รายงานพิเศษ : น้ำพระราชหฤทัย ในหลวง ร.9 ความประทับใจของ วิษณุ เครืองาม

ในบรรยากาศความโศกเศร้า เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่คนทั้งประเทศไทยรวมถึงชาวต่างชาติได้รับทราบถึงเรื่องราวต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้เปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ทรงงานเพื่อประชาชนมิได้หยุดหย่อนตลอดรัชกาลของพระองค์

เรื่องของพระองค์ถูกเล่าขานผ่านบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ ตั้งแต่สามัญชนคนธรรมดาไปจนถึงระดับผู้นำประเทศ แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน

เช่นเดียวกับ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในหลายรัฐบาล ที่เคยได้รับโอกาสทำงานใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นานหลายปี เล่าความประทับใจในหัวข้อ “เรื่องเล่าของพ่อ ขอทำดีเพื่อแผนดิน” เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล ได้อย่างน่าประทับใจ

โดยเล่าว่า ถือว่าโชคดีที่ได้ทำงานเป็นเลขาฯ ครม. หลายปี ที่ผ่านมาทำงานร่วมกับ 10 รัฐบาล และรัฐบาลมีความจำเป็นต้องติดต่อกับราชสำนักหรือพระมหากษัตริย์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวคือเลขาฯ ครม. จึงเป็นที่มาของการได้รับรู้ ซึ่งเป็นการรับรู้ที่ตื่นเต้น เพราะเห็นว่าเมืองไทยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถ คงมั่นในทศพิธราชธรรม ซึ่งทศพิธราชธรรมนี้ ไม่ได้เป็นเพียงคำที่เขียนไว้ให้ฟังดูไพเราะเท่านั้น ทว่า เกิดจากการทรงงานของพระองค์เอง

“จำได้ว่าผมมาเป็นเลขาฯ ครม. วันแรกคือวันศุกร์ คืนหนึ่งเมื่อหลับจนถึงประมาณตี 4 ปรากฏว่ามีคนมาปลุกอยู่หน้าบ้าน เอาพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ฎีกาถวายพระราชทานอภัยโทษมาให้ผมเซ็นรับทราบ ผมก็บอกเจ้าหน้าที่ว่าช่างขยันทำงานเหลือเกิน มาปลุกเอาตี 4 รอวันจันทร์ไม่ได้หรืออย่างไร เจ้าหน้าที่บอกว่า พระองค์มีพระราชกระแสรับสั่งมาว่า เมื่อโปรดเกล้าฯ แล้วให้แจ้งเลขาฯ ครม. ทันที เพื่อจะได้ปฏิบัติโดยเร็ว เพราะถ้ารอให้ถึงวันจันทร์ นักโทษก็จะติดคุกฟรีไปอีก 3 วัน กว่าจะปล่อยตัวก็วันอังคาร และหากนักโทษเป็นอะไรไประหว่างนั้นจะทำอย่างไร นี่เป็นหนึ่งในพระมหากรุณาของพระองค์”

 

“ด้วยความที่เลขาฯ ครม. ต้องติดต่อกับสำนักพระราชวังทุกวัน เอกสารต่างๆ ผมจะใส่ในซองกระดาษสีขาวใบใหญ่เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์ท่าน”

“จนวันหนึ่งเจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการ ได้หอบซองเอกสารที่ผมเคยส่งไปกลับมาให้ โดยบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้เอาซองทั้งหมดกลับมาคืน เนื่องจากพระองค์เสียดายเพราะซองยังใช้งานได้ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้เลขาฯ ครม. นำเอกสารใส่ซองเก่า นำขึ้นทูลเกล้าฯ มาถวายได้ และจากนี้พระองค์จะนำซองเก่ากลับมาให้ในทุก 3 เดือน”

เรื่องดังกล่าวทำให้ ดร.วิษณุ ถึงกับอึ้ง แล้วนึกถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับหลอดยาสีฟันที่พระองค์บีบจนหมดเกลี้ยงจึงค่อยทิ้ง ทำให้คิดถึงเรื่องการใช้ดินสอที่พระองค์เหลาจนหมดจึงจะเปลี่ยนแท่ง เหล่านี้แสดงให้เป็นถึงความซื่อสัตย์สุจริตที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีต่อประชาชน สังคม และมีต่อพระองค์เอง

แม้ไม่เคยตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แต่เมื่อรับหน้าที่เลขาฯ ครม. ทำให้รู้ว่าการทรงงานของพระองค์นั้น ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร

“ก่อนที่ทุกรัฐบาลจะทำหน้าที่ได้ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อน อยู่มาวันหนึ่งรัฐบาลชุดหนึ่ง ตั้ง ครม. ใกล้วันเสาร์-อาทิตย์ ราชเลขาฯ โทร.มาหาผมถามว่า ครม.ใหม่จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนเมื่อไหร่ ผมเรียนท่านไปว่า วันอังคาร เพราะมิอาจไปรบกวนใต้เบื้องพระยุคลบาทพระองค์ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จากนั้นราชเลขาฯ ก็หายไปประมาณครึ่งชั่วโมงจึงโทร.กลับมา บอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งว่า ถ้ารัฐบาลเกรงใจพระเจ้าแผ่นดินขอให้มาได้เลย ยกเว้นรัฐบาลจะติดธุระ”

“จากนั้น ครม. จึงเข้าถวายสัตย์ฯ ในวันเสาร์ ในหลวงทรงตรัสเรื่องดังกล่าวว่า ขอให้ทุกคนรู้ไว้ว่าในประเทศไทยพระเจ้าแผ่นดินไม่มีวันหยุดราชการ คนอื่นอาจจะมี แต่พระเจ้าแผ่นดินไม่มี ขณะเดียวกันประชาชนต่างรอรัฐบาลเข้ามาทำงาน เพราะปัญหาของประเทศมีอยู่ทุกวัน รอไม่ได้ ปัญหาไม่เคยรอวันเสาร์-อาทิตย์ อย่าเอาตัวฉันเป็นอุปสรรค”

 

ดร.วิษณุ เล่าเรื่องน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช ครองราชย์ครบ 25 ปี รัฐบาลโดย จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ได้เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลว่า เนื่องในวโรกาสครองราชย์ครบ 25 ปี ซึ่งเรียกว่า “รัชดาภิเษก” รัฐบาลต้องการจัดสร้างอะไรบางอย่างเพื่อเป็นราชานุสรณ์ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว ใครผ่านไปผ่านมาจะได้เห็น

ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถามกลับว่า สร้างแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร หากได้แค่ราชานุสรณ์ ก็ไม่ควรสร้าง

พระองค์จึงแนะนำจอมพลถนอมให้สร้างถนน แก้ไขปัญหารถติด เพราะเห็นว่าเกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่า จึงเป็นที่มาของถนน “รัชดาภิเษก” ถนนวงแหวนรอบกรุงเทพมหานคร

“ต่อมาเมื่อครองราชย์ครบ 50 ปี นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลว่าครบรอบ 50 ปี กาญจนาภิเษก เป็นความยิ่งใหญ่ ควรจะมีการสร้างสิ่งสำคัญเพื่อเป็นราชานุสรณ์ เมื่อในหลวงถามว่าจะสร้างอะไร นายบรรหาร จึงบอกว่า คิดว่าจะสร้างหอคอยให้ยิ่งใหญ่คล้ายหอไอเฟล โตเกียวทาวเวอร์ เพื่อ 1.เป็นแหล่งท่องเที่ยว 2.ส่งสัญญาณโทรทัศน์ได้ ต่อมาพระองค์รับสั่งตอบว่า ขอบใจท่านนายกฯ ที่คิดจะทำอะไรให้ แต่ขอให้คิดทำอะไรเพื่อประชาชนให้ได้ประโยชน์มากที่สุดเห็นจะดีกว่า โครงการดังกล่าวจึงพับเก็บไป”

ในวโนกาสครองราชย์ 50 ปี กาญจนาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เชิญนามพระราชพิธีกาญจนาภิเษก มาใช้เรียกทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 หรือถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เป็น “ถนนกาญจนาภิเษก”

“เมื่อคราวที่พ้นจากพระอาการประชวรใหม่ๆ และยังไม่ทรงพระสำราญนัก พระองค์ท่านเสด็จไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นไปเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลว่า รัฐบาลคิดว่าควรจะมาปรับปรุงพระราชวังไกลกังวลถวายให้ทรงเป็นที่พระสำราญ แต่พระองค์รับสั่งตอบทันทีว่า ขอบใจแต่ไม่ต้อง เพราะเท่านี้ก็พออยู่พอเพียงแล้ว หากคิดจะทำอะไร ขอให้คิดทำประโยชน์ต่อประชาชนจะดีกว่า เพราะปรับปรุงวัง ฉันก็ได้อยู่คนเดียว นายกฯ จึงกราบบังคมทูลว่าจะปรับปรุงโรงพยาบาลหัวหิน พระองค์จึงรับสั่งว่าไม่ขัดข้อง เพราะประชาชนได้เต็มๆ”

 

รองนายกรัฐมนตรี เล่าว่า ทุกวันนี้ยังมองดูภาพตัวเองรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นภาพที่พระมหากษัตริย์กับบัณฑิต ถือเอกสารใบเดียวกัน

“รัชกาลที่ 9 เสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตรปีหนึ่งเป็นจำนวนมาก รัฐบาลหนึ่งจึงไม่อยากรบกวนพระองค์มาก จึงคิดว่าจะทำอย่างไรดี จะให้มีตัวแทนบัณฑิตจำนวนหนึ่งได้รับพระราชทาน แล้วให้อธิการบดีแจกต่อจะดีหรือไม่ จากนั้นได้หารือกับราชเลขาฯ แต่ราชเลขาฯ บอกว่าอย่าเพิ่งคิดเอง ขอกราบบังคมทูลก่อน ต่อมาจึงได้คำตอบโดยในหลวงตรัสว่า ขอบใจที่ช่วยคิดแทน แต่ถ้าเราจะลำบาก ก็จะลำบากอยู่เพียงคนเดียว ทว่า คนเป็นหมื่น แสน ล้าน มีความสุข ทรงรับสั่งว่า ฉันยอมลำบากคนเดียว เพื่อให้อีกหลายคนมีความสุข”

“นอกจากนี้ ราชเลขาฯ ยังเล่าอีกว่า พระองค์ทรงดีใจที่ได้พระราชทานปริญญาบัตร เพราะเวลาที่ทรงหยิบใบปริญญาบัตรแล้วยื่นให้บัณฑิตนั้น เป็นการยื่นและรับจากมือต่อมือ เสมือนการให้ปณิธานต่อบัณฑิต”

“เวลาที่พระองค์พระราชทานใบปริญญานั้น พระองค์ทรงทำสมาธิไปด้วย และนึกอยู่ตลอดเวลาว่า กำลังประสิทธิ์ประสาทความสำเร็จแก่บัณฑิต”

 

“วันหนึ่งรัฐบาลหนึ่งเตรียมออกกฎหมาย ซึ่งมีมาตราหนึ่งบัญญัติให้มีเหรียญเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แล้วต่อด้วยพระราชสมัญญานาม มหาราช แต่เมื่อสภาผ่านกฎหมายและรัฐบาลทูลเกล้าฯ ถวายลงพระปรมาภิไธย ปรากฏว่าราชเลขาฯ นัดผม แล้วเชิญกฎหมายฉบับดังกล่าวคืนมาให้ เพราะพระองค์รับสั่งว่าไม่โปรด และไม่สามารถทรงลงพระปรมาภิไธยได้ เพราะจะเท่ากับเป็นการสถาปนาพระองค์เองเป็นมหาราช”

เรื่อง “มหาราช” ดร.วิษณุ เมื่อครั้งทำหน้าที่เลขาฯ ครม. ได้มีโอกาสตามนายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงตรัสว่า ไม่ได้ขัดข้องถ้าประชาชนจะเรียกพระองค์ “มหาราช” แต่ไม่เห็นด้วย ที่จะให้พระองค์สถาปนาพระองค์เอง

การเข้าเฝ้าฯ ครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 เล่าเรื่องเก่าในอดีตที่ผ่านมากว่า 30 ปี ให้นายกรัฐมนตรีและ ดร.วิษณุ ฟัง เพื่อแสดงเจตนาว่าไม่เห็นด้วยในเรื่องดังกล่าว

“ในหลวงทรงเล่าว่า ประมาณ 30 ปีที่แล้ว สภาหวังดีหลังจากทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวซึ่งอยู่ในฐานะจอมทัพไทย มียศทางทหารเป็นแค่ร้อยเอก จึงเห็นควรถวายพระยศเป็นจอมพล จากนั้นสภาก็ออกกฎหมาย คือ พ.ร.บ.ยศทหาร มีมาตราหนึ่งบัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในตำแหน่งจอมทัพไทย มีพระยศเป็นจอมพล ปรากฏว่าพระองค์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย พร้อมรับสั่งว่าหากทรงลงพระปรมาภิไธย ก็เท่ากับการตั้งตัวเองเป็นจอมพล จึงพระราชทานคืนกลับมา ต่อมาสภาก็ตัดมาตราดังกล่าวออกไป”

นี่เป็นเรื่องเล่าส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับน้ำพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านความประทับใจของ ดร.วิษณุ เครืองาม แต่ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระองค์อีกมากมายสารพัด ซึ่งอยู่ในความทรงจำของประชาชนคนไทยและชาวต่างชาติที่เคยมีประสบการณ์ร่วม

ซึ่งทุกเรื่องราวล้วนมาจากความประทับใจในพระมหากษัตริย์ผู้เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา ผู้มีน้ำพระราชหฤทัยอันใหญ่หลวง