริสต์ ได้แก่ พระบิดา พระจิต พระบุตร การใช้กระต่ายวิ่งวนในวงกลมก็เพื่อให้เกิดพลวัตหรือพลังแห่งการขับเคลื่อนพระศาสนานั่นเอง

สิงโต le Lion เลอลิยง เจ้าแห่งป่าแต่ถูกศรยิงจนบาดเจ็บ เป็นสัญลักษณ์แห่งการกำราบผู้เย่อหยิ่งจองหอง ในคัมภีร์พันธสัญญาเดิมมีเหตุการณ์เกี่ยวกับ “แซมซัน” สามารถปราบสิงโตด้วยมือเปล่า เป็นการประกาศชัยชนะของผู้อารยะต่อชนอนารยะ

และในขณะเดียวกัน “สิงโต” ยังเป็นสัญลักษณ์หรือ Totem ประจำตระกูลของกลุ่มชนต่างๆ ของชาวยิวในอิสราเอลถึง 12 ตระกูลอีกด้วย หนึ่งในนั้นมีตระกูลของ “ยูดา” หรือ “จูดาย” สาวกทรยศที่แปลงตัวมาลอบทำร้ายพระเยซู

น่าสนใจทีเดียวที่ราชวงศ์ “ศากยะ” ของพระพุทธเจ้า และราชวงศ์ “โมริยะ” ของพระเจ้าอโศกมหาราช ก็ใช้สัญลักษณ์รูปสิงห์เช่นเดียวกัน ดังนั้น “สิงห์” ในศาสนาหนึ่งหมายถึงตระกูลของผู้ทรยศที่ทำลายพระศาสดา แต่อีกศาสนาหนึ่งกลับกลายเป็นผู้ประกาศพระศาสนา

 

3 สัตว์ประหลาดในจินตนาการ

นอกเหนือไปจากสัตว์ที่มีจริงในโลกแล้ว เรายังพบการนำสัตว์ประหลาดที่มนุษย์จินตนาการขึ้นมาเอง แถมยังให้นิยามแก่สัตว์เหล่านั้นอีกด้วย ในที่นี้จะขอหยิบยกมาพอสังเขป 3 ประเภท

“เลอ บาสิลิก” le Basilic สัตว์ตัวนี้ยากที่จะแปลเป็นภาษาไทย จึงขอเรียกทับศัพท์ว่าบาสิลิก ปกติคำคำนี้ หมายถึงผักตระกูลกะเพรา โหระพา และในภาษาละติน Basilica ยังหมายถึงที่ฝังศพของนักบุญอีกด้วย แต่สัตว์ในจินตนาการที่เรียกว่าบาสิลิกนี้ เป็นสัตว์ผสมระหว่าง แม่ไก่ตัวอ้วนพุ้ยตาพอง กับสัตว์เลื้อยคลานดุร้าย เป็นสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้ายเลวทราม

“ลา เล” la Laie นี่ก็อีกตัวที่หมดปัญญาแปลเป็นภาษาไทย สัตว์ผสมระหว่าง เม่น หนู ปลา ไดโนเสาร์ เป็นสัญลักษณ์ของตะกอนใจสามสิ่งที่ขัดแย้งแฝงฝังในอุปกิเลสของมนุษย์ทุกผู้ทุกคนผสมกันคือ ความทะเยอทะยาน ความดุดัน และความตลกสนุกสนาน ซึ่งแสดงออกด้วยเครื่องดนตรีที่เจ้าตัวนี้อุ้มอยู่นั่นเอง เป็นเครื่องดนตรีที่มีสามตัวโน้ต สุดแท้แต่เสียงเรียกในก้นบึ้งดวงใจต้องการให้เป่าตัวโน้ตไหน

สัตว์ประเภทสุดท้ายคือ “มังกร” หรือ le Dragon มังกรทางตะวันตกจะต่างจากมังกรจีน คือมีปีกค่อนไปทางนกยูง นำเสนอด้วยการที่มังกรกำลังดูดนมข้างหนึ่งของสตรี เป็นสัญลักษณ์ของตัณหาราคะ ความกระหายทางเพศ

กล่าวโดยสรุป ประติมากรรมรูปสัตว์ต่างๆ ในมหาวิหารทั้งหมดนี้ ยิ่งถอดรหัสยิ่งสนุก ไม่มีรูปใดเลยที่ประติมากรสร้างขึ้นลอยๆ เพียงเพื่อประดับพื้นที่ให้เต็มๆ เท่านั้น ทุกตัวล้วนมีนัยยะสำคัญ บางตัวเป็นสัญลักษณ์เพื่อให้เรารำลึกถึงวีรกรรมของมหาบุรุษในอดีต และบางตัวจินตนาการขึ้นมาใหม่เพื่อต้องการเตือนให้มนุษย์เห็นภัยแห่งความโลภ โกรธ หลง