ปฏิวัติการศึกษายุคใหม่ ให้ทัน AI อาชีพที่เปลี่ยนแปลงจบมาตกงาน/รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

ปฏิวัติการศึกษายุคใหม่ ให้ทัน AI

อาชีพที่เปลี่ยนแปลงจบมาตกงาน

 

ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคของ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” (Industry 4.0) โดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะมีบทบาทมากขึ้นและมีผลให้การวิเคราะห์ Big Data และระบบอัตโนมัติเปลี่ยนแปลงงานแทบทุกชนิดในอีกไม่นานนี้

ขณะนี้บริษัท IBM ของอเมริกากำลังลงทุนมหาศาลในการฝึกอบรมพนักงานในงานทักษะแบบใหม่ๆ ที่เรียกว่างานประเภท “New Collar”

เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการพัฒนาแรงงานในอนาคต เพื่ออุดช่องว่างของทักษะในการทำงานของคน

ผู้บริหาร IBM ได้ให้คำแนะนำเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในยุค 4.0 นี้ สรุปได้ว่า ปัจจุบันบริษัทต่างๆ จะต้องให้ความสำคัญกับ 3 สิ่ง คือ

(1) การฝึกอบรม

(2) การจ้างคนทำงานที่ไม่จำเป็นต้องจบปริญญา 4 ปี จากมหาวิทยาลัย

และ (3) การต้องคิดทบทวนใหม่เพื่อพิจารณาดูว่าคนที่มาสมัครงานมีทักษะที่เหมาะสมกับบทบาทของงานใหม่อย่างไรบ้าง

ในอนาคตอันใกล้นี้ AI และหุ่นยนต์จะแทนที่งานประจำที่น่าเบื่อและงานประเภทที่ต้องทำซ้ำๆ แบบเดิม

ดังนั้น งานที่มีอยู่เดิมจะเหลือน้อยลง จึงทำให้องค์กรสามารถลดรายจ่ายได้ เพื่อไปเพิ่มเป็นรายได้ให้กับคนที่พร้อมจะทำงานใหม่ๆ

จึงเท่ากับผลักดันผู้คนต้องไปเรียนรู้วิธีทำงานใหม่ๆ ที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

 

การเปลี่ยนแปลงในโลกแรงงานยุคต่อไปนี้อาจจะสร้างปัญหาแรงงานมากขึ้นก็ได้ เพราะงานแบบ “Blue Collar” ที่เน้นแรงงาน หรืองานแบบ “White Collar” ที่เป็นงานนั่งโต๊ะทำงานในสำนักงาน ต่างก็อยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะตกงานพอๆ กัน

ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยต่างๆ เร่งปรับตัวรับโลกยุคดิสรัปต์ แห่ปั้นหลักสูตร AI รับเทรนด์เทคโนโลยี สนองรัฐชง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย วงการศึกษาไม่รอดพ้นจากกระแส “disruptive” เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้โมเดลการทำธุรกิจต่างๆ เปลี่ยนไป

เช่นเดียวกับความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถแตกต่างไปจากเดิม

ขณะที่จำนวนนักศึกษาในระบบเริ่มลดลงเรื่อยๆ ทำให้สถาบันการศึกษาต่างๆ ต้องมีการปรับตัวอย่างรุนแรงไม่ต่างจากองค์กรธุรกิจต่างๆ

ทำให้มีการปรับเปลี่ยนและเปิดหลักสูตรใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับโลกธุรกิจในอนาคตมากขึ้น

 

ในส่วนมหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า เทรนด์ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่เข้ามามีบทบาทในธุรกิจยุคใหม่อย่างมาก เตรียมพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ คือ

1) หลักสูตรด้าน AI โดยระดับ AI ในปัจจุบันแบ่งเป็นระดับการบำรุงรักษาซอฟต์แวร์ ระดับการบริหารจัดการข้อมูล และระดับผู้สร้างระบบ AI

2) หลักสูตรบล็อกเชน

3) การจัดการข้อมูล (Big Data)

และ 4) หลักสูตรเฉพาะทางของคนทำงานที่ต้องการเพิ่มศักยภาพและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ นอกเหนือจากนี้ยังหารือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศที่มีชื่อเสียง

ทางด้าน รศ.ดร.ทิพรัตน์ วงษ์เจริญ รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ระบุว่าหลักสูตรใหม่ของ ม.กรุงเทพ คือ data analytics และ big data เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ

ที่สำคัญ หลักสูตรใหม่เหล่านี้ไม่เพียงพัฒนาให้นักศึกษาพร้อมทำงานให้กับองค์กรต่าง ๆ แต่ยังเพิ่มรายวิชาเพื่อมุ่งสู่การเป็น “เจ้าของกิจการ”

เช่น การเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก (SMEs) ยังปรับแกนวิชาเพื่อให้นักศึกษานำไปใช้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน และอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐในพื้นที่ EEC แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน AI มีอยู่จำนวนน้อย

รวมทั้ง ดร.ยุคลวัชร์ ภักดีจักริวุฒิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยลัยเตรียมเปิด 4 หลักสูตรใหม่ (นานาชาติ) ประกอบด้วย

1) วิศวกรรมความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ และการพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเดอมงฟอร์ต ประเทศอังกฤษ

2) วิศวกรรมคอนเสิร์ตและมัลติมีเดีย ที่จะเรียนตั้งแต่การวางแผนจัดคอนเสิร์ต รวมถึงกิจกรรมอีเวนต์ต่างๆ ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

3) วิศวกรรมปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ

และ 4) วิศวกรรมการบิน ที่มีความพร้อมในแง่ของสถานที่จัดการเรียนการสอนที่ให้นักศึกษาเรียนรู้จากของจริง

 

ทั้งนี้ ผลการประเมินอาชีพที่ AI มีโอกาสเข้ามาทำงานแทนได้ในอนาคต ที่ทำให้มหาวิทยาลัยลัยต่างๆ เร่งปรับตัวปรับหลักสูตรการเรียนการสอนกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันยุคการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี อาชีพที่มีอัตราเสี่ยงและประเมินแล้วว่าจะถูก AI เข้ามาทดแทน อย่างเช่น

พนักงานขายทางโทรศัพท์ มีโอกาสสูงถึง 99% เลยทีเดียวที่ AI สามารถเข้ามาทำงานแทนได้ โดยในปัจจุบันเชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเคยได้รับโทรศัพท์จากระบบอัตโนมัติที่โทร.เข้ามาขายสินค้าหรือบริการต่างๆ ได้เริ่มหันมาใช้ระบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้นเพื่อลดต้นทุนในการจ้างพนักงาน

เสมียนทำบัญชี สำหรับอาชีพเสมียนทำบัญชี มีโอกาสถูกแทนที่ถึง 98% และอาชีพนี้ยังถูกคาดการณ์ว่าในปี 2024 จะมีความต้องการบุคลากรลดลงไปอีก 8% เลยทีเดียว ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะการเก็บรายรับ รายจ่าย การลงบัญชี สามารถทำได้ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป เช่น Trclound.org, Flowaccount.com ฯลฯ ที่สามารถช่วยทำให้เจ้าของกิจการหรือเจ้าหน้าที่บัญชีทำการลงบัญชีได้เองและสะดวกมากขึ้น

ผู้จัดการด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการพนักงาน เป็นอาชีพที่มีโอกาสถูกแทนที่ 96% ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากเลยทีเดียว ใช้ระบบคำนวณค่าตอบแทนอัตโนมัติจะช่วยประหยัดเวลาในการจัดสรรสวัสดิการและค่าตอบแทนให้พนักงาน ทำให้บริษัททำงานได้เร็วมากขึ้น เช่น โปรแกรม Ultipro และ Workday เป็นต้น

พนักงานต้อนรับ มีโอกาสถูกแทนที่ 96% เพราะระบบโทรศัพท์อัตโนมัติและระบบการลงตาราง สามารถแทนที่ตำแหน่งงานพนักงานต้อนรับได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นจะต้องมีพนักงานต้อนรับก็ได้ มีเพียงแค่ระบบโทรศัพท์อัตโนมัติก็เพียงพอแล้ว

พนักงานส่งของ, คนขับรถ สำหรับอาชีพพนักงานส่งของ, คนขับรถ (Couriers/Drivers/Chauffeurs) มีโอกาสถูกแทนที่ 94% โดยที่พนักงานส่งของในอนาคตจะถูกแทนที่ด้วยโดรนหรือหุ่นยนต์ โดยภายในปี 2024 เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่พนักงานส่งของได้สูงถึง 5% เลยทีเดียว ทั้งนี้ หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับรถยนต์ไร้คนขับ

แคชเชียร์, พนักงานขายในร้านค้าปลีก มีโอกาสถูกแทนที่ 92% เมื่อเราลองเดินตามห้างสรรพสินค้า โชว์รูมรถยนต์ หรือร้านขายเฟอร์นิเจอร์ เราอาจจะไม่ต้องการให้พนักงานขายเข้ามาแนะนำตั้งแต่เริ่มจนจบกระบวนการ ดังนั้น หลายๆ บริษัทได้เพิ่มความเป็นส่วนตัวและอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถจ่ายเงินได้ด้วยตนเอง พร้อมกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันก็สามารถหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้บนโลกอินเตอร์เน็ต โดยไม่ต้องพึ่งพาพนักงานในร้านอีกต่อไป

เจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษร มีโอกาสถูกแทนที่ 84% เมื่อโปรแกรมพิสูจน์อักษรได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น จากฟังก์ชั่นพื้นฐานของ Microsoft word ไปจนถึงโปรแกรมตรวจพิสูจน์อักษรอย่าง Grammarly และ Hemingway App เป็นต้น สามารถช่วยทำให้นักเขียนสามารถตรวจพิสูจน์อักษรได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น

นักวิจัยการตลาด มีโอกาสถูกแทนที่ 61% สำหรับอาชีพนี้ถือได้ว่ามีหน้าที่สำคัญในการสร้างข้อความ คอนเทนต์ และสินค้าหรือบริการต่างๆ โดยที่ระบบอัตโนมัติสามารถเข้ามาสร้างข้อมูลเหล่านี้ได้รวดเร็วกว่าและง่ายกว่า เช่น GrowthBot สามารถรวบรวมงานวิจัยตลาดในหัวข้อที่เราสนใจและคู่แข่งในอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้ เพียงแค่เราสั่งการผ่าน Slack (โปรแกรมแชตสำเร็จรูป) ได้ทันทีเลย ฯลฯ

พนักงานขายโฆษณา มีโอกาสถูกแทนที่ 54% เพราะการโฆษณาปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงจากสื่อดั้งเดิมไปเป็นสื่อดิจิตอลมากขึ้น และสื่อใหม่เหล่านี้สามารถสร้างระบบให้ผู้ใช้บริการซื้อโฆษณาได้ด้วยตนเอง จึงทำให้ไม่จำเป็นที่จะต้องมีพนักงานขาย ประกอบด้วยความนิยมในสื่อแบบดั้งเดิมก็ลดลง ยิ่งทำให้อาชีพนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงมากเลยทีเดียว

นักข่าว/นักเขียน/ล่าม/นักแปลภาษา มีโอกาสถูกแทนที่ 33% ปัจจุบันสำนักข่าวใหญ่ๆ อย่าง New York Times, Washington Post, CNN, NBC ได้นำ AI เข้ามาเสนอข่าวแล้วทั้งสิ้น เช่น Washington Post ที่ได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์แบบ Hybrid ที่มีชื่อว่า Heliograf ขึ้นมา มีหน้าที่ในการติดตามการเลือกตั้งในเขตต่างๆ ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา และนำข้อมูลที่ได้มาเสนอข่าวอย่าง Real-time

พร้อมเปิดให้นักข่าวที่เป็นคนจริงๆ ได้เข้ามาทำการตกแต่งเนื้อหาเพื่อให้มีความน่าอ่านมากขึ้นอีกด้วย

 

ที่มา

ดิสรัปต์เขย่าวงการศึกษา มหา’ลัยดังแห่เปิดสาขา AI