ยุทธภูมิแห่ง “สำนักสวนพลู” เปิดเพื่อนร่วมรุ่นตัวช่วย “บิ๊กอู๊ด” สกัดคลื่นใต้น้ำรอยต่อ “ผบช.สตม.”

“ผมในฐานะผู้บังคับบัญชา จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ใครทำผิดก็ว่ากันตามผิด ตามกฎหมาย ผมสั่งให้หัวหน้าหน่วยดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดี… หากหัวไม่ส่าย หางคงไม่กระดิก”

เป็นความตอนหนึ่งที่ “บิ๊กอู๊ด” พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง รักษาราชการแทนผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ลั่นวาจาไว้ในวันเข้ารับตำแหน่งหัวเรือใหญ่ สตม. เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่แล้วมา

คำพูดตามสไตล์ตำรวจสายสืบเก่า ไม่ต้องหวือหวา โดยเฉพาะวลีท้ายคงทำเอาใครหลายคนยิ้มแหยๆ นั่งไม่ติดเก้าอี้เป็นแถบ

นับเป็นเวลา 1 เดือนเศษ ตั้งแต่ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ลงนามคำสั่งเด้งฟ้าผ่า “เดอะโจ๊ก” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีต ผบช.สตม. เก็บเข้ากรุศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) ตามคอมโบด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 2/2562 ใช้อำนาจ ม.44 โยกอีกรอบ จับถอดเครื่องแบบตำรวจไปนั่งเก้าอี้ “ที่ปรึกษาพิเศษ” นักบริหารระดับสูงประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ยังมีอีกหลายภารกิจที่ “บิ๊กอู๊ด” เป็นผู้คุมหางเสือ สตม.

แม้ว่า “สำนักสวนพลู” จะมีหัวเรือใหม่แล้ว แต่เชื่อได้ว่ายังมี “คลื่นใต้น้ำ” จากวงนอกที่ส่งแรงกระเพื่อมให้รับรู้ได้เป็นระยะจนพอรู้สึกได้ชัดขึ้นหลังจากวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีบันทึกข้อความสั่งให้ พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ รอง ผบช.ภ.7 ไปช่วยราชการพิเศษที่สำนักสวนพลูแห่งนี้เป็นเวลา 1 ปีเต็ม

เป็นมือเป็นไม้ให้ “บิ๊กอู๊ด” เพื่อนร่วมรุ่น นรต.40

พล.ต.ต.สุรพงษ์รั้งตำแหน่งรองประธานกรรมการตรวจรับพัสดุโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์บุคคลโดยเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์ ลายพิมพ์นิ้วมือและภาพถ่ายใบหน้า ซึ่ง ตร.ได้ทำสัญญาซื้อขายครุภัณฑ์กับกิจการร่วมค้าเอ็มที โดยมีบริษัท เอ็มเอสซี สิทธิผล จำกัด เป็นตัวแทนหลัก ชนะประมูลผ่านระบบอีบิตดิ้ง ที่มีกระทรวงการคลังเป็นตัวกลางตรวจสอบ มีกำหนดส่งมอบงานภายใน 660 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาเมื่อราวปี 2559 ซึ่งจะตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม ปี 2562 รวมวงเงินงบประมาณ 2,116 ล้านบาท

จังหวะนี้เองกลับมีกระแสข่าวลือจากคนบางกลุ่ม ที่หยิบยกขึ้นมาตีโต้ในเชิงไม่ไว้วางใจ ทั้งยังอ้างอิง “คนในอดีต” หวังดิสเครดิตจนเป็นศึกทางข้อมูลให้ร้าวฉาน

สําหรับไบโอเมตริกซ์หรือข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล คือเทคโนโลยีใช้ยืนยันตัวบุคคลด้วยข้อมูลชีวภาพที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว เชื่อมเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ด้วยกัน

ข้อดีสำหรับผู้ใช้ ไม่จำเป็นต้องใช้ความจำ หรือถือบัตรผ่านใดๆ สร้างความสะดวกรวดเร็ว ป้องกันบัตรผ่านสูญหาย และยังยากที่จะถูกสวมรอย ส่วนข้อดีสําหรับองค์กรหรือบริษัท ที่แน่ๆ คือช่วยลดต้นทุนการจัดการ

กล่าวโดยสรุปอย่างเข้าใจง่าย ก็เหมือนฟังก์ชั่นบนโทรศัพท์สมาร์ตโฟน ที่บันทึกข้อมูลเจ้าของมาใช้ปลดล็อกหน้าจอโทรศัพท์ด้วยลายพิมพ์นิ้วมือ แม้กระทั่งใบหน้า

“เรามาก็ไม่รู้ตัว อาจเพราะเป็นคนนอกที่ไม่เกี่ยวอะไร จึงเหมาะสมที่จะมาตรวจสอบให้ตรงไปตรงมา เพราะไม่มีใครทาบทามมา เชื่อว่าที่ถูกย้ายมาช่วยราชการคงเป็นเพราะไม่มีใครรู้จัก เป็นที่ไว้วางใจได้ของผู้บังคับบัญชา และพี่อู๊ดก็เป็นคนตรงๆ เราก็ตรงๆ น่าจะประสานมาตรวจสอบไม่ให้นอกลู่นอกทางกันง่าย” พล.ต.ต.สุรพงษ์พูดคุยกันถึงการเข้ารับตำแหน่งช่วยราชการ สตม. ก่อนจะครบกำหนดการตรวจรับพัสดุไบโอเมตริกซ์ในงวดที่ 6 ตามสัญญา หลังมีคำสั่งออกมาล่วงหน้าเพียงสัปดาห์เดียว

พล.ต.ต.สุรพงษ์บอกเล่าว่าที่ผ่านมา ส่วนงานวิจัยพัฒนาจากภาครัฐและเอกชนได้เก็บข้อมูลค้นคว้าพบว่ามี 70 ประเทศทั่วโลกแล้วที่นำระบบไบโอเมตริกซ์มาใช้ จนเกิดประสิทธิภาพทั้งในแง่การเดินทางเข้าประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองและงานอาชญากรรม เนื่องจากระบบเดิมอย่างพาสปอร์ตรูปเล่มเพียงอย่างเดียวยังถูกสวมรอยได้ง่าย ขณะที่ระบบใหม่ซึ่งเรารับมาจากประเทศเยอรมนี จะต้องเก็บข้อมูลจำเพาะบุคคล นอกจากรูปใบหน้าแล้วยังต้องใช้ลายนิ้วมือทั้งสิบ เหมือนทะเบียนประวัติอาชญากรรม ฉะนั้น เหล่าคนไม่ดีคงจะรอดได้ยาก

จากรายงานระบุว่า ระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลไบโอเมตริกซ์จะถูกติดตั้งทั้งหมด 1,843 จุดทั่วประเทศ ตามด่านตรวจคนเข้าเมืองขาเข้าและออก แม้กระทั่งด่านตำรวจน้ำ ด่านตามเมืองต่างๆ และอีก 16 สนามบิน ซึ่งติดตั้งพร้อมทดสอบระบบเรียบร้อยแล้ว 10 แห่ง คือ จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ จ.สุราษฎร์ธานี บนเกาะสมุย และสนามบินแม่ฟ้าหลวง (จ.เชียงราย) เป็นต้น

ในที่นี้บางแห่งก็เริ่มใช้งานแล้ว และยังอยู่ระหว่างทดสอบอีก 6 แห่ง

พล.ต.ต.สุรพงษ์ได้กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจรับพัสดุไบโอเมตริกซ์ว่าเกิดความล่าช้า เนื่องจากบริษัทเอกชนผู้รับเหมาได้ทำหนังสือชี้แจงว่าท่าอากาศยานบางแห่งยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงต่อเติม ทำให้ไม่สามารถเข้าไปติดตั้งระบบได้ทันวันรับมอบงวดที่ 6 ในวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา นับเป็นเหตุสุดวิสัย จึงขอขยายเวลาส่งมอบพัสดุออกไปอีก 110 วัน ตามระเบียบข้อบังคับการจัดซื้อส่งมอบครุภัณฑ์

“ซึ่งข้อมูลตรงกับที่บริษัทโทรคมนาคม ที่เข้าไปติดตั้งระบบสัญญาณแจ้งว่า ท่าอากาศยานแห่งนั้นกำลังปรับปรุงพื้นที่ทำให้ไม่สามารถส่งมอบได้ตามกรอบระยะเวลา แต่ยืนยันว่ายังไม่มีการยกเลิกสัญญาว่าจ้างกับบริษัทเอกชนรายนี้แน่นอน” พล.ต.ต.สุรพงษ์กล่าว

และเสริมว่า ทั้งนี้ หากว่าบริษัทไม่สามารถส่งมอบครุภัณฑ์ได้ตามกำหนดแม้จะขยายเวลาให้แล้วก็จะต้องถูกปรับถึงวันละ 5 ล้านบาท โดยระหว่างนี้ คณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้หารือแนวทางการทำงานต่อที่ประชุมเพื่อเสนอพิจารณาอนุมัติขยายเวลาโดย ผบ.ตร.ต่อไป

ยังมีคำบอกกล่าวของเจ้าหน้าที่รายหนึ่งซึ่งได้เข้าร่วมทดสอบระบบที่ท่าอากาศยานในโครงการติดตั้งระบบไบโอเมตริกซ์นี้ด้วยว่า เครื่องมือสามารถใช้งานได้ตามปกติ เพียงแต่มีข้อจำกัดทางกายภาพ กล่าวคือ เครื่องตรวจอัตลักษณ์สูงใหญ่ไป เมื่อเทียบกับขนาดตัวคนใช้ ปัญหาปลีกย่อยอื่นคือ ทางหน่วยงานยังไม่สามารถส่งพื้นที่คืนได้เนื่องจากเป็นส่วนราชการ ประกอบกับเจ้าหน้าที่ ตม.บางส่วนเข้าใจว่าพัสดุยังไม่ได้ส่งมอบ เกรงจะเกิดความเสียหายจึงยังไม่ได้เปิดใช้งานเพื่อทดสอบระบบ

แน่นอนว่าโครงการจัดซื้อพัสดุราคาหลักพันล้านนี้ ย่อมมีข้อครหาเรื่องความโปร่งใสเป็นธรรมดา ซึ่งโครงการที่ว่า แต่เดิมทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นแม่งานที่เสนอเรื่องขึ้นมา ไม่ใช่หน่วยงานใดเพียงหนึ่งแห่งที่จะเป็นเจ้าภาพคนเดียว

สำหรับ “ไบโอเมตริกซ์” สตม.ได้ดำเนินการเรื่อยมาตั้งแต่สมัย พล.ต.ท.ณัฐธร เพราะสุนทร ผบช.สตม.ในขณะนั้น ต่อเนื่องมายัง พล.ต.ท.สุทธพงษ์ วงษ์ปิ่น และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล จนถึงปัจจุบัน