ศิลปินผู้สรรค์สร้างฝันร้ายสุดสยดสยองและวิจิตรพิสดาร H.R. Giger

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินคนสำคัญอีกคน ที่หลายคนอาจจะรู้จักกันดี ยิ่งถ้าเป็นคนที่ชอบดูหนังด้วยแล้ว ยิ่งน่าจะคุ้นเคยกับผลงานของเขากัน ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า

เอช. อาร์. (หรือ “ฮาแอร์”) กีเกอร์ (H.R. Giger)

หรือ ฮันส์ รูดอล์ฟ กีเกอร์ (Hans Rudolf “Ruedi” Giger) จิตรกร ประติมากร นักออกแบบชาวสวิส ที่ทำงานศิลปะและงานดีไซน์สไตล์เซอร์เรียลลิสต์

เขาเป็นศิลปินที่ทำงานในหลากหลายสื่อ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม เฟอร์นิเจอร์

Alien Pilot in Cockpit (1978)ภาพจากhttps://bit.ly/2ISgbhU

อีกทั้งยังออกแบบงานสร้างในภาพยนตร์ ออกแบบปกอัลบั้ม

ไปจนถึงออกแบบรอยสักเลยก็ยังมี

เกิดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1940 ในเมืองคูร์ เมืองหลวงของรัฐเกราบึนเดิน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

พ่อของเขาเป็นเภสัชกร ผู้มองว่าความหลงใหลในศิลปะของลูกชายเป็นเรื่องไร้สาระ

และคิดว่าศิลปินเป็นอาชีพไส้แห้ง และพยายามโน้มน้าวแกมบังคับให้ลูกชายทำอาชีพเดียวกับตนอย่างแข็งขัน

แต่เขาก็หาได้แคร์ไม่ ในปี 1962 เขาย้ายไปอยู่ในเมืองซูริก และเข้าเรียนทางด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบอุตสาหกรรมที่สถาบัน School of Applied Arts

เขาเริ่มต้นทำงานวาดภาพด้วยการวาดเส้น

ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นสีน้ำมันและแอร์บรัช ซึ่งเป็นเทคนิคที่เขาใช้เกือบตลอดอาชีพการทำงานสร้างสรรค์ภาพวาดสไตล์เอกรงค์ที่แสดงออกถึงความฝันอันหลอกหลอนน่าสะพรึงกลัว

นอกจากนี้ เขายังทำงานด้วยสีพาสเทลและสีหมึกด้วย

เขามีนิทรรศการแสดงเดี่ยวเป็นครั้งแรกในปี 1966

และแจ้งเกิดในวงกว้างเป็นครั้งแรกในปี 1969 เมื่อบริษัท Wizard & Genius. ผู้ผลิตโปสเตอร์แห่งแรกของสวิตเซอร์แลนด์ ตีพิมพ์โปสเตอร์ของเขาออกเผยแพร่ไปทั่วโลก

ผลงานของกีเกอร์มีเอกลักษณ์ในการผสมผสานเนื้อหนังร่างกายของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ เข้ากับเครื่องจักรกลได้อย่างงดงามอลังการ

Hommage à Böcklin (1977)ภาพจากhttps://bit.ly/2VHBFno

ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกเย็นยะเยือกและพิสดารจนน่าสยดสยองยิ่ง

กีเกอร์เรียกขานสไตล์การทำงานนี้ของตัวเองว่า “Biomechanical” ที่ได้แรงบันดาลใจจากช่วงเวลาในวัยเด็กที่เขาใช้เวลาในชั้นใต้ถุนของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในเมืองเพื่อดูมัมมี่อียิปต์ที่แสดงคู่กับโบราณวัตถุที่ทั้งดูน่าหลงใหลและน่าสยดสยองไปพร้อมๆ กัน

ในขณะที่บริษัทเภสัชกรรมของพ่อของเขาก็มีหัวกะโหลกมนุษย์วางให้กีเกอร์น้อยเอามานั่งเล่นตอนเด็กๆ

นอกจากนี้ เขายังได้รับอิทธิพลมาจากศิลปินอย่าง ดาโด (Dado), แอร์สต์ ฟุกส์ (Ernst Fuchs) และศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ตัวพ่ออย่างซัลบาดอร์ ดาลี (ตัวกีเกอร์เองก็มีความสนิทสนมชอบพอกับดาลีเป็นอย่างดี)

รวมถึงได้แรงบันดาลใจมาจากฝันร้ายอันสยดสยอง ความหวาดกลัว อาการป่วยทางจิตเกี่ยวกับการนอนหลับ และแรงขับทางเพศของตัวเขาเอง

การทำงานศิลปะของเขาก็เป็นเหมือนการบำบัดอาการป่วยทางจิตของตัวเองนั่นเอง

กีเกอร์มีหนังสือรวมผลงานกว่า 20 เล่ม แต่เล่มที่โด่งดังที่สุดคือ Necronomicon ที่ตีพิมพ์ในปี 1977 ซึ่งเป็นที่มาของผลงานที่ส่งให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

นั่นคือการเป็นผู้ออกแบบงานสร้างอันหลอกหลอนล้ำยุค จากจินตนาการพิลึกกึกกืออันแสนลือลั่นในหนัง Alien (1979)

ที่ส่งให้เขาได้รับรางวัลออสการ์สาขาเทคนิคพิเศษทางภาพยอดเยี่ยมจากงานออกแบบแคแร็กเตอร์ดีไซน์ในหนังเรื่องนี้

แรกเริ่มเดิมที ดีไซน์อันพิสดารพันลึกในหนัง Alien นั้นได้แรงดลใจมาจากหนังสือ Necronomicon เล่มที่ว่า ที่มีภาพเขียนของเขามีชื่อว่า Necronom IV, V ที่เป็นรูปสัตว์ประหลาดต่างดาวที่มีหัวยาวเหยียด

Necronom V (1976)ภาพจากhttps://bit.ly/2Y0KWEN

ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้กำกับฯ อย่าง ริดลีย์ สก็อตต์ จนติดต่อกีเกอร์ให้มาช่วยออกแบบฉากและสิ่งมีชีวิตต่างดาวให้กับหนังเรื่องนี้

อันเป็นที่มาของเจ้าสัตว์ประหลาดต่างดาวหัวยาวสุดโหดที่เราเรียกกันติดปากว่าเอเลี่ยน

หรือในชื่อทางการว่าซีโนมอร์ฟ (Xenomorph) นั่นเอง

นอกจากจะออกแบบเจ้าตัวเอเลี่ยนในวัยต่างๆ ตั้งแต่เป็นไข่ (ที่ดูๆ ไปก็คล้ายอวัยวะเพศหญิง หรือน้องจิ๋มอยู่ไม่หยอก!) และตัวอ่อน จนกลายเป็นตัวเต็มวัยอันสุดแสนสยดสยอง (ที่มีศีรษะเหมือนอวัยวะเพศชายหรือน้องจู๋นั่นแหละ)

กีเกอร์ยังเป็นผู้ออกแบบองค์ประกอบต่างดาวทุกอย่างในหนัง อาทิ ยานอวกาศที่ตกแต่งอย่างพิสดารพันลึกทั้งภายนอกและภายใน

และแน่นอน เจ้าซากศพมนุษย์ต่างดาวปริศนาอย่าง Space Jockey ของเอเลี่ยนภาคแรก และเป็นกุญแจสำคัญที่เป็นต้นตอของเรื่องราวในหนัง Prequel หรือหนังภาพย้อนต้นของหนังชุด Alien อย่าง Prometheus (2012) ซึ่งเจ้า Space Jockey ที่ว่านี้เองก็มีที่มาจากภาพวาดในหนังสือเล่มที่ว่านี้ของเขาเช่นกัน

Alpha I (Zwei Frauen) (1967)ภาพจากhttps://bit.ly/2VHBFno

ทั้งๆ ที่กีเกอร์เป็นผู้ออกแบบและวางคอนเซ็ปต์ดีไซน์ของหนัง Alien ภาคแรก แต่หลังจากเกิดความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับกับทีมผู้สร้าง รวมถึงการที่ริดลีย์ สกอตต์ ถอนตัวจากโปรเจ็กต์ เขาจึงตัดขาดไม่ร่วมสังฆกรรมกับหนังชุดนี้ในภาคต่อๆ มาโดยสิ้นเชิง

จนกระทั่งริดลีย์ สกอตต์ หยิบโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมาปัดฝุ่นทำเป็น Prequel (หนังภาคต่อที่มีเนื้อหาก่อนหนังเรื่องหลัก) อย่าง Prometheus (2012)

กีเกอร์จึงถูกเรียกตัวกลับมาอีกครั้ง ซึ่งนอกจากเขาจะกลับมาพร้อมกับองค์ประกอบศิลป์สุดล้ำลึกพิสดารดังเช่นใน Alien ภาคแรกแล้ว เขายังออกแบบผลงานใหม่ๆ อีกหลายชิ้นให้กับหนัง

งานออกแบบของเขายังถูกนำไปใช้ต่อในหนัง Alien : Covenant (2017) หลังจากที่เขาเสียชีวิตอีกด้วย

นอกจากจะออกแบบงานสร้างและคอนเซ็ปต์ดีไซน์ให้กับหนัง Alien แล้ว

กีเกอร์ยังออกแบบงานสร้างให้กับหนังอีกหลายต่อหลายเรื่อง

อาทิ Dune (1984) (แต่ไม่ได้ใช้งานในหนัง) Species (1995) (ออกแบบมนุษย์ต่างดาวในหนัง), Batman Forever (1995) (ไม่ได้ใช้งานอีกเช่นกัน แต่ก็กลายเป็นต้นแบบให้กับรถจริงๆ ในหนัง)

Gebärmaschine (1967)ภาพจาก https://bit.ly/2VHBFno

เขายังออกแบบปกอัลบั้มให้กับศิลปินนักดนตรีอีกมากหน้าหลายตา อาทิ Emerson, Lake & Palmer, Deborah Harry, Korn (กีเกอร์ยังออกแบบขาตั้งไมค์สุดหลอนล้ำให้กับนักร้องนำวง Korn อีกด้วย)

ตลอดอาชีพการทำงาน กีเกอร์มีความปรารถนาที่จะขยายองค์ประกอบของวิสัยทัศน์ทางศิลปะของเขาออกนอกขอบเขตของกระดาษหรือจอภาพยนตร์ ไปสู่งานสามมิติที่จับต้องได้ในชีวิตจริง

ไม่ว่าจะเป็นงานประติมากรรมหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ แล้ว ในปี 1988 เขามีโอกาสได้ออกแบบสภาพแวดล้อมอันสุดสยองในแบบของเขาเองร้อยเปอร์เซ็นต์ ในบาร์กีเกอร์ ที่โตเกียว ซึ่งเปิดอีกสาขาในเมืองคูร์ บ้านเกิดของเขาในปี 1992

ในปี 1998 พิพิธภัณฑ์กีเกอร์เปิดตัวขึ้นในชาโต้ แซงเจอร์แมง เมืองกรูแยร์ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่แสดงและสะสมผลงานชุดใหญ่ที่สุดของกีเกอร์ ทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม เฟอร์นิเจอร์ และงานออกแบบงานสร้างในภาพยนตร์ ตั้งแต่ปี 1960 จนถึงปัจจุบัน

Atomkinder (1967–68)ภาพจากhttps://bit.ly/2VHBFno

เอช. อาร์. กีเกอร์ เสียชีวิตในวันที่ 12 พฤษภาคม 2014 ด้วยวัย 74 ปี เหลือทิ้งไว้แต่เพียงผลงานและแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นหลัง

ข้อมูล http://www.hrgiger.com/, https://bit.ly/2VHBFno