สมหมาย ปาริจฉัตต์ : นวัตกรรมการศึกษา วิชาไอติมหลอด ที่ยุพราชวิทยาลัย (8)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ว่าด้วยบรรยากาศเวทีประชุมวิชาการ ห้อง Super Leader & Super Teacher ในงานปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ครั้งนี้ต่อสาระ บรรยากาศ น่าตื่นเต้น เร้าใจ กระตุ้นต่อมอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้และตั้งคำถามตั้งแต่ช่วงแรก

รศ.ดร.อรรณพ พงษ์วาท อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรรมการบริหารภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ประธานห้องกล่าวเปิดการประชุม “ขอแสดงความยินดี น่าดีใจแทนผู้ได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลประกาศเกียรติบัตรเชิดชูผลงานนวัตกรรมการศึกษาดีเด่น ซึ่งมีความหมายถึงต้องรับภาระสานต่อ ปรับปรุง พัฒนาไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่แค่นี้ ยังมีอีกมาก น้องๆ ที่ไม่ได้ถูกคัดผลงานมานำเสนอ ไม่ได้หมายความว่าท่านไม่มีนวัตกรรม”

“รัฐบาลออก พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก็ดำเนินไปในส่วนนั้น หน้าที่ของท่านต้องส่งต่อ ขยายผลการปฏิรูปให้เป็นแบบอย่างของผู้บริหารและครู ต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด ถ้ามี Best Practice แท้ๆ มากพอ ปัญหาในกระทรวงควรแก้ตกหมดแล้ว หวังว่าปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จ ที่ผ่านๆ มาเถียงกันมาตลอด ตั้งแต่ 2518 มา 2542 ครั้งที่ 3 พ.ศ.2549-2551 ครั้งต่อมา ทศวรรษที่สอง พ.ศ.2552-2561 จนมาถึงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ครั้งนี้ไม่รู้ครั้งที่เท่าใด”

“การดำเนินงานของภาคีเชียงใหม่ คล้องจองกันกับเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เฮาอยากจะเห็นสิ่งใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่ เฮาร่วมงานกันเข้าไปทำ กรณีพวกท่านไม่มีโอกาส ไม่มีเวลา เช่น โรงเรียน ผู้ปกครอง ที่ผ่านมาเน้นปฏิรูปทั้งระบบเลยไปยาก กระทรวงใหญ่เกินไป เน้นที่โครงสร้าง ระบบ ระเบียบ กฎหมาย ละเลยปฏิรูปการเรียนรู้ เฮาไม่ได้ละเลย”

“พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาค พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรม ต้องยึดพื้นที่เป็นเขตปฏิบัติการ Area Based ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ระบบปัจจุบันจะปรับไปโดยอัตโนมัติ อาชีวศึกษา กศน. ต่อไปจะเน้นมาที่สถานศึกษา การใช้อำนาจกำกับ ดูแลสถานศึกษาต้องทำเท่าที่จำเป็น ให้มีความอิสระ เป็นนิติบุคคล กฎหมายเขียนไว้หมด แต่ไม่เกิด ลงไปแค่ที่เขตพื้นที่ ไปไม่ถึงโรงเรียน ต่อไปสถานศึกษามีสิทธิเลือกโครงการที่ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติ ต้องไม่กระทบการบริหารและการจัดการศึกษา”

 

หลังประธานกล่าวจบ พิธีกรเชิญครู ผู้บริหารเจ้าของนวัตกรรมนำเสนอต่อที่ประชุมทีละราย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่านคอยให้ความเห็นเพิ่มเติม

นวัตกรรมแรก การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกการดูแลรักษา “น้ำแม่ข่า” โดยว่าที่ร้อยตรี ดร.เอกพจน์ เกษมกุลทรัพย์ ผู้อำนวยการ กศน. อ.เมืองเชียงใหม่ นำเสนอการพัฒนาหลักสูตร มุ่งเน้นแก้ไขน้ำเน่าเสียในแม่น้ำลำคลอง ภายใต้โจทย์น้ำแม่ข่าจะหายเน่าได้อย่างไร แสดงถึงการจัดการศึกษาต้องเชื่อมโยงกับชีวิตจริง เพื่อแก้ปัญหา ทั้งส่วนตัว ส่วนรวม และสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต

โดยผู้ทรงคุณวุฒิเสนอว่า ควรเน้นโรงเรียนในพื้นที่เชื่อมโยงสอดแทรกในการเรียนการสอนในระบบ สอนเด็กเอาไปบอกต่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม เพราะพ่อ-แม่จะเชื่อละอ่อน

 

นวัตกรรมที่สอง การพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ด้วยนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการตามแนวคิด Star Stem โดยนายมงคล ปัญญารัตน์ ครูชำนาญการโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย สอนชีววิทยา ทั้ง ม.ต้น และ ม.ปลาย

“Star Stem คืออะไร” ครูเริ่มกระตุ้นต่อมอยากรู้ของผู้ฟัง S ก็คือ Student T ก็คือ Teacher เด็กกับครูทำร่วมกัน A ก็ Academic R ก็ Revolution

สิ่งที่นำเสนอ หน่วยการเรียนรู้ YRC HERBS FOR HEALTH (Y2H) Stem เย็นในรู เป็นกิจกรรมทางคณะครูระดับชั้น ม.2 14 ห้องประชุมกัน PLC คิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์ทั้งนโยบาย ปรับให้เหมาะสมกับห้องเรียน และตอบโจทย์การวัดสมรรถนะนักเรียนทั้ง 5 ด้าน นักเรียนเกิดกระบวนการคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยี การสื่อสาร และทักษะชีวิต

เริ่มต้นจากสภาพปัญหาภายในโรงเรียน เด็กกินไอติมที่มีความหวานเกินไปเป็นผลเสียต่อสุขภาพ จนโรงเรียนต้องห้ามขายจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เลยเกิดความคิดน่าเปลี่ยนน้ำสมุนไพรให้เป็นไอติมหลอด ให้เด็กกินไอติมทำจากน้ำสมุนไพรแทน

ครูให้โจทย์เด็กไปคิดกันว่า ภายในเวลา 5 นาที จะทำไอติมหลอดจากน้ำสมุนไพร ทำอย่างไร เด็กก็ต้องคิดและปฏิบัติโดยผ่านการจัดการเรียนรู้เป็นรายสัปดาห์ 1-11-15 จะเรียนอะไรกัน

ครูนำเสนอพร้อมฉายภาพกระบวนการเรียนรู้ บูรณาการแต่ละกลุ่มสาระเข้าด้วยกันโดยมีไอติมสมุนไพรเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความรู้เข้าหากัน วิชาวิทยาศาสตร์จะเรียนเกี่ยวกับอะไร ภาษาไทย สังคม คณิตศาสตร์ เรียนเรื่องอะไร และลงมือทำจนได้ไอติมหลอดสมุนไพรออกมา

ไอติมสมุนไพรแท่งเดียว เด็กได้ความรู้ครบทุกกลุ่มสาระวิชา ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ขณะที่ครูก็ทำงานบูรณาการกัน

 

ครับ ติดตามการนำเสนอของครูหนุ่มไฟแรง แล้วคิดถึงครู นักเรียน นักการศึกษาอีกมากมาย น่ามีโอกาสได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังเรื่องราวดีๆ ทำนองนี้กันให้กว้างขวาง

ก่อนไปต่อ นวัตกรรมที่ 3 การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนวัดกองทราย ด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการสร้างทีมงาน

นวัตกรรมที่ 4 การจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยระบบดิจิตอลห้องเรียนออนไลน์ เพื่อให้ผู้ที่พลาดจากปัจจัยต่างๆ หลากหลายวัยและอาชีพได้มีโอกาสเรียนผ่าน GOOGLE CLASSROOM โดยครูผู้สอนตรวจงานผ่านแอพพลิเคชั่นใน Smart Phone ใบงานส่ง คะแนนเก็บ การเสนอผลงานผ่านระบบออนไลน์ไม่ใช่กระดาษสักแผ่น ส่งเป็นคลิปวิดีโอ เนื้อหาวิชาแบ่งเป็นไลน์กลุ่ม”

“นักศึกษาอยู่ที่ไหน ไกลแค่ไหน ก็เรียนได้ ทุกที่ ทุกเวลา เปิดภาคแรก ชั้น ม.2/ 2560 มีนักเรียน 14 คน เทอมสอง ภาคเรียน 1/2561 เพิ่มเป็น 20 คน ภาค 2/2561 เป็น 31 คน มีนักศึกษาไทยในเกาหลี เยอรมนี เข้ามาเรียนด้วย”

“ถึงแม้จะใช้เทคโนโลยีช่วย แต่มิติทางสังคม Face to Face ยังมีความสำคัญ การสอบวัดผลปลายภาคจึงมีเงื่อนไขต้องมาสอบที่ศูนย์ กศน.สันทราย เพื่อให้พบกันจริงๆ ทั้งผู้เรียนและผู้สอน แนวทางจัดการเรียนรู้ ผมถือหลัก กล้าคิด กล้าเรียนรู้ กล้าเสี่ยง กล้าทำ” ครูพิทยา ธาตุอินจันทร์ ครูชำนาญการ กศน. อ.สันทราย ย้ำ

กิจกรรม Active Learning Online ผลงานนวัตกรรมห้องเรียนออนไลน์ ทำให้ครูได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรจากหลายหน่วยงานเรื่อยมาจนถึงวันนี้

 

ก่อนปิดเวทีภาคเช้า ที่นวัตกรรม การสอนคณิตศาสตร์แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการ 5 Step เรื่องทฤษฎีกราฟชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และต่อภาคบ่ายอีก 5 นวัตกรรม

ท่านใดสนใจรายละเอียด วิธีคิด กระบวนการปฏิบัติ ผลสัมฤทธิ์ ของครูแต่ละท่าน สอบถามได้โดยตรงหรือผ่านฝ่ายวิชาการ ภาคีเชียงใหม่เพื่อปฏิรูปการศึกษา โทร. 06-2265-6677 ช่วยประสานให้อีกทางหนึ่งได้เลย

ส่วนผมก่อนจบภาคเช้ารีบออกมาเพื่อเลือกหาห้องใหม่ในช่วงบ่าย จะไปเวทีไหนดี เห็นเด็กตัวเล็กตัวน้อยในชุดชนเผ่าท่าทางสนุกสนานอยู่เต็มห้อง ตัดสินใจปักหลักห้องนี้แหละ

เป็นนวัตกรรมอะไร ไว้ตอนหน้าจะเฉลยครับ