สุจิตต์ วงษ์เทศ / ชักนาคดึกดำบรรพ์ ต้นทางโขน ศาสนา-การเมือง ในอินทราภิเษก

กวนเกษียรสมุทร ภาพสลักบนระเบียงคดปราสาทนครวัด อายุราว พ.ศ.1650 (ก่อนกรุงศรีอยุธยา) รูปบนสุดเป็นพระอินทร์ แสดงพลังเหาะลงไปช่วยกดทับการทรงตัวของเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นเครื่องมือกวนทะเลน้ำนม ส่วนถัดลงไปเป็นพระนารายณ์ 4 กร ร่วมมือเทวดากับอสูรประคองตัวนาควาสุกรีที่ใช้ชักเป็นเครื่องกวน ขณะเดียวกันพระนารายณ์อวตารเป็นเต่า (กูรมาวตาร) รองรับเข้าพระสุเมรุซึ่งใช้เป็นแกนกวนน้ำมิให้เจาะทะลุพิภพ กรณีเขาพระสุเมรุเครื่องกวนน้ำ เป็นคติพื้นเมืองในท้องถิ่นอุษาคเนย์ (เพราะคติเดิมของอินเดียต้องเป็นภูเขามันทระ) [ภาพจากหนังสือ Of Gods, Kings, and Men. Text by Albert le Bonheur Photographs by Jaroslav Poncar. London 1995 p.49]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ชักนาคดึกดำบรรพ์ ต้นทางโขน

ศาสนา-การเมือง ในอินทราภิเษก

 

โขน มีต้นทางจากชักนาคดึกดำบรรพ์ การละเล่นในพิธีกรรมทางศาสนา-การเมืองในพระราชพิธีอินทราภิเษก ตามความเชื่อลัทธิเทวราชของศาสนาพรามหณ์-ฮินดูผสมศาสนาผีพื้นเมืองรัฐจารีตอุษาคเนย์

[ชักนาคดึกดำบรรพ์เป็นการละเล่นเดียวกันกับกวนเกษียรสมุทร ที่รัฐอยุธยารับจากรัฐละโว้ (ลพบุรี) ซึ่งรับอีกทอดหนึ่งจากราชสำนักอาณาจักรกัมพูชาที่โตนเลสาบ]

แรกเริ่มสมัยต้นอยุธยาชักนาคดึกดำบรรพ์มีลักษณะกว้างๆ ดังนี้

  1. เป็นการละเล่น ไม่ใช่การแสดง เนื่องเพราะการละเล่นไม่มีคนดูแยกต่างหากจากคนเล่น แต่ทุกคนที่อยู่ในพิธีกรรมล้วนมีส่วนร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม (สำหรับการแสดงเป็นมหรสพมีคนดูสนุกสนานแยกจากคนเล่น ซึ่งเป็นพัฒนาการมีขึ้นสมัยหลังจากการละเล่น)
  2. มีกลางสนาม ไม่อยู่ในโรง เพราะเป็นงานกลางแจ้ง บริเวณหน้าวังหลวงสมัยอยุธยา มีก่อสร้างจำลองภูเขาขนาดสูงใหญ่
  3. รูปเทวราช เหมือนหนังฉลุฉลัก แล้วยกเชิญเคลื่อนที่ในพิธีกรรม น่าเชื่อว่าเป็นต้นแบบหนังใหญ่
  4. เครื่องประโคมปี่พาทย์ฆ้องวงและอื่นๆ ไม่พบระบุไว้ในกฎมณเฑียรบาล แต่อาจรวมอยู่กับสิ่งที่บอกว่า “เล่นการมโหรสพ” น่าจะหมายถึงเครื่องมหรสพสมโภชก็ได้ จึงยังไม่ถือเป็นยุติ

 

อินทราภิเษก สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา

 

พระราชพิธีอินทราภิเษก เป็นพิธีกรรมสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของรัฐนาฏกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเป็นพระจักรพรรดิราชของพระเจ้าแผ่นดิน พบในกฎมณเฑียรบาลสมัยต้นอยุธยา ตราขึ้นเมื่อเรือน พ.ศ.2000

อินทราภิเษก หมายถึง ถวายรดน้ำพระอินทร์ แล้วอัญเชิญเป็นพระจักรพรรดิราชบนแผ่นฟ้า (เจ้าฟ้า) คือ พระราชาผู้เป็นใหญ่ที่สุดของทวยเทพบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (น้ำอมฤตเป็นสัญลักษณ์น้ำถวายรดสรงพระอินทร์) ขณะเดียวกันพระเทวราช (คือ พระอิศวร, พระนารายณ์, พระอินทร์, “พระพิศวกรรม์”) ก็ประสาทพรถวายพระราชาผู้ทำพิธีอินทราภิเษกขึ้นเป็นพระจักรพรรดิราชบนแผ่นดิน (เจ้าแผ่นดิน)

[นิยามความหมายของอินทราภิเษกมีหลายชุด สุดแต่ใครจะเชื่อถือชุดใด ขอเพียงอย่าครอบงำปิดบังว่ามีถูกต้องชุดเดียวในโลกวิชาการ ส่วนที่เขียนนี้ข้อมูลความรู้สรุปใหม่โดยเก็บสาระสำคัญจากบทความเรื่อง “กฎหมายตราสามดวงกับความเชื่อของไทย” โดย ศรีศักร วัลลิโภดม พิมพ์ในหนังสือกฎหมายตราสามดวงกับสังคมไทย (รวมบทความวิชาการงานสัมมนาฯ) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2533 หน้า 91-113]

 

ลำดับพิธีกรรม

 

ลําดับพิธีกรรมตามขั้นตอนกว้างๆ อย่างง่ายๆ ของพระราชพิธีอินทราภิเษกในกฎมณเฑียรบาลสมัยต้นอยุธยา ดังนี้

(1.) สถานที่บริเวณกลางสนามหน้าวังหลวง (เรียกสมัยหลังว่าสนามหน้าจักรวรรดิ) มีตั้งเขาพระสุเมรุ, เขาไกรลาส, เขาอิสินธร, เขายุคุนธร, เขากรวิก แล้วตั้งรูปฉลุพระเทวราชประจำภูเขา (2.) ชักนาคดึกดำบรรพ์ได้น้ำอมฤต 3 ตุ่ม แช่เครื่องสรรพยุทธและเครื่องช้าง (3.) พระอิศวร, พระนารายณ์, พระอินทร์, “พระพิศวกรรม์” ถวายพระพรพระเจ้าแผ่นดิน (โดยเชิญรูปจากพิธีชักนาคดึกดำบรรพ์) หลังจากนั้นพรหมณาจารย์และท้าวพระยา ถวายพระพรตามลำดับวันถัดไป แล้วถวายช้างม้าจตุรงค์, 12 พระคลัง, ส่วยสัดพัทธยากร, และถวายเมือง (4.) พิธีถือน้ำอมฤต ทำสัตย์สาบาน (5.) พระราชทานรางวัลแก่พรหมณาจารย์และขุนนางข้าราชการ แล้วให้มีมหรสพนาน 30 วัน (6.) เสด็จทางสถลมารคโปรยทานรอบเมือง

 

พระอินทร์ สิ้นอานุภาพ

 

พิธีกรรมอัญเชิญพระอินทร์คืนสวรรค์เป็นจักรพรรดิราช หลังถูกสาปจนสิ้นอานุภาพมีตำนานบอกเล่าอย่างพิสดาร (เป็นพยานว่าตำนานมีพลังอย่างยิ่งผลักดันความคิดสร้างสรรค์ได้งานศิลปกรรมหลากหลายเป็นอาภรณ์ของโลก) ดังนี้

พระอินทร์ผู้เป็นราชาแห่งทวยเทพ ต้องสูญเสียพลังอำนาจจากคำสาปแช่งของพระฤๅษีผู้มีฤทธิ์ ทำให้เหล่าอสูรกำเริบรุกรานสวรรค์ จนพวกเทวดาพากันวิงวอนพระนารายณ์ช่วยแก้ไข

พระนารายณ์ตั้งพิธีกวนน้ำอมฤต โดยเนรมิตพระองค์เป็นเต่าใหญ่หนุนเขาพระสุเมรุอยู่กลางเกษียรสมุทร แล้วเอาพระยานาคแทนเชือกพันรอบเขาพระสุเมรุ ต้องเกณฑ์พวกอสูรดึงทางหัวนาค กับเกณฑ์พวกเทวดาดึงทางหางนาค

เมื่อโดนดึงโดนชักไปมา พระยานาคก็พ่นพิษใส่อสูร จนพวกอสูรต้องเสียพลัง ครั้นกวนเกษียรสมุทรได้น้ำอมฤตสำเร็จแล้ว พระนารายณ์ยังแปลงร่างเป็นนางงามหลอกล่อเหล่าอสูรลุ่มหลงตามไป จากนั้นฝ่ายพระอินทร์กับฝูงเทวดาพากันดื่มน้ำอมฤตจนหมดเกลี้ยง ไม่เหลือแบ่งเลี้ยงพวกอสูร

เหล่าเทวดาเมื่อเพิ่มพลังและอานุภาพกล้าแข็งดังเดิม ก็รบชนะขับไล่พวกอสูรพ้นจากสวรรค์ จากนั้นพระอินทร์ได้รับอัญเชิญกลับคืนสวรรค์เป็นราชาแห่งทวยเทพดังเดิม จึงยกย่องเป็นสัญลักษณ์การอภิเษกพระจักรพรรดิราชปกครองโลก

 

น้ำอมฤต ผลผลิตจากชักนาคดึกดำบรรพ์

 

นํ้าอมฤต เป็นของศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่สุดได้จากชักนาคดึกดำบรรพ์ในพระราชพิธีอินทราภิเษก เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระจักรพรรดิราช

ชักนาคดึกดำบรรพ์ เป็นการละเล่นเชิงสัญลักษณ์ซึ่งมีความสำคัญมากของพระราชพิธีอินทราภิเษก เกี่ยวข้องพระจักรพรรดิราช มี 2 เรื่อง ได้แก่ เทวดาได้อำนาจครองแผ่นฟ้า และพระเจ้าแผ่นดินได้อำนาจครองแผ่นดิน

ในรัฐอยุธยา ชักนาคดึกดำบรรพ์ คือกวนเกษียรสมุทรซึ่งเป็นความเชื่อตามคติทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพื่อสรรเสริญอานุภาพของพระศิวะ (อิศวร) กับพระวิษณุ (นารายณ์) ตามที่พระราชามหากษัตริย์รัฐใดยกย่องนับถือคติไหน? ในดินแดนกัมพูชาตั้งแต่หลัง พ.ศ.1000

รัฐอยุธยารับความเชื่อเรื่องกวนเกษียรสมุทรจากรัฐละโว้ (ลพบุรี) ที่รับอีกทอดหนึ่งจากเมืองพระนคร (นครวัด) ราวหลัง พ.ศ.1600 โดยปรับเปลี่ยนเป็นเรื่องสรรเสริญอานุภาพของพระอินทร์ผู้บันดาลความอุดมสมบูรณ์และเจริญพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร

คติกวนเกษียรสมุทรฟักตัวสั่งสมอยู่ในรัฐอยุธยาตั้งแต่เรือน พ.ศ.1800 เรียกชักนาคดึกดำบรรพ์ (กลายคำจากภาษาเขมรว่าตึ๊กตบัล แปลว่า กวนน้ำ, ตำน้ำ) จากนั้นเป็นพลังผลักดันประเพณี 2 เรื่อง ได้แก่ โองการแช่งน้ำ และโขนละคร