เรื่องเล่า-ข้อคิด “คนพิการซ่อมทีวี”

“ทีวีซ่อมคน”

สมชายได้รับเชิญไปงานการกุศลครั้งหนึ่ง

จัดในย่านชานเมือง

เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ด้านอาชีพ

สร้างอาชีพให้กับ “คนพิการ” ที่เดินไม่ได้

โดยบริษัทที่รับซ่อมทีวี อุปกรณ์ไฟฟ้า เขารวมตัวกันเพื่อจะทำสิ่งนี้

จัดอบรมให้กับคนพิการ

แล้วส่งงานให้ที่บ้าน ซ่อมทีวี ซ่อมหลอดไฟ

ในเชิงธุรกิจแล้ว ถ้าบริหารเรื่องการเดินทาง ส่งของ-รับของได้

ถือว่าเป็น “Crowdsourcing” เล็กๆ เลยก็ว่าได้

ได้พนักงานมาช่วยงาน ทำให้สร้างธุรกิจได้มากขึ้น

สมชายพบกับผู้บริหารสูงสุดของบริษัทแห่งนี้

“ยินดีด้วยนะครับพี่ มีคนมาช่วยพี่สร้างธุรกิจได้เพิ่มมากมายเลย”

ผู้บริหารยิ้ม มองไปรอบห้อง ที่มีคนพิการเรียนซ่อมทีวีอยู่มากมายหลายร้อยคน

แล้วถามกลับ

“คุณเห็นอะไร”

มีนักเขียนอยู่คนหนึ่งที่ผมชื่นชมมาตลอด

เรียกได้ว่าชอบเนื้อหาการเขียน

และสไตล์การเขียนที่สุดคนหนึ่งก็ว่าได้

เขามีนามว่า “เดฟ ทรอตต์ (Dave Trott)” ครับ

ทำงานคร่ำหวอดในวงการตลาดที่ประเทศอังกฤษมายาวนาน

ล่าสุดออกหนังสือชื่อ “Creativity Blindness” มา

เล่าเรื่องความคิดสร้างสรรค์รอบตัวที่เกิดขึ้นจากคนตัวเล็กๆ

ซื้อมาอ่านรวดเดียวจบ มีเรื่องน่าสนใจ อยากนำมาเล่าให้ฟังครับ

ประเทศซิมบับเว ในแถบแอฟริกา

มีประชากรสิบสี่ล้านคน

ดิกซอน เป็นจิตแพทย์ชาวซิมบับเว

เป็นหนึ่งในเพียงสิบสองคนที่ทำอาชีพนี้ในประเทศซิมบับเว

เรียกได้ว่า “ขาดแคลน” อย่างเห็นได้ชัด

มีหญิงสาวจำนวนมากในหมู่บ้านห่างไกล ที่ประสบปัญหาทางสุขภาพจิต

แล้วไม่มีทางออก

วันหนึ่งดิกซอนได้รับโทรศัพท์จากญาติของหญิงสาวคนหนึ่งในหมู่บ้านห่างไกล

อาการไม่สู้ดี ดิกซอนแนะนำให้พาตัวมาพบแพทย์

สองสัปดาห์ต่อมา ดิกซอนได้รับโทรศัพท์จากโรงพยาบาลหมู่บ้าน

บอกว่า “หญิงสาวเสียชีวิต”

หดหู่จนปลิดชีวิตตัวเอง

ดิกซอนเสียใจมาก และตั้งใจว่าต้องทำอะไรสักอย่าง

อัตราส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรแบบนี้ ยังไงก็แก้ปัญหาไม่ได้

คนที่เป็นโรคซึมเศร้านั้นได้รับการบำบัดไม่ยาก

โดยการมีคน “พูดคุย” ด้วยอย่างถูกวิธี

ดิกซอนอยากจะอบรม สร้างอาสาสมัครนับพัน ลงพื้นที่ลงไปช่วยแก้ปัญหา

แต่ใครล่ะที่จะอยากทำงานนี้

เดินทางไปในหมู่บ้านแสนไกล เพื่อไปพูดคุยกับคนที่มีอาการหดหู่

แถมอาจจะต้องทำฟรี เพราะงบประมาณก็ไม่เพียงพอ

ดิกซอนคิด คิด คิด

ใครกันที่ไม่ใช่แค่เหมาะจะทำงานนี้ แต่ “อยาก” ที่จะทำงานนี้

เขาลงพื้นที่แล้วก็พบว่า ที่หมู่บ้านทุกแห่ง ชายหนุ่มจะออกไปทำงานนอกบ้าน

เหลือไว้เพียงหญิงสาว และ “คุณยาย” ที่ไม่ได้รับการเหลียวแล

ผู้สูงอายุเหล่านี้ เข้าใจชีวิต เต็มไปด้วยประสบการณ์ที่ไม่มีใครรู้

และพร้อมจะรับฟัง แบ่งปันเรื่องราวกับคนหนุ่ม-สาว

เขาจึงทดลองสร้างสิ่งเล็กๆ ขึ้นมา ชื่อว่า “ม้านั่งแห่งมิตรภาพ”

เป็นม้านั่งเล็กๆ ที่คุณยายเหล่านี้สามารถไปนั่งเล่น

และเป็นสัญญาณบอกกับหญิงสาวที่หดหู่คนอื่นๆ ในละแวกใกล้บ้านได้

ว่า “มาคุยกับยายได้นะ”

ดิกซอนทำการฝึกอบรมคุณยายเล็กน้อยก็สามารถใช้งานได้

ดิกซอนเริ่มจาก หนึ่ง สอง สาม จนเป็นหลายร้อย

พูดคุยกับหญิงสาวที่ป่วยไปแล้วกว่าเจ็ดหมื่นชีวิตทั่วประเทศ

ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายลดลงถึงห้าเท่าทั่วประเทศซิมบับเว

ดิกซอนบอกว่า โลกใบนี้มีคุณยายอยู่ประมาณ 600 ล้านคน

ที่อยากจะทำตัวเองให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น

บวกกับเทคโนโลยี ที่ผู้คนสามารถพูดคุยผ่านโทรศัพท์มือถือได้

ผลกระทบเชิงบวกของมนุษย์สองคนที่จะได้พูดคุยกัน

คุณยายและคนหนุ่ม-สาวที่หดหู่ เหนื่อยล้ากับการใช้ชีวิต

แลกเปลี่ยนกัน แก้ปัญหา เยียวยาซึ่งกันและกัน

น่าจะทำให้โลกที่หมุนเร็วใบนี้น่าอยู่ขึ้นอีกมหาศาล

ดิกซอนกำลังรวมตัวทำเรื่องนี้อยู่กับเพื่อนๆ

ที่ประเทศอเมริกา มีสุนัขจรจัดไม่มีเจ้าของอยู่สองล้านตัว

ถ้าหากไม่มีใครรับเลี้ยง ก็จะต้องถูกกำจัดไปอย่างน่าสงสาร และเสียมิได้

ใครกันที่จะช่วยสุนัขเหล่านี้ได้

ใครกันที่มีอยู่มากมาย และมีเวลาช่วยอบรมสุนัขเหล่านี้

และอาจจะได้ประโยชน์จากการเลี้ยงดูสุนัขเหล่านี้

กรมราชทัณฑ์ของรัฐแมสซาชูเซตส์ขออาสา

รับสุนัขจรจัดเข้ามาให้กับนักโทษได้ลองเลี้ยง

นักโทษมีเวลา ไม่ต้องจ่ายตังค์ และอาจจะต้องการ “กิจกรรม”

โครงการดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง

กลับพบว่านักโทษที่รับสุนัขเข้าไปดูแล

มี “จิตใจที่อ่อนโยน” มากขึ้น

สามารถที่จะเข้าใจผู้อื่น และใจเย็นมากขึ้นและมีความสุขมากขึ้น

กลายเป็นว่า คนอบรมสุนัข

และสุนัขก็เยียวยาจิตใจคนไปในเวลาเดียวกัน

โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณอะไรให้สิ้นเปลือง

ตัดมาที่งานอบรมคนพิการซ่อมทีวี

คนพิการที่กำลังซ่อมทีวีอย่างขะมักเขม้น มีสายตาแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

“ที่คุณเห็นน่ะ ไม่ใช่คนพิการซ่อมทีวีหรอก” ผู้บริหารตอบก่อนเอ่ยต่อ

“ทีวีต่างหากที่ซ่อมคนพิการเหล่านี้”

ในทุกโอกาส มักจะมีปัญหา

และในทุกปัญหา มักจะมีโอกาส

คุณใช้ชีวิตแบบไหน?