ธงทอง จันทรางศุ | โต๊ะหมู่บูชา

ธงทอง จันทรางศุ

ภาพสวยงามสุดวิเศษที่เกิดขึ้นในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันที่เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ทางสถลมารค เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยังอยู่ในความทรงจำของคนไทยทั้งบ้านทั้งเมือง

ผมซึ่งมีโอกาสวาสนาไปรับเสด็จอยู่ข้างทางที่กระบวนยาตราผ่าน ยังรู้สึกเต็มอิ่มอยู่ในหัวใจ

และมีเรื่องที่จะคุยฟุ้งไปได้อีกนาน

ธรรมเนียมประเพณีอีกอย่างหนึ่งที่ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาเป็นรายละเอียดเล็กๆ ประกอบตามเสด็จพระราชดำเนินในวาระสำคัญเช่นนี้ คือการตั้งโต๊ะหมู่บูชารับเสด็จ

จากภาพข่าวสาธารณะกับทั้งเรื่องราวที่มีผู้บันทึกภาพมาให้ชมและเล่าสู่กันฟัง เป็นที่น่ายินดีว่าตามพระอารามสำคัญทั้งสามแห่ง คือวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธฯ และวัดพระเชตุพนฯ ได้มีการตั้งแต่งโต๊ะหมู่บูชารับเสด็จ

มีทั้งที่เป็นโต๊ะตามแบบไทยและตามแบบไทยแกมจีน เป็นที่ครึกครื้นชื่นแช่ม ทั้งผู้ที่มีหน้าที่ในการตั้งโต๊ะ ตลอดไปจนถึงผู้พบเห็น

และข้อสำคัญคือ เป็นการเฉลิมพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามขนบดั้งเดิมของเราด้วย

ตามเนื้อความที่ปรากฏอยู่ในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพหลายวาระ ทรงอธิบายว่าเครื่องบูชาของไทยนั้นมีหลักด้วยกันสี่อย่าง ได้แก่ เทียน ธูป ข้าวตอกและดอกไม้

แต่มาถึงยุคสมัยของเราข้าวตอกเป็นของหายาก ที่เราพบเห็นกันอยู่เป็นประจำจึงมีเพียงแค่สามสิ่ง คือดอกไม้ ธูป เทียน

สิ่งของที่ใช้เป็นเครื่องบูชาเหล่านี้ทรงอธิบายขยายความว่า ใกล้เคียงกันกับเครื่องบูชาในศาสนาต่างๆ หรือประเทศทั้งหลาย ที่มีหลักอยู่ว่า เครื่องบูชาสมควรเป็นสิ่งซึ่งให้แสงสว่าง สิ่งซึ่งเผาให้เกิดควันเพื่อดับโสโครก และสิ่งซึ่งทำให้เกิดประทิ่นกลิ่นหอม

สาเหตุที่มาคิดตรงกันนั้นยังทรงสืบสาวราวเรื่องไม่ได้ว่าเป็นด้วยเหตุใด

ถ้าถามกันต่อไปว่าการตั้งโต๊ะบูชานี้คืออะไร

เรื่องนี้เป็นการประสมประสานกันระหว่างเครื่องบูชาตามคติไทยกับการตั้งโต๊ะซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องเรือนอย่างจีน

น่ามหัศจรรย์ใจนะครับ ถ้าจะได้รู้ว่า สิ่งที่เราเรียกว่าโต๊ะหมู่บูชานี้เป็นของเพิ่งเกิดใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่สามนี่เอง

แต่เดิมเครื่องบูชาของเราก็จะวางใส่กระบะหรือถาด จะเรียกว่าเป็นสำหรับเดียวหรือชุดเดียวสำเร็จรูปก็ว่าได้ แต่ไม่ได้วางลดหลั่นกันบนโต๊ะสูงต่ำอย่างที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้

สิ่งที่เราเรียกว่า “โต๊ะ” ในคำว่า “โต๊ะหมู่” นั้น โบราณท่านเรียกว่า “ม้า” และเมื่อนำม้าหลายตัวมาวางเรียงกันเข้าท่านเรียกว่า “ม้าหมู่” ครับ

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า ม้าหมู่หรือโต๊ะหมู่อย่างไทยนี้เกิดขึ้นจากการค้าขายระหว่างไทยกับจีนในรัชกาลที่สองซึ่งมีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกำลังสำคัญ

ทำให้เครื่องเรือนอย่างจีนเริ่มเป็นที่รู้จักคุ้นเคย และนำมาผูกเป็นลวดลายในภาพจิตรกรรมฝาผนังใหม่วัดวาอารามหลายแห่ง เช่น วัดราชโอรสและวัดกัลยาณมิตร

จนถึงรัชกาลที่สามได้ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโต๊ะหมู่บูชาขึ้นเป็นครั้งแรกที่พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

เป็นโต๊ะหมู่ใหญ่ มีจำนวนโต๊ะถึง 11 ตัว พร้อมกันนั้นได้ทรงสร้างโต๊ะหมู่ขนาดเล็กมีจำนวนโต๊ะชุดละสี่ตัวสำหรับประจำตามพระวิหารทิศในพระอารามดังกล่าวด้วย

พระราชดำริครั้งนั้นเองจึงเป็นต้นกำเนิดของธรรมเนียมการใช้โต๊ะหมู่บูชาในเมืองไทยของเรา

หลักสำคัญมีอยู่ว่า โต๊ะที่ตั้งลดหลั่นและประกอบเข้าเป็นชุดนั้น ต้องตั้งเครื่องบูชาสักการะอย่างน้อยประกอบด้วยดอกไม้ ธูปและเทียน

วางจังหวะช่องไฟให้สวยงาม สะอาดสะอ้าน และภาชนะหรือเครื่องบูชาที่ใช้ตั้งแต่งได้แก่ แจกัน พาน กระถางธูป และเชิงเทียน นิยมจัดหาให้เป็นชุดเดียวกัน

เช่น เป็นเครื่องแก้วด้วยกันทั้งหมด หรือเครื่องทองเหลืองเหมือนกันทั้งชุด

การตั้งโต๊ะหมู่บูชาตามธรรมเนียมไทยอย่างนี้มิได้จำกัดแต่เฉพาะการตั้งบูชาพระรัตนตรัยเท่านั้น ตามธรรมเนียมของเราสามารถใช้เป็นเครื่องตั้งแต่งบูชาสมเด็จพระมหากษัตริย์ในวาระต่างๆ ได้ด้วย

ในการตั้งโต๊ะรับเสด็จหรือถวายสักการะเช่นนี้ บนโต๊ะที่อยู่กลางหมู่ แทนที่จะประดิษฐานพระพุทธรูป ก็เชิญพระบรมฉายาลักษณ์หรือพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ประดิษฐานไว้เป็นมิ่งมงคล

เมื่อครั้งที่ผมทำราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคโดยเรือที่กองทัพเรือจัดถวายจากศิริราชพยาบาล ไปยังปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศเชิญชวนให้ประชาชนที่อยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งโต๊ะหมู่บูชารับเสด็จตามธรรมเนียมที่ว่านี้ด้วย

นอกจากการตั้งโต๊ะหมู่บูชาอย่างไทยแล้ว ยังมีการตั้งโต๊ะบูชาอย่างจีนด้วยนะครับ

แต่เดิมการตั้งโต๊ะอย่างจีนนี้ใช้สำหรับตั้งเครื่องเซ่น บูชาเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามคติจีน

แต่ในรัชกาลที่สามเช่นเดียวกัน ได้มีการนำคติการตั้งโต๊ะอย่างนี้มาดัดแปลงเป็นไทยครั้งแรกเมื่องานฉลองวัดพระเชตุพนในพุทธศักราช 2391

คราวเดียวกันกับที่เกิดโต๊ะหมู่บูชาขึ้น

จำนวนโต๊ะที่ใช้ในการตั้งโต๊ะบูชาอย่างจีนแกมไทยที่เกิดขึ้นนั้น ใช้จำนวนโต๊ะเพียงหนึ่งตัวหรือสองตัวเท่านั้น ถ้าเป็นการตั้งโต๊ะสองตัวซ้อนกัน โต๊ะตัวหลังซึ่งสูงกว่าเรียกว่า “โต๊ะขวางหลัง” แล้วมีโต๊ะรูปสี่เหลี่ยมอีกตัวหนึ่งเตี้ยกว่าโต๊ะขวางหลัง วางอยู่ตอนหน้าเรียกว่า “โต๊ะหน้า”

เรียกการจัดแบบนี้ว่า “โต๊ะใหญ่” หรืออาจจะอีกแบบหนึ่งที่มีแต่โต๊ะหน้าตัวเดียว เรียกแบบนี้ว่า “โต๊ะโขก”

รายละเอียดข้าวของเครื่องใช้ที่จะจัดวางบนโต๊ะแบบจีนแกมไทยนี้มีกติกามาก จะพรรณนาในที่นี้เห็นจะไม่ครบถ้วน

แต่หลักสำคัญก็คือของทุกชิ้นที่ตั้งแต่ต้องเช็ดถูให้สะอาดอย่าให้เปื้อนเปรอะ ต้องไม่ขาดดอกไม้ธูปเทียน มีการวางของลดหลั่นกันได้ช่องไฟ

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความนิยมการตั้งโต๊ะแบบจีนแกมไทยนี้แพร่หลายมาก จนถึงขนาดมีการสั่งทำเครื่องลายครามลวดลายต่างๆ จากเมืองจีนเข้ามาเป็นของใช้ประกวดประขันกัน

งานตั้งโต๊ะในวาระสำคัญบางคราวมีโต๊ะตั้งแต่งเข้าประกวดมากถึงร้อยโต๊ะ เป็นที่ครึกครื้นสนุกสนานกันทั่วไป

แบบธรรมเนียมการตั้งโต๊ะหมู่บูชาอย่างไทยหรืออย่างไทยแกมจีนได้ลี้ลับไปเสียนาน

แต่ผมได้สังเกตเหมือนกันครับว่าไม่กี่ปีที่ผ่านมามีผู้สนใจในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

และเมื่อได้มาเห็นการตั้งโต๊ะรับเสด็จในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครครั้งนี้ ก็ทำให้สบายใจว่าความรู้และค่านิยมของไทยเราเรื่องนี้จะไม่สูญสลายหายไปง่ายๆ

นี่ก็เป็นเดชะพระบารมีเหมือนกันครับ