เทศมองไทย : เสรีภาพสื่อ 2019 อาการน่าเป็นห่วง

หากสถานการณ์เสรีภาพสื่อทั่วโลกเป็นไปอย่างที่ “ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน” (อาร์เอสเอฟ) องค์กรเอกชนเพื่อเสรีภาพและสวัสดิภาพสื่อระดับโลกว่าเอาไว้ในบทวิเคราะห์ซึ่งเผยแพร่ควบคู่อยู่กับดัชนีเสรีภาพสื่อ 180 ประเทศทั่วโลกประจำปี 2019 เมื่อ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา อันเป็นวันที่ถูกกำหนดให้เป็นวันเสรีภาพสื่อโลกนั้น ก็ชวนให้คิดได้ว่า บรรยากาศในการประกอบสัมมาชีพสื่อในยามนี้ไม่ดีเอาเสียเลย

อาร์เอสเอฟเรียกสถานการณ์ในยามนี้ว่า “วัฏจักรแห่งความกลัว” เพราะปีนี้เป็นปีที่แสดงให้เห็นถึงการจุดประกายสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวขึ้น ทำลายบรรยากาศในการรายงานข่าวให้สูญเสียไป ในหลายประเทศมีการแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อสื่ออย่างเปิดเผย “ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการกระทำด้วยความรุนแรงต่อสื่อขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้นกว่าเดิม”

เป็นการกระทำที่ “กระพือความหวาดกลัวและอันตรายต่อผู้สื่อข่าว ให้ขึ้นสูงระดับสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

 

ในจำนวน 180 ประเทศที่อาร์เอสเอฟสำรวจนั้น มีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สถานการณ์สื่อจัดอยู่ในสภาพ “ดี” อีกแค่ 16 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในสภาพ “น่าพอใจ” รวมทั้งสองส่วนนี้ได้เพียง 24 เปอร์เซ็นต์ ลดต่ำลงกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 26 เปอร์เซ็นต์

ส่วนที่มากที่สุดใน 180 ประเทศก็คือ กลุ่มประเทศที่สถานการณ์สื่อกำลัง “มีปัญหา” ซึ่งสูงถึง 37 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด รวมทั้งประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ที่โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงออกถึงการเป็นปฏิปักษ์กับสื่ออย่างเปิดเผย และเพิ่งเกิดเหตุการณ์บุกห้องข่าวของหนังสือพิมพ์แคปปิตอล กาเซตต์ ในเมืองแอนนาโปลิส รัฐแมรีแลนด์ เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2561 ที่ผ่านมา สังหารผู้สื่อข่าวรวดเดียว 4 คน พนักงานประจำอีก 1 คน เกิดเป็นส่วนหนึ่ง “อันตรายจากการประกอบอาชีพ” ไปแล้ว

ที่เหลืออีก 29 เปอร์เซ็นต์ เป็นประเทศที่สื่อตกอยู่ในสถานการณ์ “ยากลำบาก” ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่รวมทั้งไทยเราถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้

ส่วนที่ไม่อยู่ในกลุ่มนี้ ก็ตกอยู่ในกลุ่มสุดท้าย ที่มีเสรีภาพของสื่อต่ำที่สุด ถูกอาร์เอสเอฟจัดให้อยู่ในสถานการณ์ “ร้ายแรงอย่างยิ่งสำหรับสื่อ”

 

ในส่วนของประเทศไทย อาร์เอสเอฟปรับระดับเสรีภาพสื่อให้สูงขึ้น 4 อันดับจากเมื่อปีที่ผ่านมา แต่โดยภาพรวมแล้วยังไม่ได้ดีขึ้นมากมายแต่อย่างใด อยู่ในอันดับที่ 136 จาก 180 ประเทศ และยังอยู่ในกลุ่มที่สื่อตกอยู่ในฐานะ “ยากลำบาก” อยู่ต่อไป

อาร์เอสเอฟให้ภาพรวมเสรีภาพสื่อไทยไว้ว่า “ผู้สื่อข่าวและบล็อกเกอร์ในไทยยังคงถูกสอดแนมและเซ็นเซอร์โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เหมือนกับที่เคยเป็นตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นการทั่วไป โดยที่ คสช.ที่มีอำนาจเต็มเปี่ยมยังคงตามล่าตัวผู้สื่อข่าวที่ตรงไปตรงมา เชิญตัวมาสอบปากคำ ควบคุมตัวไว้ตามอำเภอใจและผลักดันจนผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 10 คนต้องหลบหนีออกนอกประเทศ การวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ต่อรัฐบาลทหารสามารถนำไปสู่การตอบโต้กลับด้วยความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้เพราะระบบยุติธรรมยินยอมดำเนินการตามคำสั่งและบทบัญญัติล้าสมัยที่ถูกนำมาใช้”

“การเลือกตั้งทั่วไปที่สัญญาว่าจะมีขึ้นในเดือนมีนาคม 2562 ไม่ได้ทำให้สถานภาพของสื่อแตกต่างไปจากเดิมแต่อย่างใด เห็นได้จากกรณีการปิดวอยซ์ทีวี สถานีโทรทัศน์ของฝ่ายค้านในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง กฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ใหม่ซึ่งบังคับใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็เอื้อให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากขึ้นและคุกคามต่อข้อมูลข่าวสารออนไลน์เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม” และ

“(ทางการไทย) ยังยินยอมโอนอ่อนผ่อนตามบางประเทศเป็นอย่างมาก อาทิ การปล่อยให้เจ้าหน้าที่จีนและเวียดนามเข้ามาจับกุมผู้สื่อข่าวและบล็อกเกอร์ลี้ภัยที่เป็นกลุ่มต่อต้านในประเทศเหล่านั้นเพื่อส่งตัวกลับคืนไปให้ถูกจำคุกในที่สุด”

 

นายคริสทอฟ เดอลัวร์ เลขาธิการอาร์เอสเอฟ บอกเอาไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่การถกเถียงขัดแย้งกันในทางการเมืองไถลลงสู่บรรยากาศประหนึ่งกำลังอยู่ในสงครามกลางเมืองไม่ว่าจะโดยปกปิดซ่อนเร้นหรือโดยเปิดเผยก็ตามที และผู้สื่อข่าวมักถูกปฏิบัติต่อเหมือนเป็นแพะรับบาป

“เมื่อนั้นประชาธิปไตยก็ตกอยู่ในอันตรายใหญ่หลวง”

เดอลัวร์เตือนเอาไว้ชัดเจนอย่างยิ่งว่า

“การยุติวัฏจักรแห่งความกลัวและการแทรกแซงเช่นนี้ จึงถือได้ว่าเป็นความเร่งด่วนสูงสุด สำหรับทุกคนที่มีเจตนารมณ์ที่ดีซึ่งให้คุณค่าต่อเสรีภาพทั้งหลายที่ได้รับมา”